กินอาหารทะเลอย่างไม่ทำลายนิเวศ ‘ปลาออร์แกนิก’ ร้าน จำหน่ายอาหารทะเลจากประมงอนุรักษ์วิถี - Urban Creature

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายคนอาจมีความเชื่อว่าอาหารทะเลไม่มีวันหมดลง เพราะธรรมชาติยังคงผลิตสิ่งมีชีวิตได้อยู่เสมอ แต่คงลืมคิดไปว่า หากไม่ใช้ทรัพยากรอย่างเข้าใจ วันหนึ่งข้างหน้าอาจไม่มีอาหารทะเลให้ทานกันอีกก็ได้

เราชวนมาพูดคุยกับ พี่นุช หรือ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ผู้ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญของ ‘ปลาออร์แกนิก’ ร้านจำหน่ายอาหารทะเลที่เลือกวัตถุดิบจากประมงอนุรักษ์วิถี เพราะเขาเชื่อว่าคงเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อยหากทุกคนเลือกบริโภค และทำประมงอย่างไม่เบียดเบียนสัตว์ทะเล

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ชาวประมงต่างตาละห้อย เพราะรู้สึกตัวแล้วว่า อาหารทะเลกำลังจะหมดลง จากการจับสัตว์ทะเลด้วยอวน ดังนั้นชาวบ้านกลุ่มที่ทำประมงอนุรักษ์วิถีจึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับอวนรุน อวนลากทั้งหลายที่คอยทำลายท้องทะเล เพื่อให้ทะเลนั้นกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

ประมงอนุรักษ์วิถี คือการทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อที่ว่า ทรัพยากรมีไว้ให้เราใช้เพื่อดำรงชีวิต ดังนั้นต้องรู้จักรักษา เลือกจับให้ถูก พร้อมเพาะพันธ์ให้พวกสัตว์ทะเลยังคงมีอยู่ เพราะหากยังทำเกินศักยภาพในการผลิตของสัตว์ทะเล สุดท้ายก็จะกลายเป็นการทำลาย สิ่งที่คิดว่ามีเยอะก็จะเริ่มหายไป

ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของชาวประมงอนุรักษ์วิถี กลายเป็นแรงผลักดันให้พี่นุชเริ่มทำงานคลุกคลีกับชาวประมงมานานหลายสิบปี ลงไปใช้ชีวิตไปสัมผัสทุกขั้นตอนให้รู้ถึงแก่น เพราะเธอมีความตั้งใจว่า

“อยากให้ชาวประมงอนุรักษ์หรือชาวประมงพื้นบ้านมีตัวตนมากกว่าที่เคย”

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

| ลงทะเลเจอปัญหา “ทำไมประมงได้กำไรขายปลาทูแค่ 20 บาท ทั้งๆ ที่ตลาดขาย 100 บาท”

จากการลงไปใช้ชีวิตกับชาวประมงพื้นบ้าน พี่นุชได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย พร้อมกับเจอปัญหาหนึ่งที่เธออยากแก้ไขให้ได้ นั่นคือ “การได้รับผลตอบแทนที่น้อย” ทั้งที่ชาวประมงนั้นเลือกจับสัตว์ทะเลแบบไม่ใช้เครื่องมือ คอยดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และหวงแหนท้อง ทะเลมากกว่าใคร

สิ่งที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง คือพี่นุชบอกว่าหากไปถามชาวบ้าน พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าปลาสวยๆ หรือกุ้งก้ามกรามสดๆ ของตัวเอง เวลาส่งให้กับพ่อค้าแม่ขายแล้วไปไหน ? ใส่สารเคมีหรือไม่ ? รู้เพียงว่า วันนี้มีคนรับซื้อก็ดีใจแล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ

“เขาจับปลาอย่างมีคุณภาพ อย่างปลาทูชาวบ้านขายจริงๆ ได้แค่ 14 บาท ทั้งที่ในตลาดขาย 100 บาท แล้วเงินที่เหลือนั้นไปอยู่ที่ใคร ?”

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

พี่นุชยอมรับว่า แม้เป็นนักวิชาการแต่การเก็บข้อมูลวิจัยต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน แม้เอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกี่รอบก็ไม่มีทางที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะชาวบ้านยังไม่มีตัวตนในสังคม ดังนั้นสิ่งที่พี่นุชคิดเสมอคือ

“ทำไมเราไม่ทำให้มันเกิดและเป็นสิ่งที่จับต้องได้จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเส้นทางอาหารทะเลที่ปลอดภัยและชาวบ้านได้ราคาปลาที่ดี”

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

| ตลาดสีเขียว เวทีสำคัญที่ทำให้คนรู้จัก ‘ปลาออร์แกนิก’

ระหว่างคุยกันไปก็เกิดคำถามว่า ท้องทะเลไทยออกจะกว้างขวางขนาดนี้ เราจะมีโอกาสได้กินอาหารทะเลที่ดีจริงๆ หรือเปล่า ?

