วิถีชีวิตบนเรือบ้าน ในลำคลองของยุโรป - Urban Creature

“ชีวิตคือการเดินทาง” ประโยคนี้ไม่เพียงเป็นคำจำกัดความของไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ แต่การมี ‘เรือบ้าน’ แสนอบอุ่นล่องไปตามลำคลองสายโรแมนติก คือชีวิตที่หลายคนใฝ่ฝันเพราะทุกวันเป็นเหมือนการท่องเที่ยวพักผ่อน

เราจะพาไปรู้จักการใช้ชีวิตบนเรือแสนสโลวไลฟ์ในกรุงลอนดอน และเรือบ้านทันสมัยไม่เหมือนใครในอัมสเตอร์ดัม ไปดูกันว่าชาวเรือทั้งในลอนดอนและอัมสเตอร์ดัมเขาอยู่กันอย่างไร จะน่าอยู่จนเรายอมขายบ้านขายคอนโดฯ ไปซื้อเรือบ้านอยู่กันหรือเปล่า ?

(Photo Credit : visitleicester.info)

| Cruising Through London : เวนิสแห่งกรุงลอนดอน

หากคุณฝันอยากอาศัยในย่านฮิปของลอนดอน แต่ค่าเช่าอพาร์ทเมนต์นั้นแพงเกินเอื้อม ลองเปลี่ยนมาซื้อเรือบ้าน ทางเลือกที่ให้อิสระท่ามกลางความเงียบสงบที่หาได้ยากในใจกลางเมือง บริเวณใกล้กับย่าน ‘Little Venice’ คือชุมชนเรือบ้านสีสันสดใสเรียงรายกันอยู่หลายสิบลำ ภายใต้ร่มเงาของแมกไม้ริมคลอง Grand Union ที่ไหลมาบรรจบกับคลอง Regent’s ให้การพักผ่อนจากความวุ่นวายใน Paddington

(Photo Credit : travelask.ru)

เรือบ้านในลอนดอนเป็นเรือแคบๆ ที่ใช้ล่องในคลองของอังกฤษ เรียกว่า ‘Narrowboat’ ที่ถูกใช้งานช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในสมัยก่อน แม้พวกมันจะเกษียณอายุไปนานแล้ว แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ล่องไปตามลำคลอง เพื่อเป็นที่พักพิงให้ชาวเรือในชุมชนเล็กๆ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตผูกพันกับเรือ

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นถึง 86% นับตั้งแต่ปี 2009 ทำให้เรือบ้านในลอนดอนเพิ่มจำนวนขึ้นจากในปี 2010 ที่มีเพียง 400 ลำ ปัจจุบัน ชาวลอนดอนย้ายมาอาศัยเรือบ้านมากถึง 1,500 ลำ

แต่วิถีชีวิตสุดคูลบนเรือก็ไม่ง่ายเสมอไป เมื่อผ่านประตูบ้านที่เหมือนฮอบบิทเข้ามาภายในเรือ คือพื้นที่อยู่อาศัยที่ยืนกันแค่ 3 คนยังดูแน่นและคับแคบ ดาดฟ้าเรือเตี้ยๆ ที่หากไม่ระวังก็อาจทำให้หัวโน

ขนาดเรือที่กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 10 เมตร ถูกเติมเต็มด้วยห้องครัว ตู้เก็บของ เตียง และห้องน้ำ พื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ทุกซอกทุกมุมของบ้านถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

(Photo Credit : theguardian.com)

โถงทางเดินแคบๆ ถูกใช้เป็นพื้นที่เล่นโยคะ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ สามารถใช้งานแบบมัลติฟังก์ชัน เช่น โต๊ะเตียงพับได้ หรือตู้เก็บของ DIY เพราะขนาดมาตรฐานที่วางขายทั่วไป ไม่ได้ออกแบบมาให้พอดีกับขนาดของเรือ ชาวเรือต้องเรียนรู้ที่จะไม่ซื้อสิ่งของไม่จำเป็น เพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บและไม่เป็นการสร้างขยะกองโต

การเข้าถึงสาธารณูปโภคบนเรือที่มีจำกัด โดยเฉพาะน้ำอาบ น้ำใช้ที่ต้องคอยเติมใส่แทงค์อยู่เสมอ รวมถึงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บได้เพียงเล็กน้อยในช่วงฤดูหนาว ยังไม่นับการซ่อมบำรุงที่จะต้องคอยซ่อมแซมเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความร้อนในการปรุงอาหาร ระบบน้ำในห้องน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไปจนถึงเครื่องยนต์ที่อาจดับขึ้นมาตอนไหนก็ได้ เพราะการจะหาช่างซ่อมในละแวกใกล้เคียงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

(Photo Credit : slt.org.uk)

