12 คือจำนวนปีที่ มอร์ – วสุพล เกรียงประภากิจ ทำงานอยู่ในพื้นที่สื่อในฐานะคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
เบื้องหน้าเขาคือนักร้องนำวงอินดี้ป็อปร็อกอย่าง Ten to Twelve ก่อนเดินหน้าทำเพลงด้วยบทบาทศิลปินเดี่ยวหลังจากพักไป 2 ปีในชื่อ Morvasu ซึ่งตอนนี้ปล่อยเพลงป็อปฟังสบายอย่าง Melbourne ให้ได้เพลินกัน
เบื้องหลังเขาคือผู้กำกับโฆษณามือดีที่กลั่นพลังสร้างสรรค์ออกมาแล้วหลายสิบชิ้น และตอนนี้เขาคือผู้กำกับโฆษณาหนึ่งเดียวของเอเชียที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมทำโฆษณา เพื่อช่วยกระตุ้นสังคมของ องค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ซึ่งร่วมกับ Google ในนาม Youtube
2 บทบาทในเส้นทางการทำงานตลอด 12 ปี ทำให้มอร์ได้ตรวจสอบความรู้สึกตัวเอง และเป็นเขาที่เติบโตขึ้นในทุกวัน และตอนนี้เขาบอกกับเราหลังจิบอเมริกาโนร้อนว่า เขาเป็นมอร์เวอร์ชั่นที่ใจเย็นกว่าเดิม
.
โลกสองใบ
ดนตรี คือโลกใบแรกที่มอร์สร้างขึ้นตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขาคือนักร้องนำ Ten to Twelve วงอินดี้ป็อปร็อกที่เปิดตัวในปี 2010 มีเพลงฮิตอย่าง ชิด ภาวนา ไม่มีที่มา ฯลฯ และหลังจากหยุดพักงานเพลงไป 2 ปี เขากลับมาโลดแล่นในดินแดนแห่งตัวโน้ตอีกครั้งในฐานะ Morvasu ศิลปินเดี่ยวที่ปล่อยซิงเกิลติดหูอย่าง เวรรกรรม และ Melbourne
โฆษณา คือโลกใบที่สองที่มอร์สร้างขึ้นหลังเรียนจบ เขาเริ่มก้าวแรกด้วยการเป็นผู้ช่วย ต่อ- ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณาแห่ง Phenomena มาก่อน แน่นอนว่าได้รับแก่นและวิธีคิดในการทำงานที่แข็งแรง จนก้าวสู่การเป็นผู้กำกับโฆษณามือดี ซึ่งขั้นตอนการทำงานทั้งพาร์ทเพลงและโฆษณานั้น เขาบอกกับเราว่าจุดร่วมคือ วันกวี และ วันพิพากษา
“เวลาคิดงานเราจะเสพของเข้าไปเยอะๆ มันจะมีของทางกว้าง คือรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ภาพ วิธีการตัด การเล่าเรื่อง เราจะเรียกมันว่าวันกวีครับ ก็จะเสพไป ฟุ้งๆ ไป กับของทางลึก คือการศึกษาลงลึกในหัวข้อนั้น แล้วเราจะค่อยมาพิพากษาว่ามันดีหรือไม่ดี หรืออันไหนเหมาะกับการนำไปใช้งานมากที่สุด”
สำหรับการทำงานเขาเล่าว่าเพลงและโฆษณามีส่วนคล้ายกัน แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ความรู้สึก ที่มักเป็นหัวเชื้อการเขียนเพลงมากกว่าการทำโฆษณา
“เวลาทำเพลง จะขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นหลัก หมายถึงเราอยากพูดอะไร มีทัศนคติแบบไหน ทุกอย่างมาจากอารมณ์ของเราล้วนๆ สมมติถ้าเราทำเมโลดี้อันหนึ่งเสร็จ เราจะใส่ภาษามั่วๆ เป็นมนุษย์ต่างดาวไว้ แล้วมาลองฟังว่ามันพูดอะไรกับเรา แล้วค่อยคิดว่าควรจะเขียนอะไรลงไป กลายเป็นการเอาก้อนของอารมณ์และเรื่องราวมารวมกัน คือบางทีในทางเหตุผล หรือทฤษฎี เพลงอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าใช่มันก็ได้ครับ (หัวเราะ)”
ทุกครั้งที่ทำเพลง เราจะทำเพลงที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองมากที่สุด
