LOAF-LAY แบรนด์โดนัทตำราญี่ปุ่น - Urban Creature

“อื้มมมม…ละมุน”
“อื้มมมม…โออิชี่! (ลากเสียงยาว)”

อย่าเพิ่งหลุดขำผู้เขียนที่เปิดบทความแบบนี้ (ตอนพิมพ์ก็ยังแอบขำเอง) เพราะประโยคแรกคือประโยคอุทานหลังกินโดนัทตำราญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิตต่อหน้าเจ้าของแบรนด์โดนัทชิ้นนั้น ส่วนประโยคที่สองคือประโยคหลังกลับบ้าน แล้วหยิบโดนัทดังกล่าวมานั่งกินบนโซฟา ที่ตอนแรกตั้งเป้าว่าจะกินต่อแค่ชิ้นเดียว แต่ปรากฏว่ายาว! กินไปสี่ชิ้นแบบงงๆ จนแม่รีบพูดดักคอไว้ว่าอย่าลืมแบ่งให้ชิมด้วย

จากใจคนที่ไม่ได้คลั่งรักโดนัทเป็นชีวิตจิตใจ แต่ LOAF-LAY แบรนด์โดนัทตำราญี่ปุ่นของ แม่-ลูก-ลูก กลับทำให้ฉันคิดใหม่ เพราะความตั้งใจของคนสองรุ่น ระหว่าง แม่จอย-จิตรลดา ศิริหงษ์ ที่อีก 3 ปีจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เวลาหยิบอะไรเข้าปากจะคิดถึงสุขภาพก่อนเสมอ กับลูกเจนวายทั้งสอง ทะเล-อรรถวีร์ พรใจหาญ และ ยาหยี-ธีรกานต์ ศิริหงษ์ ที่ชอบทำอาหาร และมีขนมหวานเป็นของโปรดอันโอชะ

โดยมีความชอบ ‘กิน’ และความหลงรักวัฒนธรรมแสนประณีตสไตล์ญี่ปุ่นที่ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบต้นทางยันส่งตรงถึงนักกินปลายทางเป็นตัวช่วยบาลานซ์ความคิดของคนทั้งบ้านให้ออกมาเป็นแบรนด์โดนัทไม่มีหน้าร้าน เพราะอยากส่งให้ลูกค้าสดใหม่จากเตาทุกชั่วโมง ทั้งยังไม่ออกบูทเพราะไม่อยากให้โดนัทตั้งแช่ไว้นานๆ จนไม่สด และไม่มีไส้ เพราะอยากให้แป้งโดนัทอร่อยได้ด้วยตัวเอง ผ่านสูตรลับเฉพาะที่คลุกเคล้าวัตถุดิบดีๆ จากแคนาดา ญี่ปุ่น มาดากัสการ์ และผลผลิตน้ำดีจากเกษตรกรไทย ที่คำนึงถึงสุขภาพ มาไว้บนโดนัทชิ้นพิเศษจนลูกค้ากินแล้วต้องไลน์กลับมาชื่นชมว่าโดนัทที่นี่พิเศษกว่าใคร


01 ครอบครัวนักรับประทานที่ซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่น

LOAF มาจากชนิดขนมปังจืดแบบโลฟเนื้อนุ่มที่คนบ้านนี้นึกถึงและอยากกวาดซื้อมานั่งกินพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นอย่างแรกเวลาไปญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กจนโต
LAY มาจาก Lovely ที่แปลว่าน่ารัก น่าเอ็นดู บวกกับ Lay ชื่อภาษาอังกฤษของ ‘ทะเล’ พี่ชายคนโตผู้คิดค้นสูตรตำราญี่ปุ่นด้วยตัวเองกว่า 5 เดือน
LOAF-LAY จึงเป็นแบรนด์โดนัทแป้งนุ่มสไตล์ญี่ปุ่นที่อยากให้ลูกค้าเอ็นดูตั้งแต่ยังไม่เปิดกล่องไปจนถึงกัดชิมคำแรก

“ครอบครัวผมมีฉายาเล่นๆ ว่า นักรับประทานครับ (หัวเราะ)” ทะเลหัวเราะตาหยีกลางห้องครัวในบ้าน แล้วบอกฉันว่าจริงๆ โดนัทไม่ใช่ขนมประเภทเดียวที่เขาชอบ แต่ยังมีขนมไทยอีกสารพัดอย่างที่โปรดปราน ไม่ทันไร ‘ยาหยี’ น้องสาวคนเล็กก็พูดพรวดขึ้นมาว่าตัวเธอนั้นก็ชอบกินเค้กและคุกกี้มาก ส่วนคุณแม่ไม่รีรอเล่าเช่นกันว่า “แม่ชอบกินหมด แต่ขอเป็นวัตถุดิบดีๆ กินแล้วไม่รู้สึกผิดต่อสุขภาพ”

