‘วันทรงจำ’ ในห้วงเวลาชีวิตของ ‘เล็ก’ Greasy Cafe - Urban Creature

“เธอเคยเชื่อไหม เราต่างเกิดมาเพื่อใครคนหนึ่ง ทุกคืนวันจะมีชีวิตเพื่อกันและกัน”

‘สิ่งเหล่านี้’ เพลงที่ผ่านมากว่า 10 ปี แต่เราเชื่อว่า ท่วงทำนองยังคงฝังอยู่ในความทรงจำใครหลายคน ‘อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร’ หรือ ‘พี่เล็ก Greasy Cafe’ ถ่ายทอดมุมมองความสัมพันธ์ ผ่านกีตาร์โปร่งและน้ำเสียงทุ้มลึกแต่อบอุ่น คอยปลอบประโลมคนฟังเสมอ แม้เนื้อหาของเพลงจะหม่นเศร้าหรือเหงาจนกัดกินใจ

“ทุกคืนที่ฉันปิดตาเพื่อลืม กลับตื่นในวันทรงจำที่มีเราอยู่” 

‘วันทรงจำ’ หลังจากซิงเกิลแรกจากอัลบั้มใหม่ปล่อยออกมาความรู้สึกของคืนวันเก่าๆ ก็หวนคืนมาอีกครั้ง พี่เล็กทำเพลงได้ลึกซึ้งเหมือนเคย และช่างตรงกับชีวิตจริงเหลือเกิน

ทุกเพลงของพี่เล็กล้วนกลั่นกรองมาจากความทรงจำ เราจึงชวนพี่เล็กมารื้อวันทรงจำในแต่ละช่วงชีวิต ย้อนไปในวัยเด็กที่โตมากับย่านเมืองเก่า ช่วงชีวิตที่ได้ไปเรียนที่อังกฤษ 4 ปี และหลงใหลการถ่ายภาพ ก่อนหันมาทำเพลงจนปัจจุบัน

พี่เล็กพาเราเดินทางไปในสถานที่ความทรงจำ ‘สนามหลวง-ท่าพระจันทร์’ วันที่เรานัดสัมภาษณ์เป็นช่วงไม่กี่วันก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงบรรยากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงา ร้านรวงบ้างก็ปิดและแทบไม่มีนักท่องเที่ยว 

พี่เล็กใส่แมสก์สะพายกล้องฟิล์ม 2 ตัว บางจังหวะพี่เล็กหยุดเดิน ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ ภาพขาว-ดำในบทความนี้จึงล้วนเป็นฝีมือพี่เล็ก

Scene 1 :
ชีวิตในย่านเมืองเก่า


พี่เล็กเติบโตในย่านเมืองเก่า เราจึงขอให้พี่เล็กเล่าเรื่องในวันวาน พี่เล็กใช้เวลานึกอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะเล่าบรรยากาศออกมาเป็นฉากๆ 

“เราเกิดและโตมาในย่านวรจักร สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความเป็นชุมชนตรงนั้น มันห้อมล้อมเรา ตั้งแต่บ้านช่องด้วยสถาปัตย์ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง ลักษณะเป็นตึกแถวครึ่งปูนครึ่งไม้ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ถ้ามาดูตอนนี้ก็น่าจะจิ๋วมาก เราชอบเวลาเย็นๆ ที่ทุกคนจะออกมาเจอกัน”

“มันเป็นซอยเล็กๆ ที่ไม่มีรถใหญ่วิ่ง มีแต่มอเตอร์ไซด์ พอตกเย็นเด็กทั้งซอยจะมาเล่นเจี๊ยวจ๊าวกันอยู่หน้าบ้าน พ่อแม่ก็เอาเก้าอี้มานั่งกัน สมมติบ้านเราอยู่ฝั่งนี้ บ้านเบนซ์ (ผู้สัมภาษณ์) อยู่ฝั่งโน้น ก็จะมานั่งคุยกัน  ‘เอ้อ เป็นไง’  มันไม่มีเรื่องต้องกังวลจากรถราหรืออะไรมากมาย เป็นความทรงจำที่อุ่นๆ ดี”

