โรงรับจำนำกรุงเทพฯ เปลี่ยนทรัพย์เป็นเงิน - Urban Creature

หากพูดถึงที่พึ่งยามข้าวยากหมากแพง สถานที่แรกที่คนจะนึกถึงคงเป็น ‘โรงรับจำนำ’ หรือ ‘โรงตึ๊ง’ ในอดีตโรงรับจำนำเป็นที่ที่ใครก็หลีกเลี่ยงด้วยตัวโรงรับจำนำเป็นผนังทึบ มีลูกกรงเหล็ก ดูน่ากลัวไม่เป็นมิตร และหวาดหวั่นว่าจะถูกกดราคา มิหนำซ้ำเดินออกมายังรู้สึกอับอายหรืออับจนหนทาง ทั้งที่ในความเป็นจริงโรงรับจำนำเป็นแหล่งเงินกู้ที่ได้เงินเร็วและง่าย ขอแค่มีทรัพย์สินมาค้ำประกัน อีกทั้งดอกเบี้ยยังถูกกว่าบัตรเครดิต สินเชื่อ หรือเงินกู้นอกระบบ เรียกว่าเป็นมิตรแท้ที่พึ่งพายามทุกข์ยาก

อาคารสีเขียวที่มีตรา กทม. นี้ คือที่ตั้งของ ‘สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร’ หรือ โรงรับจำนำกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีอยู่ 21 แห่ง ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน สามารถนำทรัพย์มาจำนำเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายยามจำเป็น และไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากเอกชนที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงหรือเอารัดเอาเปรียบ


ในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ แม้จะไม่ใช่วิกฤติทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากกิจการต่างๆ ที่ต้องหยุดชะงัก หลายคนตกงาน รายได้หดหรือถูกลดเงินเดือน แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าบางรายไม่มีที่ทำมาหากินโดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครก็ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน เรามาเจาะลึกกันว่าการจำนำของประชาชนในช่วงนี้เป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนสภาพเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คนในกรุงเทพฯ

ลดภาระทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง


เรามีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นพดล เพิ่มพิทยา ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร จึงได้ถามถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด และความเปลี่ยนแปลงที่โรงรับจำนำต้องรับมือ


“พอเกิดเหตุการณ์โควิดบางคนไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท เขาก็ต้องหาของมาจำนำ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่คนต้องกินต้องใช้ทุกวัน ทางสถานธนานุบาลจึงได้ออกมาตรการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชน”

  • ลดดอกเบี้ย วงเงินรับจำนำ 1 – 5,000 บาท เหลือร้อยละ 10 สตางค์ต่อเดือน (จากร้อยละ 25 สตางค์) 
  • ลดดอกเบี้ย วงเงินรับจำนำ 5,001 – 15,000 บาท เหลือร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน (จากร้อยละ 1 บาท)
  • ขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำ จาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 8 เดือน


นอกจากมาตรการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระทางการเงินแก่พี่น้องประชาชน ปกติแล้วในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง ทรัพย์จะหลุดเยอะเพราะคนไม่มีเงินส่งดอก แต่พอมีการขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำก็ทำให้ทรัพย์หลุดจำนำในช่วงนี้มีน้อยลง


“เราไม่อาจทราบได้ว่าการระบาดจะหยุดลงเมื่อไหร่ หรือรัฐบาลจะประกาศคลายล็อกดาวน์ทั้งหมดเมื่อไหร่ เราจึงขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำออกไปเพื่อทรัพย์จะได้ไม่หลุด เพราะใช่ว่าคลายล็อกดาวน์แล้วทุกคนจะทำงานได้ปกติ ทุกธุรกิจยังต้องชลอตัวอีกระยะหนึ่ง ถ้าเกิดโควิดยังไม่หยุด เราก็อาจขยายระยะเวลาออกไปอีก”

โรงเรียนเลื่อนเปิด แต่ผู้ปกครองต้องใช้เงิน


ทุกปีช่วงใกล้เปิดเทอมเป็นช่วงที่โรงรับจำนำคึกคักเป็นพิเศษ เพราะคนต้องหาค่าเล่าเรียนให้ลูก รวมถึงค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แม้วันเปิดภาคเรียนปีนี้จะเลื่อนออกไป แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็กก็มีความจำเป็นต้องใช้เงิน


“โปรโมชันนักเรียน นักศึกษา เดิมปีที่แล้วให้ระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 31 พ.ค. แต่ปีนี้ทางภาครัฐประกาศเลื่อนเปิดเทอมออกไป เราก็เลยขยายให้อีก 1 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. นักเรียนนักศึกษา 1 ราย ให้วงเงิน 100,000 บาท ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.27 บาทต่อเดือน แต่ตอนนี้เราปรับเหลือ 50 สตางค์”


