‘Litin’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวาย ฝีมือจากชุมชนไทย - Urban Creature

ตอนเด็กๆ คุณครูชอบถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เด็กบางคนอยากเป็นหมอ บางคนอยากเป็นพยาบาล บางคนอยากเป็นทหาร แต่สำหรับ ‘คุณลิตเติ้ล’ เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวาย Litinสุดเก๋ หรือในขณะนั้นยังเป็น ด.ญ.สมฤทัย บุญใหญ่ ก็ตอบครูอย่างฉะฉานว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นคนขายเฟอร์นิเจอร์เหมือนแม่ค่ะ!” เพราะเวลาเด็กหญิงตัวน้อยได้เห็นแม่ตัวเองหยิบหมอนใบนั้นมาแมตช์กับโซฟาตัวนี้ หรือจัดชุดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ให้เข้ากัน มันเป็นภาพจำที่เท่มากจริงๆ

| เฟอร์นิเจอร์มันอยู่ในสายเลือด


อาจเพราะโตมาก็เห็นคนในครอบครัว ไม่ว่าจะพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ก็ล้วนทำธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์กันทั้งสิ้น เลยทำให้ ‘คุณลิตเติ้ล’ ทั้งรักและผูกพันกับเหล่าของตกแต่งบ้านไปอย่างไม่รู้ตัว

คูณลิตเติ้ลบอกกับเราว่า ตอนเด็กๆ เธอเรียนไม่เก่งเลย สมมติว่าในห้องมีนักเรียน 40 คน เธอคือคนที่ 38 แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโง่ ก็แค่ไม่ชอบที่วิชาที่คุณครูสอนในห้องเท่านั้นเอง นั่นก็เลยทำให้คุณลิตเติ้ลกลายเป็นเด็กกิจกรรมไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะศิลปะ วาดรูป จัดสวน ปั้นปูน เธอทำหมด

“การเป็นเด็กกิจกรรม มันทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราเก่งไม่ใช่คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่มันคือประเภทงานออกแบบ เพราะทำแล้วเรามีความสุข และกลายเป็นว่าเราเจอตัวเองเร็วมาก ทำให้ตั้งแต่ ม.3 ก็รู้เลยว่าอยากจะเรียนอะไร ซึ่งเราเลือกเรียนคณะศิลปะและการออกแบบ สาขาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต และแม้จะค้นพบความชอบตัวเองเร็ว แต่ระหว่างทางที่เรียนมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชัดมากว่า จบมาแล้วตัวเองจะมาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ขาย เราพยายามหาตัวเองให้ลึกมากขึ้น ด้วยการลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ฝึกงานแฟชั่น เป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ ทำกราฟิกในกองหนังสือแมกกาซีน หรือแม้กระทั่งรับจ้างแต่งหน้า ทดลองทำสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดจนเรียนจบ ในที่สุดเราก็พบว่าความชอบด้านเฟอร์นิเจอร์ที่เรามีมาตั้งแต่เด็กนี่แหละคือคำตอบ เพราะการทำเฟอร์นิเจอร์เป็นสกิลงานที่เหมาะกับเรา การสร้างสรรค์งานไม่นานจนเกินไป เราได้สัมผัส ได้นั่ง ได้จบงานในระยะเวลาที่สามารถรอได้นั่นเอง”

ตัวอย่างวัสดุที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์

| แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวาย Litin


ลิตเติ้ล-สมฤทัย บุญใหญ่ ปลุกปั้นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวาย ‘Litin’ ขึ้นมาตอนกำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนภาพจำงาน ‘หัตถกรรมไทย’ ให้เข้าถึงคนสมัยใหม่มากขึ้น อีกทั้งยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีความมั่นคงในอาชีพ ส่งเสริมให้พวกเขามีความมั่นใจและเชื่อมั่นในฝีมือตนเอง ผ่านงานออกแบบและคาแรกเตอร์ที่ร่วมสมัย จนกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์หวายไทยที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของความคลาสสิกผสมกับสไตล์โมเดิร์น

“ตอนแรกๆ เราก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นงานหวายเท่านั้น แต่พอได้มีเวลาศึกษาอยู่กับมันไปนานๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าหวายเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์และเทกซ์เจอร์เฉพาะตัวมากๆ ผนวกกับมันเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นได้ง่าย จับดัดหรือโค้งงอรูปร่างได้ตามใจเรา ซึ่งเทคนิคหลายๆ อย่างนี้ไม้ทำไม่ได้ อีกหนึ่งเหตุผลคือ หวายคือเฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมด ซึ่งความพิเศษของการเป็นงานแฮนด์เมดก็คือ ‘ความยูนีก’ ทำให้เราสามารถผลิตงานแบบน้อยชิ้นได้ มันดีต่อการที่จะเริ่มต้นทำแบรนด์ตอนที่เรายังมีต้นทุนน้อยอยู่”

“Little + Inter = Litin”

| ตัวตนของ Litin


Little ชื่อนี้คุณลิตเติ้ลบอกกับเราว่ามาจากชื่อพยางค์แรกของคุณลิตเติ้ลและน้องรวมกัน เกิดเป็นชื่อแบรนด์ที่มีความหมายแปลกไม่เหมือนใคร ตรงกับคอนเซปต์ของ Litin ที่ต้องการจะนำเสนอเฟอร์นิเจอร์หวายในสไตล์ที่แตกต่าง มาสร้างภาพจำใหม่ให้กับคนที่มองเฟอร์นิเจอร์หวายว่ามันเชย

“ย้อนกลับไปสักประมาณห้าปีก่อนที่ยังไม่มีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวายที่หลากหลายเท่าทุกวันนี้ กล้าพูดเลยว่าเราเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ใช้สีขาว-ดำ เข้ามาทำเป็นลวดลายกราฟิกให้กับเฟอร์นิเจอร์หวาย เพื่อให้งานดูทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการที่หลายๆ คาเฟ่ หลายๆ โรงแรมเลือกซื้อสินค้าเราไปใช้ นั่นคือเครื่องหมายการันตีว่าเฟอร์นิเจอร์หวายในสายตาของคนทั่วไปมันไม่ได้เชยอีกต่อไปแล้ว”

“Litin ทุกชิ้นได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่อยู่รอบตัว”

| หยิบสิ่งรอบตัวมาเป็นไอเดียในงานออกแบบ


ช่วงแรกๆ คุณลิตเติ้ลบอกว่า Litin ทำเป็น 2 คอลเลกชันคือ ‘แบบคลาสสิกจัดๆ’ ทุกคนเข้าใจได้ง่าย เนื่องด้วยมีกลุ่มลูกค้าชัดเจนอยู่แล้ว และอีกอันคือ ‘แบบร่วมสมัยสไตล์โมเดิร์น’ ที่ทำเสิร์ฟลูกค้ากลุ่มโรงแรมหรือโครงการต่างๆ Litin พยายามที่จะแทรกวัสดุใหม่ๆ เข้าไปในงานออกแบบตลอดเวลา เพื่อที่ให้งานไม่จำเจ จากหวายแท้ ต่อมาก็เป็นหวายเทียม ก่อนจะพัฒนาไปสู่งานเหล็ก งานไม้ งานสเตนเลส และตอนนี้ก็เป็นงานเชือกที่แบรนด์ให้ชุมชนเอามาสานคล้ายงานหวาย เพิ่มความหลากหลายให้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ด้วย

โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบแต่ละครั้งก็ล้วนมาจากประสบการณ์ที่เจอระหว่างเดินทางและการใช้ชีวิตที่บ้านต่างจังหวัด รวมกับการได้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน

‘ตะโพน’ จาก Litin 

เราค่อยๆ หยิบจับสิ่งของที่เห็นเข้ามาไว้ในงานออกแบบมากขึ้น ซึ่งมันมีชิ้นงานหนึ่งที่เรารู้สึกชอบมากนั่นก็คือ ‘ตะโพน’ มันเป็นเครื่องดนตรีจับจังหวะหลักของไทยที่มีรูปทรง สรีระ ที่สวยและมีลวดลายจากฟอร์มที่ทำจากหนังสัตว์ เราเห็นครั้งแรกที่วัดแถวบ้านแล้วรู้สึกว่าเก๋มาก เราชอบรูปร่างของเขาเลยเอามาพัฒนาต่อเป็นชิ้นงานที่ชื่อ ‘ตะโพน’ แล้วส่งเข้าประกวดงาน Demark Award 2018 จนได้รางวัล ตอนนั้นเลยรู้สึกว่าแรงบันดาลใจมันหาได้จากสิ่งรอบตัว ที่สำคัญทำให้รู้ว่าการจะเป็นดีไซเนอร์ที่ดีไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรืออยู่ต่างจังหวัด เราก็สามารถเปล่งประกายได้”

เก้าอี้รุ่น ALIT CHAIRS NUMBER 1 – 5 

| เก้าอี้ 5 ตัวกับจุดเริ่มต้นของความฝัน


ไม่รู้จะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอะไร ขอเรียกมันว่าโชคชะตานำพาก็แล้วกัน ที่ทำให้คุณลิตเติ้ลกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดมหาสารคามก่อนจะบินไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แล้วทำให้พบกับช่างงานฝีมือคนแรกของแบนด์ Litin

“ในวันนั้นเราเฝ้าร้านให้ที่บ้านพอดี บังเอิญมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้านแล้วบอกว่า เมื่อก่อนเขาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ต้องกลับมาอยู่บ้าน ที่ร้านมีงานอะไรให้ทำไหม เขาทำเฟอร์นิเจอร์ได้นะ ตอนนั้นเราอยู่ว่างๆ ก็เลยบอกเขาว่า ถ้าทำได้งั้นเรามาลองทำเฟอร์นิเจอร์เล่นๆ กันก่อนมั้ย จนสุดท้ายเราก็ได้ดีไซน์คอลเลกชันแรกออกมา เป็นเก้าอี้หวายห้าตัว ตอนแรกมันก็สนุก แต่หลังจากเอามาวางไว้หน้าร้านที่มหาสารคามสักพักกลับขายไม่ได้สักตัว ไม่มีใครสนใจเลย ตอนนั้นเราคิดว่าเก้าอี้เราออกจะสวย เปรี้ยว และเก๋มากๆ ทำไมขายไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะมันอยู่ไม่ถูกที่ก็ได้”

ดังนั้น ปฏิบัติการหาบ้านให้เก้าอี้หวายรุ่น ALIT CHAIRS NUMBER 1 – 5 จึงเริ่มขึ้น คุณลิตเติ้ลบินไปอยู่สมุย 15 วัน ขนเก้าอี้ทั้ง 5 ตัวไปเสนอขายตามโรงแรมและรีสอร์ตต่างๆ แต่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่โรงแรมก็ไม่มีใครสนใจหรือตอบรับเลย!

“หลังจากวันนั้นเรากลับบ้าน แต่แวะเที่ยวที่เขื่อนรัชชประภา และด้วยความบังเอิญได้มีโอกาสคุยกับพี่ที่อยู่แพข้างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เราไปเสนอขายเฟอร์นิเจอร์ตามโรงแรมต่างๆ ความโชคดีของเราคือพี่คนนั้นกลายเป็นลูกค้ารายแรกของ Litin เพราะที่บ้านเขาเป็นโฮเต็ล ซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของสมุย พี่เขาขายทุกอย่างส่งโรงแรม จนตอนนี้เขาเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ Litin ไปแล้ว”

| เราและชาวบ้านจะเติบโตไปพร้อมกัน


จากวันแรกที่มีช่างเพียงแค่ 1 คน แต่ปัจจุบัน Litin มีช่างทำงานให้ประมาณ 20 – 30 คน กระจายอยู่หลายจังหวัด ตั้งแต่ที่มหาสารคาม ขยายไปที่อ่างทอง พะเยา และลงใต้ไปที่พัทลุง ซึ่งคุณลิตเติ้ลจะพยายามแจกจ่ายงานให้หลากหลายตามความถนัดของแต่ละพื้นที่ และไม่ให้งานทับลายกันกับชุมชนอื่นๆ

“มันเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะจัดการทุกอย่างให้ลงล็อกในขณะที่ทุกคนอยู่ห่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้เห็นเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขากล้าที่จะทำงานแบบใหม่ๆ มั่นใจในตัวเอง แม้เป็นจุดเล็กๆ แต่มันมีค่าสำหรับเรามาก เห็นแล้วมีความสุข ทำให้เราอยากตื่นเช้าขึ้นมาทำงานทุกวัน

แบรนด์ ‘Litinhome’ 

| ผลผลิตจากโควิด-19 คือ Litinhome


ตอนนี้ Litin มีแบรนด์ลูกชื่อว่า ‘Litinhome’ เป็นของแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ จำพวกกระถางต้นไม้ ขาตั้งกระถางต้นไม้ โคมไฟหวาย ราวแขวนผ้า บ้านหมาแมว ยันกล่องใส่ทิชชู โดยแบรนด์จะเน้นทำของชิ้นเล็กลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ Litin ขายสินค้าไม่ได้เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์คือโรงแรมและรีสอร์ต เมื่อยอดการสั่งซื้อตกก็เลยทำให้คุณลิตเติ้ลต้องหาแนวทางใหม่เพื่อมาซัปพอร์ตให้แบรนด์และชาวบ้านอยู่รอดต่อไป

“เราไม่มีทางตายถ้าเรารู้จักปรับตัว ยังไงมันก็อยู่ไปต่อได้”


“นอกจาก Litinhome แล้ว ตอนนี้เรากำลังทำอีกหนึ่งแบรนด์ เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หวายเทียมอย่างเดียว หมายความว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์โดยเฉพาะ ซึ่งแบรนด์นี้มันเกิดจากการที่เราอยากอุดช่องว่างของลูกค้า Litin เพราะว่าส่วนมากที่เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หวายแต่อยากวางนอกบ้าน ทุกคนก็กลัวว่าซื้อไปจะวางนอกบ้านได้ไหม ทนแดด ทนฝนหรือเปล่า เราก็เลยทำอีกแบรนด์หนึ่งชื่อ ‘5050’ เป็นเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สามารถวางในบ้านก็ได้นอกบ้านก็ดี ซึ่งเหล่านี้มันก็เกิดจากการที่เราเจอปัญหาจากการทำ Litin แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งนอกจากสร้างความหลากหลายให้งานแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีงานที่มากขึ้นอีกด้วย”

| งานหวายจะอีกกี่สิบปีก็ไม่หายไป


หวาย ก็เหมือนเทรนด์แฟชั่นอื่นๆ ที่มาๆ หายๆ เป็นช่วงๆ มันยังคงหมุนเวียนไม่มีทางหายไปไหน ถ้าหากแบรนด์ต่างๆ มีการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของดีไซน์และวัสดุที่แปลกใหม่ ยิ่งตอนนี้เทรนด์อีโคโปรดักต์ (ECO Product) มาแรงมากๆ จนทำให้หวายกลับมาฮิตอีกครั้ง

“เราคิดว่างานหวายจะสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เฟอร์นิเจอร์หวาย แต่รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ชนิดอื่นๆ ด้วย ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ เราเชื่อว่าคนทำงานถ้ามีความอยากมากพอ พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วยังไงมันก็ต้องดี ถึงแม้เราอาจจะต้องออกแรงมากกว่าสิบครั้ง ยี่สิบครั้ง ถึงจะสำเร็จก็ไม่เป็นไร

“การที่ได้โอกาสมาแต่ละครั้ง เราเป็นคนออกไปหาเองตลอดถึงได้มันมา ไม่เคยมีสักครั้งที่เรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วคนเดินเข้ามาซื้อของเอง”

| Litin ในอีก 5 ปีข้างหน้า


คุณลิตเติ้ลบอกว่า Litin ในอีก 5 ปีต่อจากนี้คงจะค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะไม่หยุดพัฒนา พยายามมองหาช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญจะยังคงทำให้เฟอร์นิเจอร์หวายกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งหวังว่าในอีก 5 ปี จะได้เห็นภาพนั้น

“ทุกวันนี้เราไม่ได้จำกัดว่าต้องทำยอดได้เท่าไหร่ ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนจำหน่ายหรือโชว์รูมมากมาย เราเคยผ่านการทำยอดมาแล้วและพบว่ามันเครียดมาก เรากลายเป็นคนขี้โมโห ระเบิดอารมณ์ง่าย ช่างก็เครียดต้องทำงานเป็นเครื่องจักร เรารับงานในสเกลที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะเป็นแบบนี้ การเติบโตมันน่าจะมาจากความสม่ำเสมอในการทำงาน และความตั้งใจของเราที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนรู้จัก Litin เอง”


ขอบคุณสถานที่ | Alt Gallery

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.