ชื่อ เพลง ต้องตา จิตดี
อาชีพ คุณครู โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์
“วันนี้ครูเพลงจะชวนเด็กๆ ชั้นอนุบาลสามห้องผักกาดมาวาดรูปกันค่ะ”
การพบเจอ เพลง-ต้องตา จิตดี ครั้งนี้ ไม่มีชื่อวง Plastic Plastic ต่อท้าย ไม่มี ปกป้อง จิตดี พี่ชายข้างกาย ไม่มีเสียงร้องที่ชวนให้หยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก ไม่มีท่วงทำนองสดใสพาฮัมเพลงหนึ่งเพลงซ้ำๆ มีเพียง ครูเพลง คุณครูประจำวิชา Natural Appreciation ของเด็กนักเรียน โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์
ด้านหลังร้านอาหารก้ามปู คือพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ที่เด็กๆ กำลังทานอาหารกลางวันอยู่ ครูเพลง ต้องตาออกมาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนเดินนำไปยังบ้านสีขาวด้านในที่ปกป้องออกแบบให้เป็นโฮมสตูดิโอ พร้อมแบ่งพื้นที่ใต้ถุนบ้านเป็นห้องเรียนทำอาหาร
เธอชวนหย่อนตัวที่มุมรับแขก ซึ่งมองออกไปเห็นสนามเด็กเล่น และบ้านต้นไม้ที่ด้านหนึ่งเป็นสไลเดอร์ และอีกด้านเป็นหน้าผาจำลองแสนสนุก เพื่อเริ่มต้นคลาสเรียนวิชา ครูเพลง 101
ชีวิตเพลงในโรงเรียนอนุบาล
เพลงไม่ได้เดินมาสมัครเป็นคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ แต่เธอเติบโตภายในโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งคุณแม่เป็นผู้อำนวยการ ไปจนถึงเคยเป็นนักเรียนอนุบาลตัวน้อยผู้ได้เรียนหลักสูตรการเรียนการสอนแนวบูรณาการ (Integrated Learning) ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ทดลอง และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตั้งแต่ ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงอนุบาล 3
“เพราะบ้านเราอยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียน เลยเป็นเรื่องเคยชินที่จะได้ยินเสียงเด็กร้อง ได้ยินเสียงเด็กหัวเราะ ตื่นมาพร้อมกับเสียงเคารพธงชาติ โตมาหน่อยก็เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่นี่ เน้นเล่น เน้นทำกิจกรรม จำได้ว่าวิ่งเล่นเยอะมาก เพราะโรงเรียนเราชอบจัดมุมเล่นเยอะอยู่แล้ว คล้ายสนามเด็กเล่น เหมือน Wonderland ของเด็กๆ มากกว่า (หัวเราะ)”
เพลงอธิบายเพิ่มเติมว่า แต่ละชั้นอนุบาลจะเรียนและทำกิจกรรมต่างกัน ซึ่งที่โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์นอกจากชั้นอนุบาลเตรียมแล้ว แต่ละช่วงชั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ห้อง และมีชื่อประจำห้องแสนน่ารัก
อนุบาล 1 แก๊งผลไม้ – ห้ององุ่น ห้องส้ม ห้องแตงโม อนุบาล 2 เหล่าสัตว์ – ห้องฮิปโป ยีราฟ จิงโจ้ และ อนุบาล 3 สหายผัก – ผักกาด ต้นหอม แตงกวา
โดยแต่ละช่วงชั้นจะมีธีมเรียนประจำเทอม เพื่อทำโครงงานร่วมกัน และจัดแสดงผลงานเมื่อจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเด็กเลื่อนชั้นเป็นพี่ อ.3 ที่โตที่สุด จะได้เลือกหัวข้อที่สนใจเพื่อทำโครงงานเฉพาะของตัวเองด้วย อย่างตอนนี้น้องชั้น อ.1 เรียนเรื่องกลางวัน-กลางคืน ส่วนพี่ใหญ่ประจำวัยอนุบาลเรียนเรื่องขนส่งสาธารณะ
