บอล กันตพัฒน์ Made in Charoenkrung - Urban Creature

หลายคนคงรู้จัก บอล-กันตพัฒน์ สิริเกียรติยศ ในฐานะผู้คลั่งไคล้กีฬาสเก็ตบอร์ดจนถึงขนาดขอที่บ้านไปอเมริกาเพื่อทำความรู้จักกับมัน และเป็นชายคนแรกๆ ที่รันวงการสตรีทคัลเจอร์ในไทยด้วยการก่อตั้งร้าน SneakaVilla หรือแม้แต่บทบาทคุณพ่อลูกหนึ่ง ไปจนถึงสร้างบล็อก Ballisticone เพื่อเป็นพื้นที่ไว้แบ่งปันอารมณ์และความรู้สึกผ่านภาพจากกล้องฟิล์มคู่ใจ

แม้ว่าเขาชื่นชอบและคลุกคลีอยู่กับกล้องฟิล์มมานาน แต่มีหนึ่งสิ่งที่เขายอมรับว่ายังใหม่ในวงการ คือบทบาทศิลปินผู้จัดนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองเป็นครั้งแรกในชื่อ Made in Charoenkrung ซึ่งเล่าเรื่องราวของถนนเก่าแก่ ผ่านแผ่นฟิล์มขาวดำที่แสดงเส้นสายลายตึก และวิถีชีวิตผู้คนในย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้

Photographer : Athicha K.

เราเดินทางมาที่ร้าน Fotoclub BKK ซึ่งอยู่หัวมุมซอยเจริญกรุง 32 บนชั้นสองของร้านคือพื้นที่จัดแสดงงานที่เราต้องมาดูให้เห็นกับตาว่า ผลงานสตรีทโฟโต้ของศิลปินสตรีทคัลเจอร์จะออกมาหน้าตาอย่างไร ไปไงมาไงถึงกลายเป็นนิทรรศการได้ และทำไมต้องเป็นเจริญกรุง นี่คือเหตุผลที่เรานัดพี่บอลมาคุย

ชอบถ่ายรูปมาแต่ไหนแต่ไร

พี่ชอบถ่ายรูปมานานแล้ว เริ่มจากกล้องดิจิทัลก่อน ที่จริงตอนวัยรุ่นก็ถ่ายฟิล์มอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเราเด็ก เลยรู้สึกว่าการเข้าถึงกล้องฟิล์มมันเป็นอะไรที่มีราคาสูง พอโตขึ้นมาเริ่มมีต้นทุนก็เลยได้ศึกษามันมากขึ้น พี่ชอบถ่ายบันทึกประจำวัน ถ่ายเพื่อนๆ พอเริ่มมาทำแบรนด์เสื้อผ้าก็ถ่ายแฟชั่นเยอะ แต่ว่าเริ่มมารู้จักสตรีทโฟโต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง

สตรีทโฟโต้ที่คนรู้จักกันคือภาพที่ถ่ายบนท้องถนนทั่วไป ไม่ต้องมาจัดฉาก ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ บางคนบอกว่าภาพสตรีทต้องมี decisive moment (จังหวะถ่ายรูปที่พอดีเป๊ะ) มีแก๊ก มีเล่นสีเล่นนู่นนี่ แต่พอศึกษาเข้าไปเยอะๆ สตรีทโฟโต้มันไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว

“เราชอบอะไรเราก็ถ่าย ไม่ยึดติดว่าตัวเองจะต้องเป็นช่างภาพประเภทไหนด้วยซ้ำ”

อย่างเราถ่ายภาพคนขอทาน ถามว่าสตรีทไหม บางคนบอกสตรีท แต่บางคนก็บอกว่ามันไม่มีความคิดสร้างสรรค์ มันเลยอาจจะยังไม่ใช่ภาพสตรีท แต่ว่าช่วงหลังมา พี่เริ่มรู้สึกว่าอยากถ่ายอะไรที่มันเป็นศิลปะมากขึ้น พี่เริ่มคิดว่าภาพถ่ายแบบไหนจะไปแปะอยู่ในบ้านคนได้ ติดอยู่ในห้องรับแขกได้ หรือห้องกินข้าวแล้วดูสวย

นักเรียนคนใหม่ของห้องเรียนสตรีทโฟโต้

สตรีทโฟโต้กับสตรีทแฟชั่นมันไม่ได้มีอะไรที่มาด้วยกันได้เลย แต่สิ่งที่ได้มาคือพี่ดูแมกกาซีนเยอะ เห็นพวกแฟชั่นชูตเยอะ รู้ว่าถ่ายยังไงให้คนดูสูง ดูเด่น แต่พอมาเป็นภาพถ่ายอีกแบบหนึ่ง มันเป็นศาสตร์ที่เราต้องเรียนรู้ใหม่