“อย่างเพลง Melbourne เริ่มจากเมโลดี้หวานๆ บวกๆ ตัวเนื้อเพลงเราเลยนึกถึงเรื่องราวช่วงไป road trip ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพราะปกติเราทำงานค่อนข้างหนัก และเป็นอาชีพที่ใช้เวลาอิงอยู่กับอนาคตเยอะ ต้องรอฟีดแบคลูกค้าตลอด พอมีเวลาได้หยุดพัก ได้ไปเที่ยวนานถึง 2 อาทิตย์ มันทำให้เราค้นพบว่า การอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนที่เรารัก ใช้ชีวิตช้าๆ เพลินๆ มันดีมากเลย เหมือนเราไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน มันสวยงามมากนะ แล้วบรรยากาศของเมืองก็เป็นใจ แม้แดดจะแรง แต่อากาศเย็น ฟ้าสีฟ้า ขับรถเลาะไปตามหาดเรื่อยๆ มองแล้ว เห้อ ดีจังเลย
“ในทางกลับกันสำหรับงานโฆษณา การทำงานจะเน้นเหตุผลเป็นหลัก เริ่มจากต้องรู้ก่อนว่า แบรนด์เป็นอย่างไร ทำเพื่ออะไร ตามด้วยการคิดไอเดียที่ตอบสนองกับแบรนด์ และวิธีการเล่าเรื่องที่ตอบสนองไอเดียอีกที และเมื่อทุกขั้นตอนแข็งแรง ทุกครั้งที่เริ่มทำโฆษณา เราก็จะมีสิ่งที่เป็นแกนกลางยึดไว้ตลอดครับ”
.
กำกับโฆษณาเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
โฆษณาในอีก 5 4 3 2 1 …
“เออพี่ต้น อาทิตย์หน้าที่นัดดูบอลกันอะ ผมพาเมียผมไปด้วยได้ป่ะ”
“อืม ได้ดิ กินด้วยกัน”
“เปล่าพี่ ผมจะพามันมาเสิร์ฟน้ำ”
*เสียงหัวเราะ*
ต้องยอมรับว่าฝีมือการกำกับโฆษณาของมอร์ไม่เป็นสองรองใคร และล่าสุดไปเตะตาต้องใจ Tribeca Enterprise เอนเตอร์ไพร์สจากนิวยอร์ก ซึ่งมีแคมเปญร่วมกับ Google ในนาม Youtube และ องค์การสหประชาชาติ (Unitend Nation-UN) ทั้งสามภาคส่วนจับมือกันทำโปรเจกต์ The Global Goals ที่ประกอบด้วย 17 สิ่งที่หากทำได้จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น เพื่อทำโฆษณาฉาย 8 ภูมิภาคทั่วโลก ภายใต้หัวข้อทั้ง 17 ข้อ และเผยแพร่ผ่าน Ad Sequencing ใน Youtube ซึ่งมอร์ วสุพล คือผู้กำกับโฆษณาหนึ่งเดียวของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับเลือกให้ทำโฆษณาภายใต้หัวข้อ ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
“เราได้รับการติดต่อมาจาก Dentsu Thailand พาร์ทเนอร์ในประเทศไทยครับ ซึ่งทางเขาทำการบ้านมาให้เราว่า ผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูงเป็นจำนวนมากถ้าเทียบในอัตราส่วน แล้วก็มี CEO ผู้หญิงเยอะ เพราะฉะนั้นดูจากภายนอกคล้ายจะเท่าเทียมกันดี แต่ในความจริงค้นพบอินไซต์ว่า ยังมีความไม่เท่าเทียมกันที่ซ่อนอยู่ในวิธีคิด โดยเฉพาะคำพูดที่เหมือนกลายเป็นวัฒนธรรม เช่น หน้าตัวเมีย และพวกมุกเหยียดเพศต่างๆ ครับ เราเลยย่อยให้โฆษณาชิ้นนี้เป็นการรณรงค์ให้เลิกเล่นมุกเหยียดเพศ”
หลังจากได้เป้าหมายของการทำโฆษณาที่ชัดเจน การเจาะข้อมูลให้ลึกยิ่งขึ้นก็เริ่มต้น จนพบข้อมูลเชิงลึกว่า ผู้ชายเหล่านี้จะไม่เล่นมุกเหยียดเพศต่อหน้าผู้หญิงที่รัก สู่การพัฒนาไอเดียหลักภายใต้คอนเซปต์ The One You Love