“แม้โรงเรียนจะยังไม่เปิด แต่นักเรียนนักศึกษาก็มาใช้สิทธิโปรโมชัน เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จำนวนรายของผู้ที่มาใช้โปรโมชันนักเรียนนักศึกษาจากปีที่แล้ว 824 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,108 คน คิดเป็น 34.44% ส่วนจำนวนเงินเพิ่มขึ้นถึง 141.4% เพราะใช้วงเงินคนละแสนกันมากขึ้นยอดก็เลยเพิ่ม”


‘โรงรับจำนำ’ ที่พึ่งยามขัดสน


จำนวนผู้ใช้บริการโรงรับจำนำในช่วงโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดร.นพดล เพิ่มพิทยา ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เผยว่า สำหรับวงเงิน 5,000 บาท จำนวนรายที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้น 1,406 ราย เทียบเป็นเปอร์เซ็นคือ 13.49 % และจำนวนเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 19.71% ส่วนวงเงิน 15,000 บาท จำนวนรายเพิ่มขึ้นมาเพียง 101 ราย หรือ 0.9 % แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมา 5,680,000 บาท หรือ  5.13% นอกจากนี้ คุณพัทน์ธาวัลย์ อิ่มทองคำ ผู้จัดการดินแดง กล่าวเสริมว่า


“เดือนมีนาเป็นช่วงพีคที่มีคนป่วยมากขึ้นวันละเป็นร้อยๆ และจะเริ่มล็อกดาวน์ ลูกค้าจึงมาจำนำกันเยอะเพื่อเอาเงินไว้ซื้อของเพื่อกักตุน พอเดือนเมษาทองราคาขึ้น ส่วนมากลูกค้าที่พอมีเงินจะไถ่เอาไปขาย ทองหนึ่งบาทสมมติเขามาจำนำไว้ 19,000 บาท เขาเอาไปขายอย่างน้อยก็ 23,000 บาท ได้กำไร 3,000-4,000 บาท โดยไม่ต้องมาเสียดอกเบี้ย อีกกรณีเขามาจำนำไว้เมื่อเดือนมกราคมบาทละ 16,000 ตอนนี้เรารับบาทละ 20,000 เขาก็มาขอวงเงินเพิ่มได้ 4,000 ก็เอาไปช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว”

จากทองต้องเปลี่ยนมาจำนำ ‘เครื่องมือทำกิน’ 


“ก่อนหน้านี้เราจะสังเกตว่า เดิมของที่คนเอามาจำนำ 87% เป็นทองคำ แต่พอราคาทองคำขึ้นส่วนใหญ่คนจะมาไถ่ถอนเพื่อเอาไปขายเพราะได้กำไรมากกว่า เขาก็ไถ่ทองที่เคยจำนำไว้ตั้งแต่ 18,000 – 19,000 บาท ตอนนี้เอาไปขายได้ 25,000 บาท ก็จะได้ส่วนต่าง 4,000-5,000 บาท”


“ทีนี้คนที่ขายไปแล้ว พอมาเกิดเหตุการณ์โควิดเขาก็ต้องหาของที่มีในบ้าน บางรายเอาตู้เย็น พัดลม ทีวี หม้อหุงข้าว โน๊ตบุ๊ค ไอแพด นาฬิกา เครื่องกรองน้ำมาจำนำ ตอนนี้ก็มีซึ้งนึ่งอาหาร ถาดใส่กับข้าว ก็เริ่มมีมาจำนำบ้าง ของเล็กของน้อยมาหมด รวมถึงเครื่องมือช่าง เครื่องมือก่อสร้างก็นำมาจำนำกันเยอะมาก อย่างเครื่องปั๊มลม สว่านไฟฟ้า หรือคนทำงานตามผับตอนกลางคืนก็มีเอากีตาร์มาจำนำ”

ของสะสมเก่าแก่ กลายเป็นของจำนำหายาก


“นอกจากคนทำมาหากิน คนเฒ่าคนแก่ก็ต้องหาเงินให้ลูกหลานใช้ เขาก็เอาของโบราณมาจำนำซึ่งถ้าไม่เดือดร้อนเขาไม่เอามาจำนำนะ มีทั้งเครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง อย่างบาตรพระทองเหลือง ขันขัดหิน หรือเชี่ยนหมากเงินซึ่งเป็นของเก่าดั้งเดิมสภาพสมบูรณ์มาก แม้กระทั่งที่ทุกโรงรับจำนำไม่เคยเห็นอย่าง หอยสังข์รดน้ำสมรส”


ผลกระทบโรงรับจำนำ ทรัพย์ค้างสต็อก เงินออกทุกวัน


สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เป็นที่โรงรับจำนำที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่มีคนมาจำนำกันล้นหลามจึงต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่


“คนมาจำนำเราเยอะขึ้น เงินก็ออกไปเยอะ โดยเฉพาะช่วงนี้เรางดการประมูลทรัพย์หลุดจำนำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ประชาชนมาจะรวมตัวกัน ซึ่งการประมูลคือการเอาเงินกลับมาหมุน แต่ตอนนี้ไม่มีเลย กลายเป็นทรัพย์ค้างอยู่ในสต็อก เงินก็ออกทุกวัน” 