พี่นุชจึงจับสิ่งที่ดีที่สุดของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านขึ้นมาประกาศเล่าเรื่องราว โดยการเอาปลาสดๆ ของชาวบ้านขึ้นมานำเสนอกับคนเมือง สถานที่แรกที่ปลาได้โชว์ตัวคือตลาด ‘Bangkok Farmers Market’ ในระยะแรกไม่เน้นยอดขาย แต่เน้นเรื่องการสื่อสารมากกว่า หากถูกใจลูกค้าจะเริ่มถามเรื่อยๆ ว่าปลามาจากที่ไหน ทำไมถึงสดขนาดนี้ ด้วยคุณภาพที่แท้จริงเราจึงคุยกับเขาได้

“กว่าจะขายปลาได้หนึ่งตัวนั่งคุยกันประมาณ 15 นาที กุ้งหนึ่งกิโลฯ ก็คุยไปครึ่งชั่วโมง เพราะเราอยากเล่าเรื่องราว”

ในช่วงแรกปลาออร์แกนิกของชาวบ้านจะมาเสิร์ฟคนเมืองทุกสามเดือน แต่ความต้องการนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปลาของชาวบ้านถูกเรียกร้องให้มาหาคนเมืองเดือนละครั้ง

เรื่องราวที่สื่อสารบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องที่ทึกทักขึ้นมาเองได้ พี่นุชจึงไม่อยู่นิ่ง ให้ทางสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์เข้ามารับรองปลาของชาวบ้านทันที ว่าอาหารทะเลของพวกเรานั้นเป็น “อาหารทะเลออร์แกนิก” หัวใจสำคัญอยู่ที่จับแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติห่างไกลมลพิษ รู้ได้ว่าใครจับปลาตัวดังกล่าวมา และปลอดสารพิษทุกขั้นตอน

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

ปลาออร์แกนิกขนาดนี้คนที่แพ้อาหารทะเลจะกินได้ไหม เรายิงคำถามด้วยความสงสัย

พี่นุชตอบกลับมาว่า ต้องเช็กตัวเองก่อนขั้นแรกว่า ‘แพ้จริงหรือแพ้หลอก’ คำว่าแพ้จริงอาจจะแพ้โปรตีนในอาหารทะเลอยู่แล้ว ส่วนแพ้ หลอก คือการที่ร่างกายแพ้สารเคมีในอาหารทะเลนั่นเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอยู่กลุ่มอาการนี้ ดังนั้นหากอาหารทะเลชนิดไหนไม่มีสารเคมีก็เป็นว่าทานได้หายห่วง

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

| ก้าวสำคัญเมื่อชาวบ้านมีหน้าร้านใหญ่อยู่ในเมืองหลวง

เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้ดีมีทั้งลูกค้าและพี่น้องชาวประมงเข้ามาทำโครงการนี้กับพี่นุชค่อนข้างเยอะกว่า 7 ปี เธอจึงเริ่มลองพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้าน ถามความสมัครในแต่ละพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง เพชรบุรี กระบี่ สตูล ปัตตานี และพังงา ว่าทุกคนนั้นอยากจะไปต่อในนามอะไรดี ท้ายที่สุดก็ออกมาเป็นรูปแบบ ‘บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด’ พร้อมมีหน้าร้านจำหน่ายอาหารทะเลชื่อ ‘ปลาออร์แกนิก’

“90% ชาวประมงเป็นผู้ถือหุ้น โดยตั้งใจสร้างเป็นโมเดลให้เห็นว่าชาวประมงนั้นเป็นเจ้าของทุกอย่าง”

เมื่อถามถึงเรื่องการจัดส่งว่าทำอย่างไรอาหารทะเลถึงยังคงสดใหม่เสมอ พี่นุชบอกกับเราว่าใช้บริการของบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) อยู่บ่อยครั้ง เพราะอาหารทะเลมาจากต่างจังหวัด รถทัวร์จะมีท่ารถที่อยู่ใกล้กับชาวประมง พวกเขาจะรู้รอบว่ารถจะมารับกี่โมง รูปแบบนี้จึงตอบโจทย์ทั้งชาวประมงและคนรับของมาขายหน้าร้านที่กรุงเทพฯ โดยชาวประมงจะเก่งเรื่องการขนส่งอาหารกันอยู่แล้ว อย่างกุ้งต้องอยู่กับน้ำไม่อย่างนั้นหนวดจะดำ และรู้ว่าต้องใส่น้ำแข็งเท่าไหร่จะพอดีกับช่วงเวลาขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

สักประมาณ 7 โมงเช้าทางร้านจะเดินทางไปรับอาหารทะเลที่หมอชิต เพื่อเช็กคุณภาพและตอบกลับชาวบ้านว่าอาหารทะเลวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เช่นรอบนี้น้ำแข็งน้อยไป มาถึงแล้วเหลือแต่น้ำเย็น หรือกุ้งรอบนี้แพ็คแน่นเกินไปคอเลยไม่สวย ปลาวันนี้แช่น้ำแข็งไม่สวยเลยอาจตัดออกไปบ้าง เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพอยู่เสมอ

