จะใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวใหญ่อย่างไรให้สงบสุข - Urban Creature

เวลาพูดถึงจุดร่วมของ ‘สังคมไทย’ หลายครั้งภาพที่ฉายออกมาคือการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ภายในรั้วบ้านหลังคาเดียวกันจะมีสมาชิกอยู่หลากรุ่น หลายเครือญาติ

ใครที่มีรูปแบบครอบครัวเช่นนี้ คงจะคุ้นเคยกับความสนุกสนาน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสนิทสนมอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน ความบาดหมางและความเจ็บปวดใจที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารในครอบครัวใหญ่ ก็เป็นความทุกข์ที่หลายครั้งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกมากมายที่ซับซ้อนและตีกันวุ่นไปหมด

ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และเงื่อนไขชีวิตที่หลายคนเลือกมีพื้นที่ของตัวเองด้วยการย้ายออกมาอยู่คนเดียวไม่ได้ จะมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยจัดการสภาพจิตใจต่อความกระอักกระอ่วนที่อาจเกิดขึ้นบ่อยๆ ภายในครอบครัว

สุขภาพจิต สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงวัย คนในครอบครัว ครอบครัว อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว

ไม่มีใครเป็นตัวเอก ไม่มีใครเป็นตัวร้าย แต่เราแค่มาจากหนังคนละเรื่องกัน

หลายครั้ง ความไม่ลงรอยกันภายในครอบครัวใหญ่ มักเกิดจากความไม่เข้าใจและความไม่พร้อมเปิดใจรับฟัง ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่รู้สึกได้รับการเห็นค่าจากคนที่รัก

โดยเฉพาะญาติอาวุโสที่ยิ่งใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้มานานเท่าไหร่ ยิ่งง่ายที่จะยึดมั่นทั้งความเชื่อและแบบแผนการใช้ชีวิตที่พวกเขาเชื่อว่าถูก ผ่านการเลี้ยงดูและคำสอนจากคนรุ่นอาวุโสกว่าพวกเขามาอีกที คุณค่าบางอย่างที่พวกเขาให้ความสำคัญ แม้ไม่ใช่ว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี แต่นั่นอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันเสมอไป

ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาที่ผู้เขียนในฐานะนักจิตบำบัดความสัมพันธ์และครอบครัวพบบ่อยในชั่วโมงบำบัด คือการที่คนรุ่นพ่อแม่หรือบางครั้งก็เป็นรุ่นปู่ย่าตายายเลยด้วยซ้ำ พยายามพร่ำบอกให้ลูกหรือหลานตัวเองยึดแนวทางการใช้ชีวิตให้เหมือนเขา เพราะการใช้ชีวิตในรูปแบบนั้นนำพาความสำเร็จและชีวิตที่สุขสบายมาให้

รูปแบบการใช้ชีวิตที่ว่า หนึ่งในนั้นคือ ‘ความอดทน’ ไม่ว่าจะทั้งทางกายหรือใจ การพร่ำบอกให้อดทนต่องานที่ทำ ทำไมถึงบ่นกับเรื่องแค่นี้ ทำไมถึงไม่หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มในเวลาว่าง ทำไมหยุดงานหรือเปลี่ยนงานบ่อยจัง หรือการบอกให้อดทนต่อความรู้สึก เช่น เรื่องแค่นี้ทำไมต้องร้องไห้ เรื่องมันเกิดมานานแล้ว ทำไมยังคิดเล็กคิดน้อยอยู่ได้ ทะเลาะกันแค่นี้ ทำไมเลือกที่จะหย่า ฯลฯ

แน่นอนว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องปัจเจก สิ่งที่ทำให้อารมณ์แต่ละคนสั่นสะเทือนล้วนมีหน้าตาต่างกันออกไป ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ก็ตาม การปฏิเสธความรู้สึกของใครคนหนึ่งยิ่งสร้างความห่างเหินในใจ มากกว่าการรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีของเขา

หากเขาไม่เชื่อในหน้าตาความเจ็บปวดของเรา นั่นไม่ได้แปลว่าความเจ็บปวดของเราไม่ใช่เรื่องจริง แต่คนเราจะเข้าใจความรู้สึกระดับลึกซึ้งของอีกฝ่ายได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจตัวเองด้วยระดับความลึกซึ้งที่เท่าๆ กัน

ในชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขา โดยเฉพาะผู้อาวุโสมากๆ ไม่เคยเรียนรู้ทักษะการอยู่กับความรู้สึกมาก่อน ไม่ว่าความทุกข์จะพัดผ่านมาแบบไหน วิธีจัดการของเขาอาจเป็นการกดมันไว้หรือปัดทิ้งไป ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองได้แช่อยู่ในความรู้สึกนานๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ‘การปรับความเข้าใจบางอย่างใหม่’ (Relearn what they have already learned.) อาจเป็นการเปิดแผลที่ในชีวิตนี้เขาไม่เคยพร้อมจะเปิดมัน สิ่งนี้สามารถกลายเป็นบาดแผลทางใจหรือ Trauma ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่าง แม่ที่พยายามบอกลูกให้อดทนต่อ จะได้ไม่ต้องหย่ากับสามี เพราะตัวเขาเองเอาแต่อดทนเพื่อให้ผ่านความเจ็บปวดที่สามีหรือพ่อของเราเคยทำกับตนไว้ การเปิดใจยอมรับเส้นทางชีวิตของลูกว่า ‘หากทรมานในความสัมพันธ์ใดมานานมาก คนเราก็มีสิทธิ์เดินจากมันไปนะ’ อาจสร้างความรู้สึกอับอาย โกรธแค้น โศกเศร้าที่ตัวเองในเมื่อก่อนไม่ได้เลือกเส้นทางนี้ และต้องอยู่กับความรู้สึกแย่จากไฟในใจนี้ไปอีกนาน

