ในประเทศเดนมาร์ก สตูดิโอสถาปัตยกรรมที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือชื่อว่า ‘MAST’ ผุดไอเดียพัฒนา ‘Land on Water’ หรือระบบสิ่งปลูกสร้างที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ที่มีความยืดหยุ่นสูง เคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนขยับขยายได้ และยังสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
การออกแบบ Land on Water ได้แรงบันดาลใจมาจากเกเบียน (Gabion) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่ง ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ลักษณะเป็นโครงตาข่ายที่ช่วยสร้างฐานรากที่แข็งแรงและต้นทุนต่ำ
MAST จึงนำไอเดียมาปรับใช้กับวัสดุพลาสติกเสริมแรงที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ทุ่นจากอุตสาหกรรมประมง ขวดหรือภาชนะพลาสติกเก่า และอื่นๆ มารีไซเคิลสร้างเป็น ‘ฐาน’ ในรูปแบบโมดูลาร์ (Modular) คือสามารถเชื่อมต่อฐานลอยน้ำได้อย่างไม่จำกัด จะปรับเปลี่ยนต่อเติมรับน้ำหนักพื้นที่ได้ตามสิ่งปลูกสร้างด้านบน จะสร้างบ้านเรือน ชุมชน สำนักงาน อาคาร หรือสวนสาธารณะก็ออกแบบได้ตามความต้องการ
Land on Water ยังส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ โดยระหว่างลอยอยู่ในน้ำ ฐานที่ออกแบบมาจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินสำหรับสัตว์และพืชใต้น้ำ ช่วยสร้างระบบนิเวศให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่ที่แตกต่างไปจากการใช้โป๊ะพลาสติก โป๊ะเหล็ก หรือโป๊ะที่ทำจากคอนกรีต เพราะนอกจากเคลื่อนย้ายยากแล้ว สีที่ใช้เคลือบวัสดุมักเป็นเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
Marshall Blecher และ Magnus Maarbjerg ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอทั้งสอง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โปรเจกต์นี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับชุมชนริมน้ำหรือเมืองที่ต้องประสบปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและน้ำในทะเลหนุนสูงขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน MAST กำลังพัฒนาต้นแบบของระบบ Land on Water ซึ่งตั้งใจจะนำเสนอที่งาน UIA World Congress of Architects ในโคเปนเฮเกนปี 2566
Sources :
Dezeen | bit.ly/3TE58sN
MAST | mast.dk/land-on-water