ชมนิทรรศการ 6 ตุลา ทำไมต้องแขวน ที่ม.ธรรมศาสตร์ - Urban Creature

6 ตุลาคม 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่า เป็นวันสังหารหมู่นักศึกษา

6 ตุลาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ว่า เป็นวันจัดนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On Site Museum ที่รวมเอาหลักฐาน ข้อเท็จจริง พื้นที่ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์เมื่อ 44 ปีที่แล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อทำความเข้าใจ และไม่ปล่อยให้เรื่องราววันที่ 6 ตุลาถูกซ่อนไว้ เราจึงไปชมนิทรรศการ ‘แขวน’ ซึ่งจัดแสดงที่โถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 1-11 ตุลาคม 2563

ต้นไม้ สนามกีฬา โถง สนามหลวง ธรรมศาสตร์ บรรยากาศโดยรอบในวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 44 ปีก่อนสักเท่าไหร่ แม้ร่องรอยที่เคยมีจะถูกกาลเวลาทับถมไป แต่ความสูญเสียและความรู้สึกของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยังคงเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง

ทำไมต้องแขวน ?

การแขวนคอเหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นหนึ่งในหัวข้อการสืบค้นข้อมูลความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจากการสืบค้นได้ข้อสรุปว่า มีเหยื่อถูกแขวนคอถึง 5 คน จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 46 คน ตามข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารชันสูตรพลิกศพ

นี่คือข้อเท็จจริงจากการสืบค้นของทีม 4 ผู้จัดอย่าง คุณธนาพล อิ๋วสกุล – จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ตีพิมพ์หนังสือเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องราว 6 ตุลา, คุณภัทรภร ภู่ทอง – ผู้สืบค้นข้อมูลในโครงการบันทึก 6 ตุลา รวมถึงจำนวนของเหยื่อที่ถูกแขวน, อาจารย์ปริยกร ปุสวิโร – จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับทีม digital picnic ผู้ทำ AR ให้กับงานครั้งนี้ และ คุณเบญจมาส วินิจจะกูล – สถาปนิกจาก The Storeys ผู้ตีโจทย์ ‘แขวน’ ออกมาเป็นนิทรรศการรูปแบบ on site museum หรือการชมนิทรรศการบนพื้นที่เกิดเหตุจริง ซึ่งเป็นผู้นำเราชมงาน

เมื่อเท้าเหยียบย่ำลงบนพื้นก่อนขึ้นโถงหอประชุมใหญ่ ป้ายวงกลมขนาดกลางบนพื้นทักทายเราด้วยประโยคที่ว่า ณ ที่แห่งนี้ จุดที่เรายืนอยู่จะได้เห็นอะไรในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับอีกป้ายที่บอกว่า เช้าวันนี้ในอดีต ตรงจุดที่เรายืนมีผู้เสียชีวิตจากการโดนยิงทะลุปอด และร่างของเขาถูกนำไป แขวน ที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง

จำประตูบานนี้ได้ไหม ?

หลังอ่านคำอธิบายนิทรรศการ เราเดินขึ้นโถงหอประชุมด้วยความรู้สึกหนักอึ้ง มาเจอกับ ‘ประตูแดง 6 ตุลา’ ที่ช่างไฟฟ้าสองท่านถูกแขวนคอ เพียงเพราะติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ซึ่งบริเวณประตูมีจุดให้เราใช้ AR ย้อนเวลาไปสู่อดีต เพียงแค่ยกไอแพดขึ้น ภาพเค้าโครงสีดำที่แสดงให้เห็นถึง การแขวน ก็ปรากฏ และหากเรากดปุ่ม ‘กดเพื่อรับชม’ จากโครงร่างจะเปลี่ยนเป็นภาพจริง พร้อมเสียงอธิบายเปิดคลอ เมื่อได้เห็นภาพในใจมันสั่นไปหมด แม้จะเคยเห็นภาพนี้มาแล้ว แต่ครั้งนี้คือการเห็นสเกลคนจริงบนประตูแดงบานจริง ราวกับเราได้อยู่ในเหตุการณ์อย่างไรอย่างนั้น และนี่คือจุดเริ่มของเรื่องราว และเป็นประตูเปิดสู่นิทรรศการให้เราได้ซึมซับความจริงทั้งหมด