“ไอเดียมันพูดเรื่อง ถ้าคุณเล่นมุกเหยียดเพศแล้วผู้หญิงที่คุณรักมาได้ยิน เขาจะรู้สึกยังไง เหมือนโฆษณานี้จะช่วยเตือนสติผู้ชายว่า คุณจะยังเล่นมุกเหยียดเพศอยู่ไหมถ้าคุณรู้ว่าจะทำให้คนที่คุณรักเสียใจ เพราะบางทีผู้ชายเวลาสังสรรค์ก็มีติดปากบ้าง หรืออาจแค่พูดว่า น้องมานั่งตักเราหน่อย มันอาจดูเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็คือการล่วงละเมิดนะครับ ก็เลยแตกออกมาเป็นหนังโฆษณา 3 เรื่อง 6 พาร์ท โดย The One You Love หมายถึงผู้หญิง 3 คน มีเมีย แม่ และลูกสาว เรื่องก็จะเกิดขึ้นผ่านกลุ่มผู้ชายกลุ่มเดิมที่เล่นมุกเหยียดเพศ ซึ่งคนที่เขารักบังเอิญอยู่ตรงนั้นพอดี แล้วเขาก็รู้สึกผิดที่พูดมันนอกไป ซึ่งตัวโฆษณาจะเล่นกับ Ad Sequencing ด้วย ถ้าคนดูกดข้ามโฆษณาตัวยาว จะไปเจอตัวสั้นที่ไอเดียเดียวกันแต่กระชับกว่าแทนครับ”
มอร์อธิบายต่อว่า ตัวเขาเองแม้เป็นผู้ชาย ก็ไม่เห็นด้วยกับการพูดจาดูถูกผู้หญิง หรือการเล่นมุกเหยียดเพศอยู่แล้ว มันคือเรื่องที่ค่อนข้าง ‘อิหยังวะ’ ในความคิด
เราว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ทุกคนควรได้รับเกียรติในการเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหนก็ตาม
เหยียดเพศในสังคมไทย
“คนที่เหยียดคนอื่น คือคนอ่อนแอ” มอร์ตอบกลับมาหลังจากที่เราเอ่ยถามไปว่า ทำไมการเหยียดเพศยังคงมีอยู่ในสังคมไทย
“คนที่เหยียดคนอื่น เราว่าลึกๆ แล้วจิตใจกำลังอ่อนแอ เพราะเขาต้องพยายามหาจุดที่รู้สึกว่าเข้มแข็ง ก็เลยต้องเหยียด ทำตัวว่าฉันเหนือเธอนะ ฉันเลยเหยียดเธอได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ไงครับ ดังนั้นเราว่าทุกคนต้องช่วยกันให้ความรู้คนรอบๆ ตัวว่า การเล่นมุกเหยียดเพศมันไม่โอเค มันไม่เคยโอเคเลย ไม่ว่าในบริบทไหนก็ตาม อาจเริ่มจากการสะกิดคนใกล้ตัว แล้วคุยกันดีๆ ครับ ไม่ต้องเปิดวอร์ก็ได้ เพราะคนที่มีแนวคิดเหยียดอยู่ ถ้าเราไปรุนแรงกับเขา เขาจะตั้งการ์ดทันที”
คำตอบของมอร์ทำให้เรานึกตามในใจ เพราะเรื่องราวการเหยียดเพศไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร มักถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติบ้าง เป็นการแซวเล่นขำขันบ้าง จนบางครั้งลืมนึกถึงจิตใจคนฟังว่าบอบช้ำมากแค่ไหน
ไม่เพียงเท่านั้นในฐานะคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังสื่อ มอร์ยังเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า สื่อสมัยนี้ยังคงมีการผลิตซ้ำมุกเหยียดเพศออกสู่สาธารณะให้ได้ดูกันอยู่บ้าง และไม่รู้ว่ามีคนดูเท่าไหร่ที่คิดว่าเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้เป็นปกติ
“ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในคนผลิตสื่อ อย่าไปทำเรื่องราวเกี่ยวกับทัศนคติที่มันไม่ดีเลยครับ อย่างเราก็จะไม่ทำโฆษณาที่มีทัศนคติที่เราไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการทำเพลงด้วย บางเพลงเราได้ฟังแล้ว what the fuck มาก มันควรสร้างสรรค์กว่านี้ หรือละครบ้างเรื่อง เราไม่เก็ทมากๆ ว่าทำไมยังต้องมีฉากที่นางเอกโดนพระเอกข่มขืน แล้วตื่นเช้ามาก็ร้องไห้ หรือบางทีอายๆ เหมือนตกหลุมรักเขาเพราะโดนข่มขืน นี่ปี 2020 แล้ว มันควรจะตัดมาอีกวันนางเอกไปแจ้งตำรวจ แล้วพระเอกติดคุกดิ”
.