สำหรับการคงความสดทางร้านจะแพ็คเก็บในน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว ทำให้ 5 วันผ่านไปแล้วก็ยังสดอยู่ แต่ต้องเก็บอย่างถูกวิธี เช่นกุ้งต้องโดนน้ำ แช่น้ำแข็งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ปลาห้ามโดนน้ำ

“ทั้งหมดที่ชาวบ้านทำอยู่นั้นไม่ได้ผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลางแม้แต่คนเดียว”

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

โดยชาวประมงไม่ได้มีแค่หน้าที่จัดส่งปลาให้ทางร้านเท่านั้น ขณะเดียวกันธุรกิจที่เขาทำร่วมกัน สิ่งที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ได้ ชาวประมงอยู่รอด และผู้บริโภคได้กินอาหารที่ดี ไม่ใช่คนได้กินดีเพียงอย่างเดียว แต่ชาวประมงกลับได้แค่ 14 บาท เท่าเดิม

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

| หมุนเวียนเข้าชุมชน

พี่น้องชาวประมงที่ร่วมมือกันทำงานอยู่นั้นมีกว่า 3,000-4,000 ครัว เรือน ซึ่งทุกพื้นที่จะได้รับมาตรฐานรับรองความออร์แกนิก ดังนั้นของหน้าร้านทุกอย่างจะมีบาร์โค้ด ที่สแกนแล้วสามารถรู้ได้เลยว่า ปลาตัวนี้มาจากจังหวัดไหน จับเมื่อไหร่ และใครเป็นคนจับ

โดยรายได้ 100% จากการขายอาหารทะเลของพี่น้องชาวประมงผ่านหน้าร้านปลาออร์แกนิก กำไรกว่า 60-70% ต้องถึงมือชาวประมง และคนออกเรือในแต่ละพื้นที่ ส่วนอีก 30-40% จะเป็นค่าบริหารจัดการที่หน้าร้าน นั่นหมายความว่าพวกเขาจะได้รับเงินตอบแทนที่มากพอ เพราะหากตอนนี้ขายปลาได้ 100 บาท พี่นุชจะ โอนให้ชุมชนทันที 70 บาท เจ้าของปลาได้รับ 50 บาท และอีก 20 บาทนั้นจะอยู่ส่วนกลาง เพื่อนำไปพัฒนาสวัสดิการของชุมชน นี่จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า การที่ลูกค้าซื้อปลาหนึ่งตัวแล้วเงินไปไหนบ้าง

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

| อนาคตร้านปลาออร์แกนิก ที่พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนและเส้น ทางอาหารที่เกื้อกูลกัน

ถ้านิยามอนาคตเอาไว้พี่นุชก็บอกเราว่า หลังจากทำงานร่วมกับทุกฝ่ายมานานพอสมควร ทำให้เห็นศักยภาพของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ความรู้ที่คนๆ นั้นมีอยู่ข้างใน แต่เขาสามารถลงมือทำมันออกมาได้อย่างประสบความสำเร็จ และทุกครั้งพี่นุชเชื่อว่าพี่น้องชาวประมงทำได้

“เพียงให้ชาวประมงมองเห็นศักยภาพของตัวเองอย่างที่เราเห็น ไม่ใช่แค่ความรู้ที่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่เป็นความเพียรที่มาจากข้างในด้วย”

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

แม้จะเป็นธุรกิจแต่ไม่ใช่ความหวังที่อยากจะร่ำรวย และอนาคตโมเดลที่คิดกันไว้ จะไม่มีการมองเป็นธุรกิจที่ขายดี แต่อยากทำให้ตลาดปลาของชาวประมงพื้นบ้านนั้นมีช่องทางไปพร้อมกับให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาผลิตอะไรอยู่ ต้นทุนจริงเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่สื่อสารกันอย่างจริงใจเสมอ

รวมถึงลูกค้าเองก็จะได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้กำหนดอาหารเองได้เกือบทุกอย่าง บางอย่างก็ต้องรอตามฤดูกาล ซึ่งแบบนี้เป็นการส่งเสริมการกินแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งคนผลิต คนบริโภค และเป็นท้องทะเล

Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

หากใครเป็นแฟนคลับอาหารทะเลตัวยงเราอยากให้ลองทานอาหารทะเลสดๆ จากร้านปลาออร์แกนิกดูสักครั้ง เพราะลูกค้าที่เคยได้ลอง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายเดียว โรงแรม ร้านอาหาร ผู้ป่วยคลินิกมะเร็ง ต่างตอบกลับเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติดีและสดใหม่เสมอ โดยชาวประมงนั้นออกทะเลวันต่อวัน อาหารทะเลที่ได้จึงเป็นตามฤดูกาล ดังนั้นหากต้องการจำนวนมากจึงอยากให้ออร์เดอร์ล่วงหน้ากันสักหนึ่งอาทิตย์นะ


Photo FB : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

สถานที่ตั้ง : ร้านปลาออร์แกนิก ซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ดูรายการอาหารทะเลได้ที่ : https://www.facebook.com/ pla.organic/
โทร : 090-004-2401

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.