การจัดเก็บงานศิลปะบนกระดาษและภาพถ่าย - Urban Creature

ฉันคือยอดนักสะสมโปสต์การ์ด และตกหลุมรักการเขียนจดหมายเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังเคยได้รับโปสต์การ์ดรูปโมนาลิซา ส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โดยคน (เกือบ) แปลกหน้าชาวฝรั่งเศสที่รู้จักผ่านเว็บไซต์ Postcrossing ทันทีที่ฉันเห็นโปสต์การ์ดก็ร้องกรี๊ดดีใจยกใหญ่ แต่เวลาผ่านไป 6 เดือน ภาพโมนาลิซาค่อยๆ สะบักสะบอม จากการซ้อนโปสต์การ์ดหลายสิบใบทับกัน ทำให้เหลือเพียงเศษเสี้ยวของภูเขาเท่านั้นแหละ

ฉันอดบ่นกับตัวเองไม่ได้ ว่าทำไมถึงไม่รักษาของให้ดี และแน่นอนว่าฉันจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นกับโปสต์การ์ดชิ้นอื่นๆ อีกเด็ดขาด! ฉันตัดสินใจลงเวิร์กช็อป การจัดเก็บงานศิลปะบนกระดาษและภาพถ่าย เพื่อเรียนรู้วิธีการเก็บอย่างถูกต้อง จัดขึ้นโดย SAC Gallery แวบแรกสมองของฉันนึกไปถึงอุปกรณ์นับสิบอย่าง และน้ำยาอีกร้อยชนิด เลยรู้สึกท้อแท้ไปก่อนล่วงหน้า แต่ความจริงแล้วภาพถ่ายและกระดาษทั่วไป ก็จัดเก็บได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างเช่นกัน

อนุรักษ์งานศิลป์ให้คงอยู่

ช่วงสายของวันอาทิตย์ ฉันนั่งฟังบรรยายจาก ‘ดร.จิราภรณ์ อรัณยะนาค’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom อาจารย์บอกเหตุผลว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการจัดเก็บงานศิลปะ ภาพถ่าย ไปจนถึงกระดาษ นั่นเป็นเพราะการจัดเก็บจะช่วยยืดอายุและป้องกันความเสียหาย เพื่อรักษาสภาพเดิมและคงคุณค่าของมันไว้ตราบนานเท่านาน

ฉันนึกไปถึงโปสต์การ์ดหลายใบ และกระดาษหลายแผ่นในกรุของสะสม มีบางอย่างเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา บางอย่างสีเพี้ยนจากเดิมจนเกือบลืมต้นฉบับไปสนิท และบางอย่างก็เต็มไปด้วยรอยสีน้ำตาลเต็มไปหมด ซึ่งอาจารย์บอกว่าร่องรอยเหล่านั้น คือผลลัพธ์จากการจัดเก็บผิดวิธี ทำให้กรดในกระดาษทำปฏิกิริยาต่อชิ้นงาน อีกทั้งอาจารย์ยังยกตัวอย่างลักษณะความเสียหายที่มักเกิดบนภาพหรือกระดาษ ซึ่งสรุปออกมาได้ ดังนี้

  • Mat Burn – การใช้กระดาษที่มีความเป็นกรดติดรองหลังภาพ ทำให้เกิดเส้นสีน้ำตาลบนผลงาน
  • Acidic Burn – การใช้กระดาษที่มีความเป็นกรดสูงติดรองหลังภาพ ซึ่งกรดจากเยื่อไม้ที่ใช้ในการผลิตตกค้าง และทำปฏิกิริยาจนเกิดเส้นสีน้ำตาลบนผลงาน
  • Silver Mirror – การทำปฏิกิริยากับชั้นไวแสงที่เป็นสารเคมีเคลือบบนฟิล์มเพื่อให้เกิดการบันทึกภาพ โดยมีส่วนผสมของเกลือเงิน เมื่อจัดเก็บโดยใช้วัสดุที่มีกรดหรือไอระเหย จะทำให้ขึ้นเงาหรือมีสีเงินบนภาพถ่ายขาว-ดำ
  • Foxing – จุดสีน้ำตาลทั่วภาพถ่ายหรืองานศิลปะเกิดจากการไม่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และขาดการป้องกันฝุ่นละออง
ตัวอย่างลักษณะการเกิดปฏิกิริยาแบบ Foxing

คลาสเรียนของอาจารย์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ฉันจดรายละเอียดสำคัญต่างๆ ลงบนสมุดอย่างตั้งใจ อาจารย์แนะนำว่าวัสดุที่ใช้จัดเก็บงานศิลปะควรเป็น ‘กระดาษไร้กรด (Acid-free Paper)’ ที่มีค่า pH เป็นกลาง (pH 7) ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นเส้นใยเซลลูโลส ไม่ว่าจะเป็นปอสา เลือกข่อย ใยฝ้าย หรือลินิน อีกทั้งต้องไม่มีสารส้ม ไม่มีชันสนในกระบวนการผลิต และใช้ผงหินปูนเพิ่มเนื้อกระดาษแทน

