ยิ่งส่ง = ยิ่งช่วย : กล่องพัสดุช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร ? - Urban Creature

‘กล่องพัสดุ’ ภาพจำที่ทุกคนมองว่าเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มสิ่งของไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘Kerry Express’ ที่เป็นเจ้าเเรกที่อยากให้กล่องพัสดุทำหน้าที่มากกว่า ‘ส่งของ’ แต่ยัง ‘ส่งสาร’ ไปถึงมือผู้รับได้อีกทาง ผ่านโครงการ ‘Kerry Express x Limited Education’ แคมเปญรณรงค์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไทยในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง ผ่านการใช้ไอเดียครีเอทีฟในการออกแบบกล่องพัสดุ ที่ส่งข้อความให้คนตระหนักถึงช่องว่างทางการศึกษาไทยได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

| Keep ‘Kids’ and ‘Kerry’ on
ให้เด็กรับการศึกษาให้ Kerry ช่วยส่งถึงฝัน

ก่อนจะเจาะลึกความหมายของกล่องพัสดุ เราชวนมาทำความเข้าใจที่มาของโครงการ ‘Kerry Express x Limited Education’กันก่อน ซึ่งเริ่มจาก Kerry Express ได้สร้างเเคมเปญ ‘Keep Calm and Kerry On’ เพื่อให้กล่องพัสดุทำหน้าที่ส่งสินค้า ไปพร้อมกับการส่งข้อความคุยกับคนได้อย่างเป็นมิตร

จึงทำให้กล่องพัสดุของ Kerry ไม่ใช่เเค่กล่องธรรมดา แต่นำมาออกแบบสร้างสรรค์ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรับมากที่สุด ซึ่งล่าสุด ‘Kerry Express’ ได้ร่วมมือกับ ‘Limited Education’ โครงการรณรงค์ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย เพื่อระดมทุนขายของที่ระลึกจากศิลปินชื่อดังทั่วประเทศ นำไปช่วยเหลือเป็นค่าเทอมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง

รู้หรือไม่ว่า ? ปัญหาของเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ใช่เรื่องค่าเทอมเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน รวมไปถึงค่าชุดนักเรียน จึงเกิดเป็นอุปสรรคที่เพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ซึ่งทาง Kerry Express นอกจากจะเป็นสื่อกลางช่วยส่งของที่ระลึกจากแคมเปญ Kerry Express x Limited Education ให้ถึงมือผู้รับแล้ว ยังออกแบบกล่องเพื่อส่งข้อความให้คนรับได้ตระหนักถึง ‘ปัญหาความเลื่อมล้ำของการศึกษาไทย’ ผ่านการดีไซน์กราฟิกต่างๆ ที่แฝงความหมายทุกรายละเอียดอีกด้วย

| เบื้องหลังการดีไซน์ ที่ชวนตระหนักเรื่องการศึกษา

เรามีโอกาสได้คุยกับ ‘คุณกล้วย รวิสรา จามลิกุล’ Art Director ผู้ออกแบบกล่องพัสดุแคมเปญ ‘Kerry Express x Limited Education’ ที่จะมาเล่าถึงการดีไซน์กล่องพัสดุลายการ์ตูนเด็กสุดน่ารัก ที่แฝงไปด้วยที่มาและความหมายไว้ทุกซอกทุกมุม

“กล้วยเติบโตมาจากต่างจังหวัด ก็จะเห็นว่าพอเราเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ จากอนุบาล ประถม มัธยมก็จะเริ่มเห็นเพื่อนๆ บางคนต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เห็นมาโดยตลอดและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในต่างจังหวัด แล้วตอนเด็กเราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร แต่พอโตขึ้นมา หากเราสามารถช่วยเหลืออะไรได้เราก็อยากช่วยเหลือเท่าที่เราทำได้ อย่างการดีไซน์กราฟิก มันก็สามารถเเสดงความรู้สึกและสื่อให้คนตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น”

คุณกล้วยเล่าถึงคอนเซปต์การดีไซน์ที่อยากให้สื่อถึง ‘กล่องเด็กหลุด’ เพราะได้ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วค้นพบว่า มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไทยมากมาย และยังแบ่งเป็นหลากหลายกลุ่ม เช่น เด็กยากจนพิเศษ เด็กที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อเเม่ เด็กต่างด้าว เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกาย รวมไปถึงเด็กที่ไม่เเข็งเเรงป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนคนทั่วไป