ฉายานักรับประทานไม่ได้มาจากการชอบขนมหวานอย่างเดียว อาหารคาวพวกเขาก็ชอบกินแทบทุกประเภท ทว่าหลักที่ครอบครัวคำนึงกันอยู่เสมอคือความสดใหม่ของวัตถุดิบ รู้แหล่งที่มาของอาหารแต่ละจาน ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เซย์กู๊ดบายอาหารแช่แข็งค้างคืนตามห้างฯ และให้คุณค่ากับผู้ผลิตรายย่อยที่ตั้งใจสร้างรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและจริงใจกับลูกค้า

ทะเลเล่าให้ฉันฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ เขาและครอบครัวจะให้คุณค่ากับผู้ผลิตต้นทางเสมอทุกครั้งที่กินอาหาร เพราะหากย้อนไปถึงช่วงก่อนโควิด ทุกๆ ปีคุณแม่จะพาเขาและน้องสาวไปประเทศญี่ปุ่นปีละหน ซึ่งญี่ปุ่นทำให้เขาซึมซับความประณีตและให้คุณค่ากับวัตถุดิบโดยไม่รู้ตัว ทั้งการได้ตื่นเช้าไปตลาดปลาที่พ่อค้าแล่ให้กินกันแบบสดๆ ได้เจอบางร้านอาหารที่ทำช้าแต่มีขั้นตอนละเอียดอย่างน่าหลงใหล รวมถึงขนมหวานละลานตาตามร้านโฮมเมดที่ใส่ใจลูกค้าตั้งแต่รสชาติ การบริการ และแพ็กเกจจิ้งดีเทลน่ารัก ชวนให้จ่ายเงินโดยไม่เสียดาย (เห็นด้วย! เพราะขนาดภาพยนตร์อานิเมะของประเทศญี่ปุ่นยังพรีเซนต์อาหารได้น่ากินจนเผลอกลืนน้ำลายตามไม่ยากเลย) ทำให้ ‘ญี่ปุ่น’ เป็นประเทศอันดับหนึ่งในใจและเป็นโมเดลในการใช้ชีวิตของครอบครัวนี้ไปโดยปริยาย


02 เรื่องมากจนได้เรื่อง (ดี)

แม้โดนัทในไทยจะอยู่รั้งท้ายขนมที่ครอบครัวนี้ชอบ เพราะบางเจ้าแป้งแข็ง บ้างก็เนื้อร่วน บ้างก็อร่อยแค่ไส้ แต่ใช่ว่าโดนัทแบบฉบับญี่ปุ่นจะไม่เวิร์ก ทะเลบัณฑิตศิลปศาสตร์ที่ไม่ได้จบเชฟมา แต่รักในการทำอาหาร ชอบเล่นสนุกทำ Chef’s Table ให้คุณแม่และน้องสาวคอมเมนต์ฝีมือเป็นประจำ จึงหยิบความญี่ปุ๊นญี่ปุ่นที่หลงใหลกับโจทย์ท้าทายที่อยากทำโดนัทที่ไม่ได้ชอบมาก ให้ออกมาอร่อยมากจนต้องกัดต่ออีกคำ

ทะเลจึงพาตัวเองเข้าร้านหนังสือสัญชาติญี่ปุ่นในไทยอย่างคิโนะคูนิยะ เพื่อค้นคว้าความรู้ตำราขนมญี่ปุ่น โดยให้เพื่อนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นช่วยแปล และยังอ่านอีบุ๊กเพิ่มเติมไม่หยุดหย่อน ถ้าคิดคร่าวๆ ทะเลบอกว่า น่าจะอ่านหนังสือไปมากกว่า 100 เล่มในระยะเวลา 5 เดือน ก่อนจะได้สูตรที่ลงตัว และถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนคิดสูตร แต่เรื่องออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การวางแผนการตลาด การตั้งราคา การโปรโมต หรือการทำโดนัทขึ้นมาแต่ละลูก เกิดได้เพราะ ‘ทั้งบ้าน’ ช่วยกัน

