Spoiler Alert : บทความนี้เปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของภาพยนตร์
สามารถรับชมเรื่อง #saveตูดคอร์กี้ เต็มๆ ก่อนอ่านได้ที่ (https://tv.line.me/v/20392024)
ฉากจบของภาพยนตร์สั้น #saveตูดคอร์กี้ ดึงดูดความสนใจของผู้เขียนไม่น้อย เพราะลุ้นใจจดใจจ่อว่าตัวละครหลักอย่าง ‘โบล่า’ (ก้อย-อรัชพร โภคินภากร) ที่กำลังเก้ๆ กังๆ จะเลือกโพสต์หวีดศิลปินที่ชื่นชอบอย่างไรดี แม้โบล่าสรรหาคำสารพัดมาบรรยายความรู้สึกกรี๊ดกร๊าดข้างในใจ แต่คำที่ใช้กลับเอนเอียงไปทาง ‘Sexual Harassment’ ถึงเจตนาข้างในแค่อยากตะโกนบอกความน่ารักของศิลปินให้คนทั้งโลกฟัง ซึ่งเหตุการณ์นั้น ทำให้โบล่าคิดไม่ตก กดลบกดพิมพ์ข้อความอยู่นานสองนาน ก่อนภาพยนตร์จะตัดจบไป
สถานการณ์ที่โบล่าเจอ ทำให้ผู้เขียนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะที่คลั่งรักศิลปินหลายสิบคน และอยากโพสต์หวีดความน่ารักของเขา แต่ก็ต้องลบข้อความทิ้งอยู่เป็นประจำ แล้วแชร์โพสต์เปล่า เพราะกลัวว่าข้อความของเราอาจเผลอ Political Incorrectness (ความไม่ถูกต้องทางการเมือง) ต่อเพื่อนสักคนบนโลกออนไลน์ และทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ
#saveตูดคอร์กี้
ภายในระยะเวลา 15 นาที หนังพาเราไปตามชีวิตของโบล่า หญิงสาวผู้ยึดมั่นในหลักความเท่าเทียมกันของทุกสิ่งบนโลกมนุษย์ เวลาเห็นใครโพสต์ข้อความที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมลงโซเชียล โบล่าจะเข้าไปตักเตือนและให้ความรู้กับคนนั้นทันที ซึ่งบางฉากทำให้เราเห็นความลังเลของโบล่า และการฉุกคิดกับตัวเองว่าคนโพสต์เขากำลังมีเจตนาแบบไหนอยู่ ซึ่ง ‘แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน’ ผู้กำกับและคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง #saveตูดคอร์กี้ หยิบเหตุการณ์จริงของตัวเอง โดยเฉพาะฉากจบ มาขยายความเพิ่มแล้วออกมาเล่าเป็นภาพยนตร์สั้นในโปรเจกต์ #HATETAG
“จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ มาจากฉากสุดท้ายซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงกับตัวเรา เราเคยหวีดดาราผู้หญิง แล้วอยากพิมพ์คำว่า ‘เมีย’ ซึ่งตอนนั้นเราคิดไม่ตกเลย เราไม่กล้าพิมพ์ ถึงแม้เจตนาเราไม่ได้ต้องการ Sexual Harassment แค่อยากชื่นชมความน่ารักของเขาเท่านั้น แต่เราไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีกันแน่ ซึ่งมันติดค้างอยู่ในใจ ครุ่นคิดถึงเรื่อง Political Correctness กับอิสระในการแสดงความคิดเห็น แล้วเราก็แบบไม่พิมพ์ละ ซึ่งตอนหลังมารู้สึกว่าทำไมเราถึงไม่สามารถแสดงความรู้สึกเราออกไปได้
“ในช่วงคิดสตอรีเรื่อง #saveตูดคอร์กี้ เราไถมือถือเจอสินค้าที่เป็นรูปตูดคอร์กี้ และมีอินสตาแกรมที่โพสต์รูปตูดคอร์กี้โดยเฉพาะด้วย เราเลยเกิดความคิดว่า เฮ้ย ตูดคอร์กี้ก็น่ารักนะ เห็นแล้วเอ็นดู แต่เราก็ฉุกคิดขึ้นมาเหมือนกันว่า เฮ้ย มันมีกลุ่มโบโบ้เหมือนกันนะ ซึ่งรูปพวกนี้อาจสะดุดตาคนเหล่านั้น แล้วนำไปสู่การ Sexual Harassment สุนัขได้ แต่เราก็ตบตีกับตัวเองว่า หรือเราคิดมากไปเปล่าวะ ซึ่งความคิดตรงนั้น ทำให้เราตัดสินใจเลือกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปใช้ในหนัง เพราะมันเป็นความคิดที่ตีกันในหัวเราจริงๆ แล้วก็พยายามจะใส่ความคิดเห็นทั้งสองฝั่งลงไปในหนังด้วย”