ตอนเริ่มถ่ายฟิล์มแรกๆ พี่ก็ส่งให้ร้านล้าง ถ้าเป็นฟิล์มสีชั่วโมงเดียวได้เลย แต่พอเป็นฟิล์มขาวดำมันรอเป็นอาทิตย์ เราก็แบบเฮ้ย ทำไมมันต้องรออาทิตย์นึงเลย ก็เลยไปลงคอร์สเรียนล้างฟิล์มกับอัดรูป ทำให้พี่รู้ว่าขาวดำไม่สามารถใช้เครื่องล้างแบบฟิล์มสีได้ มันต้องใช้มือทำ ต้องผสมน้ำยาเอง

“พี่พยายามเบรคลิมิตของตัวเอง เราไม่อยากจะถ่ายแค่แลนด์สเคปได้ สตรีทเราก็อยากถ่าย”

การถ่ายภาพแต่ละประเภทมันมีวิธีคิดหรือการเตรียมตัวที่แตกต่างกัน อย่างแลนด์สเคปนี่ต้องตื่นเช้าหาแสงดีๆ ต้องแบกอุปกรณ์หนัก พี่ซึมซับมาเรื่อยๆ จนพอเราถ่ายแลนด์สเคปได้ก็อยากถ่ายสตรีท พี่ก็ไปดูภาพถ่ายสตรีทเยอะๆ ลงคอร์สเรียนกับช่างภาพที่มาเปิดสอนที่เมืองไทยอย่าง ‘Ralph Gibson’ เขาเป็นช่างภาพที่เราได้แนวคิดในภาพถ่ายของเขามาพอสมควร ภาพเขาไม่มีแนวทางชัดเจน คือในภาพภาพเดียวแต่เราต้องมาตีความหมายเอาเอง และต้องหยุดดู แล้วคิดว่าภาพนี้มันคืออะไรตรงไหน

ขอฉายเดี่ยวครั้งแรก

พี่ถ่ายภาพมาเรื่อยๆ จนได้ร่วมโปรเจกต์กับเอ็มโพเรียมชื่อว่า ‘People of Sukhumvit’ ซึ่งเป็นภาพพอตเทรตของคน 40 คนในย่านสุขุมวิท โปรเจกต์นั้นทำให้ได้รู้จักกับ ‘พี่เจต-สุรเจต โภคมั่งมี’ เขาเป็นหนึ่งในเจ้าของ Fotoclub BKK พี่เห็นเจตนารมณ์ของเขาตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากให้ Fotoclub BKK เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรักฟิล์ม ให้คนมีจินตนาการมากขึ้น มีชอป มีแกลเลอรี มีร้านถ่ายรูป

พี่เจตก็ถามพี่ว่าอยากมาทำโปรเจกต์อะไรร่วมกันไหม ภายใต้โจทย์เจริญกรุง ซึ่งช่วงกุมภาพันธ์มันมีสลอตว่างอยู่ และตรงกับ Bangkok Design Week 2020 พอดี พี่เลยต้องมาคิดว่าจะทำอะไร จะถ่ายทอดออกมาอย่างไรในมุมมองของเรา และไม่อยากให้ภาพถ่ายของเรามันไปจบลงแค่ที่เฟซบุ๊ก เลยกลายมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายเจริญกรุงชุดนี้

พี่ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในกระบวนการทุกอย่าง พี่ชอบสไตล์การถ่ายภาพหลายแบบ นิทรรศการ Made in Charoenkrung มันเลยไม่ได้ตายตัวว่าจะเป็นภาพพอตเทรตอย่างเดียว สตรีทอย่างเดียว หรือแลนด์สเคปอย่างเดียว พี่แค่เอ็นจอยกับการถ่ายภาพ และอยากจะถ่ายได้หลากหลายแบบ เพื่อที่จะได้รู้ว่าชอบหรือผูกพันกับการถ่ายแบบไหนที่สุด

เป็นมือใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก

พี่อยากลองทำอะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำ ที่มาจัดนิทรรศการเพราะอยากเป็นศิลปิน พี่มองว่าเราน่าจะต้องมีงานแสดงหรือมีโฟโต้บุ๊คให้มันออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งภาพที่เอามาจัดในนิทรรศการก็ไม่มีภาพไหนที่ใช้เทคนิคเยอะจนดูถ่ายยาก หรือภาพต้องเล่าเรื่องได้ชัดเจนที่สุดหรือภาพต้องฝากคำถามให้คนได้ไปคิดต่อได้ เพราะบางภาพคนถ่ายไม่ได้คิดอะไรมากขนาดนั้น แต่คนเสพเอาไปคิดต่อ นั่นก็ถือเป็นความสำเร็จของภาพนั้นๆ