นอกจากนี้ อาจารย์ยังเสริมว่ากระดาษที่มีความเป็นด่างเล็กน้อยก็ใช้ได้เช่นกัน เรียกว่า ‘Buffered Paper’ ซึ่งเกิดจากการผสมแคลเซียมคาร์บอเนตหรือแมกนีเซียมคาร์บอเนตเข้าไป แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่ควรใช้กับภาพถ่าย ฟิล์ม และพิมพ์เขียว โดยกระดาษที่ควรใช้ คือทิชชู ทิชชูไร้กรด ลูกฟูกไร้กรด กระดาษแก้ว กระดาษพิมพ์งาน และกระดาษถ่ายเอกสาร

หลังจากใช้เวลา 3 ชั่วโมงจดจ่อกับการบรรยายก็ถึงเวลาที่ฉันจะคว้าโปสต์การ์ดฝีมือ Yang Jongseok (ที่ฉันไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร) ผู้บันทึกทิวทัศน์ทั่วกรุงโซลลงบนโปสต์การ์ดที่ฉันบังเอิญเจอแถวร้านขายของข้างทางตอนไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปในครั้งนี้ด้วย

อุปกรณ์ครบมือดุจผู้เชี่ยวชาญ

ก่อนสวมบทเป็นนักอนุรักษ์ ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้ครบมือเสียก่อน

สิ่งที่ต้องเตรียม :

  1. กระดาษ A4/1 แผ่น – หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป ยี่ห้อที่แนะนำ คือ Double-A
  2. ไทเวค (Tyvek) ขนาด 36 x 53 ซม./1 แผ่น – ไทเวคมีลักษณะคล้ายกระดาษ แต่วัสดุจริงคือ เส้นใย HDPE (High Density Polyethylene) ทำให้พลาสติกมีความหนาแน่นสูง เหนียว กันน้ำ และไม่มีเกิดความชื้นสะสม เพราะไอน้ำเข้า-ออกตัวกระดาษได้ดี
  3. แผ่นพลาสติกใส (Mylar) ขนาด 21 x 30 ซม./2 แผ่น – ฟิล์มใสที่ทนความร้อนได้ดี มีความยืดหยุ่น และใช้รองหลังงานพิมพ์ต่างๆ ได้ดี เพราะจะไม่ดึงเม็ดสีออกมา
  4. เทปกาวสองหน้า 
  5. กาว PVA Neutral pH – กาวสำหรับใช้ในงานอนุรักษ์โดยเฉพาะ จะไม่ทิ้งรอยคราบกาวเอาไว้

เมื่ออุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือทำได้เลย!

สวมบทเป็นนักอนุรักษ์

ช่วงกลางวันอากาศร้อน แถมแดดเปรี้ยงแบบนี้ ไม่ใช่อุปสรรคของการเป็น ‘นักอนุรักษ์สมมติ’ ของฉันสักเท่าไหร่ เพราะเปิดห้องแอร์อากาศเย็นฉ่ำในอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเหมาะสมต่อการจัดเก็บงานศิลปะ เหมือนที่อาจารย์แจ้งไว้ในช่วงบรรยาย เพราะฉะนั้น ฉันเลยคิด (เองเออเอง) ว่าโปสต์การ์ดของฉันคงอยู่ในอากาศที่เหมาะสมแล้วล่ะ

ฉันหยิบโปสต์การ์ดวิวภูเขานัมซาน ประเทศเกาหลีใต้ มาทดลองในเวิร์กช็อปนี้ไปด้วยกัน ก่อนจะบรรจงพับ ตัด ตาม ‘คุณยุ้ย-ญาณิศา ทองฉาย’ วิทยากรช่วงบ่ายอย่างช้าๆ ซึ่งคุณยุ้ยสอนวิธีการจัดเก็บให้ฉันทั้งหมด 5 แบบ แต่วันนี้ฉันขอหยิบมาเล่า 3 แบบง่ายๆ ในฉบับที่ผู้อ่านนั่งทำตามฉันได้เลย!

แบบที่ 1 – วางโปสต์การ์ดลงบนกระดาษ แล้วพับทั้งสี่ด้านเข้าหาจุดกึ่งกลาง พับอีกหนึ่งทบ หลังจากนั้นคลี่กระดาษออก และใช้กรรไกรตัดรอยพับที่ 2 ทั้งสี่มุม ปิดท้ายด้วยพับตามขั้นตอนแรกอีกครั้ง อันที่จริง กระดาษ A4 เป็นวัสดุใกล้ตัวของทุกคนมากที่สุด แต่ฉันเพิ่งรู้ว่ามันใช้เก็บงานศิลปะได้เหมือนกัน ซึ่งคุณยุ้ยบอกฉันว่า “อย่าลืมว่าวิธีนี้เป็นการเก็บแบบชั่วคราวเท่านั้น”