ระหว่างทางเหมือนเราผจญภัยไปพร้อมๆ กับโบล่า บางครั้งเราเห็นด้วยกับโบล่า บางครั้งเราไม่เห็นด้วยกับโบล่า และบางครั้งหนังก็ทำให้เราลังเลที่จะเลือกซ้าย-ขวา สิ่งไหนถูก-ผิด โดยเฉพาะเหตุการณ์โพสต์ภาพตูดคอร์กี้ของ Pitchaya ลาดกระบังบอยส์ ที่พาคนดูอย่างเราตบตีในหัวว่าภาพที่โพสต์มันดูสองแง่สองง่าม รวมไปถึงคอมเมนต์ของเพื่อนๆ ที่ดูคุกคามทางเพศซะเหลือเกิน แต่แวบหนึ่งก็คิดว่าหรือเขาแค่อยากแสดงความรู้สึก แค่เลือกใช้คำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้นึกสงสัยว่าขอบเขตของ Political Correctness ต้องอยู่ประมาณไหน
“แน่นอนว่าตอนเลือกประเด็น Political Correctness มาพูด มันยากมาก เราคิดไม่ออกเลยว่าประเด็นไหนที่ยกมาแล้วจะไม่ Offend (โจมตี) ใคร หรือว่า Valid (มีเหตุผล) พอที่จะให้เกิดการถกเถียงว่ามันดูก้ำกึ่ง เพราะขอบเขตของ Political Correctness แต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้าให้เรานิยาม คือ คำที่เอามาใช้พูดหรือสื่อสารอะไรออกไปโดยหลีกเลี่ยงการทำร้ายจิตใจใคร แต่เรื่องขอบเขตมันพูดยาก ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเราดูที่เจตนาของคนพูดมากกว่า บางครั้งเขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายเรา หรือว่าทำร้ายใคร ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้จริงๆ ก็ได้” แคลร์ตอบ
“ส่วนตัวก้อยรู้สึกว่าสิ่งสำคัญของการ Correctness กับอะไรบางอย่าง อยากให้ดูที่เจตนาและวิธีการมากกว่า ซึ่งบางครั้งเราอาจเผลอเหยียดหรือพูดออกไปโดยไม่ทันตั้งตัว แล้วการโดน Correctness มันทำให้คนได้ตกผลึกหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันขึ้นอยู่กับวิธีการด้วย เพราะวิธีการบ่งบอกถึงเจตนา บางสถานการณ์เจตนาเท่ากันแต่วิธีการแสดงออกไม่เหมือนกัน
“ยกตัวอย่างอีกหนึ่งเหตุการณ์ของโบล่า ตอนท้ายเรื่องก็ได้เรามีเจตนาเดียวกันกับโบล่าคืออยากชื่นชมและหวีดศิลปินที่ชอบ ถ้าสมมติเราเลือกใช้คำว่าสุดที่รัก ซึ่งความหมายดูน่ารักและยังคีปเจตนาอันแรงกล้าไว้ได้อยู่ ขณะเดียวกันถ้าเราพูดว่าอยากจับไปทำผัว ซึ่งการโชว์สัญชาตญาณดิบออกมาทั้งหมด ไม่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับได้ ทำให้เราต้องย้อนกลับไปมองว่า ถ้ามีคนพูดแบบเดียวกันใส่คุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณโอเคก็คือโอเค ถามว่าหาเส้นที่แน่นอนได้ไหม ไม่มีทาง เพราะเรื่องนี้แต่ละคนให้ขอบเขตไม่เหมือนกัน” ก้อยตอบ
กำลังบอกว่าสังคมไม่ควรจริงจังกับเรื่อง Political Correctness มากไปหรือเปล่า ฉันถามทั้งสองคน
“แคลร์มองว่า Political Correctness เป็นเรื่องที่ดี มันทำให้โลกมีความครอบคลุมมากขึ้น เห็นความหลากหลาย เห็นว่าทุกคนผ่านอะไรกันมาบ้าง ซึ่งบางครั้ง PC ถูกเอาไปใช้ผิดจุดประสงค์ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด กลายเป็นว่า PC โดนหมั่นไส้เอง สุดท้ายขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ ใช้อย่างไร และใช้กับใครด้วย”
“สำหรับก้อย มองว่าการจริงจังเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความใจดี เห็นใจ และเข้าใจมนุษย์หน่อย หลายครั้งอะไรที่มัน OVER-PC จนทำให้คนถอยห่างหรือกลัวการโพสต์ แสดงว่าเรากำลังใช้วิธีการที่ผิดอยู่ เช่น เวลาคุณผิดเราบอกเขาว่าไม่ได้นะ ผิดตรงนี้ แก้ไขหน่อย ซึ่งบางครั้งมันอยู่ในวิธีการของ Hate Speech เช่น มึงผิด มึงเหี้ย มึงเลว ทั้งๆ ที่คนโพสต์เขาไม่ทันคิดด้วยซ้ำ ก้อยมองว่าควรบอกด้วยวิธีการหรือเจตนาอะไรที่จะทำให้คนคนนั้นเข้าใจ อยากเปลี่ยน และตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่า แทนที่จะก่นด่าเขา เพราะก้อยเชื่อว่าเราสื่อสารกันได้” ก้อยเสริม