แม้จะเติบโตในรั้วโรงเรียน มีแม่เป็นคุณครูและผู้บริหาร แต่การเป็นครูก็ยังไม่ใช่ความตั้งใจแรก เธอยังทำดนตรี ออกท่องเที่ยว เขียนหนังสือ จับกล้องถ่ายรูป
“งานครูอนุบาลเป็นงานที่เราไม่เคยคิดถึงเลย และรู้สึกว่ามันยากมาก” เพลงว่า
หลังเรียนจบ เธอเริ่มเข้ามาถ่ายรูปเด็กๆ ในโรงเรียน เพื่อเก็บความน่ารัก สดใสสมวัยไว้ในภาพถ่าย ประกอบกับช่วยทำงานด้าน Marketing ให้โรงเรียน เช่น ทำประชาสัมพันธ์รับสมัครนักเรียน ดูแลเพจโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ เพลงค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวในแต่ละวัน เห็นการเรียนของเด็กตัวเล็กตัวน้อย จนกระทั่งปีที่แล้ว ความรู้สึกอยากช่วยคุณแม่บริหารโรงเรียนต่อก็เกิดขึ้นในใจต้องตา
“ถ้าอยากช่วยคุณแม่ทำต่อ สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการรู้จักเด็ก และเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา”
เติบโตเป็นครูประจำห้องเรียน (รัก) ธรรมชาติ
‘จะเข้าใจเด็กได้ ก็ต้องสอน’ คือสิ่งที่ปิ๊งขึ้นมาในใจต้องตา นั่นจึงตามมาด้วยบทบาทคุณครูที่เธอเอ่ยกับเราว่า อยากเป็นคุณครูที่ชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
“เราเริ่มจากช่วยเลี้ยงเด็กเตรียมอนุบาล ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก่อน (หัวเราะ)” ฟังแล้วยิ้มตาม นึกภาพครูเพลงที่คอยจูงมือเด็กตัวเล็กๆ คงน่ารักไม่น้อยทีเดียว
“ดูแลเด็กยากไหม” เราถาม
“ยาก เราคารวะคุณครูทุกคนที่ต้องอยู่กับเด็กตั้งแต่เช้าถึงเย็น คอยรับเข้าห้อง ดูแล พาเข้าห้องน้ำ กล่อมนอน ตื่นมาพาไปอาบน้ำแต่งตัว เตรียมกลับบ้าน คือต้องใส่ใจและดูแลเด็กแต่ละคนตามธรรมชาติของเขาเลย”
หลังจากครูเพลงฝึกหัดผ่านการเลี้ยงเด็กเล็กวัย อ. เตรียม ก็ถึงเวลาเข้าสู่บทบาทคุณครูประจำวิชา ซึ่งด้วยความผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่เล็กด้วยคำสอนของครอบครัว จนโตมาทำเพจ Sunshine is Over Me เพลงก็ยังหลงใหลการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จึงอยากปลูกฝังให้เด็กอนุบาลเข้าใจและรักธรรมชาติเช่นกันผ่านวิชา Natural Appreciation
“วิชา Natural Appreciation เป็นแนวทำกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกซาบซึ้งกับธรรมชาติ ซึ่งในทุกกิจกรรม เราคิดไว้ว่าอยากให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการกับศิลปะผสมเข้าไปในงานด้วย จะได้สนุก ตื่นเต้น ไม่น่าเบื่อ ตอนนี้เริ่มสอนจากการปลูกผักสลัด
“เราพยายามผสมงานศิลปะกับธรรมชาติ ให้เด็กไม่กลัวที่จะหยิบจับปุ๋ย ไม่กลัวที่จะจับดินเหนียว ไม่กลัวอะไรที่จะเลอะเทอะกับธรรมชาติ และเปลี่ยนเรื่องเลอะเทอะเหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลปะแทน” แค่คำอธิบายรายวิชาก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราอดอิจฉาเด็กตัวน้อยไม่ได้
ตรงมุมหนึ่งที่สนามหญ้าหน้าบ้าน มีครอบครัวจิ๋วหลิวตัวเล็กๆ กำลังกินอาหารเช้ากันอยู่ พวกเขาเคี้ยวกลีบดอกไม้และใบไม้กร้วม…กร้วม!…’