“อย่างไรก็ตามเงินคลังของสถานธนานุบาลไม่มีปัญหา ช่วงแรกเราเตรียมเอาไว้ 1,000 ล้านบาท แต่ถ้าโควิดยังไม่หยุดเราก็เตรียมไว้อีก 900 ล้าน ซึ่งคิดว่าวงเงิน 1,900 ล้านบาทน่าจะพอ ตอนนี้ประมาณ 18 วันทำการ ยอดรวมกันทุกมาตรการเราใช้เงินออกไป 200 กว่าล้าน ถ้าสักสามเดือนเราน่าจะต้องใช้เงินประมาณ 900 ล้าน จากเดิมที่คำนวนไว้คือ 500-600 ล้าน แต่เนื่องจากประชาชนมาจำนำกันเยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา”


“ส่วนสถานที่เก็บทรัพย์หรือห้องมั่นคง เราสร้างตามมาตรฐานเดิมมีการเผื่อไว้ประมาณ 2 เท่าตัว เพราะฉะนั้นของเข้ามาเราเก็บได้ เดิม 87% เป็นทองคำ 11% เป็นอัญมนี เพชรพลอย เครื่องเงิน หรือนาก แต่ตอนนี้ทองเขาไถ่ไปเยอะ การจำนำทองก็ลดลง กลายเป็นเบ็ดเตล็ดประมาณ 3 % เราก็เตรียมพื้นที่ไว้เพราะสิ่งของใหญ่ๆ กำลังมา เช่น ตู้เย็น ทีวี เครื่องมือช่างที่เยอะขึ้น”

บริการด้วยใจ อะไรช่วยได้ก็ช่วยเหลือกันไป


เราได้พูดคุยกับ คุณพัทน์ธาวัลย์ อิ่มทองคำ ผู้จัดการดินแดง และ คุณสุชานันท์ ขวัญกิจศักดา ผู้จัดการบางซื่อ ถึงการให้บริการของโรงรับจำนำ ซึ่งนอกจากพนักงานจะทำตามหน้าที่ยังต้องมีความเห็นอกเห็นใจ


“ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของไม่ได้ รายได้ไม่มี ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ บางสาขามีซึ้งนึ่งข้าว หม้อก๋วยเตี๋ยวมาจำนำ ด้วยความที่ประชาชนเดือดร้อนมาก อะไรในครัวเรือนที่สามารถแปรสภาพเป็นเงินได้ และเราพอจะช่วยเหลือเขาได้ เราก็ช่วยกันให้เขาดำรงชีพต่อไปได้สักวันสองวันก็ยังดี”


“ลูกค้าเล่าให้ฟังว่า ตัวเองทำงานโรงหนังซึ่งต้องปิดบริการ ลูกทำงานเอกชนถูกลดเงินเดือน ไม่มีเงินส่งบ้านส่งรถ เราก็เห็นใจซึ่งนอกจากให้ราคาเต็มที่ก็ต้องให้กำลังใจเขาด้วย อีกคนเป็นวินมอเตอร์ไซค์ เราก็ถามว่ามีแต่คนเขามาจำนำทำไมถึงได้มาไถ่ถอนทรัพย์ เขาก็บอกว่าแฟนเป็นแม่บ้าน ตกงานช่วงโควิด เขาเลิกจ้างเลยได้เงินมาก้อนหนึ่งก็มาไถ่เก็บไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดอก ไม่มีกินแล้วค่อยว่าใหม่”


“ชั่วโมงนี้คนลำบากมาก ขนาดเอาธนบัตรเก่าๆ ที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกมาจำนำ ซึ่งทางเราก็ไม่ได้รับมาสัก 5 ปีแล้ว แต่เขาบอกว่าไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ เราก็รับไว้อะไรช่วยได้ก็ช่วย ของที่เก็บสะสมแล้วมีคุณค่าทางจิตใจ ถ้าเขาเอาไปขายก็คือขายแล้วขายเลย แต่ถ้าเขาเอามาจำนำของก็ยังอยู่ เราดูแลไว้อย่างดี เขาเองก็ได้เงินไปใช้จ่ายไม่มากก็น้อย”


“เราก็พยายามช่วยเขาให้มากที่สุด บางครั้งของที่เขาเอามาจำนำกับเรา มูลค่าไม่ถึงกับที่จำนำ แต่เราก็ช่วยกันว่าตอนนี้เขาเดือดร้อนนะ อะไรที่รับมาแล้วเราไม่บอบช้ำมาก หรือทำใจแล้วว่าไม่เป็นไรเพื่อช่วยให้เขาหลุดพ้นจาก วันนี้ที่เขาเดือดร้อน”

“เราในฐานะผู้รับจำนำ เมื่อลูกค้ามาหาเราเขาเดือดร้อน
เราก็ควรจะช่วยบรรเทาให้เขากลับไปแล้วยิ้มได้”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.