โปรเจกต์ที่อยู่อาศัยที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ อยู่ในเมือง Yuen Long ประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นย่านที่รายล้อมไปด้วยอพาร์ตเมนต์สูง เต็มไปด้วยชุมชนหนาแน่น ครอบครัวส่วนใหญ่ในฮ่องกงเมื่อลูกหลานเติบโตขึ้นมักจะออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ และมองหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งของตัวเอง เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว รวมไปถึงอิสระในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ที่กลายเป็นผู้สูงอายุก็มักถูกปล่อยให้อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง
“Pets Playground” เป็นโปรเจกต์จากสตูดิโอ Sim – Plex ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้สมาชิกในบ้าน ทั้งคุณแม่ที่เป็นผู้สูงอายุ และครอบครัวที่เพิ่งมีลูก สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขและเติมเต็มความต้องการที่แตกต่างของคนสองรุ่นได้ นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาคนชราถูกทอดทิ้ง และลดค่าใช้จ่ายในการหาซื้อที่อยู่ใหม่ซึ่งมีราคาสูง
โปรเจกต์ Pets Playground จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้ เราไปดูกันดีกว่าว่าพวกเขาออกแบบกันอย่างไร ?
| 3 คน 1 แมว 1 นกแก้ว
โจทย์ในการดีไซน์ห้องที่มีขนาดประมาณ 42 ตารางเมตร ต้องคำนึงถึงสมาชิกในบ้านถึง 3 คน และสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วอีก 2 ตัว โดยคุณแม่ที่มีอายุมากแล้วก็อยากอยู่ใกล้ชิดกับแมวที่เลี้ยงมานานหลายปี และอยากให้เจ้าเหมียวสามารถเดินเล่นได้รอบบ้าน ส่วนลูกของเธอและสามีก็เลี้ยงนกแก้วไว้ 1 ตัว และอยากให้เจ้านกน้อยมีความสุข เมื่ออยู่ในบ้านเล็กๆ ทรงสี่เหลี่ยม ที่สามารถปล่อยออกนอกกรงไปบินเล่นได้บ้าง ที่สำคัญฟังก์ชันการดีไซน์ในห้อง ยังต้องใส่ใจถึงความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รักษาความเป็นส่วนตัวของคนทั้งสองวัย และมีพื้นที่ส่วนรวมให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน
นักออกแบบใช้พื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อกับส่วนรับประทานอาหาร ให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมขนาดใหญ่ของครอบครัว เมื่อสมาชิกต้องการความเป็นส่วนตัว ก็สามารถดึงบานเลื่อนที่อยู่ระหว่างสองพื้นที่นี้ กั้นเป็นสองฝั่งระหว่างส่วนของคุณแม่และครอบครัว ซึ่งห้องของลูกและสามีจะอยู่ทางทิศตะวันออกเชื่อมกับส่วนนั่งเล่น และห้องของคุณแม่จะเชื่อมกับส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งสามารถเดินเชื่อมไปยังห้องครัว ห้องน้ำและทางเข้า เพื่อให้เดินเข้า – ออกห้องต่างได้สะดวก
| การอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยง
การออกแบบนอกจากจะตอบโจทย์คนอยู่อาศัยแล้ว ยังคำนึงถึงฟังก์ชันสำหรับสัตว์เลี้ยงที่สามารถอยู่ร่วมกับคนอย่างมีความสุขอีกด้วย อย่างเจ้านกแก้วที่ต้องอาศัยอยู่ในกรงใหญ่และควรได้รับแสงแดดเข้าถึงอย่างเต็มที่ นักออกแบบจึงวางแผนให้กรงนกแก้วอยู่ในโซนนั่งเล่น เพราะใกล้กับหน้าต่างใหญ่เพื่อรับแสงแดด ซึ่งอยู่ติดกับห้องนอนของลูกทำให้เขาสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตลอดเวลา รวมทั้งพื้นของชั้นนั่งเล่นจะยกสูงกว่าพื้นที่ส่วนอื่นของบ้านทั้งหมด เพื่อให้แมวระมัดระวังในการเดินในบริเวณโซนนั่งเล่น นอกจากนี้ ถ้าดึงบานเลื่อนกั้นห้องไว้ ยังสามารถปล่อยให้นกแก้วบินเล่นออกจากกรงได้อีกด้วย
มาดูส่วนของแมวตัวเล็กของคุณแม่กันบ้าง ด้วยโจทย์การออกแบบที่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงสามารถเดินเล่นได้รอบห้อง นักออกแบบจึงดีไซน์เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินทั้งหมดให้มีลักษณะพิเศษ เช่นสร้างหลุมหรือช่องว่าง ให้แมวสามารถเข้าไปหลบซ่อน หรือนอนเล่นได้ รวมไปถึงชั้นวางของที่ทำให้เจ้าเหมียวปีนป่ายข้างบนได้ เหมาะกับนิสัยของเจ้าแมวที่ชอบอิสระ ชอบวิ่งเล่นไปมาอยู่บ่อยๆ และชอบหลบซ่อนอยู่ในมุมส่วนตัว นอกจากนี้ พื้นวัสดุยังปูด้วย Ecological Melamine Faced Board เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนจากสัตว์เลี้ยง และลดสารพิษ Formaldehyde ที่มาจากสารเคลือบพื้นวัสดุไม้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัย
| การออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัด
ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ต่างก็พักอาศัยในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ บนตึกสูง แลกกับความสะดวกสบายในเมือง นักออกแบบจึงมองว่าการดีไซน์พื้นที่ใช้งานภายในห้อง ควรจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ภายใต้พื้นที่จำกัด เฟอร์นิเจอร์ในห้องควรมีช่องเก็บของเยอะ เช่น พื้นสูงที่ถูกยกขึ้นในพื้นที่นั่งเล่นข้างใต้เป็นลิ้นชักเก็บของ และเฟอร์นิเจอร์บางส่วนสามารถพับเก็บเคลื่อนย้ายได้ หรือในส่วนรับประทานอาหาร ก็สามารถดึงลิ้นชักเก็บของออกมากลายเป็นโต๊ะนั่งกินข้าว และเก้าที่นั่งได้มากสุดถึง 4 คน เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้สอย และเพิ่มความหยืดหยุ่นในการใช้งานสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ได้สะดวก
“Pets Playground” จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ออกแบบมาสำหรับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัยในครอบครัว ที่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวและสร้างการมีส่วนร่วมไว้ด้วยกัน ถือเป็นต้นแบบบ้านที่ดีสำหรับครอบครัวยุคใหม่ที่มีพื้นที่อาศัยจำกัดในเมืองใหญ่ และต้องการดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่นับวันเริ่มแก่ตัวลงไปพร้อมกัน ซึ่งในประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว Pets Playground จึงเป็นอีกโปรเจกต์ที่น่านำมาปรับใช้ในบ้านเรา
SOURCE :
Designboom | https://bit.ly/3dmPKw4
TreeHugger | https://bit.ly/2zBWKqk
Dezeen | https://bit.ly/3cardcj
SIM-PLEX | https://bit.ly/3gyXZqX
archello | https://bit.ly/2ZNoh2O
Content Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Jirayu P.