แบบที่ 2 – ถ้ามองเผินๆ มันดูไม่ต่างจากซองน้ำตาลทั่วไปที่ใช้สำหรับใส่เอกสารเลยสักนิด! แต่คุณยุ้ยบอกว่าซองสำหรับการอนุรักษ์จะกันน้ำได้ดีกว่าซองน้ำตาลหลายเท่า ฉันหยิบกระดาษขนาด 36 x 53 ซม. มาพับด้านยาวจากซ้ายไปขวา โดยเว้นด้านข้างให้เหลือ 0.5 ซม. ส่วนด้านกว้างให้พับขึ้นมาประมาณ 0.5 ซม. จากนั้นตัดรอยพับออกหนึ่งฝั่ง ก่อนจะทากาวติดให้เรียบร้อย และใช้กรรไกรตัดปลายทั้งสี่มุมเป็นมุมเฉียง ถัดมาพับด้านบนซองลงมา 3 ซม. เพื่อทำเป็นตัวปิดซอง

คุณยุ้ยบอกว่า การทำซองสามารถทำขนาดตามผลงานของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นขนาดโปสต์การ์ด B5 หรือกระดาษ A4 ก็ได้ ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำซองควรเป็นไทเวคจะดีที่สุด ที่สำคัญ เอางานใส่ซองซ้อนกันเท่าไหร่ก็ได้ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หลังจากลองทำฉันคิดว่าวิธีนี้ เหมาะกับกรุสะสมโปสต์การ์ดของฉันที่สุด แถมตอนทำฉันแอบนึกตลกในหัวว่าเหมือนพับถุงกล้วยแขกเหมือนกันนะเนี่ย! เพราะมันง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย

แบบที่ 3 – วิธีสุดท้ายใช้แผ่นพลาสติก Mylar 2 แผ่นประกบเข้าด้วยกัน แล้วติดเทปกาวสองหน้าให้เป็นรูปตัว L เป็นอันเสร็จ! ซึ่งคุณยุ้ยเสริมว่า ถึงแม้วิธีนี้จะง่ายแต่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะแผ่น Mylar ไม่เหมาะกับงานสีพาสเทล สีชาโคล หรืองานที่ใช้ดินสอถ่าน เพราะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต แล้ว Mylar จะดึงเม็ดสีจากภาพออกมานั่นเอง

ฉันยืดเส้นยืดสายคลายความเมื่อยหลังจากทำเสร็จ ลองนึกถึงกรุโปสต์การ์ดเกือบร้อยแผ่นที่ฉันต้องนั่งพับซองก็ขนลุกซู่ ถ้าทำเสร็จทั้งหมด คงเป็นนักประดิดประดอยฝีมือเฉียบแน่ๆ ซึ่งถ้ามีงานภาพถ่าย หรืองานศิลปะเป็นจริงเป็นจัง ฉันอาจนั่งทำไม่ไหว เผลอๆ ต้องวานให้ SAC Conservation Lab ช่วยซ่อมแซมและดูแลงานต่อให้ฉันที

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อฉันต้องยุติบทบาท ‘นักอนุรักษ์สมมติ’ ไปพร้อมกับคลาสเวิร์กช็อป ‘การจัดเก็บงานศิลปะบนกระดาษและภาพถ่าย’ หนึ่งวันเต็ม ทำให้ฉันลบ ‘ความยาก’ ที่มีไว้ตอนแรกทิ้งไป ไม่ต้องมีน้ำยาสารพัดสิ่ง แค่มีกระดาษก็ดูแลงานดุจญาติมิตรได้ ที่สำคัญ มันทำให้ฉันอยากรักษาโปสต์การ์ด จดหมาย หรือแม้แต่ภาพถ่ายในปัจจุบันเอาไว้ให้ดีที่สุด เพื่อเวลาที่สิ่งล้ำค่าเหล่านี้ กลายเป็นความทรงจำในอดีต จะได้หลงเหลือความสวยงามเอาไว้ให้เราได้ชม โดยเฉพาะข้อความบนกระดาษ ฉันอยากจับต้องและเห็นสภาพเหมือนวันที่ได้รับครั้งแรก

เชื่อว่างานศิลปะ ภาพถ่าย หรือแม้แต่จดหมายบอกรักใบจิ๋ว ล้วนแต่มีคุณค่าต่อจิตใจของคนรับที่ประเมินราคาไม่ได้ เพราะทุกอย่างคือคุณค่าความตั้งใจจากคนให้ ถึงแม้จะซื้ออันใหม่เหมือนแบบเดิม ก็ไม่มีทางเหมือนชิ้นแรกที่เราได้รับ เพราะฉะนั้น การเก็บรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และอย่าปล่อยให้สะบักสะบอมจนเกือบพังเหมือนโปสต์การ์ดโมนาลิซาของฉัน


หลังจบเวิร์กช็อปในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่างานศิลปะไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อม หากใครอยากเพิ่มประสบการณ์ด้านศิลปะแบบเดียวกับฉัน ติดตามเวิร์กช็อปครั้งถัดไปได้ที่ SAC Gallery

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.