หากได้ยอมรับแล้วว่าตนเป็นคนเลือกเส้นทางที่เจ็บปวดนี้ต่อตัวเอง ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า ความโกรธที่เคยมีต่อตาและยายที่เคยบังคับให้แม่ทนต่อจะปะทุขึ้นมาใหม่ และไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกอึดอัดนี้ให้ผ่อนคลายได้อย่างไร

สรุปสั้นๆ คือ บางอารมณ์รุนแรงที่เราได้รับมาจากสมาชิกครอบครัวบางคน หลายครั้งไม่ได้เกี่ยวกับเราโดยตรงหรอก มันคือความรู้สึกลึกๆ ในใจเขาที่อาจไม่เคยได้ทำความรู้จักและเข้าถึงมันเลยต่างหาก

สุขภาพจิต สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงวัย คนในครอบครัว ครอบครัว อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว

ความรู้สึกผิดที่อยู่เพื่อคนอื่นได้ไม่ดี แต่อยู่เพื่อตัวเองก็ไม่ได้

ทั้งๆ ที่อยู่กันตั้งหลายคนแต่ก็เหงา เพราะเกิดจากความรู้สึกว่าไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในพื้นที่แห่งนี้ หลายครั้งการต้องตามใจคนอื่นย่อมหมายถึงการละเลยความต้องการของตัวเอง และไม่ว่าจะเลือกข้อไหนก็สร้างความอึดอัดใจให้ตัวเองมากอยู่ดี

หนึ่งทักษะที่พอจะช่วยได้คือ การไม่รีบมองอะไรเป็นขาว-ดำไปซะหมด บางครั้งการที่เราไม่สามารถไปช่วยงานพ่อได้ในวันนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราอกตัญญูหรือจะปฏิเสธช่วงเวลาที่มีกับพ่อจากนี้ตลอดไป หรือการที่เราต้องไปนั่งฟังยายบ่นเป็นชั่วโมง แทนที่เราจะออกไปเจอเพื่อนให้เร็วกว่าเดิม ก็ไม่ได้แปลว่าเราทรยศต่อการเป็นตัวของตัวเองขนาดนั้น หากดึงตัวเองกลับมายังเจตนาที่ดีของเราแล้ว คงทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองได้บ้างว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เราก็ทำได้ดีที่สุดแล้วเท่าที่เราจะมีพลังทำได้

ค่อยๆ ค้นหาบาลานซ์ของชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม หมั่นมองอะไรด้วยใจเป็นกลาง แล้วความคุกรุ่นในอารมณ์จะสงบลง

สุขภาพจิต สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงวัย คนในครอบครัว ครอบครัว อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว

หนึ่งในด่านที่ยากที่สุดคือการจัดการกับความคาดหวัง

คำกล่าวที่ว่า ‘ยิ่งรักมาก ยิ่งเจ็บมาก’ ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ ไม่เฉพาะกับความโรแมนติกเท่านั้น หลายคนมีความคาดหวังว่า ครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด ควรเต็มไปด้วยความเข้าใจและยอมรับเราได้มากที่สุด 

แต่เราควรเรียนรู้ความหมายของ ‘ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข’ จากในบ้านหลังนี้นี่แหละ

เพราะหลายครั้งความคาดหวังก็ทำร้ายกัน เมื่อยึดมั่นไปแล้วว่าสิ่งที่เราคาดหวังนั้นมีค่าเท่ากับความรัก เช่น เราหวังจะให้แม่ยอมรับในการตัดสินใจบางอย่างของเรา เมื่อรับรู้ว่าแม่ไม่เห็นด้วยเลย เราจึงโกรธเพราะรู้สึกถึงความคับแคบจากความรักในใจแม่ ทั้งที่จริงแล้ว ทุกคนล้วนมีความรู้สึก ความคิด และความเชื่อเป็นของตัวเอง

อย่าลืมว่าทุกคนเคยทำพลาด และแทบทุกคนเคยทำร้ายจิตใจกันและกัน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

เราอาจต้องคอยเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า ในครอบครัวที่มีคนหลายรุ่นอยู่รวมกันนั้น การกระทบกระทั่งกันผ่านทางความคิด ไม่ได้เป็นสัญญาณแห่งความร้าวฉานเสมอไป เพราะจริงๆ ความรักนั้นยิ่งใหญ่และแข็งแรงกว่าการไม่ลงรอยกันในบางอย่างมาก

มากไปกว่านั้น แต่ละคนมีมุมมองต่อความสบายใจ และวิธีเลือกจัดการกับปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวต่างกัน การตัดสินใจของเราอาจต่างจากมุมมองของเพื่อนโดยสิ้นเชิง ไม่มีวิธีไหนที่ผิดหรือถูกไปซะหมด

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มาถึงเรื่องครอบครัว เมื่อนั้นจะมีความซับซ้อนที่ทั้งอบอุ่นใจและลำบากใจปนๆ กันไปเสมอ

แต่การที่เราต่างรับรู้ว่า มันไม่มีวิธีที่สมบูรณ์แบบในการจะรักทุกคนรวมถึงตัวเองให้ได้ดี คงทำให้เราพอจะคลายความหนักของภาระทางใจ ไม่ว่าจะเป็นภาระจากความรู้สึกผิดหรือภาระจากความเครียดส่วนตัวลงไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

สุขภาพจิต สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงวัย คนในครอบครัว ครอบครัว อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.