ไม่นานมานี้เราได้เห็นหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงขึ้นจากการหดตัวของ GDP เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1/2564 พุ่งไปถึง 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.5% ของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 88,138 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการรวบรวมสถิติหนี้ครัวเรือนมา 18 ปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าภายในปี 2564 อาจสูงถึง 91% เลยทีเดียว
หนี้ครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยหนี้ครัวเรือนระหว่างปี 2559 – 2562 อยู่ที่ 79.4 – 78.4% ถือว่าสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ซึ่งตัวเลขที่พุ่งมาเป็น 90.5% โดย 2 ใน 3 มาจากการหดตัวของ GDP และ 1 ใน 3 มาจากการเพิ่มขึ้นของมูลหนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ทำให้ครัวเรือนไม่มีรายได้มาหมุนเวียนขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลง จึงต้องกู้เงินเพื่อประคับประคองชีวิต
ทาง ธปท. ออกมาระบุว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นหนี้ระยะสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค หรือหนี้สินกู้ระยะสั้นอื่นๆ ทำให้ภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยสูงมาก โดยสัดส่วนการเป็นหนี้แยกตามวัตถุประสงค์ดังนี้
- อสังหาริมทรัพย์ 34.2%
- อุปโภคบริโภค 20.7%
- ประกอบอาชีพ 18.1%
- ซื้อยานพาหนะ 12.7%
- บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.0%
- อื่นๆ 5.3% (เงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และเงินกู้ยืมที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์ได้)
- การศึกษา 2.0%
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าเพราะไม่มีกำลังจ่าย
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ก้าวไกล ประธาน กมธ. พัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนฯ กล่าวว่า “สำหรับหนี้ครัวเรือน ตัวหนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบในทันที แต่จะเป็นปัญหาในเศรษฐกิจระดับมหภาค เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แทนที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เงินหมุนในระบบตามปกติ กลับต้องนำรายได้ไปชำระหนี้เพิ่ม เช่น รายได้เข้ามา 100 บาท ต้องนำไปชำระหนี้แล้ว 30 – 40 บาท เป็นต้น ซึ่งเงินถูกส่งไปยังสถาบันการเงิน และไม่ได้เอาออกมาหมุนในระบบเศรษฐกิจตามปกติ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า”
สิ่งสำคัญที่เราต้องโฟกัสมากกว่าจำนวนตัวเลขหนี้ครัวเรือน นั่นคือ หนี้เสีย (NPL) เพราะเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างมาก ทำให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งสถาบันการเงินได้ออกมาตรการเพื่อพักชำระหนี้ ตัวเลขยอดหนี้เสียจึงไม่ได้พุ่งมากเท่าที่ควร ดังนั้นหากหมดมาตรการพักชำระหนี้เมื่อไหร่ NPL จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่าง หนี้บ้าน เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของหนี้ครัวเรือน หากปล่อยให้เป็นหนี้เสียจะเกิดการยึดทรัพย์ขึ้น เมื่อธนาคารยึดบ้านเยอะๆ ก็ส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ เพราะธนาคารต้องขายบ้านทอดตลาดเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ตกลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาคอนโดมิเนียม หรือราคาที่ดิน
อีกกรณีคือสินเชื่อส่วนบุคคล เวลาเกิดหนี้เสียขึ้นประชาชนจะถูกฟ้องร้องและไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ก็จะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ และกระทบต่อเศรษฐกิจให้เกิดการชะลอตัวและฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ยากขึ้น
เพิ่มกฎหมาย แก้กฎเกณฑ์ สร้างความเข้าใจ
คือทางออกของหนี้ครัวเรือน
ทางออกของหนี้ครัวเรือนในเบื้องต้น ธปท. ได้ออกนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นปรับโครงสร้างหนี้ พักการชำระหนี้ หรือสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเยียวยาในระยะสั้นและประคับประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPLs หรือผิดนัดชำระหนี้จนถูกฟ้องและกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ศิริกัญญาเสนอทางออกในระยะยาวให้ฟังว่า
ข้อที่ 1 – ออกกฎหมายยื่นการล้มละลายโดยสมัครใจของลูกหนี้รายย่อยและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้ เพื่อพักการชำระหนี้อัตโนมัติ (Automatic Stay) โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและเป็นบุคคลที่ศาลแต่งตั้ง เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนฟื้นฟูและช่วยลดปัญหาการเสียเปรียบเจ้าหนี้
ข้อที่ 2 – แก้ไขกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อส่วนตัวบุคคลให้มีความเหมาะสม เช่น ไม่อนุญาตให้มีบัตรเครดิตที่กดเงินสดได้พร้อมกันหลายใบ หรือการอนุมัติสินเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบ เพราะจะทำให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนใช้วิธีการกดเงินสดออกจากเครดิต ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงและให้จ่ายคืนด้วยเรตขั้นต่ำ ส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและผ่อนไม่ถึงเงินต้นสักที จนกลายเป็นงูกินหาง
ข้อที่ 3 – การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการเงิน เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าต้องคุยกับธนาคารอย่างไร หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายได้กับดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไหร่ สินเชื่อคิดดอกเบี้ยเหมาะสมหรือไม่ หรือลูกหนี้ไม่รู้ว่าตัวเองสามารถต่อรองกับสถาบันการเงินได้
ด้วยจำนวนตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้การฟื้นฟูทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งกว่าประเทศไทยจะกลับไปอยู่ระดับเศรษฐกิจเท่าของปี 2562 ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทาง ธปท.ประเมินว่าต้องใช้เวลา 6 ปี หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าเดิมอีกหรือไม่ เพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาพเดิม
Sources :
ธนาคารแห่งประเทศไทย | https://bit.ly/2Vp0hDt, https://bit.ly/3ynTpnX, https://bit.ly/3A6KTdC
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย | https://bit.ly/2VmTv0X, https://bit.ly/3CbXBcR
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ | https://bit.ly/3rTTopF, https://bit.ly/3luaUiN