เรายกให้ Steve Jobs และ Elon Musk เป็นอัจฉริยะในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มายกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์เรา ผู้นำของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและชีวิตที่ผูกติดกับเทคโนโลยีแบบแนบแน่น ทุกกระแสประโคมข่าวนวัตกรรมใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจนบางครั้งเราอาจมองข้ามเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่ส่งผลกับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่า และเทคโนโลยีที่เราเทิดทูนเหล่านั้นก็อาจจะไม่สามารถช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้สักเท่าไหร่
ถ้ามองดูโลกใบนี้ให้กว้างขึ้น ยังมีอีกหลายคนที่สิ่งที่เขาเหล่านั้นทำส่งผลดีอย่างมากกับโลกใบนี้ แต่คนส่วนมากไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความพยายามและเจตนารมณ์ที่ดีไม่แพ้กัน คอลัมน์นี้จึงขออุทิศให้กับคนเหล่านี้ที่ทำตัวเหมือน “ปิดทองหลังพระ” ให้คนได้รู้จักเรื่องราวและสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นได้สร้างสรรค์ให้กับโลกของเรา
มารู้จัก Muhamud Yunus กัน
นายมูฮัมหมัด ยูนุส เป็นชาวบังกลาเทศโดยกำเนิด ประเทศบังกลาเทศขึ้นชื่อเรื่องความยากจนติดอันดับโลกโดย 31 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกว่า 150 ล้านคนนั้นใช้เงินเพื่อการดำรงชีวิตเพียงแค่วันละ 2 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น!! และคนเหล่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะลืมตาอ้าปากได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน พวกเขายังคงต้องติดอยู่กับความยากจนนี้ไปโดยไม่รู้จบ แต่แล้วผลสำรวจประชากรที่ยากจนใน ค.ศ. 2016 กลับสร้างความน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อตัวเลขลดลงเหลือเพียงแค่ 12.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อะไรกันที่เป็นเหตุให้ตัวเลขดีขึ้นขนาดนี้ในเวลาอันสั้น? หนึ่งในคำตอบของคำถามนี้คือ Grameen Bank โดยนายมูฮัมหมัด ยูนุส
“อาจฟังดูน้อยสำหรับใครก็ตามที่จะเริ่มทำธุรกิจ แต่สำหรับคนเหล่านั้นมันเป็นต้นทุนที่เขาไม่เคยได้รับจากสังคมเลย”
‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ ในกรณีนี้คือ นวัตกรรมทางด้านการเงินเพื่อคนยากจน ยูนุสมีความเชื่อที่ว่า คนจนทุกคนนั้นขาดต้นทุนที่จะทำให้เขาสามารถลุกขึ้นยืนและทำธุรกิจของตัวเองเพื่อออกจากความยากจน และทั้งหมดนั้นสามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินเพียง 27 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น อาจฟังดูน้อยสำหรับใครก็ตามที่จะเริ่มทำธุรกิจ แต่สำหรับคนเหล่านั้นมันเป็นต้นทุนที่เขาไม่เคยได้รับจากสังคมเลย และเงินจำนวนนั้นก็สามารถช่วยให้คนเหล่านั้นซื้อวัตถุดิบเพื่อเริ่มธุรกิจของตัวเองได้ เช่น เด็กน้อยซื้ออุปกรณ์ล้างรถเพื่อเปิดธุรกิจรับจ้างล้างรถ ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เมื่อรวมกันมากๆ เข้าก็จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในภาพรวม
วิธีการคิดของยูนุสนั้นต่างจากธนาคารทั่วไปโดยสิ้นเชิง มองข้ามข้อกำหนดที่ธนาคารทั่วไปจะปล่อยเงินกู้ เช่น
- ไม่ต้องเช็กประวัติ
- ไม่ต้องมีหลักประกัน
- ไม่ต้องมีเอกสาร
- ดอกเบี้ยต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้
แน่นอนว่านี่เป็นความคิดที่เสี่ยงอย่างมาก และก็คงไม่มีธนาคารไหนกล้าเสี่ยงด้วย ยูนุสจึงตั้งธนาคารของตัวเองขึ้นเพื่อปล่อยเงินกู้เหล่านี้ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ Grameen Bank (Grameen แปลว่าหมู่บ้าน) ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากเมื่อตัวเลขของผู้ที่กู้นำเงินมาคืนครบตามจำนวนนั้นสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินกู้อื่นๆ ที่ธนาคารทั่วไปปล่อยให้ลูกค้าที่ผ่านการตรวจเครดิตอย่างเคร่งครัดแล้ว นี่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธนาคารและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกหันมาเอาอย่างและเริ่มโครงการ Micro Finance ให้คนยากจนบ้าง
เศรษฐกิจของบังกลาเทศดีขึ้นตามลำดับเป็นผลมาจากประชาชนกลุ่มที่ยากจนนั้นหารายได้ได้มากขึ้น พร้อมทั้งมาตรฐานชีวิตด้านอื่นๆ ของประชาชนชาวบังกลาเทศก็ดีขึ้นตามๆ กันมา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความคิดและความเชื่อของคนเพียงคนเดียว ทำให้ประเทศทั้งประเทศและกระทั่งโลกทั้งโลกเกิดกระแสนวัตกรรมการเงินเพื่อคนยากจนขึ้น และที่สำคัญ ยูนุสได้ปลุกความหวังให้กับคนยากจนเหล่านั้น และให้คุณค่าเขาเทียบเท่ากับคนที่มีฐานะดีอีกด้วย
มูฮัมหมัด ยูนุสได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (The Nobel Peace Prize) ในปี 2006 และปัจจุบันก็ยังคงผลักดันนวัตกรรมเพื่อสังคมสาขาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ข้อคิดที่ได้จากวิธีคิดของมูฮัมหมัด ยูนุส
- ให้เริ่มทำธุรกิจให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้
- อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาหรือทำธุรกิจ
- เราทุกคนเป็นนักประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นคนยากไร้แค่ไหนก็ตาม
- จุดประสงค์ของคนเราทุกคนคือ “ทำให้โลกเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น”