จิ๋วหลิวผจญภัย เซตนิทานจากญี่ปุ่นที่ครูเพลงเล่าให้เด็กเล็กฟัง ซึ่งมีคำโปรยเรื่องน่ารักๆ ว่า จิชโชะรินไม่ใช่แมลง แต่เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วที่เด็กๆ อาจมองไม่เห็น จิชโชะรินชอบกินกลีบดอกไม้ ใบไม้ และดื่มน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่จิชโชะรินจะเก็บไว้อย่างดี นั่นก็คือเมล็ดดอกไม้ พวกมันเก็บเมล็ดของดอกไม้ไว้ทำอะไรเด็กๆ รู้ไหม
วิธีการสอนของครูเพลงที่อยากให้นักเรียนอนุบาลได้ใช้จินตนาการ การปลูกผักของเธอจึงไม่ใช่แค่พาพรวนดิน โรยเมล็ด แต่เริ่มสอนเด็กปลูกผักด้วยการเล่านิทานเรื่องจิ๋วหลิวฯ เพื่อพาเด็กๆ รู้จักเมล็ดพันธุ์ ที่มาของดอกไม้ ก่อนชวนปลูกผักสลัดในแปลงซึ่งอยู่สวนด้านหลังของโรงเรียน
“ในนิทานจิ๋วหลิวจะแบ่งตามฤดู เราหยิบเรื่องฤดูร้อนมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง ก่อนให้เขาจินตนาการว่า ตัวเองเป็นตัวละครจิ๋วในนิทาน พร้อมทำสมุดบันทึกการโตของผักสลัดที่ออกแบบเล่มเอง จากนั้นให้เด็กเริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ด รดน้ำ ดูแลไปจนถึงวันพร้อมเก็บ ซึ่งจะพาเด็กๆ ไปเรียนที่แปลงผักเลย ให้เขาวาดรูปการเติบโตของผัก วาดรูปต้นไม้ เด็กๆ ชอบกันมาก”
เมื่อเปิดเทอมหน้า แผนการสอนวิชา Natural Appreciation ของครูเพลงยังมีเพิ่มเทคนิคอื่นๆ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกและเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเจ้าตัวน้อยทั้งหลาย ด้วยการแบ่งเป็นคลาสศิลปะกับธรรมชาติและคลาสทำสวนที่พาเด็กๆ ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร และเลี้ยงไส้เดือน
ครูเพลงที่สอนและเรียนรู้จากเด็ก
“เด็กๆ ขา วันนี้เราเป็นตัวแทนอนุบาล 3 ห้องผักกาดมาทำงานศิลปะกันค่ะ วันนี้จะมีพี่ๆ มาถ่ายรูปด้วยนะ เด็กๆ สวัสดีพี่ๆ ก่อน” น้องอ๋อง น้องกัสจัง น้องฮานิ และน้องอัณยายกมือพร้อมกล่าวสวัสดีเราและพี่ช่างภาพอย่างพร้อมเพรียง
ครูเพลงเปิดคลาสทดลองวิชาศิลปะกับธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอค้นคว้ามาแล้วว่า มีดอกไม้ ใบไม้ชนิดไหนที่สกัดเป็นหมึกได้บ้าง ทั้งยังตั้งใจว่าจะเสริมเรื่องวิทยาศาสตร์เข้าไป เช่น ทดลองหยดกรด ด่างให้นักเรียนเห็นสีที่เปลี่ยน
“วันนี้ครูเพลงจะมาชวนเด็กๆ วาดรูป แต่ว่าจะใช้สีจากธรรมชาติ พวกดอกไม้ ใบไม้นะ”
ทันทีที่จบประโยค นักเรียนห้องผักกาดก็ร้องว้าวอย่างน่ารัก แล้วต่างพากันเดาว่าเหล่าดอกไม้ ใบไม้จะเอามาทำงานศิลปะได้หรือเปล่า ซึ่งครูเพลงไม่ปล่อยให้ความสงสัยนั้นอยู่นาน ชวนเด็กๆ ใส่รองเท้าออกไปสำรวจดอกไม้ และใบไม้ในรั้วโรงเรียน
ครูเพลงเดินนำ เด็กน้อยทั้งสี่เดินตามเป็นแถว พากันเดินเข้าแปลงผักสลัดที่ปลูกไว้ ก่อนขอตัวแทนถือตะกร้าหวายสำหรับใส่เหล่าดอก
“ถ้าเป็นเวลาปกติ เราเด็ดดอกไม้ ใบไม้จากต้นได้ไหมคะ”
“ไม่ได้ค่ะ/ครับ”
“ถูกต้องเลย แต่ครั้งนี้เราเก็บมาทดลองงานศิลปะนะ เลยเก็บได้”
ระหว่างเดินเก็บดอกไม้ ใบไม้ ตั้งแต่แปลงผัก ริมรั้ว ไปจนถึงบริเวณศาลาริมคลองสำโรง เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ มีให้ได้ยินไม่ขาดสาย บ้างถามว่านี่ดอกอะไร บ้างสงสัยเจ้าแมลงตัวกระจ้อยที่เจอในสวน มากไปจนถึงสงสัยในรสชาติของตะขบที่อยู่ริมคลอง จนอดไม่ได้ที่จะเก็บมาชิม