เล่ามาถึงวีรกรรมวัยเด็ก ความสนุกในแววตาพี่เล็ก บวกกับเรื่องราวเล็กๆ นี้ ทำให้เราอมยิ้ม
“ตอนเด็กๆ เราต้องผ่านซอยซึ่งเล็กมากแถวบ้าน เพื่อไปกินน้ำมะพร้าวอยู่ร้านหนึ่ง เขาจะบรรจุใส่ขวดแก้วเล็กๆ เป็นขวดแป้งน้ําควินนา และให้เนื้อมะพร้าวมาชิ้นหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราโปรดปรานมาก แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ มันจะมีหมาดำที่ดุมาก ต้องช่วยกันดูต้นทางจะได้วิ่งไป ไม่ไกลมากประมาณ 10 เมตร แต่ต้องไว  ‘มีเปล่า’  ‘ไม่มีๆ มึงมาเลย’  เราก็วิ่งป๊าดเลย”

ปะติดปะต่อเรื่องราวเข้ากับสถานที่ ‘สนามหลวง-ท่าพระจันทร์’ คือย่านในความทรงจำหลายช่วงวัยของพี่เล็ก

“ความทรงจำวัยเด็กกับสนามหลวงคือ เรามาเที่ยวกับพ่อ พ่อเคยพาไปโรงหนัง ไม่ได้บ่อยที่จำแม่นคือครั้งเดียว ส่วนอีกภาพที่จำได้คือศาลาเฉลิมไทย แต่จำไม่ได้ว่ามาดูกับพี่ชายคนโตหรือเปล่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับโฟล์คเต่า เพราะมันจะมีรถมาดิสเพลย์อยู่หน้าโรง เป็นโฟล์คเต่าที่ข้างหน้าข้างหลังขับได้ทั้งคู่”

ภาพจำของสนามหลวงในมุมมองพี่เล็ก ไม่แตกต่างจากเรามากนัก
“จำได้ว่ามากับพ่อยังเห็นคนวิ่งเล่นว่าว ที่เห็นได้ชัดคือร้านรวงหายไปหมด”

แต่ที่พี่เล็กจำได้ไม่ลืมคือ ภาพที่เก็บไว้ในลิ้นชักความทรงจำส่วนตัว
“น่าจะเป็นภาพที่เรานั่งรถเมล์ไปสนามหลวงกับพ่อ มันร้อนแล้วเราก็ตัวเปี๊ยกมาก จำได้ว่านอนบนตักพ่อแล้วน้ำลายยืดไปบนขาพ่อ เป็นความทรงจำที่ตลกดี แต่มันก็อุ่นมากในเวลาเดียวกัน”
“อีกอันที่จำแม่นคือโตขึ้นมาอีกนิดนึง มากับพี่ชายคนโต เป็นช่วงที่เขายิงกัน 14 ตุลา เขาก็ลากเราไปหลบที่ไหนสักแห่ง จำไม่ได้ว่าห้องน้ำสาธาณะหรือเปล่า ได้ยินเสียงปืนดัง 3-4 นัดห่างๆ กัน”

เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น…
“ตอนเรียนที่ไทยวิจิตรศิลป เป็นช่วงท้ายๆ ของสนามหลวงแล้ว มีเพื่อนที่ชอบแต่งตัวมาซื้อกางเกงยีนส์ที่สนามหลวง ตอนนั้น 501 ริมแดงที่คนเล่นๆ กัน บางทีก็ซื้อได้ตัวละ 10-20 บาท แต่จะขาดๆ เยอะๆ หน่อย ท่าพระจันทร์ก็ขายของเก่าแบกะดิน ช่วงวัยรุ่นเราจะชอบเดินดูนั่นนี่ ชอบดูชอบเก็บของเก่า”

ความทรงจำที่เราคิดว่าน่าจะสำคัญกับพี่เล็กมาก เพราะกลายมาเป็นเพลงในอัลบั้มแรก
“เราโตมาสักพักก็สนใจพระเครื่อง ไม่ได้เช่าเก็บขนาดนั้นแต่ชอบดูชอบศึกษา ช่วงนั้นจะมีพี่คนหนึ่งที่สนิทกันมาก รู้จักกันมาหลายปี เป็นร้านเลี่ยมกรอบพระพลาสติก ฝีมือเขาดีมากจนเซียนใหญ่ๆ ไว้วางใจมาเลี่ยมกับเขา เพื่อเลี่ยมพลาสติกแล้วเอาไปกรอบทองอีกที หรือเลี่ยมพลาสติกเฉยๆ เขานิสัยดีมาก เราจะชอบไปนั่งเล่นกับเขา อยู่ดีๆ แฟนเขาล้มลงเสียชีวิตในวัย 30 ต้นๆ เป็นที่มาของเพลง ‘ภาพชินตา’ ”

Scene 2 :
ชีวิตหลังรู้จักกล้องฟิล์ม


หลังเรียนจบด้านศิลปะที่ไทยวิจิตรศิลป พี่เล็กไปเรียนต่อที่อังกฤษ 4 ปี โดยเลือกสาขาวิชาการถ่ายภาพ

“ตอนนั้นเรียนภาษาใกล้จบแล้ว เราก็คิดว่าหรือจะเรียนศิลปะดี แต่ก่อนไปเราได้เรียนศิลปะมาบ้างแล้ว 2-3 ปี งั้นเราควรจะเรียนอย่างอื่นไหม เลยไปคุยกับอาจารย์สอนภาษาที่เราสนิท เขาถามว่าเราสนใจถ่ายรูปไหม ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจ ไม่เคยหลงใหลมันเลย แต่ลองดูก็ได้ ปรากฏว่าพอได้เรียนแล้วแบบ เชี่ยยย… (ลากเสียงยาว) เราหลงมันมาก หลงใหลสุดๆ เลย เสาร์อาทิตย์ยังขอกุญแจมาใช้ห้องมืดคนเดียว”

“สมัยนั้นไม่มีดิจิตอล มันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง
ตั้งแต่บรรจุฟิล์ม ถ่ายรูป ล้างเอง ตากให้แห้ง เข้าห้องอัดรูป
จนออกมาเป็นภาพ มันเป็นเรื่องท้าทายมาก”

ถ้าให้เดาว่าพี่เล็กชอบถ่ายภาพสไตล์ไหนมากที่สุด ก็น่าจะเป็นภาพ ‘ขาว-ดำ’

“ในมุมมองเรา ‘ขาว-ดำ’ มันสนุกกว่า สำหรับเราพอเอาสีออกไปแล้วเห็น subject จริงๆ ว่าเราพยายามจะบันทึกอะไร โดยไม่มีสีมาดึงความสนใจ มันเป็นเรื่องท้าทายว่า ทำอย่างไรให้รูปในกรอบสี่เหลี่ยมเราน่าสนใจ คำตอบก็คือ subject เราน่าสนใจแค่ไหน ซึ่งความสนใจของช่างภาพแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”

เรายิงคำถามต่อ แล้ว subject ที่พี่เล็กสนใจคืออะไร ?
“เราชอบถ่ายคน รู้สึกว่าแต่ละคนมีความน่าสนใจมากๆ โดยปกติแล้วเรามีอวัยวะเท่ากัน แต่เราจะเห็นรายละเอียดที่ต่างกัน โดยที่ชัดที่สุดน่าจะตรงใบหน้า”

“การที่เราจะทำลายกำแพงเพื่อดึงตัวเขาออกมาให้ได้
มันเป็นเรื่องยากมากกว่าที่คนๆ หนึ่งจะยอมนั่งคุยกับเรา”

แม้จะหลงใหลช่วงเวลาที่ได้ไปอยู่อังกฤษ แต่คนที่โตมากับกรุงเทพฯ อย่างพี่เล็ก ได้เฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านทีละน้อย ค่อยๆ เข้าใจมัน และตอบใจตัวเองได้ว่า “ชอบกรุงเทพฯ ที่สุด”

“มันมีช่วงปีแรกที่เราเรียนที่อังกฤษ จำได้ว่ากลับมาเราเกลียดทุกอย่างที่เป็นกรุงเทพฯ เลย รถติด อากาศไม่ดี มันเหมือนเราไปอยู่ตรงนั้นในช่วงเวลานั้นแล้วมันดีมาก แต่พอเรากลับไปเรียนต่ออีก 3 ปี แล้วจบกลับมาก็พบว่า ที่นี่แหละ เราชอบที่สุดแล้ว”

