La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะ - Urban Creature

จะดีแค่ไหนหากเรามีแหล่งเรียนรู้ที่ไม่เพียงอุดมไปด้วยหนังสือให้อ่านหรือมีข้อมูลให้ค้นคว้า แต่ยังมีการออกแบบที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ที่สร้างสรรค์มาจากการร่วมมือกันของคนในชุมชน คนชนเผ่า และคนต่างถิ่น จนเกิดเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาใช้ประโยชน์ได้

วันนี้เราขออาสาพาไปดูห้องสมุดสาธารณะแห่งใหม่ในเมืองลาคอนเนอร์ รัฐวอชิงตัน อย่าง ‘La Conner Swinomish’ นำทีมออกแบบโดย ‘BuildingWork Offices’ เป็นห้องสมุดที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างชุมชนพื้นเมืองและผู้คนต่างถิ่น มีเอกลักษณ์เด่นคือการเชิดชูวัฒนธรรมของชุมชนและผสมประวัติศาสตร์ของเมืองลาคอนเนอร์ไว้ในสถานที่แห่งเดียว ช่วยเพิ่มแหล่งเรียนรู้สาธารณะให้กับพื้นที่ชายฝั่งของเมืองอีกด้วย

La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง
La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง

เพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามที่ตั้งใจที่สุด สถาปนิกได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองและทำการสำรวจภาพถ่ายของอาคารพาณิชย์เก่าแก่ งานวิจัยที่ว่านี้มีการออกแบบอาคารที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น การปูพื้น เอกลักษณ์ของส่วนหน้าอาคารแบบสามส่วน การจัดสัดส่วนในแนวตั้ง ลักษณะหน้าต่างที่ยื่นจากผนังไม้ และการตกแต่งรายละเอียดต่างๆ เป็นต้น

ทีมออกแบบได้นำรูปแบบอาคารเหล่านี้มาเป็นไอเดียในการออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่ และได้รับความร่วมมือจากชุมชนชนเผ่าอินเดียน (Swinomish Indian Tribal) มาช่วยในเรื่องการปรับปรุงอาคารและส่วนหน้าอาคาร รวมถึงได้ทีมช่างแกะสลักฝีมือดีในชุมชนมาร่วมกันสร้างลวดลายให้กับเสาไม้บริเวณทางเข้าห้องสมุดเพื่อสื่อสาร 3 เรื่องราว ได้แก่ 1) ชายชาวสวิโนมิชที่ยื่นมือออกมาเพื่อแสดงการต้อนรับ 2) ปลาแซลมอนสองตัวที่หมุนวนเป็นตัวแทนของการแบ่งปันทรัพยากร และ 3) นกอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญา ถือเป็นการสร้างอาคารได้อย่างร่วมสมัย มีนวัตกรรมใหม่ และตรงตามเป้าที่ห้องสมุดตั้งไว้

La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง
La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง

ห้องสมุดแห่งนี้มาพร้อมพื้นที่และบริการต่างๆ มากมาย มีหนังสือน่าอ่านถึงสามภาษา ทั้งอังกฤษ สเปน หรือภาษาสวิโนมิช รวมถึงยังมีพื้นที่สำหรับวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้ใหญ่ เช่น ห้องประชุมขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์สาธารณะ และพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ การออกแบบห้องสมุดยังมุ่งเน้นไปที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การใช้ไม้ลามิเนต (Cross Laminated Timber) ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหมุนเวียนที่นิยมใช้ในท้องถิ่น ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดเวลาในการก่อสร้าง และยังช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในห้องสมุดที่อบอุ่น ดึงดูด และเชื่อมโยงกับบรรยากาศของป่าไม้บริเวณใกล้เคียง

มากไปกว่านั้น โครงการนี้ยังได้รับรองอาคารสีเขียวจาก LEED Silver จากการมีระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนหลังคาขนาดใหญ่ ส่วนภายในอาคารยังควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสงธรรมชาติ วัสดุปลอดสารพิษ การปล่อยก๊าซในปริมาณที่ต่ำ และมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

“เมื่อมีความสนใจและสร้างเป้าหมายร่วมกัน ชุมชนพื้นเมืองและผู้คนต่างถิ่นสามารถหาวิธีทำงานร่วมกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ช่วยให้กันและกันเติบโตได้ นั่นคือแนวคิดที่ชนเผ่าสวิโนมิชและเมืองลาคอนเนอร์ยึดถือในการก่อสร้างห้องสมุดแห่งนี้ ที่สำคัญ ความร่วมมือครั้งนี้ยังทำให้ชุมชนของเราใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย” วุฒิสมาชิกชนเผ่าสวิโนมิชกล่าว

La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง
La Conner Swinomish ห้องสมุดสาธารณะสามภาษาในสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโดยคนต่างถิ่นและชนพื้นเมือง

Source :
Archello | bit.ly/45Mpu9P

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.