“LOAF-LAY เป็นธุรกิจครอบครัวที่เกิดขึ้นช่วงโควิดรอบแรก (ต้นปี 2020) ที่ยาหยีเพิ่งเรียนจบจากอเมริกา เลยต้องกักตัวอยู่บ้าน ส่วนคุณแม่ที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ต้อง Work from home เราเลยสั่งอาหารเดลิเวอรี่จากร้านโฮมเมดหลายร้านที่ใช้วัตถุดิบดีๆ มากิน ซึ่งเรายิ้มทุกครั้งเวลาอาหารมาส่งถึงหน้าบ้าน ก็เลยคิดขึ้นมาในหัวว่าอยากไปอยู่ในจุดที่ส่งความสุขให้คนอื่นแบบนี้บ้างจัง”

กลางวันปรับสูตร กลางคืนระดมไอเดียและแบ่งหน้าที่ คือสิ่งที่ยาหยีบอกว่าเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันในช่วงก่อนวางขาย ซึ่งเธอบอกว่าตัวเธอและสมาชิกในครอบครัวยืนหนึ่งเรื่องความเรื่องมาก ทำให้กว่าจะแบ่งหน้าที่และฟันไอเดียได้แต่ละทีต้องใช้เวลาคิดทบทวนพอสมควร ทั้งชื่อแบรนด์จะชื่ออะไรดี Theme หรือ Mood and Tone ควรจะเป็นรูปแบบไหน ถ่ายรูปอย่างไร แพ็กเกจจิ้งรูปแบบใดถึงน่ารัก และอีกสารพัดการประชุมที่ให้แต่ละคนลองลิสต์มาเลือกในวันประชุมครั้งถัดไป ทว่าความช้าแต่ชัวร์ของครอบครัวนี้ดันเป็นข้อดี เพราะภาพรวมของแบรนด์ตอนวางขายกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นแม่และคนรุ่นลูกพึงพอใจและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในทุกช่วงอายุได้ไม่ยาก


03 ไอเดียเบบี้บูมเมอร์คลุกเคล้าหัวคิดเจนฯ วาย

“เสน่ห์ของโลฟเล่คือการทำงานระหว่างคนสองเจนฯ ที่โตมาคนละยุค แต่บาลานซ์ความชอบที่แตกต่างกันไว้ได้อย่างลงตัว ลูกค้าของเราจึงมีตั้งแต่รุ่นแม่ยันรุ่นลูก”

หลังจากทะเลพูดจบประโยคฉันไม่รีรอหันไปถามแม่จอยว่าในฐานะคนยุคเบบี้บูมเมอร์มีส่วนช่วยอะไรลูกทั้งสองใน LOAF-LAY บ้าง และคนรุ่นแม่มองขนมหวานเป็นอย่างไร

รสชาติที่ดี กินแล้วไม่รู้สึกผิด – “คนรุ่นแม่แทบทุกคนจะคำนึงเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งพอโลฟเล่ไม่ใช่โปรดักต์สุขภาพ เราก็ต้องใส่วัตถุดิบและส่วนผสมที่ไม่ทำร้ายสุขภาพไปแทน อย่างการทอดก็ต้องใช้น้ำมันรำข้าว หรือช่วงแรกๆ ที่เราทำกันยาหยีจะชอบกินหวานมาก แม่ก็จะคอยชิม คอยแนะว่า ตอนนี้หวานไปนะ เนยเยอะไป มันไปหน่อย วันต่อมาก็ปรับสูตรกันใหม่ เพิ่มนมเยอะขึ้น ตรงนี้น้อยลง แต่ละส่วนผสมเราทดลองกันไม่ต่ำกว่ายี่สิบครั้ง เพื่อให้ออกมาดีที่สุด และปัจจุบันก็มีโดนัทแป้งโฮลวีตที่เหมาะกับคนวัยแม่มากขึ้น”

คำนวณราคาสไตล์เด็กบัญชี – “แม่พอมีความรู้จากการที่เราจบบัญชีมา เลยช่วยลูกๆ คำนวณราคาว่าจะขายอย่างไรให้ไม่ขาดทุน เช่น คำนวณต้นทุนว่าฝักวานิลลาจากมาดากัสการ์ที่เราซื้อมาหนึ่งกิโลกรัม ราคาเท่าไหร่ และบวกวัตถุดิบอื่นๆ ไปอีกว่าจะขายอย่างไรดี สรุปก็เลยเลือกขายเป็นชุด ชุดละสองร้อยแปดสิบบาท ได้หกชิ้น ตอนแรกยาหยีกังวลว่ามันแพงไปไหม แต่ถ้าลองมาหารดีๆ เทียบกับโดนัทเจ้าหนึ่ง หนึ่งชิ้น สามสิบห้ากรัม ขายแปดสิบบาท แล้วเรามีซอสดริปให้ด้วยสองรส ของเราถูกกว่าอีก คุณแม่ก็จะแนะลูกตรงนี้”

