สุดติ่ง ริมตลิ่งตลาดเก่าหัวตะเข้ - Urban Creature

‘ตลาดหัวตะเข้’ ชื่อเรียกติดปากของชาวท้องถิ่นแถวนั้นที่อยู่ย่านลาดกระบัง ถือเป็นชานเมืองที่ยังเป็นปอดของกรุงเทพฯ อยู่เสมอ ตั้งอยู่ตรงซอยลาดกระบัง 17 เป็นชุมชนเลียบคลองไปตลอดสาย

เมื่อก่อนนั้นครึกครื้นกว่านี้ การเวลาเปลี่ยนไปช่วงปี 57 คมนาคมและอุตสาหกรรมพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านบางคนขยับขยาย ออกไปซื้อบ้านติดกับถนน จึงทำให้ชุมชนนั้นซบเซาลงมาก

20 กว่าปีต่อมา ลูกหลานตลาดหัวตะเข้ได้มองเห็นว่ามีการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวัฒนธรรมเป็นที่นิยม จึงร่วมกันทำวิจัยว่าบ้านเรานั้นมีของดีอะไรบ้าง ? สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ชุมชนแห่งนี้เด่นด้านศิลปะเป็นทุนเดิม จึงพัฒนาให้ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ได้กลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง หากจะปล่อยทิ้งร้างคงเสียดายน่าดู

แม้การมาครั้งนี้ถึงคนจะไม่พลุกพล่านเยอะเท่ากับตลาดน้ำอื่นๆ แต่มันทำให้เราได้ซึบซับกับความสงบและเห็นวิถีของชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ และข้อดีอีกข้อคือ ของกินเพียบ ! 

การเดินทางไปตลาดเก่าหัวตะเข้

เดินทางได้หลายเส้นทาง
ที่อยู่ : ซอยลาดกระบัง 17 แขวง ลาดกระบัง เขต ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 

– แอร์พอตลิงก์ลงสถานีลาดกระบัง ต่อสองแถวสาย 333 ลงที่ซอยลาดกระบัง 17 หรือตลาดสดอุดมผล

– รถไฟสถานีหัวตะเข้ และต่อสองแถว กินลมชมวิวข้างทาง แม้จะในกรุงเทพฯ ก็นั่งรถไฟไปได้

– นั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาลงที่สถาบันเทคโนโลนยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และต่อรถสองแถว

– รถยนต์สวนตัว มีที่จอดรถของตลาดสด ค่าจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง 10 บาท หากเกินคิดวันละ 30 บาท หรือจอดที่ศาลเจ้าในซอยก่อนถึงตัวตลาดได้เลย

ถ้าเจอสะพานไม้เก่าและแหงนหน้ามองป้ายที่เขียนว่า ‘ตลาดหัวตะเข้’ แสดงว่าเราถึงแล้ว !

ขนมเเปี๊ยะ ขนมใบไม้ เหลือเพียง 2 ร้านคู่หัวตะเข้

ก่อนจะเดินข้ามสะพานไปถึงตลาดเก่า เราอยากให้แวะสองร้านขนมเปี๊ยะ คือ ‘ร้านพงษ์จิวานิช’ ร้านโรงขนมเปี๊ยะที่อยู่คู่กับตลาดหัวตะเข้มามากกว่า 120 ปี และมีทายาทกว่า 4 รุ่น เขายังคงรักษาส่วนผสมแป้งหมี่ น้ำตาล และน้ำมันในสัดส่วนที่เท่ากันเพื่อไม่ให้แป้งนั้นมีความแข็งมากจนเกินไป จะมีทั้งไส้ฝักถั่วเหลือง และไข่แดง จากนั้นจะทาน้ำมันและไข่บนชิ้นขนม ย่างในเผาร้อนจะได้หน้าตาขนมเปี๊ยะที่น่าหยิบกินแบบยั่งมือไม่อยู่ แถมตอนนี้เอาตัวเองเข้ามาอยู่ในออนไลน์ชื่อว่า ขนมเปี๊ยะไข่ระเบิด By เชฟปั้ม 

นอกจากนี้แล้วแป้งหมี่นั้นยังหยิบขึ้นมาทำขนมใบไม้ได้อีกด้วย ผสมกับน้พตาลปี๊บ ไข่ขาว ผงฟู และนวดมือจนเข้าที่ ทาไข่และย่างในเตาจะได้ขนมใบไม้ที่เหลืองหอม ขนมนี้มักจะไปโชว์ตัวอยู่ที่ร้ายขายของชำหรือโชว์ห่วย ในราคาที่ไม่แพง 

อีกร้านที่อยู่ชิดติดกันคือร้าน ‘อึ้งกิมเฮง’ ร้านนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 แม้อายุจะใกล้เคียงกับร้านแรก และขายของที่คล้ายกัน แต่รสเนื้อสัมผัสนั้นเขาบอกว่าต่างกัน และความพิเศษอยู่ตรงที่มีขนมขันหมากไม่ว่าจะเป็นข้าวพอง ถั่วตัด งาตัด ฟักเชื่อม และลูกกวาด ซึ่งร้านลงมือทำเองทุกอย่างแพ็คส่งทั้งแบบค้าส่งและขายปลีก

