“ดึงไปทางซ้าย วิ่งอีกๆ” เสียงน้องชายตะโกนเชียร์ฉันที่กำลังวิ่งว่าวตัวใหญ่ ลมพัดหอบมันสูงขึ้นๆ ขณะที่ขนาดของมันค่อยๆ เล็กลง จนดูเหมือนนกตัวน้อยบินลู่ลมอยู่บนฟ้า เชื่อว่าสมัยเด็กๆ หลายคนคงมีประสบการณ์วิ่งว่าวในท้องนา หรือเคยเห็นคนเล่นว่าวกลางท้องสนามหลวงกันมาบ้าง
กีฬาวิ่งว่าวถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรดของฉัน ยังจำได้ว่าช่วงปิดเทอมฉันเคยขอเงินแม่ไปซื้อว่าวจากลุงที่นั่งเหลาไม้ไผ่ขึ้นเป็นโครงว่าว ฉันทั้งวิ่งทั้งดึงว่าวอยู่ไม่นานก็ติดลมบน ทว่าลมแรงจนเชือกว่าวขาดผึง ตัวว่าวหมุนควงหายลับไปกับสายลม เหลือเพียงกระป๋องพันเชือกว่าวไว้ดูต่างหน้าจนต้องวิ่งร้องไห้เข้าบ้าน
พอมาย้อนนึกถึงความสนุกในวัยเด็ก ความทรงจำนั้นก็หลุดลอยออกไปไกลแล้ว พลางคิดว่าเด็กยุคใหม่ยังเล่นว่าวกันอยู่ไหม หลังเลิกงานฉันรอจับรถไฟฟ้ากลับบ้านบนสถานีสยาม สายตาแวบไปเห็นว่าวแบบเดียวกับที่เคยเล่นตอนเด็กโชว์อยู่หน้าช็อป Adidas แค่ว่าวนั้นเล่นไม่ได้ แต่เป็น Installation Art ที่ ‘พี่เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล’ ดึงเอาสีสันของวันวานให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
Jackkrit x Adidas
เมื่อเดือนที่แล้ว Adidas ได้เปิดตัวแบรนด์เซนเตอร์แห่งใหม่ที่ศูนย์การค้า Siam Square One เรียกได้ว่าใหญ่โตโออ่า แต่สิ่งที่น่าสนใจคือนี่เป็นครั้งแรกที่ทาง Adidas ดึงศิลปินไทยมาร่วมดีไซน์ร้าน ฉันจึงไม่พลาดที่จะมาพูดคุยกับศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบสุดเจ๋ง
วันนี้ฉันมีนัดกับ ‘พี่เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล’ ที่หลายคนคุ้นเคยกับผลงาน illustration สีสดใสดูมีชีวิตชีวาของเขา ทั้งในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงในนิตยสารเมืองนอกอย่าง Monocle และ Metropolitan ยังไม่รวมคาแรกเตอร์สุดทะเล้นที่กระโดดลงไปอยู่ในงานเพนต์บนผนังกำแพงต่างๆ และของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่โปรเจกต์ของพี่เหนือกับ Adidas ครั้งนี้ต่างออกไป และถือเป็นความท้าทายใหม่ของพี่เหนือ
“ธันวาคมปีที่ผ่านมา Adidas ติดต่อมา เราก็ถามเขาว่าทำไมถึงสนใจเรา เขาบอกว่าเขาชอบความสดใส ความสนุกของเรา และชอบที่เรามีเรื่องวัฒนธรรมเข้าไป ซึ่งร้านเปิดตัวช่วงต้นมีนาคม เลยเป็นช่วงที่เราคิดหนักเหมือนกันเพราะเวลาน้อยมากๆ และเป็นที่แรกในไทยด้วยที่ให้อาร์ติสท์เข้ามาทำ ปกติทาง Adidas เมืองนอกเขาจะกำหนดไดเรกชันมา แต่โปรเจกต์แบบนี้จะมีในแบรนด์เซนเตอร์ของหัวเมืองอย่างโซล หรือในอังกฤษ ซึ่งเขาจะทำงาน Collaboration กับศิลปินท้องถิ่น”
แค่ฟังที่มาของโปรเจกต์ฉันก็รู้สึกกระตือรือร้น พี่เหนือเล่าต่อถึงบรีฟแรกที่ได้รับ เรียกว่าเป็นโจทย์ยากเลยทีเดียว