เดินเก็บดอกไม้ ใบไม้มาแทนพู่กันจนเต็มตะกร้า หนึ่งคุณครูและสี่เด็กเล็กก็พากันกลับมาที่โต๊ะม้านั่ง ครูเพลงแจกกระดานที่มีกระดาษร้อยปอนด์คนละแผ่น แล้วให้เด็กๆ ไล่ชื่อสิ่งที่เก็บมา ซึ่งสี่เสียงก็พูดชื่ออย่างพร้อมกันว่ามีใบมินต์ ดอกอัญชัน ดอกเฟื่องฟ้า ดอกคุณนายตื่นสาย ดอกมิกกี้เมาส์ ลูกตะขบ และใบชะพลู
“เด็กๆ พับดอก พับใบเล็กน้อยนะ แล้วถูสีเป็นภาพลงกระดาษเลย ซึ่งหัวข้อในการวาดภาพด้วยสีธรรมชาติครั้งนี้ คือ ความสุข”
ระหว่างนักเรียนตัวน้อยกำลังตั้งอกตั้งใจวาดภาพด้วยสีธรรมชาติตามโจทย์ เราหันไปถามครูเพลงว่าได้อะไรจากการเป็นคุณครูอนุบาล เธอยิ้มขณะทอดสายตามองเด็กๆ แล้วบอกว่า ความไม่กลัวอะไร
เด็กอนุบาลสอนให้ครูเพลงรู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์จะพุ่งสุดขีดถ้าเรามีความกล้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำอย่างไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดไหม
“เราชอบไปคลาสศิลปะเพราะได้เห็นความคิดใหม่ๆ เสมอ มีครั้งหนึ่งให้เด็กจับคู่กันแล้วก็วาดรูปสัตว์ประหลาดที่ไม่เคยมีในโลกนี้ คนหนึ่งวาดหัว อีกคนวาดตัว แล้วให้เด็กๆ ในห้องมาเล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดต่อกันจนจบ ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ วาด และนำเสนอ บางครั้งก็เป็นมุมที่เราไม่เคยคิดมาก่อน”
เด็กเล็กยังสอนให้ครูเพลงเป็นเพลงในเวอร์ชันที่ใจเย็น ควบคุมอารมณ์เก่ง และคอยส่งต่อพลังงานบวกให้คนรอบข้าง
“การสอนเด็กทำให้เรามีความสุขไม่แพ้ตอนเล่นดนตรี เราไม่ชอบแสดงด้านลบกับคนอื่น เลยจะแสดงออกในทางที่บวกเสมอ ซึ่งเด็กๆ เพิ่มพลังบวกให้เราได้เยอะเลย”
ผ่านไปไม่นาน ผลงานศิลปะของเด็กๆ ห้องผักกาดก็เสร็จครบทุกคน น้องอ๋องวาดรถบรรทุก น้องกัสจังวาดเฮลิคอปเตอร์เวอร์ชันของเล่น น้องฮานิวาดรูปตัวเองได้เล่นสนุก และน้องอัณยาวาดรูปทะเลที่มีกระต่าย
ครูเพลงฟังเด็กๆ อธิบายภาพอย่างตั้งใจควบคู่กับเสียงหัวเราะของเด็กและคุณครูที่ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ทำให้คนมองอย่างเราสัมผัสได้ว่าทุกจินตนาการที่เด็กๆ ถ่ายทอดออกมาเพื่อใช้อธิบายความสุขของพวกเขา เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มความสุขให้เพลงได้ไม่น้อย
วิชาครูเพลง 101 ที่ชวนทำความรู้จักบทบาทครูอนุบาลของเพลง ต้องตา ครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสานต่อโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ เพราะเธอวางแพลนไว้ว่าสอนได้สัก 3 ปีจะเรียนด้านการบริหารการศึกษาต่อ เพื่อวางหลักสูตรการเรียนแนวบูรณาการให้เป็นประโยชน์กับเด็กเล็กมากที่สุด และวันข้างหน้า ครูเพลงตั้งใจไว้ว่าจะดูแลโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์และเด็กๆ ให้มีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ความตั้งใจไหนๆ คงไม่น่าชื่นชมเท่าความตั้งใจที่เพลงบอกกับเราพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ว่า “อยากเป็นคุณครูที่เปิดกว้าง และเปิดใจรับสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนคิด สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครู”