Voyager Station โรงแรมในอวกาศ - Urban Creature

ถ้าคุณรู้สึกเบื่อกับการหาที่พักร้อนในช่วงวันหยุดเทศกาล เราขอนำเสนอ ‘Voyager Station’ โรงแรมแห่งแรกในอวกาศที่จะพาทุกคนแพ็กกระเป๋าเดินทางไปพักผ่อนนอกโลกกัน!

Orbital Assembly Corporation (OAC) สตาร์ทอัปที่รวมทีมอเวนเจอร์อดีตนักบินของ NASA เพื่อทำโปรเจกต์ ‘โรงแรมอวกาศ’ แห่งแรกของจักรวาล ซึ่งมีแผนกำหนดสร้างปี 2025 และเปิดต้อนรับแขกอย่างเร็วที่สุดในปี 2027 โรงแรมแห่งนี้ จะตั้งอยู่ที่สถานีอวกาศแห่งใหม่ ‘Voyager Station’ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลก 500 – 550 กิโลเมตร ความเอียง 97 องศา ในวงโคจรเชิงขั้วแบบซิงโครนัส คือหมุนรอบตัวเอง คล้ายกับดวงจันทร์โคจรรอบโลกตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยลดความร้อน และผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา

Voyager Station เป็นสถานีอวกาศแบบ 2 in 1 แบ่งออกเป็นศูนย์วิจัยและโรงแรม มี 24 โมดูล โดย 12 โมดูลเป็นส่วนของห้องพัก มีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ Luxury Villas ขนาด 500 ตร.ม. และ Hotel Suites ขนาด 30 ตร.ม. สามารถเช่าเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือซื้อเป็นบ้านพักตากอากาศก็ได้ รองรับคนเข้าพักได้สูงสุด 316 – 440 คน ส่วน 12 โมดูลที่เหลือจะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงหนัง ห้องสมุด บาร์ ร้านอาหาร ห้องครัว ยิม และห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 

หลายคนอาจกังวลว่าต้องขึ้นไปอยู่ใน ‘สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง’ หรือเปล่า คำตอบคือ ‘ไม่’ เพราะ Voyager Station ติดตั้งแรงโน้มถ่วงเทียม โดยโรงแรมจะหมุนเคลื่อนที่ทุกๆ 90 นาทีตามวงโคจรของโลก ทำให้เราใช้ชีวิตในโรงแรมได้เหมือนอยู่บนโลก! อีกทั้งผู้เข้าพักยังมองเห็น ‘วิวจักรวาล’ ได้ตลอดเวลาอีกด้วย

แน่นอนว่าการขึ้นยาน Voyager Station ต้องมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เช่น การฝึกอบรมก่อนการเดินทาง เพื่อรู้จักวิธีการใช้ชีวิตในภาวะขาดแรงโน้มถ่วง ถึงแม้ภายในยานจะมีแรงโน้มถ่วงเทียมก็ตาม สำหรับค่าใช้จ่ายยังไม่มีตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ แต่มีแนวโน้มว่าต้องมีเงินสำรองอย่างต่ำ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 154 ล้านบาท) เพื่อไปเยือนโรงแรมอวกาศแห่งนี้

Docking Hub | ศูนย์ปฏิบัติการและควบคุม

เป็นศูนย์กลางของสถานีอวกาศ Voyager Station ซึ่งประกอบไปด้วยจุดรับ – ส่ง ผู้โดยสารและสินค้า โดยมีพอร์ตเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ปฏิบัติการและควบคุม (Docking Hub) กับวงแหวนรอบนอก ซึ่งประกอบไปด้วยโมดูลโรงแรมและโมดูลศูนย์วิจัย

Outer Ring Truss (ORT) | วงแหวนรอบนอก

‘Outer Ring Truss’ คือ โครงสร้างหลักของสถานี ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับวงแหวน โดยหนึ่งวงแหวนประกอบไปด้วยแผงโซลาเซลล์ ระบบหม้อน้ำ ระบบขนส่งแบบรางที่เรียกว่า Access Tube รูปทรงคล้ายท่อยาว เพื่อเคลื่อนย้ายแขกไปยังส่วนต่างๆ ของสถานีได้อย่างอิสระ

ยังไม่นับรวมยานกู้ชีพอีก 24 ลำ และโมดูลทั้ง 24 ห้อง ซึ่งแต่ละโมดูลดีไซน์ให้มีแผงกันรังสีความร้อน (Radiator Panel) ติดอยู่โดยรอบ และสามารถดูดซับรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ประมาณ 75% และอีก 25% ส่วนความร้อนที่เหลือจะสลายไปตามธรรมชาติ

อากาศที่ใช้หายใจบนสถานี ขั้นแรกจะถูกกรองผ่านจุดฟอกคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแปลงเป็นออกซิเจน จากนั้นระบบจะนำอากาศเข้าเครื่องตรวจ เพื่อเช็กความสะอาดของออกซิเจน ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ก่อนกระจายอากาศไปตามโมดูลแต่ละแห่ง ซึ่งห้องครัว ร้านอาหาร และยิม คือโมดูลที่ใช้อากาศเยอะที่สุด ทั้งสามห้องจึงมีเครื่องฟอกอากาศของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังใช้น้ำแร่ซึ่งจ่ายออกมาจากแทงก์ ลำเลียงผ่านท่อส่งไปตามโมดูลต่างๆ ในการอุปโภคและบริโภค น้ำที่ใช้แล้วส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในชักโครก และอีกส่วนจะถูกกรองเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

Habitation Ring | โซนอยู่อาศัย

วงแหวนของสถานีอวกาศแบ่งออกเป็น 24 โมดูล โดยแต่ละโมดูลมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร ความยาว 20 เมตร ซึ่ง 12 โมดูลแรกจัดไว้ให้เป็นห้องพักของโรงแรม ทั้งหมด 2 ประเภท คือ Luxury Villas ลักษณะคล้ายบ้านหนึ่งหลัง ประกอบไปด้วยห้องครัว ห้องน้ำ 3 ห้อง และห้องนอนแยกที่รองรับได้ถึง 16 คน และ Hotel suites เหมาะกับคนที่เดินทางคนเดียว หรือมาเป็นคู่ เพราะรองรับได้สูงสุด 2 คน แถมยังมีห้องน้ำส่วนตัวให้ด้วย

ส่วน 12 โมดูลที่เหลือจะประกอบไปด้วยโมดูลควบคุมน้ำ อากาศ และพลังงาน โมดูลห้องครัว ร้านอาหาร และบาร์ โมดูลที่พักของลูกเรือ โมดูลทำกิจกรรม เช่น ยิม สนามกีฬา โรงมหรสพ และโมดูลของรัฐบาลสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และศูนย์ฝึกอบรม

Life Boat | ยานกู้ชีพ

ความเจ๋งของ Voyager Station อีกหนึ่งอย่าง คือมียานกู้ชีพสแตนด์บายตลอดเวลา เพราะตัวยานจะต่อพอร์ต ERV เพื่อปรับสมดุลอุณหภูมิภายในยาน สำหรับการเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น โดยเราไม่จำเป็นต้องมีสกิลนักบินอวกาศแม้แต่น้อย เนื่องจากยานกู้ชีพจะปรับไปเป็นระบบอัตโนมัติทันที และควบคุมการบินรวมถึงการลงจอดด้วยตัวเอง


Source : https://voyagerstation.com/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.