สายน้ำคือหัวใจหลักในการใช้ชีวิตเสมอมา

หากเดินขึ้นสะพาน แล้วได้กวาดสายตาไปทั่ว จะเห็นได้ว่า ลักษณะของตลาดหัวตะเข้ เป็นชุมชนเลียบคลองไปตลอดสาย โดยมีคลองประเวศบุรีรมย์ตัดกับคลองลำปลาทิว เลยมักจะใช้เรือสัญจรเป็นเส้นทางหลัก ชาวบ้านจึงมีอาชีพค้าขาย หาปลา และรับจ้าง ใครถนัดอะไร ก็ทำสิ่งนั้นออกมาขายหน้าบ้านของตัวเอง ทำให้แต่ก่อนชุมชนนี้คึกคักตั้งแต่เช้ายันเย็น และเมื่อถูกพลิกฟื้นจากลูกหลานชาวหัวตะเข้ ทำให้ตลาดแห่งนี้กลับมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกครั้ง

ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เก็บผักบุ้งเย็บผ้าอยู่บ้าน

เดินเข้ามาในตลาดหัวตะเข้ เราเห็นอะไรมากกว่าร้านอาหาร เพราะเจอสิ่งที่เรียบง่าย อย่างคุณป้าที่ออกไปหาผักบุ้ง ตัดผักบุ้งส่วนที่เสียทิ้ง แล้วมัดเป็นกำๆ เท่ากัน เตรียมนำไปขายที่ตลาด

บางร้านคุณป้าก็ยังนั่งเย็บผ้าขาวม้าอยู่ที่บ้าน ค่อยๆ ประดิดประดอยให้ออกมาเป็นกางเกง เสื้อ ชุดกระโปรงอย่างน่ารัก

สี่แยกหัวตะเข้ Cafe & Guesthouse

เดินลงสะพานแล้วเลี้ยวขวาเดินไปจนเกือบท้ายซอย จะเจอกับร้าน ‘สี่แยกหัวตะเข้ Cafe & Guesthouse’ ราคาหลักสิบน่าคบหาเป็นอย่างมาก แถมยังได้ดื่มด่ำบรรยากาศริมน้ำอย่างใกล้ชิดกับวิถีชุมชน เพราะบางวันชาวบ้านที่ทำประมงมักจะทิ้งยอไว้ตรงคลอง พอถึงเวลาก็จะมายกยอ เราก็พลอยได้เห็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้านไปด้วย

มาถึงร้านต้องสั่ง ‘ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ใส่ไข่’ ถือเป็นเมนู รสชาติแซ่บและกลมกล่อม นอกจากนี้ยังมีทั้งน้ำใส เย็นตาโฟ หรือเย็นตาโฟต้มยำก็สามารถสั่งได้ สำหรับใครที่ไม่ได้หิวมาก ก็มีเมนูทานเล่น และซุปร้อนๆ ทั้งไข่กระทะ ไก่คาราเกะ ซุปครีมข้าวโพด ซุปครีมเห็ด และซุปครีมไก่ให้ชิมกันอีกด้วย

มาสี่แยกหัวตะเข้ต้องกินทั้งคาวและหวาน

กินคาวแล้วต้องตบด้วยหวาน ถ้าไม่ได้กินรู้สึกว่าไม่สุด เพราะร้านสี่แยกหัวตะเข้ Cafe & Guesthouse ยังมีขนมปังปิ้งที่เลือกท็อปปิ้งได้หลากหลายกว่า 14 หน้า เบสิกเลยคือ เนย-น้ำตาล-นม หรือจะเลือกเติมความหวานด้วยอย่างอื่นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นซุปข้าวโพด ช็อกโกแล็ต-กล้วย น้ำพริกเผาหมูหยอง หรือเนยถั่ว เริ่มต้นแผ่นละ 10 บาทเท่านั้น

ส่วนไอศกรีมมีให้เลือก 9 รสชาติ ทีเด็ดอยู่ที่ชาเขียว กะทิรวมมิตร วนิลา เรนโบว์ หากกินลูกเดียวพอหอมปากหอมคอลูกละ 15 บาท หากจะเป็นเมนูพิเศษอย่างบานาน่าสปริท มิลค์เชคโฟลท ก็สดชื่นไม่แพ้กัน

ใครติดลมยังไม่อยากกลับ สามารถพักที่เกสต์เฮาส์ของเขาได้ ซึ่งอยู่ชั้นบนของร้านอาหารนั่นเอง ติดต่อสอบถามห้องพักเพิ่มเติมได้ที่ 081-5146636

ร้านกลิ่นฝัน ไม่เอาพลาสติก

“ทานที่ร้านได้ไหมครับ ไม่มีถุงพลาสติกใส่ให้กลับบ้าน” เสียงพี่เจ้าของ ‘ร้านกลิ่นฝัน’ ตอบกลับมาหลังจากที่เราสั่งเครื่องดื่ม

