คงพอคุ้นหน้าคุ้นตา ‘แผ่นรองตัด (Cutting Mat)’ สำหรับกรีดวัสดุต่างๆ ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานสมัยเรียนหรือแม้แต่ในวัยทำงาน ซึ่งในฐานะที่ฉันรักการทำงาน ‘ศิลเปรอะ’ อุปกรณ์ชิ้นนี้คือสิ่งที่ห้ามขาด ! เพราะเอาไว้ป้องกันโต๊ะทำงาน หรือพื้นบ้านเป็นรอยกรีด ไม่งั้นคงโดนบ่นจนหูชาแน่ แต่ใครจะคิดล่ะว่าแผ่นรองตัดนั้นจะถูกเอามาดีไซน์เป็นกระเป๋าสะพายที่กันโจรกรีดกระเป๋าได้ !
อดีตนิสิตสถาปัตย์ฯ ที่เริ่มออกแบบโปรดักต์ระหว่างเรียน
“เราสองคนออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 และเริ่มขายสมุดก่อนเป็นอย่างแรก แต่ตอนนั้นใช้วัสดุทางเลือกมาทำ เช่น หนังเทียม หรือผ้า แต่พอผ่านมาสักพักเราหันมาให้ความสำคัญในเชิงวัสดุมากขึ้น เลยเริ่มค้นคว้าอย่างจริงจัง”
‘มิ้น-ธีรพล อัครทิวา’ และ ‘ออม-วรัญญา นันทสันติ’ หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เดินทางในสายอาชีพ ‘สถาปนิก’ และต่อยอดแบรนด์สินค้าที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียนไม่ให้สูญเปล่า ซึ่งพอมาทำแบรนด์ในช่วงวัยที่โตขึ้นทำให้ทั้งสองเริ่มมีมุมมองกว้างกว่าเก่า
จึงตั้งใจค้นคว้าวัสดุด้วยโจทย์ที่ว่า “วัสดุอะไรที่เป็นตัวตนของ Least Studio มากที่สุด” สุดท้ายมิ้นสะดุดกับแผ่นรองตัดบนโต๊ะซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานสถาปัตย์ฯ อยู่เป็นประจำเลยหยิบเอาแผ่นรองตัดมาศึกษาอย่างจริงจัง
“ตอนแรกก็คิดว่าจะใช้วัสดุอะไรดี แต่ออมบอกว่าอะไรก็ได้ขออย่างเดียวไม่เอาหนังสัตว์ เราเลยมาสะดุดกับแผ่นรองตัดบนโต๊ะที่เราใช้ทำงานมาตั้งแต่สมัยเรียน อีกอย่างมันสะท้อนถึงตัวตนความเป็นสถาปนิกในตัวเราสองคนได้ดี เลยคิดว่าวัสดุนี่แหละน่าสนใจมาทำต่อ”
นอกจากความน่าสนใจในแง่วัสดุ การหันกลับมามองว่าใน 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งจากการเอาไปสินค้าอุปโภค ดังนั้นการที่ Least Studio หาวัสดุมาทดแทนจะช่วยตรงนี้ได้โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ รวมถึงยางพารายังเป็นสินค้าของไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพแต่เรากลับมองข้ามไป
พัฒนาแผ่นยางพาราให้เหมือน ‘แผ่นรองตัด’
“เราได้เข้าโครงการ D-Space ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเขามีผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์อยู่ เราเลยเอาไอเดียที่มีเข้าไปพูดคุยเพื่อให้ Least Studio มีความชัดเจนมากขึ้น ตอนนั้นใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 เดือน ว่าจะออกมาทิศทางไหน และหลังจากนั้นก็พัฒนายางพาราสูตรพิเศษต่ออีก 8 เดือน”