“ต่างประเทศเขาสนใจเรื่องความเป็นคราฟต์แมนชิป ฉะนั้นงานฝีมือของไทยจึงเป็นโจทย์หลัก ส่วนความเป็นย่านสยามก็เป็นอีกคอนเซปต์ที่เขาต้องการให้เราสะท้อนออกมา ช่วงแรกๆ เราพยายามทำความเข้าใจว่าจะสื่อสารเรื่องสยามยังไง เราก็ไปรีเสิร์ชดูแล้วความเป็นสยามมันมีเยอะมากๆ ทั้งที่เป็นซับคัลเจอร์และเอเลเมนต์ที่ผ่านกาลเวลา เราจึงต้องหาวิธีการที่จะจับเมสเซจที่เป็นรูปธรรม อีกทั้ง Adidas ก็มีคีย์หลักคือความเป็นแบรนด์และความเป็นสปอร์ต งานนี้เลยทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานกับแบรนด์ใหญ่ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทาย”
พอฟังบรีฟแล้วฉันนึกไม่ออกเลยว่าจะยำทุกอย่างออกมาเป็นคอนเซปต์ได้อย่างไร พี่เหนือจึงโชว์ Mind map ของเขาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำโปรเจกต์นี้
“ถ้าใครเคยทำงานกับพี่จะรู้ว่าพี่ทำงานไวมาก แต่พี่จะใช้เวลากับการรีเสิร์ชและกระบวนการคิดเยอะ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ จดสิ่งที่มันฟุ้งอยู่ในหัวออกมาเป็น Mind map แล้วค่อยมาเลือกว่าอะไรคือประเด็นที่เราอยากจะพูด พอทอนมันออกนี่คือสิ่งที่เราจะโฟกัส พอถึงช่วงเวลาทำงานมันคือช่วงที่เราจะไม่นอกเรื่อง เพราะเรานอกเรื่องมาเยอะแล้วในช่วงที่คิดงาน”
ฬ. จุฬา ว่าวไทย
คีย์เวิร์ดมากมายถูกโยนลงใน Mind map ซึ่งพี่เหนือรวบยอดความคิดออกมาเป็นสองไดเรกชัน อันแรกคือ ‘ส. เสือ’ ตัวอักษรแรกของ ‘สยาม’ ซึ่งไปพ้องกับชื่อรุ่น Stan Smith ที่ครบรอบในปีนี้พอดี แต่คอนเซปต์ที่ชนะใจกรรมการก็คือ ‘ว่าวจุฬา’ ที่เป็นตัวแทนทั้งด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม และงานฝีมือ
“ว่าวมีความเป็นศิลปะในตัว ทั้งการประดิษฐ์และลวดลาย จริงๆ ว่าวมีให้เลือกหลายตัว แต่เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นว่าวจุฬา เพราะเราไปรีเสิร์ชมาว่ามันมีสตอรี่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเราด้วย ช่วงที่มีสงครามเขาใช้ว่าวจุฬาบรรจุดินปืนข้ามกำแพงเข้าไป ทำให้ว่าวจุฬาเป็นที่รู้จักก่อนจะกลายมาเป็นกีฬาของพระนคร อีกทั้งรูปทรงของมันที่เป็นรูปดาว พี่ก็เอ้ย! มันคือซูเปอร์สตาร์ของไทย ซึ่งแต่ละภาคก็จะมีว่าวที่เป็นตัวชูโรง อย่างภาคใต้ก็จะมีว่าวเขาควาย แล้วว่าวจุฬามันเป็นของภาคกลาง เลยคิดว่าว่าวจุฬานี่แหละเหมาะสุด”
สิ่งที่เด่นที่สุดของงานชิ้นนี้คือรูปทรงของว่าวจุฬาที่ถอดตามแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิม แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่คือรายละเอียดที่ผสมผสานอยู่บนตัวว่าวแทนที่จะเป็นลายดอกทั่วไป หากมองดีๆ จะเห็นรูปร่างของรองเท้า Adidas Originals ซ่อนอยู่ พี่เหนือเล่าว่า เส้นสามแถบที่คาดบนรองเท้านอกจากเพื่อความสวยงามเป็นซิกเนเจอร์แล้ว ฟังก์ชันของมันยังทำให้รองเท้าแข็งแรงขึ้น ซึ่งพี่เหนือหยิบมาเป็นกิมมิกและเป็นส่วนที่ช่วยพยุงว่าวให้ยึดติดกันอีกด้วย ส่วนดีเทลเชือกรองเท้าก็เอามาใส่ไว้ตรงกลางในตำแหน่งที่ใช้ผูกเชือกว่าวพอดี