โลโก้รูปสัตว์ คลาสสิกและอบอุ่น – “สมัยนี้ก็อาจจะบางตาในการใช้รูปสัตว์กับโลโก้ร้านขนม เพราะไม่ค่อยมินิมอลเท่าการใช้ตัวอักษรเท่าไหร่ แต่ที่เราเลือกใช้โลโก้รูปแมวน้ำ เพราะมันมีความหมายกับครอบครัวเรา ถ้าย้อนกลับไปครั้งล่าสุดที่ไปญี่ปุ่น พวกเราไปดูพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่โอซาก้ากัน ซึ่งตัวแมวน้ำมันน่ารักและให้พลังงานดีๆ กับพวกเรามาก ซึ่งในญี่ปุ่นเขาก็มีหลายร้านขนมที่ใช้โลโก้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เรามองกี่ครั้งก็อบอุ่นและเข้าถึงได้ทั้งลูกค้าเด็กๆ และลูกค้าโตๆ” ฉันฟังเรื่องเล่าแล้วอดคิดในใจไม่ได้ว่า ช่างน่ารักจัง

นอกจากโลโก้แมวน้ำที่แปะบนกล่องกระดาษทรงเหลี่ยมมีหูหิ้วคล้ายทรงกระเป๋าที่แม่บ้านญี่ปุ่นนำไปจ่ายตลาด ฉันยังสะดุดตากับป้ายที่ผู้เชือกไว้หน้ากล่องเป็นอย่างดี ซึ่งอธิบายถึงว่ากว่าจะมาเป็นโดนัท 1 ชิ้นนั้น ต้องค้นหาวัตถุดิบชั้นดีมีคุณภาพจากที่ไหนบ้าง 

ยาหยีเสริมแม่จอยถึงแพ็กเกจจิ้งที่เธอรับหน้าที่ดูแลว่ากว่าจะตกลงปลงใจใช้กล่องรูปแบบนี้ที่ดูคงทนแต่น่ารัก เธอใช้เวลาซื้อวัสดุกว่า 25 ร้านมาลองประกอบเองจนได้เนื้อสัมผัสที่ชอบ และไอเดียการติดป้ายคำอธิบายว่าวัตถุดิบที่เลือกใช้มีความดีงามอย่างไรก็เป็นกิมมิกเล็กๆ สไตล์ญี่ปุ่นที่จงใจอยากให้ลูกค้าได้อ่านก่อนเปิดกิน

“ใบการ์ดหน้ากล่องจะเขียนว่าวัตถุดิบมาจากไหน เก็บรักษาอย่างไร ตอนแรกเราก็นั่งคิดว่า ถ้าเสียบไปในถุง จะมีลูกค้ากี่คนสนใจอยากอ่าน จึงเจาะรูตรงกลางและผูกเชือกกับกล่องด้านหน้า เพื่อให้ลูกค้าเห็นตั้งแต่ยังไม่เปิด” ยาหยีพูดปนยิ้ม

“เราเป็นเพียงปลายทางของเกษตรกรที่ตั้งใจทำวัตถุดิบดีๆ ออกมาตั้งแต่ต้นทาง เราจะบอกอยู่เสมอว่าถ้ามันอร่อย เราต้องขอบคุณคนทำวัตถุดิบนั้นๆ ที่ให้เรานำมาประยุกต์และเผยแพร่”

04 วัตถุดิบจากทวีปอเมริกาเหนือยันเกษตรกรไทย

หากเลื่อนอินสตาแกรม @loaflay ดู จะพบว่ามีทั้งรูปแป้ง ไข่ไก่ เนย นม ฝักวานิลลา และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้สำหรับทำโดนัท ยาหยีเล่าว่าเธอจงใจให้ลูกค้าได้เห็นว่าทางร้านใช้วัตถุดิบดีๆ และมีคำอธิบายใต้รูปบอกชัดว่าเอามาจากที่ไหน เพื่อแสดงความจริงใจกับลูกค้า ดีกว่าถ่ายแค่รูปโดนัทเปล่าๆ บนจานสวย โดยที่ผู้บริโภคแทบไม่รู้เลยว่าวัตถุดิบมันดีงามอย่างไร