นอกจากนี้จากข้อมูลสถิติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเผยว่า ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เด็กยากจนพิเศษกว่า 700,000 คน อาจจะไม่ได้เรียนหนังสืออีกด้วย จึงทำให้ลายกล่องสื่อออกมาเป็นเด็กนักเรียนหลายๆ กลุ่มเพื่อสะท้อนเรื่องการศึกษาไทย

| สะท้อนปัญหาผ่านตัวการ์ตูน

“พอได้โจทย์เราก็อินกับเรื่องนี้อยู่เเล้ว ก็เลยนำเสนอการดีไซน์ผ่านตัวการ์ตูน อย่างหน้ากล่องเเสดงถึงเด็กนักเรียนที่ได้รับการศึกษา ได้ใส่ชุดนักเรียนยืนจับมือกัน แล้วแต่ละชุดก็มีหลากหลาย ทั้งใส่กระโปรง ใส่กางเกง ใส่ชุดลูกเสือ ใส่ชุดพละ ซึ่งมันจะเห็นเลยว่าคนที่ได้เรียนหนังสือ มันต้องใช้เงินเยอะมากนะ ซึ่งค่าชุด ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทางมันมีราคา ไม่ได้มีเเค่ค่าเทอมอย่างเดียว

“หากเปิดกล่องออกมา ลองสังเกตด้านข้างของกล่อง ก็จะเห็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งอยู่ข้างๆ สื่อถึงเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไทย คือถ้าเราไม่เปิดกล่องก็จะเห็นเเค่มือน้องยื่นออกมาขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าเราเปิดกล่องออกมา ก็จะเห็นน้องๆ ที่กำลังจะหลุดออกจากการศึกษาและไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนเหมือนคนอื่น”

| เติมเต็มช่องว่าง เติมโอกาสให้เด็ก

“ด้วยความที่อยากให้เปิดกล่องออกมาแล้ว ได้สื่อความหมายถึงการศึกษาของเด็กใส่เข้าไปด้วย เราจึงไปคิดกับทีมจนเจอพวกเเบบฝึกหัด ที่มีจุดๆ เรียงกันต่อเป็นภาพ คล้ายๆ กับการเติมคำในช่องว่างนั่นเเหละ มันก็เปรียบเหมือนกับการเล่นคำ ที่สื่อถึงการวาดชุดนักเรียนให้เด็ก เท่ากับช่วยเติมเต็มการศึกษาให้พวกเขาได้

“แบบฝึกหัดที่เป็นช่องว่างให้คนลงมือวาด มันเเสดงถึงว่า น้องๆ นักเรียนกำลังขาดทุนทรัพย์ หรือขาดเสื้อผ้าที่จะเรียน ถ้าเราบริจาคเงิน เพื่อช่วยน้องให้อยู่ในระบบการศึกษา พวกเขาก็จะมีอุปกรณ์ไปเรียนต่อได้ ดังนั้นเราก็เลยเลือกที่จะออกแบบเป็นแบบฝึกหัด ให้ทุกคนมาวาดชุดนักเรียนที่คิดว่าน้องน่าจะได้ใส่ เพราะชุดนักเรียนในความทรงจำของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะวาดให้น้องเป็นศิลปิน บางคนอยากให้น้องเป็นนักดนตรี แล้วเราก็สามารถถ่ายรูปนำมาเเชร์ลงโซเชียลได้ เพื่อจูงใจให้คนสนใจเเคมเปญนี้ได้มากกว่าเดิม”

นอกจากกล่อง Kerry ที่มีลายสุดลิมิเต็ดแล้ว ก็ยังมีกล่องพัสดุสุดพิเศษ ที่เป็นการทำงานร่วมกันของศิลปินชื่อดัง 17 คนในโครงการ Limited Education ซึ่งเป็นการจำหน่ายของที่ระลึกของศิลปินชื่อดังในประเทศไทย อย่าง ตั้ม อุลิตร, Juli Baker and Summer, TUNA Dunn, PUCK และ มุนิน ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.tcfe.or.th/limited-education/ 

โดยเงินที่ได้จะนำไปสนับสนุนให้น้องๆ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เรียกได้ว่าหากทุกคนร่วมบริจาคในโครงการ Limited Education นอกจากจะได้สินค้ากลับไปแล้ว ยังได้ กล่องพัสดุ Kerry ดีไซน์พิเศษที่ออกแบบร่วมกับศิลปินที่ชื่นชอบติดมือกลับไปด้วย

| อยากให้ผู้รับ ‘รู้สึกดี’ มากกว่าเเค่ส่งของ

หลังจากคุยกับคุณกล้วย เราได้เห็นถึงความตั้งใจที่ใส่ลงไปในทุกขั้นตอน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นกล่องพัสดุหน้าตาน่ารักที่ไม่เหมือนใครนั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดและการดีไซน์อย่างพิถีพิถัน รวมถึงความตั้งใจที่อยากให้กล่อง Kerry นี้เป็นกล่องเเทนคำขอบคุณส่งไปถึงมือผู้ให้ทุกคน ที่นอกจากทำหน้าที่ ‘ส่ง’ ได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังส่งต่อความตั้งใจดีๆ ผ่านการส่งของอีกทางหนึ่งด้วย จึงทำให้เราต้องกลับมามองใหม่ว่า กล่องพัสดุอาจจะไม่ใช่แค่กล่องส่งของธรรมดา แต่มันสามารถกลายเป็นสิ่งของแทนใจที่เก็บความรู้สึกดีๆ ไว้ได้

Writer

Photographer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.