มิ้นค่อยๆ เล่าว่าโครงการ D-Space เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Least Studio มีความกลมกล่อมมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาเพียง 2 เดือนกับการรวบไอเดียต่างๆ ก็ตาม ซึ่งหลังจากที่มีจุดยืนของแบรนด์แล้ว ก็ถึงเวลาที่แบรนด์พัฒนาวัสดุต่อไป โดยเริ่มจากการทำความรู้จักยางธรรมชาติ และลงดีเทลให้ลึกขึ้น ซึ่งสูตรที่ได้ในปัจจุบันมีคุณสมบัติทั้งกันของมีคม กันน้ำ และทนความร้อน โดยจุดหลอมอยู่ที่ 200 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังพัฒนาในเรื่องของ Anti-UV ที่ทนทานต่อแสงแดดหรือรังสี ใช้แล้วสีไม่ตก รวมถึง Antibacterial ที่เมื่อกระเป๋าสัมผัสกับผิว เราจะต้องไม่แพ้ คัน หรือเกิดผื่นแดง ที่สำคัญยังพัฒนาเรื่องของ ‘กลิ่น’ เพราะยางพาราจะมีกลิ่นยาง ถ้าหากใครเคยลองดมยางมัดแกงจะเข้าใจ ดังนั้นมิ้นจึงผสมกลิ่นลาเวนเดอร์เข้าไป เพื่อไม่ให้กลิ่นยางรบกวนการใช้งานในชีวิตประจำวัน
“ตอนนั้นใช้เวลาทำนานมากกว่าจะออกมาเป็นสินค้า 1 ชิ้น เพราะเจอปัญหาทั้งยางพาราแข็งเกินไป ไม่สามารถเอามาทำกระเป๋าได้ หรือใช้เครื่องจักรเย็บผ้าธรรมดาเย็บไม่ได้ต้องคอยหาวิธีแก้อยู่ตลอด”
“ป้องกันโจรกรีดกระเป๋าได้ไหม”
“ได้”
ด้วยคุณสมบัติหลายข้อทั้งกันการถูกกรีด กันน้ำ หรือทนความร้อนได้เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกสนใจใน ‘ยางพาราสูตรพิเศษ’ นี้มากขึ้น นอกเหนือจากการดีไซน์ที่ได้ต้นแบบมาจากแผ่นรองตัดจนอดตั้งคำถามไม่ได้
มิ้นตอบฉันอย่างมั่นใจว่าถ้าจะให้กรีดทะลุเพื่อขโมยของอย่างที่มิจฉาชีพชอบทำคงต้องใช้มีดย้ำจุดเดิมซ้ำๆ เพื่อให้ขาดออกมา แต่กว่าจะขาดได้เจ้าของกระเป๋าคงรู้ตัวก่อนว่ามีโจรกำลังกรีดกระเป๋าอยู่ ! ซึ่งมิ้นเสริมว่ายางพาราพิเศษนี้มีค่ารองตัดถึง 70% หมายถึงสามารถใช้รองกรีดกระดาษ หรืองานเบาๆ ได้จริง
ส่งออกกระเป๋าทั้ง 3 คอลเลกชัน และ 1 เฟอร์นิเจอร์
โจทย์แรกหลังจากการได้วัสดุยางพารามาเป็นที่เรียบร้อย ขั้นต่อไปคือการบอกให้คนเข้าใจและรู้จักวัสดุชิ้นนี้ให้มากขึ้น ซึ่งมินท์มองว่าการนำเสนอผ่านโปรดักต์จะสื่อสารได้ไวขึ้น “แล้วสินค้าอะไรที่ควรเอามาทำ ?” มินท์จึงตัดสินใจว่ากระเป๋านี่แหละคือสินค้าแฟชั่นที่คนใช้มากที่สุด
“ตอนนี้ Least Studio ได้ออกสินค้ามาทั้งหมด 3 คอลเลกชัน โดยคอนเซปต์แรกที่ทำคือ Working Routine เราอยากทำกระเป๋าสำหรับคนทำงานแต่สามารถประยุกต์ใช้ในวันหยุดได้ ส่วนคอลเลกชันที่สองพัฒนาเป็น Urban Life ทำให้มันดูสตรีทขึ้น แล้วลองมิกซ์เส้นสายของแผ่นรองตัดให้เป็นรูปร่างสถาปัตยกรรมเป็น Isometric และเอายางพาราไปผสมกับวัสดุอื่นบ้าง เพื่อทำให้คนเข้าใจไอเดียว่ามันเอาไปอยู่กับอย่างอื่นได้เหมือนกัน”