“คุณสังเกตไหมว่าภาพสนามหลวงตรงนี้ คือมุมเดียวกันกับด้านซ้ายมือของเรา” คุณเบญจมาสเอ่ยถาม เราหันกลับไปมองและพบว่าใช่ ก่อนเธอบอกต่อว่า “น่าแปลกไหมที่สถานที่เกิดเหตุในวันที่ 6 ตุลา ห่างจากตรงนี้เพียงเดินไปแค่ประมาณ 20 ก้าว แต่เราไปจัดตรงนั้นไม่ได้” เราทำได้เพียงพยักหน้า รับรู้แล้วว่าสาเหตุของการพรินต์ภาพสนามหลวงมาจำลองในโถงหอประชุม พร้อมจุดเล่น AR ตรงนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

เช่นเดิม เรายกไอแพดแล้วแพลนไปทั่วภาพสนามหลวงจำลอง ก่อนพบกับเค้าโครงของเหยื่อผู้ถูกแขวน พร้อมเสียงอธิบายสิ่งที่เกิดเขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลา และมีป้ายบอกรายละเอียดด้านล่างที่ตั้งไว้ตรงกับจุดเกิดเหตุว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร และถูกกระทำ ณ ที่ตรงนั้นอย่างไรบ้าง

เดินถัดมาทางด้านซ้ายเป็นโซนโรงหนัง 6 ตุลา ที่มีลำดับเหตุการณ์จุดเริ่มต้นของการสูญเสียให้เรารับรู้ คล้ายกับม้วนหนังที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อย้ำเตือนเรื่องราวที่ไม่ควรถูกซ่อน

หนังสือพิมพ์เล่าประวัติศาสตร์ ภาพความรุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิต แขวนคอ พาดหัวข่าวตัวเป้งในโรงหนัง 6 ตุลา

ขึ้นบันไดมาชั้นสอง พบจุด AR อีกจุดให้ดูภาพ และมุมนี้คือภาพ AR ที่ฉายไปยังต้นไม้จริงกลางสนามหลวงที่เหยื่อถูกแขวนคอ โดนเก้าอี้ฟาดซ้ำๆ พร้อมผู้คนมุงดูด้วยความสะใจ ซึ่งเป็นภาพที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize 1977)

เดินต่อมาถึงโซนบรรยายเรื่องราวตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ว่ามีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างไร เรื่องราวที่อ่านสะท้อนให้เรารู้สึกแปลกใจว่า ทำไมเพียงเราแค่เห็นต่างถึงมีความผิดถึงขั้นต้องตาย

ระหว่างอ่าน เราดีใจที่ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่และผู้คนมากมายหยุดอ่าน และสอบถามสิ่งที่สงสัย นั่นทำให้รู้ว่าสิ่งที่หลายคนพยายามปิด พยายามซุกซ่อน กำลังมีหลายคนขุดคุ้ย และสืบสาวเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้น

ลำโพงนี้ส่งเสียงจนไร้เสียง

เดินลงมาบันไดอีกฝั่ง คือมุมจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม อย่างลำโพงที่เด่นสง่า คอยเปล่งเสียงของนักศึกษาซึ่งถูกดับให้เงียบสนิทด้วยกระสุนปืนนับสิบที่ยิงทะลุ

ชุดนักเรียนของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ในสมัยนั้นเป็นเพียงเยาวชนผู้บอกกับแม่ว่า มีสอบวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และจะกลับบ้านวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่เขาไม่ได้กลับไป เพราะจารุพงษ์คือคนที่คอยวิ่งไล่ให้เพื่อนๆ รีบหนีไปให้หมด แต่เมื่อเริ่มวิ่งตามเพื่อน ก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาหายไหน มาพบอีกทีคือภาพตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ร่างไร้วิญญาณของเขาถูกผ้ารัดคอและลากไปตามสนามฟุตบอล

คุณเบญจมาสพาเราเดินลงมายังโซนออกแบบนิทรรศการ 6 ตุลาซึ่งเป็นไอเดียจากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มีหลายรูปแบบให้เราได้ศึกษา โดยแต่ละโปรเจกต์นำแก่นสำคัญของ 6 ตุลาคมมาตีโจทย์ เราไล่มองที่ละภาพ พร้อมฟังคำอธิบายจากคุณเบญจมาสที่พาให้คิดตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากนำเสนอเรื่องราววันเก่า เพื่อไม่ให้จางหายไปจากสังคม โดยก่อนจบตรงนี้เธอบอกทิ้งท้ายกับเราว่า

“แม้เราจะต้องจัดนิทรรศการครั้งนี้อีกกี่ครั้ง หรือจะอีกร้อยครั้งก็ตาม ถึงแม้ไม่มีอาคาร แต่ก็ถือว่าเราได้จัดพิพิธภัณฑ์ขึ้นแล้ว เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519”

เราเดินออกมาด้านนอก ตรงไปยังสนามฟุตบอลซึ่งอยู่ตรงข้ามโถง ในสนามมีภาพเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาซึ่งถูกสกรีนลงบนแผ่นใส แล้วนำไปวาง ณ จุดเกิดเหตุจริง เป็นการซ้อนภาพเมื่อ 44 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน เพื่อส่งเสียงให้ทุกคนได้รับรู้ว่าที่ตรงนี้มีอะไรเกิดขึ้นไปบ้าง

ก่อนกลับเรามีโอกาสได้คุยกับคุณภัทรภร ภู่ทอง ผู้สืบค้นข้อมูลในโครงการบันทึก 6 ตุลา ถึงประเด็นที่มีคนตั้งคำถามว่า ‘การเปิดเผยข้อมูลและภาพเหล่านี้ คือการละเมิดสิทธิ์ของผู้เสียชีวิตหรือเปล่า’ ซึ่งคำตอบของเธอได้ซึมซับลึกลงไปในใจ

“จริงๆ คำถามเหล่านี้คือจริยธรรมในการนำเสนองาน นำเสนออัตลักษณ์ของคนที่ถูกดีเบตอยู่ตลอดเวลาว่าควรหรือไม่ควร แต่ถ้าเรามีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดว่า นี่คือการแสดงหลักฐาน แสดงให้เห็นว่านี่คือความรุนแรงอย่างขีดสุดที่มนุษย์ต่อมนุษย์จะกระทำต่อกันได้ และคือการแสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้ต่างหากที่โดนละเมิดสิทธิ์ หากเราตั้งใจทำเพื่อสิ่งนี้ก็ไม่ใช่ทำไปเพื่อประจาน และลดทอนหรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนใดคนหนึ่ง กลับกันพวกเขาคือประจักษ์พยานของการละเมิดสิทธิและวัฒนธรรมลอยนวลคนทำผิด”

หลังจบการชมนิทรรศการ เรานิ่งไปสักพักอย่างไม่รู้จะทำอะไรต่อ ใจชาหนึบ ภาพที่ได้เห็นติดอยู่ในความรู้สึก และตั้งมั่นไว้ว่า ต้องบันทึกสิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังออกมาให้ทุกคนได้อ่าน แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทรรศการก็ตาม เพื่อที่เหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะยังคงอยู่ และให้ใครที่ยังไม่รู้ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

นิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On site Museum
โถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันที่ 1-11 ตุลาคม 2563

#แด่ทุกท่านผู้เสียสละในเช้า6ตุลา19

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.