เมื่อซูมใกล้เข้าไปอีกจะเห็นลวดลายที่แตกต่างกันในแต่ละส่วน มีทั้งลายที่อินสไปร์มาจากชามลายไทย ลายตรงพู่ที่อินสไปร์มาจากการสานลูกตะกร้อ ซึ่งถูกลดทอนให้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เส้นสามแถบของ Adidas และสุดท้ายคือลายตารางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสานตอกในวิชางานประดิษฐ์สมัยเรียนประถมฯ หรือที่เรามักเห็นบนพัดที่เขาสานขายกันริมถนน
ปรับกระบวนท่ากว่าจะเป็นว่าว
ในกระบวนการทำงาน พี่เหนือแท็กทีมกับช่างศิลป์ถึง 4 คน โดยมีตัวตั้งตัวตีอย่าง ‘พี่ว่าว-ชัยวัฒน์ สายรัตน์’ ที่เป็นคนชวน ‘อ.ธีรานนท์ จักรชัยอนันท์’ อาจารย์หัวหน้าภาคภาพพิมพ์ คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มาเป็นหัวเรือ พร้อมด้วย ‘มินทร์ลดา จักรชัยอนันท์’ ภรรยาของอาจารย์ และลูกศิษย์ ‘ดวงหทัย มัลลิกา’ มาร่วมทีม
กว่าจะออกมาเป็นว่าวจุฬาตัวที่เห็นอยู่นี้ นับเป็นว่าวตัวที่ 3 ที่ทีมลองผิดลองถูก เรียนรู้ และพัฒนามาด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การขึ้นโครง เดิมทีพี่เหนือตั้งใจจะใช้วัสดุแบบดั้งเดิม คือไม้ไผ่และเชือกป่านในการดัดโครงไม้ไผ่ให้เข้ารูป แต่ติดในเรื่องความคงทนและการเกิดเชื้อรา ช่างจึงไปศึกษาจนได้ข้อสรุปว่าต้องใช้โครงสร้างเหล็กแทน ในแบบตอนแรกตัวว่าวจะมีน้ำหนักคร่าวๆ ถึง 40 กิโลกรัม แต่พี่เหนือเห็นว่าเหล็กที่หนาเกินไปจะให้ความรู้สึกหนัก ดูไม่เหมือนว่าวที่ลอยในอากาศ ช่างจึงคำนวณใหม่โดยใช้เหล็กที่บางลง เหลือประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ว่าวที่ประกอบแล้วดูสมจริงมากขึ้น
วัสดุหลักที่ใช้แทนกระดาษว่าว มาจากโจทย์ที่พี่เหนือต้องการความรู้สึกแบบเดียวกับหนังของรองเท้า Adidas Originals แต่ไม่อยากใช้หนังหรือ PVC เพราะย่อยสลายไม่ได้ จึงไปเจอวัสดุที่ลักษณะคล้ายๆ กัน เป็นวัสดุที่ใช้ทำป้ายปะเก็นติดกางเกงยีนส์ซึ่งรีไซเคิลได้ โดยหยิบมาใช้ 2 สีได้แก่ สีน้ำตาลในส่วนที่ดูเหมือนเครื่องหนัง และสีขาวในส่วนที่เป็นตัวรองเท้า
สวนที่ต้องปรับแก้กันอยู่หลายรอบคือ ช่างต้องพิมพ์ลายลงบนวัสดุไปด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน วัสดุเดิมที่ใช้ค่อนข้างดูดซับสีมากเกินไป เมื่อเปลี่ยนวัสดุใหม่ก็ยังถือว่ายาก เพราะเป็นวัสดุที่เคลือบมาแล้ว จึงต้องรอเวลาให้สีแห้งที่สุดเพื่อให้ลายออกมาคมชัด
นอกจากนี้ ใบจากที่นำมาสานตอกยังใช้วิธีย้อมสี โดยช่างต้องผสมสีด้วยมือให้ตรงตามแพนโทนที่กำหนด ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำมากๆ และสุดท้ายคือการเย็บที่ต้องอาศัยช่างเย็บหนังมาช่วยเดินตะเข็บ เพื่อให้ได้ฝีเข็มที่สวยงามโดยใช้ทั้งฝีมือและฝีจักร ไปจนถึงการเพิ่มความหนาของวัสดุที่มีหลายเลเยอร์เพื่อให้ว่าวดูมีมิติ แม้จะเจองานหินและเวลาที่บีบรัด พี่เหนือก็ผ่านมาได้ด้วยทีมเวิร์กที่ดี และการได้เห็นทุกฝ่ายแฮปปี้คือสิ่งที่พี่เหนือภูมิใจ