แคนาดา มาดากัสการ์ ญี่ปุ่น และไทย เหล่านี้คือประเทศที่ LOAF-LAY เฟ้นหาวัตถุดิบมาใช้ในการทำโดนัท แอบบอกว่าตอนรู้ครั้งแรกว่าเขาใช้วัตถุดิบทั่วโลกขนาดนี้ก็ตื่นเต้นที่จะได้กิน

เริ่มกันที่เมนู WHOLEWHEAT AMAZAKE DONUT โดนัทแป้งโฮลวีตที่ทะเลสั่งจองแป้งลัดฟ้ามาจากประเทศแคนาดา ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งให้ความรู้สึกนุ่ม เหนียว หนึบ ไม่ซ้ำโดนัทเจ้าอื่น และยังทดลองนำสาเกหวาน หรือ นํ้าข้าวญี่ปุ่นหมักโคจิ ปราศจากแอลกอฮอลล์ จากผู้ผลิตคนไทยที่มีแพสชันในการทำอาหารและหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมือนกัน มาใช้แทนการใส่น้ำเปล่า เพื่อช่วยเรื่องรสสัมผัสที่ชัดขึ้น เหนียวขึ้น หอมขึ้น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้

ถัดมาทะเลเพิ่มมิติความหวานแทนการใช้น้ำตาลฟอกสีด้วยน้ำผึ้งป่าจากฟาร์มเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรชาวเชียงรายโดยเฉพาะ ที่ได้คำแนะนำจากเพื่อนกลุ่มที่ชอบเดินป่าแล้วเจอเกษตรกรตัวเล็กๆ คนนี้โดยบังเอิญ

SIGNATURE DONUT คือโดนัทสีเหลืองอ่อนขายดีของทางร้าน ที่ทอดด้วยการกำหนดอุณหภูมิโดยการใช้ปืนอุณหภูมิยิงวัดตลอดเวลาตามค่าที่ต้องการ (สูตรลับเฉพาะ) จะทำให้ความสุกคงที่ มีสีเหลืองอ่อนเท่ากันทั้งชิ้น ไม่มีสีเข้มปนแม้แต่นิดเดียว และยังกักเก็บความชุ่มชื้นได้อย่างดี โดยแป้งที่ LOAF-LAY ใช้ คือแป้ง Nisshin Violet Special Flour Hakurikiko หรือแป้งเค้กชนิดพิเศษ จากโรงงานประเทศญี่ปุ่น ที่มีอณูแป้งละเอียดสูง ให้ความรู้สึกนุ่ม เบา และละลายในปาก แถมยังปลอดสาร ปลอดสี ปลอดคลอรีน

วัตถุดิบจากญี่ปุ่นที่เลือกใช้ยังมีน้ำตาลหัวไชเท้า ที่ฉันก็เพิ่งรู้ครั้งแรกว่าหัวไชเท้าเอามาทำเป็นน้ำตาลได้ด้วย ทะเลเล่าว่าก่อนจะเลือกน้ำตาลหัวไชเท้ามาใช้ เขาลองน้ำตาลทุกชนิดที่เข้ากับการโรยหน้าโดนัท ทั้งน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลจากต้นตาล น้ำตาลจากต้นอ้อย เพราะอยากเลี่ยงน้ำตาลไอซิงที่หลายแบรนด์นิยมใช้ แต่มีสารทำให้ไม่ละลาย ซึ่งเขามองว่าดูไม่ธรรมชาติมากนัก จนมาเจอน้ำตาลหัวไชเท้าที่เพื่อนในวงการอาหารแนะนำ และให้เพื่อนที่อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นส่งมาให้ชิม ซึ่งพบว่าโคตรเวิร์ก! และยังให้เพื่อนเชฟที่ญี่ปุ่นส่งนมผงฮอกไกโดเกรดดีที่ไม่มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตประเทศไทยมาให้ลอง ปรากฏว่านี่ก็เวิร์ก! จนเป็นวัตถุดิบหลักที่ยังคงใช้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แม้จะต้องรอของนาน 1 – 2 สัปดาห์ก็ตาม

“สิ่งที่เรานำเสนอคือโดนัท ความอร่อยหลักๆ ที่เข้าปากต้องมาจากโดนัท ส่วนซอสสองรสของเรา จะเป็นเพียงตัวเสริมที่ไม่กลบรสชาติ หรือกลิ่นโดนัทที่เราตั้งใจทำ”