“สุดท้ายคือโปรเจกต์ของ Pinkoi เหมือนได้ออกไอเดียว่า Miffy กับเราต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นแนวน่ารัก ส่วนเรามินิมอล แล้วมันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ? เลยออกแบบเป็นกระต่ายเหมือนแอบมองเล่นเลเยอร์กับแผ่นรองตัด”
มินท์เล่าถึงคอลเลกชันต่างๆ ที่ทางแบรนด์ได้ผลิตออกมา พร้อมกับแววตาของดีไซเนอร์ที่ไม่อยากเชื่อว่าวันหนึ่งเขาจะได้สัมผัสกับสินค้าที่ถูกผลิตด้วยฝีมือของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ยางพาราถูกนำไปพัฒนากับเฟอร์นิเจอร์ โดยไปร่วมงานกับ Filobula แบรนด์ที่หยิบยางพารามาทำเก้าอี้เพื่อป้องกันรอยชีดข่วนจากเล็บของสัตว์เลี้ยง
“ความจริงแล้วยางพารามันสามารถพัฒนาไปอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากสินค้าไลฟ์สไตล์ ทั้งเครื่องแต่งกาย หรือวัสดุทางสถาปัตยกรรม”
“Design-Function-Experience ทั้ง 3 ข้อนี้มันคือเกณฑ์ของการออกแบบตึกอาคาร คืออาคารที่ดีต้องสวย อยู่สบายใช้งานได้ และประสบการณ์ของคนใช้งาน ซึ่งเราเอามาเป็นโจทย์ในการคิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในแบรนด์ด้วย ”
“หลายคนชอบคิดว่าหลักการออกแบบอาคาร และผลิตภัณฑ์มันต่างกัน ซึ่งเราใช้แนวทางการดีไซน์พื้นที่ของการออกแบบอาคารโดยยึดหลัก Balance – ความสมดุลด้านการออกแบบ คือสินค้าที่ดีต้องมีดีไซน์สวยงาม (Design) มีฟังก์ชันตอบโจทย์คนใช้ (Function) และคนใช้จะได้รับประสบการณ์อะไร (Experience)”
เป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่
การออกแบบของแบรนด์อาจเป็นวิธีการที่ทำให้คนเข้าใจ ‘ยางพาราสูตรพิเศษ’ มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่แบรนด์ Least Studio ต้องการคือการเป็นจุดประกายให้กับคนรุ่นใหม่ หรือแบรนด์ธุรกิจใหม่ๆ หันมาสนใจวัสดุทางเลือกมากขึ้น และสร้างเป็นคอมมูนิตี้โปรดักต์ประเภทต่างๆ ยิ่งถ้าหากใช้ในวงการอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ได้จะยิ่งทำให้ Least Studio ปลดล็อกความตั้งใจไปได้อีกขั้น
“มันไม่ใช่แค่การขายให้เติบโต เพียงแต่ว่าถ้ามีการใช้ยางพาราแพร่หลายขึ้นจะช่วยกลุ่มเกษตรกรยางพาราได้มาก เพราะตอนนี้ที่เราทำยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ เนื่องจากยางพาราแผ่นใหญ่ 1 แผ่น ใช้น้ำยางเพียง 1 กิโลกรัม”
“เราไม่กลัวคู่แข่งนะ เพราะเราอยากให้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้ประโยชน์จริงๆ ตอนนี้โลกเรามันเป็นยุคแห่งการแบ่งปัน ยิ่งมีเยอะยิ่งดี อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียใหม่ๆ ให้ดีไซเนอร์ได้หันกลับมามองวัสดุในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าที่มีความคงทนแข็งแรงและภูมิใจในประเทศของเรา”