ตั้งแต่หน้าร้านจะมีป้ายเขียนว่า ‘No Plastic’ ซึ่งพี่เจ้าของร้านพยายามทำให้เห็นว่า ต่อให้เป็นร้านกาแฟ หรือ Cafe’ อื่นๆ ก็สามารถเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ อยู่ที่ ‘จะทำ’ หรือ ‘ทำ’ ซึ่งกาแฟหนึ่งแก้ว มีทั้งแก้วกระดาษเคลือบพลาสติก หลอดพลาสติก ฝาพลาสติก ที่หุ้มแก้ว และที่หิ้วพลาสติก จะเห็นได้ว่ากาแฟหนึ่งแก้วสร้างขยะหลายชิ้น เมื่อรวมกันจำนวนมากๆ เข้าจะกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาล

ในร้านให้บรรยากาศเหมือนมาเยี่ยมบ้านเพื่อน เพราะหากพี่เจ้าของร้านว่างมือจากการเป็นบาริสต้า จะหันไปหยิบกีต้าร์มาเล่น และร้องให้ลูกค้าฟังเสมอ เราเลยหย่อนก้นนั่งชิลยาวๆ กันไปเลย โดยในร้าน มีทั้งกาแฟสด กาแฟดริฟ ชา น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้สด และไอศกรีม ซึ่งที่ไม่อยากให้พลาดคือกาแฟ ที่เจ้าของร้านมักชอบออกเดินทางและได้เมล็ดกาแฟติดมือมาบ้างจากจังหวัดต่างๆ รสชาติจึงแตกต่างกันออกไป ลองจิบดูสักแก้วรับรองถูกใจ

ขอนลอยเมนูเรียกแขก

อยู่ร้านกลิ่นฝัน มาจวนถึงเวลาเที่ยงแล้ว อากาศอาจจะร้อนนิดหน่อย แต่ลมโกรกอยู่เสมอ เลยสั่งเมนู ‘ขอนลอย’ เป็นน้ำอัญชันมะนาวมาชิม โดยความน่ารักคือการทำน้ำแข็งอัญชันเป็นรูปจระเข้ เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำมะนาว ก่อนกินต้องเทผสมกัน จะได้ทั้งสีสวยงาม และรสชาติเปรี้ยวหวานลงตัว

ร้านขนมเข่งโกวจันหรือบ้านขนมสายบัวแดง

ขนมเข่ง และขนมเทียนกำลังนึ่งอยู่สดๆ ร้อนๆ กลิ่นของมันยียวนให้เราเดินเข้าไปหาร้านขนมเข่งโกวจัน ซึ่งเปิดมากว่า 100 ปี ยิ่งช่วงที่มานั้นตรุษจีนพอดี ขนมเหล่านี้จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะขนมเข่งที่นี้จะมีหลากหลายสี เช่น สีม่วงจากอัญชัน หรือสีเขียวจากใบเตย นอกจากนี้ทางร้านได้ทำขนมโบราณจากบัวแดง ซึ่งตอนนี้หากินได้ยาก เพราะมีวิธีทำซับซ้อน คือต้องคัดเลือกบัวสีแดง จากนั้นกลั่นน้ำสายบัวออกมาเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนม แต่เสียดายวันที่ไป เราไม่ได้ลิ้มลองดูสักชิ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะกินเล่นหรือสั่งเป็นขนมในงานบุญ

ย้อนรอยกินขนมแห่งวันวาน

แม้จะโตแล้วร้านนี้ก็ไม่อาจละสายตาให้เราไปหยิบจับ เพราะมันทำให้หวนคิดถึงวัยเด็ก ร้านโชว์ห่วยที่อยู่ขยับมาจากร้านกลิ่นฝันนิดหน่อย มีขนม ของเล่น สีสันดึงดูดตา ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ขนมตังเมไม้ หมากฝรั่งแมวดำ ขนมลูกอมไข่เตา ตุ๊กตากระดาษ บันไดงู ไปจนถึงสติกเกอร์ติดผิว ถ้าไปกับแก๊งรับรองว่าคุยกันยาว

ยสบาร์เบอร์ ตัดผมหัวละ 7 บาท

ในบ้านไม้หลังคามุงสังกะสี มีร้านตัดผมที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ และอยู่คู่กับชุมชนมานานนม ซึ่งรุ่นลูกเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตัดผมหัวละ 7-10 บาทเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่ได้เปิดบริการแล้ว เพียงแต่วางทุกอย่างอยู่กับที่เหมือนที่เคยเป็นอยู่ เพื่อให้คนที่มาเยือนได้สัมผัสร้านตัดผมในสมัยก่อน ใครจะเข้าไปถ่ายรูปอย่าลืมถอดรองเท้าล่ะ

กราฟิตี้กำแพงหัวตะเข้

หากไม่ถ่ายก็เหมือนมาไม่ถึง กับกราฟิตี้ลวดลายต่างๆ ในชุมชนที่ละลานตาอยู่หลายจุด โดยเป็นการร่วมมือของชาวบ้านและนักศึกษาบริเวณใกล้เคียง ที่ช่วยกันขีดเขียนขึ้นมา เพื่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ตลาดหัวตะเข้ นั่นเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.