มอร์ is more
เมื่อเล่าถึงการทำงานให้ฟังเสร็จ เรานึกสงสัยว่า การทำงานทั้งสองด้านของเขาที่ครบรสทั้งการใช้อารมณ์และเหตุผลนั้น ทำให้มอร์ในวันนี้เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง
เพลงทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น
โฆษณาทำให้เรารู้จักคนอื่นมากขึ้น
“การทำเพลงสักเพลงเหมือนเราได้ตรวจสอบตัวเองอีกทีหนึ่ง ตรวจสอบสิ่งที่เรารู้สึกในหัวข้อเพลงที่เราเขียนอยู่ เราเลยต้องรู้จักตัวเองเยอะเหมือนกันครับ เช่น ก่อนเราจะลงมือเขียน เราจะเขียนสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึกไว้เยอะๆ ก่อน มีทั้งใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของทัศนคติในเรื่องนี้ครับ ส่วนโฆษณาทำให้เรารู้จักคนอื่นมากขึ้น เพราะเราต้องรู้จักไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาแต่ละชิ้น ซึ่งเราว่ามันสนุกดี”
แล้วการได้รู้จักตัวเองและคนอื่นมากขึ้นทำให้มอร์เปลี่ยนไปบ้างไหม ? เราถามกลับไปเมื่อได้ฟังคำตอบ เขานิ่งไปสักพักพร้อมครุ่นคิดกับตัวเอง ก่อนตอบกลับมาว่า ตัวตนบางอย่างของเขาเปลี่ยนเสมอตามกาลเวลา แต่แก่นที่ยึดมั่นยังคงเหมือนเดิม
“มันทำให้เราค่อยๆ เป็นมนุษย์ที่โตขึ้น คิดว่าได้เป็นคนที่เต็มคนขึ้นเรื่อยๆ เราได้รู้จักตัวเอง และคนอื่นมากขึ้นครับ”
คิดว่ามุมไหนในตอนนี้ที่เปลี่ยนมากที่สุด ?
“มันเป็นสิ่งที่พูดแล้วแอบเขินนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าต้องตอบ เราชอบที่ตอนนี้เราใจเย็นกว่าเมื่อก่อนเยอะ ลดลงมา 3 ระดับเลยครับ ถ้าเป็น 2-3 ปีก่อนเราทำงานเยอะมาก จมอยู่แต่กับงาน กลายเป็นคนขึ้นง่าย เดือดมากเลยครับ แล้วก็เริ่มมีคนบอกว่าเราไม่ค่อยน่ารักแล้ว (หัวเราะ) เลยเปลี่ยนมารับงานน้อยลง”
มีคำพูดหนึ่งจากรุ่นพี่ที่บอกกับเราเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาทำงานจนไม่รู้ว่านิสัยจริงๆ เขาเป็นยังไง เพราะสนใจแต่เรื่องงานอย่างเดียว เราแบบใช่พี่ สามปีก่อนเราเป็นแบบนี้เลย
“เราไม่รู้ว่าเราเป็นยังไง นอกจากเรื่องงาน เหมือนเราถูกปลูกฝังมาว่า ยิ่งทำงานเยอะยิ่งดี แต่ถึงจุดหนึ่งแต่ละคนจะมีเส้นทางที่เหมาะกับแต่ละคน หมายถึงว่าสิ่งที่เขาทำแล้วดีไม่ได้แปลว่าเราทำแล้วดี คือทำงานน้อยลงไม่ได้แปลว่าขี้เกียจนะ แต่เรารับชิ้นงานน้อยลง แล้วหมกหมุ่นกับมันเท่าเดิม แล้วเราก็จะมีช่องว่างให้ตัวเองเยอะขึ้นครับ”
การพูดคุยกับ มอร์ – วสุพล ในฐานะทั้ง Morvasu และ ผู้กำกับโฆษณา ครั้งนี้ ทำให้เราที่ชื่นชอบในตัวผลงานเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เห็นความเป็นมอร์ในมุมมองที่กว้างไปถึงการเข้าใจสังคม เข้าใจผู้อื่น รวมถึงเข้าใจตัวเอง และแนวคิดบางอย่างที่เขาถ่ายทอดให้ฟังขณะสัมภาษณ์ ชั่วขณะหนึ่งมันซึมลึงลงไปในความรู้สึก จนเราฉุกคิดขึ้นว่า ความเข้าใจคืออีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้เสมอ
ขอบคุณสถานที่: Tangible Bangkok