แต่ละเดือน เรือบ้านในลอนดอนจำเป็นต้องล่องไปเรื่อยๆ เพราะท่าเทียบเรือระยะสั้นไม่สามารถจอดได้นานเกิน 2-3 สัปดาห์ และตามกฏหมายก็ไม่อนุญาตให้เทียบเรือในละแวกเดียวกันเกิน 14 วัน พวกเขาจึงต้องล่องเรือในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี ดังนั้นเพื่อนบ้านก็มักจะเปลี่ยนหน้าคร่าตาเสมอ ถึงอย่างนั้น เสน่ห์ของวิถีชีวิตในคลองก็ดึงดูดใจให้เหล่าชาวเรือ รอนแรมไปพบกับความตื่นเต้นใหม่ๆ เปรียบเหมือนการผจญภัยเล็กๆ ในทุกวัน

(Photo Credit : parkgrandhydepark.co.uk)

ใครเบื่อสถานที่ยอดฮิตในลอนดอน แล้วอยากมาสัมผัสวิถีโลคอลในมุมมองที่ไม่เคยเห็น ก็ลองแวะมาเดินเตร็ดเตร่มองหาเครื่องดื่มที่ร้านกาแฟริมน้ำ หรือจะล่องเรือเที่ยวจาก Little Venice ไปจนถึง Camden Lock ก็ได้ แล้วอย่าลืมแวะมา ‘Canal Café Theater’ โรงละครเก่าแก่ริมคลอง Regent’s ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1979

(Photo Credit : keeshummel.com)

| Life on Water in Amsterdam : ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำแบบชาวดัตช์

ข้ามจากเกาะอังกฤษมาขึ้นเรือบ้านในอัมสเตอร์ดัมที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยพวกเขาเทียบท่าถาวรอยู่ริมคลองในย่านใจกลางเมืองอย่าง ‘Jordaan’ ซึ่งแตกต่างจากชาวลอนดอนที่จะล่องเรือไปเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปในยุค 1920 เรือบ้านมีที่มาจากเรือขนส่งสินค้า เรียกว่า ‘Woonship’ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือขนส่งสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานถูกดัดแปลงเป็นที่พักอาศัยของคนยากคนจน ซึ่งหลีกเลี่ยงค่าเช่าและภาษีในยุคข้าวยากหมากแพง ทุกวันนี้ เรือเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีถูกแปลงโฉมมาเป็นที่อยู่อาศัยสุดหรู พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เช่น ไฟฟ้า เครื่องทำความร้อน และน้ำประปา

(Photo Credit : www.aucoot.com)

เนเธอร์แลนด์เป็นดินแดนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้ต้องใช้เงินมหาศาลสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมที่ทันสมัย เรือบ้านจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่ต้องอาศัยอยู่กับการขึ้นลงของระดับน้ำ และเป็นทางออกสำหรับปัญหาความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น

เนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม ทำให้พื้นที่เมืองเริ่มแออัด เรือบ้านจึงเป็นตัวเลือกยอดนิยมในการอยู่อาศัย ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์มีเรือบ้านอยู่ 100,000 ลำ โดยเทียบท่าในอัมสเตอร์ดัมมากถึง 2,400 ลำ

ในช่วงปี 1960 จนถึง 1970 เรือบ้านที่ทันสมัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นบ้านลอยน้ำที่เรียกว่า ‘Woonark’ ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา บางหลังมีสองชั้นพร้อมระเบียงชมวิวที่สามารถมองเห็นลำคลองอันงดงามของอัมสเตอร์ดัม

(Photo Credit : keeshummel.com)

ช่วงสิบปีมานี้ ราคาของเรือบ้านสูงขึ้นจนมีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของได้ พวกเขาจำเป็นต้องมีใบอนุญาตจอดเรือ ‘ligplaats’ ซึ่งมีราคาสูงลิบ ทุกวันนี้ อัมสเตอร์ดัมไม่ได้ออกใบอนุญาตใหม่อีกต่อไปแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้มันเป็นที่ต้องการมากขึ้นไปอีก

(Photo Credit : mikestravelguide.com)

ใครมีโอกาสมาเที่ยวอัมสเตอร์ดัม ก็อย่าลืมแวะมาเยี่ยมชม ‘Houseboat Museum’ พิพิธภัณฑ์เล็กๆ บนเรือบ้านที่สร้างขึ้นในปี 1914 ซึ่งเป็นเหมือนแคปซูลเวลาพาเราย้อนกลับไปดูการใช้ชีวิตของชาวอัมสเตอร์ดัมในอดีต

แล้วถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศมาสัมผัสวิถีชีวิตในคลองแบบโลคอล ก็สามารถหาที่พักในเรือบ้านริมฝั่งคลอง ‘Prinsengracht’ และ ‘Brouwersgracht’ หรือจะเป็นย่านเงียบสงบอย่าง ‘Oud-West’ ก็เป็นประสบการณ์ที่น่ามาลองสักครั้ง

(Photo Credit : thetravelingmuseologist.wordpress.com)

Source

Content Writer : Angkhana N.
Graphic Designer : Jirayu P.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.