“อุปสรรคที่สุดคือเวลาและข้อจำกัดของงานคราฟต์ ซึ่งเราต้องทำดีไซน์เกือบสี่สิบแบบในช่วงเวลาสั้นๆ ทุกครั้งที่เราทำงานมันคือการเริ่มใหม่หมด เพราะเราชอบทดลองต่อยอดจากพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราไม่รู้เลยว่างานจะออกมาเป็นแบบไหน แต่เราไม่ได้ทำงานนี้คนเดียว เรามีทีมที่ฝ่าฟันไปกับเรา ในวันที่เราผ่านความยากลำบากมาถึงวันที่เราปล่อยพลังไปให้สุดด้วยเวลาที่ถูกบีบน้อยลง สิ่งที่ต่างประเทศชื่นชมกลับมาคือ ‘เขาทำได้ไง มีเวลาวันหนึ่งมากกว่ายี่สิบห้าชั่วโมงเหรอ’ มันทำให้ทีมแฮปปี้ เราเองก็แฮปปี้ที่เห็นคนที่ทำงานกับเรามีความสุข”
ความเป็นไทยในสายเลือด
เชื่อว่าคนไทยมองปราดเดียวก็รีเลตกับว่าวจุฬาชิ้นนี้ได้ทันที แต่ในมุมชาวต่างชาติเช่นการต้องพรีเซนต์กับ Adidas ฉันสงสัยว่าพี่เหนือทำอย่างไรให้เขาเก็ตความเป็นไทย
“ว่าวเป็นกีฬาที่มีทุกประเทศ แต่ละประเทศก็จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน อย่างวัสดุที่ใช้หรือลวดลายที่อยู่บนตัวมัน ซึ่งคอนเซปต์ที่เราเอารูปทรงของว่าวจุฬา ไปรวมเข้ากับซูเปอร์สตาร์มันแมตช์กันพอดี และว่าวจุฬามันเป็นทั้งกีฬาและศิลปะ ทำให้เขาเก็ตไอเดียได้ง่ายขึ้น”
และพี่เหนือยังทำให้เรามองเห็นอีกมุมว่าจริงๆ แล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวันล้วนคือความเป็นไทย
“เราชอบทำงานที่เรามีประสบการณ์ร่วม เพราะเราจะเข้าใจและจินตนาการมันออก อย่างตอนพี่เด็กๆ ก็เล่นว่าวในท้องนาหรือเตะตะกร้อ อย่างแรกเราต้องสนุกกับมันก่อน พอเราอินปุ๊บไอเดียมันจะไหล แต่ถ้าเราไปจับของที่ไกลตัว มันจะไม่สามารถพาเราไปลึกขนาดนั้น ซึ่งความเป็นไทยมันอยู่ในสายเลือด สมมติคุณอยู่สำเพ็ง อะไรคือความเป็นสำเพ็ง หรืออย่างคนทำโอ่ง ชาม ครอบครัวเขาโตมาแบบนั้น เขาขลุกอยู่กับมัน เขามีข้อมูล มีประสบการณ์ส่วนตัว เราคิดว่าอันนี้คือส่วนสำคัญ หรือแม้กระทั่งคนไทยที่มีคัลเจอร์บางอย่างผ่านการใช้ชีวิต เช่น เก้าอี้พลาสติก การที่เขามองมันจนทวิสต์เป็นแบบอื่นได้ มันต้องเกิดจากการใช้งานแล้วถอดรหัสฟังก์ชันของมันออกมา”
ดิจิทัลสู่งานคราฟต์
ได้ฟังเบื้องหลังแล้วฉันก็อยากรู้ว่า เมื่อคนสายกราฟิกมาจับงานคราฟต์ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรและมันเปิดมุมมองอะไรใหม่ๆ บ้าง
“ส่วนตัวเราสนใจงานฝีมืออยู่แล้ว แค่เรารู้สึกว่ามันยากและไกลตัว แต่เมื่อสองสามปีก่อนเราได้ไปลองเวิร์กช็อปทำชามสังคโลก ที่สวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เรารู้สึกว่าเอ้ย มันไม่ได้เข้าไม่ถึงขนาดนั้น ถ้ามันเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ไปลองทำ มันจะเกิดการพัฒนา อย่างงานนี้เราโชคดีที่เจอช่างที่เขาพร้อมจะเรียนรู้และร่วมแก้ปัญหาไปกับเรา เปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดีไซเนอร์เองยอมปรับตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย หรือเราดูช่างทำงานแล้วเห็นว่าแบบนี้น่าจะได้ก็ทดลองกันดู
“สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการเชื่อใจและเปิดใจ เราเริ่มมองหาวัสดุรอบๆ ตัว มองดีเทลในชีวิตหรือสิ่งที่เราใช้งานอยู่ทุกวันมากขึ้น แม้กระทั่งดีเทลของเพื่อนร่วมงานที่เราต้องใส่ใจเขาด้วย ส่วนด้านเทคนิคก็ยังอยากพัฒนาไปเรื่อยๆ นะ คุยกับช่างว่าเราอยากเดเวลอปมันไปด้วยกัน พี่มองไปถึงการเอาไปใช้แบบผสมผสาน อยากให้งานของเราเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนได้ ให้เขาได้ซึมซับแล้วไปต่อยอดว่า ถ้าฉันทำศิลปะฉันก็ทำแบบนี้ได้”
จงเปิดใจให้กว้างและถ่อมตัว
คุยกันมาถึงตรงนี้ฉันได้เห็นสเต็ปใหม่ของพี่เหนือ ที่ยังคงค้นหาและทดลองวิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอ ที่ผ่านมาพี่เหนือไม่เคยปฏิเสธโจทย์ที่ท้าทายในงานหลายรูปแบบ เขาเป็นอาร์ติสท์ที่ใช้กราฟิกเป็นเครื่องมือ ใช้อารมณ์และประสบการณ์เป็นแนวคิด ใช้ใจที่เปิดกว้างและความถ่อมตัวเป็นหัวใจในการทำงาน
“พระเจ้าสอนเราให้เรารักเพื่อนบ้านและรักตัวเอง ทำความเข้าใจและตอบสนองกับปัญหานั้นด้วยความรัก มันทำให้ตัวเรายืดหยุ่นและขยายตัวเราให้กว้างขึ้น ได้เจอคนมากขึ้น ได้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจมากขึ้น มันคือการถ่อมตัวลงเพื่อที่จะเปิดโอกาสตัวเอง แล้วไม่คิดว่าเราเป็นคนเก่งเพื่อจะได้เรียนรู้จากคนอื่น นี่คือสิ่งที่อยู่ในไบเบิลและเป็นสิ่งที่ปลูกฝังเรา ทำให้ผลงานออกมาแบบคนที่ทำงานด้วยก็แฮปปี้”
ในฐานะรุ่นพี่ในวงการภาพประกอบและกราฟิกดีไซน์ ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฉันจึงขอคำแนะนำสั้นๆ ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันจะเดินทางสายนี้
“อย่าเพิ่งถอดใจเร็ว ลงลึกกับสิ่งที่คุณชอบเยอะๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะได้คำชมหรือยอดต่างๆ ไหม มันจะทำให้เรามีความสุขขึ้นและไปได้ไกลขึ้น แล้วผลงานที่ดีจะตามมาเอง พี่เข้าใจว่าบางทีเด็กยุคนี้โตมากับการสไลด์หน้าจอ แต่การอ่านหนังสือเยอะๆ รีเสิร์ชเยอะๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ทำความเข้าใจกับมัน คิดเยอะๆ จดมัน บันทึกมัน และสเก็ตช์มัน”
แสงจากไลต์บอกซ์ด้านนอกร้านฝั่งในห้างฯ ผลงานอีกชิ้นที่พี่เหนือทุ่มเทเวลาเพราะเปรียบเป็นคีย์วิชวลที่รวมเอเลเมนต์ต่างๆ เข้าด้วยกัน สาดส่องเฉิดฉายรอวันให้คุณก้าวเข้ามาเชยชม ซึ่งนอกจากผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซแล้ว เราอยากให้ทุกคนมาดูผลงานอีกหลายชิ้นที่คราฟต์ไม่แพ้กัน อย่างโคมไฟหวาย ภาพปัก พรม รวมไปถึงพินติดเสื้อสุดน่ารักและเสื้อยืดสุดลิมิเต็ดที่มุม Maker Lab ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนตัวยงของ Adidas หรือเป็นสายอาร์ตที่ชอบงานดีไซน์ก็ไม่ควรพลาด