อย่างที่บอกว่า LOAF-LAY ทำโดนัทไร้ไส้ที่ต้องอร่อยได้ตั้งแต่แป้ง แต่ก็ยังมีซอส 2 รส เพิ่มความสนุกในการกินเพลินๆ แถมฟรีไว้ให้ลูกค้าจิ้มก็ได้ ไม่จิ้มก็ได้ แบ่งเป็น วานิลลาคัสตาร์ด ทำจากฝักวานิลลาสดๆ จากประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวานิลลาที่ดีที่สุด เขาขูดวานิลลาเองจากฝัก ก่อนผสมเนย น้ำตาล และไข่ไก่อารมณ์ดีลูกเล็ก ทำให้ได้สีเหลืองอ่อนโดยไม่ผ่านการใส่สีเพิ่ม

ถัดมาคือซอสนมข้น อีกรสที่ฉันลองจิ้มแล้ววางไม่ลง ก็ทำด้วยความพิถีพิถัน โดยนำนมวัวจากฟาร์มออร์แกนิกเล็กๆ ‘บ้านภู’ ของเกษตรกรชาวลพบุรี ที่เลี้ยงวัวแบบอิสระ ให้กินหญ้าสดตลอดทั้งปีจากแปลงนาปลอดยาฆ่าแมลง มากวนเป็นนมข้นเองด้วยไฟอ่อนราว 5 ชั่วโมง ซึ่งทะเลบอกว่าถ้าหยุดคนแม้แต่นิดเดียว จะทำให้กลิ่นไหม้แฝงอยู่ในรสชาติ ต้องทิ้งทั้งหม้อเลย

“โลกเรามีวัตถุดิบดีๆ เยอะแยะมากมายที่จะเอามาทำขนมได้ โลฟเล่จึงไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องใช้วัตถุดิบเหมือนคนอื่นๆ ในอนาคตอาจเห็นผมนำวัตถุดิบใหม่ๆ ที่คนไม่ค่อยทำมาทำก็ได้นะ”


05 โดนัทที่ไม่เหมือนใครบนโลก

5,300 กล่อง ที่ขายไปในระยะเวลาเกือบครึ่งปีตั้งแต่เปิดร้านมา LOAF-LAY ยังคงเน้นย้ำการชูวัตถุดิบดีๆ จากเกษตรกรรายเล็ก รายใหญ่ ที่ตั้งใจผลิตมันออกมาให้พวกเขานำมาปรุงด้วยใจเพื่อบอกต่อเรื่องราวความอร่อยสู่ผู้บริโภค ทั้งสามคนบอกฉันว่าแม้จะมีหลายคนทักมาชวนออกบูทตามห้างฯ หรืออีเวนต์ต่างๆ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เพราะหลังจากออกบูทไป 1 ครั้ง ก็พบว่าร่วม 6 ชั่วโมงในการออกบูท ทั้งสามคนต้องลงทุนนำโดนัทที่ทำสดมาส่งหน้าบูทรอบละชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าได้กินของสดจริงๆ ไม่อยากเห็นลูกค้ากินโดนัทที่ตั้งแช่หน้าบูท และต้องมีเจ้าของร้านเป็นคนยืนอธิบายความตั้งใจควบคู่ไปด้วย ซึ่งไม่ใช่ทุกครั้งที่เจ้าของร้านทั้งสามจะว่างไปยืนหน้าบูท

การขายออนไลน์จึงเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาเลือกทำเป็นหลัก เพราะนอกจากจะรับบทเป็นแอดมินคุยกับลูกค้าและอธิบายความดีงามของวัตถุดิบโดยไม่ต้องจ้างลูกจ้างที่อาจสื่อสารได้ไม่ตรงใจ ยังสามารถเป็นร้านเบเกอรีโฮมเมดเล็กๆ ที่ทำในครัวกลางบ้านตามออเดอร์ซึ่งต้องสั่งจองก่อน 1 วันตามกำลังแรงและวัตถุดิบที่ต้องคาดคะเนล่วงหน้าว่าต้องสั่งครั้งหนึ่งเยอะเท่าใด (เพราะแต่ละตัวไม่ได้หาได้ง่ายๆ) เพื่อทำโดนัทสดใหม่อย่างละเลียด และปั้น คลุก บด โรย ทอด ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ก่อนไปส่งในเวลา 11 โมงด้วยรอยยิ้มทุกวัน

เพียงเท่านี้ คนสามคนก็มีความสุขที่ได้เป็นเรื่องพิเศษในชีวิตลูกค้าคนพิเศษของพวกเขาแล้ว

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.