“พี่รู้สึกว่าภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องถ่ายยาก ภาพที่ถ่ายยากไม่จำเป็นภาพที่ดีเสมอไป”

มองเจริญกรุงผ่านสีขาวดำ

เจริญกรุงมันเป็นถนนเส้นแรกของบ้านเรา ที่พี่เลือกเป็นขาวดำเพราะอยากให้มันดู Heritage เข้ากับความคลาสสิกของย่านเก่าแห่งนี้ ซึ่งพอภาพมันไม่มีสี มีแต่เฉดดำขาว มันทำให้เราต้องตั้งใจดูภาพ จิตนาการสี อย่างภาพคนเราก็ต้องมองให้ลึกถึงในแววตาของเขา หรืออย่างตัวอักษรตามตัวอาคาร พอมันเป็นขาวดำ ก็ให้อารมณ์ของความเก่าแก่และความขลังชัดขึ้น

“ชอบภาพไหนที่สุด คงเป็นภาพตึกร้างสาทร เพราะเป็นมุม Look Up ที่เรามองขึ้นไป แล้วจะเห็นเส้นสายที่เป็นกราฟิกของอาคาร มีสีขาวสุด มีสีดำสุดอยู่ในภาพนี้”

อีกอย่างคือภาพขาวดำ เราจะได้ควบคุมกระบวนการการล้างฟิล์มเองทั้งหมด และที่ภาพเซ็ตนี้มีคอนทราสต์สูง มีเกรนเป็นเม็ดๆ ในภาพ มันเกิดจากความตั้งใจของพี่ที่อยากให้ภาพออกมาเป็นแบบนี้ ทั้งการเลือกฟิล์ม การเลือกน้ำยาล้างฟิล์ม การล้างภาพให้ออกมามีคาแรกเตอร์แบบนั้น ซึ่งถ้าเป็นสถานที่อื่น พี่อาจต้องใช้เทคนิคอื่น แต่ก็ยังติดใจความเป็นฟิล์มอยู่

เจริญกรุง ย่านเก่าแต่ไม่แก่

ย่านนี้มันมีตึกเก่า ร้านรวง วัดเก่า มีการรีโนเวตเกิดเป็นธุรกิจใหม่ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งการที่ทำให้สถานที่นี้เป็นย่านสร้างสรรค์ มันก็ทำให้คนกลุ่มใหม่ๆ หันมาสนใจในคัลเจอร์หรือสถาปัตยกรรมในพื้นที่แห่งนี้ แม้ว่าจะเป็นย่านเก่า แต่มันก็ต้องพัฒนา คือจะเก่าแล้วต้องรักษาไว้อย่างเดียว จริงๆ มันก็ดี แต่ถ้าผสมผสานกันมันน่าจะกลมกล่อมลงตัวกว่าอนุรักษ์ไว้อย่างเดียว เราไม่ควรทิ้งรากเหง้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมาล้าหลังไม่ไปไหนเลย

ตอนนี้พี่พูดได้เต็มปากว่าหลงรักเจริญกรุง มันมีอะไรที่น่าสนใจให้ออกไปถ่ายในแต่ละช่วงเวลา เราเจอตึกสวยๆ เราเจออาม่าแต่งตัวกันเต็มมาจ่ายตลาดตอนเช้า ถ้าออกไปดูคนแก่ที่สยามก็ให้อารมณ์ไม่เหมือนเจริญกรุงแล้ว ซึ่งมันเป็นอะไรที่มีเสน่ห์มาก

Made in Charoenkrung

ผู้คน สถานที่ สิ่งของ ตัวหนังสือ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ในเจริญกรุง ถูกถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มขาวดำในมุมมองของ บอล-กันตพัฒน์ สิริเกียรติยศ ซึ่งนอกจากภาพถ่ายที่ลงตัวทุกองค์ประกอบแล้ว ยังมี Zine หรือโฟโต้บุ๊คทำมือที่รวบรวมภาพที่ไม่ได้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการอีกด้วย บอกได้เลยว่าภาพจากกล้องฟิล์มขาวดำของพี่บอลทำให้เรารู้สึกจับต้องได้ แม้จะมีป้าย Please Do Not Touch ติดไว้

วันหยุดไม่รู้จะออกไปไหน ลองหาเวลามาเดินเล่นและสัมผัสคัลเจอร์เจริญกรุง แล้วแวะไปชมนิทรรศการภาพถ่าย Made in Charoenkrung ของพี่บอลได้ที่ Fotoclub BKK ซอยเจริญกรุง 32 ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.