อีกฉากที่ทำให้เราคิ้วขมวดกับโบล่าอยู่หน่อยๆ คงเป็นฉากที่เลือกแคปหน้าโพสต์ของ Pitchaya ลาดกระบังบอยส์ แล้วเอาไประบายในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งกลุ่มคนรักคอร์กี้มาเห็นเลยอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยตักเตือนความผิดเจ้าของโพสต์ โบล่าลังเลนิดหน่อยว่าจะส่งดี หรือไม่ส่งดี จนกระทั่งเห็นรูปโลก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า ‘โพสต์นี้สาธารณะ’ ทำให้โบล่าทึกทักว่าไหนๆ ก็อยากให้คนรู้แล้ว ก็ไม่ผิดหรือเปล่าถ้าแชร์โปรไฟล์ให้คนอื่นมาช่วยตักเตือน
จากความหวังดีกลายเป็นผิดแผน ทำให้โปรไฟล์จริงของ Pitchaya ลาดกระบังบอยส์ ถูกแชร์บนโซเชียล รวมถึงขุดเรื่องราวต่างๆ ของเขาขึ้นมาแฉ จากเหตุการณ์ที่ภาพยนตร์กำลังพาเราไป ทำให้ตั้งคำถามถึงพื้นที่โซเชียลของตัวเองว่าเป็นส่วนตัวมากแค่ไหนกัน
“เราว่าพื้นที่โซเชียลมีเดียไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว รู้สึกว่าแพลตฟอร์มนี้มันคือสังคมหนึ่งอะ การเลือกหนึ่งโพสต์ เรารู้อยู่แล้วว่าต้องมีคนเห็น แลกมากับการมีทัศนคติหนึ่งที่บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ซึ่งเขากล้าที่จะแย้งทัศนคตินั้นๆ คุณก็ต้องยอมรับ แต่จะหาจุดจบตรงกลางร่วมกันอย่างไรมากกว่า
“อย่างสิ่งที่โบล่าทำคือไปตักเตือนในคอมเมนต์ ถ้าเป็นก้อยในชีวิตจริง หากเราเตือนแล้วเขาไม่อยากฟัง เราจบ แต่สิ่งที่โบล่าเลือกทำคือการกระจายสารตรงนี้ออกไปเป็นวงกว้าง ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่โบล่าทำว่าต้องการให้คนโพสต์ได้อะไร” ก้อยตอบ
“ส่วนตัวแคลร์เคยคิดประเด็นนี้เหมือนกัน ซึ่งเรารู้สึกว่าธรรมชาติของโซเชียลมันทำให้เรารู้สึกเสพติดเวลามีคนรับสาร บางครั้งเราไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้มันควรโพสต์แบบสาธารณะไหม หรือจะกดให้เห็นแค่เรา แต่พอทำเรารู้สึกว่าไม่มีใครรับรู้สิ่งนี้กับเรา มันไม่สนุก คือ ธรรมชาติของโซเชียลแม่งหล่อหลอมให้เราอยากจะพูดออกไปให้สาธารณะรับรู้ มันดึงดูดเราให้รู้สึกแบบนั้น เพราะฉะนั้นมันเลยตอบยากว่าพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะมันต้องเป็นแบบไหน
“อย่างเราเวลาโพสต์อะไรต้องคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะเรากลัวโดนด่า (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าคำพูดของเราอาจจะไม่ได้คิดมากพอหรือเปล่า
“เราว่าสุดท้ายหนังสั้นเรื่อง #saveตูดคอร์กี้ มันคงไม่ได้สรุปอะไรอย่างชัดเจนขนาดนั้น เพราะ Political Correctness คงไม่มีขอบเขตหรือเส้นแบ่งที่ตายตัว เพราะแต่ละเคสมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเอามาพิจารณา ซึ่งเราหวังว่าหนังเรื่องนี้จะสามารถทำให้คนดูได้ถกเถียงถึงประเด็นนี้ เราอยากฟังคนอื่นว่าเขาคิดเห็นอย่างไร จะได้เอามาคิดต่อ เพื่อหาจุดที่เราจะได้แสดงออกอย่างที่เราต้องการ แต่ไม่ไปกดทับใครหรือทำร้ายจิตใจใครด้วย”
หลังจากฟังนักแสดงและผู้กำกับมาเล่าถึงมุมมองใน #saveตูดคอร์กี้ ถามว่าเราตัดสินใจเรื่อง Political Correctness ได้ทันทีเลยไหม อืม…พอมานั่งคิด โอเค ทฤษฎีพร้อม แต่หากเจอในเหตุการณ์จริงเราคงชี้ถูก ชี้ผิดไม่ได้ทันที บางเรื่องเราคิดว่าถูก แต่คนอื่นอาจเห็นต่างก็ได้ ซึ่งก่อนผู้เขียนจะปิดจบ เราถามผู้อ่านทุกท่านด้วยคำถามสุดท้ายว่า
ถ้าต้องหวีดอะไรสักทีเหมือนโบล่า คุณจะเลือกโพสต์สิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ หรือ ‘ถูกใจ’?
รับชมภาพยนตร์สั้นในรูปแบบออนไลน์ได้ที่ https://tv.line.me/v/20392024