“เวลาเราพูดคุยกับคนไปสักพัก เราจะพอเดาได้ว่าวิธีคิดแบบนี้ พูดจาแบบนี้ เขาเป็นคนประมาณไหน เราเข้าใจการเคลื่อนไหวของเมือง รู้ว่าต้องดีลยังไงกับเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มากกว่าการไปอยู่ต่างประเทศ มันจึงค่อนข้างง่ายกับการใช้ชีวิต”

“กรุงเทพฯ มันคือบ้าน ไม่ใช่แค่บ้านที่เราอยู่ แต่มันคือเมืองที่เราอาศัย”

พอกลับมาไทยพี่เล็กก็เริ่มต้นอาชีพช่างภาพแฟชัน

“ในการเริ่มอาชีพถ่ายภาพ เราถ่ายแฟชั่นเลยซึ่งเป็นการถ่ายคน เราไม่ค่อยชอบให้คนยิ้มแย้มเท่าไหร่ มันสวยดีมั้งเวลามอง แต่สำหรับเรามันเป็นความรู้สึกว่า เขาต้องฝืนยิ้มหรือเปล่า เราชอบจังหวะที่คุยกันไปเรื่อยๆ แล้วยิงๆๆ เราเคยดูคลิปช่างภาพผู้หญิงชาวอังกฤษ เวลาเขาถ่ายคนนับ 1 2 3 เขาจะจับจังหวะที่นับ 2 เป็นจังหวะที่คนเกือบจะพร้อมแล้ว แต่มันมีอะไรในห้วงเวลานั้น ช่างภาพอีกคนเป็นหนึ่งในคนที่เราชอบมาก เขาจะคุยไปเรื่อยๆ แล้วไม่นับแต่จะจับจังหวะที่เผลอ”

ช่างภาพ (รัก) อิสระ
“เราชอบถ่ายแบบไม่มีโจทย์ อย่างตอนถ่ายแฟชั่นสมัยนั้น สิ่งที่เจอบ่อยๆ คือสไตลิสต์จะเปิด reference ให้ดู และต้องเอาแบบนั้นเลย เราเข้าใจว่าในชีวิตคนเรา เวลาเราดูอะไรเยอะ หรือเห็นอะไรเยอะ มันเป็นไปได้ที่จะเกิดความคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ใช่ว่าลอกมาหน้าต่อหน้า พอเจอแบบนี้นานๆ มันทำให้เราท้อเหมือนกัน เราก็เลยไม่ทำ เปลี่ยนไปถ่ายอย่างอื่น

“ทำให้เหมือนเขามันทำได้แหละ
แต่มันไม่ใช่วิธีหรือสิ่งที่เราอยากทำ
ทำไมเราต้องทำแบบนั้น ในเมื่อเขาทำไปแล้ว”

หลังจากนั้นพี่เล็กก็ไปเป็นช่างภาพนิ่งภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่แค่นักแสดงที่ต้องอินกับบท

“เรามีโอกาสได้ไปถ่ายภาพนิ่งภาพยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจมาก เราต้องอ่านบท เข้าใจบท ต้องรู้ว่าในแต่ละวัน ถ่ายอะไรบ้าง กี่โมง ซีนอะไร ใครบ้าง เวลาไปถ่ายต่างจังหวัดพอทีมงานทำ call sheet มา เขาก็จะเสียบไว้ให้ใต้ประตูโรงแรม”

“วิธีการของเราจะอยู่ข้างๆ ตากล้องหนัง ด้วยแสงหรือมุมที่ต้องยิงไปด้านนี้ เพราะต้องไม่เห็นรถตู้หรือบาร์น้ำ และเพื่อที่จะได้ไม่เล่าต่างกันมาก คนจะเห็นภาพนิ่งเป็นสิ่งแรกๆ ก่อนจะได้เห็นภาพยนตร์ ว่าอ๋อหนังเรื่องนี้ประมาณนี้ มันเป็นการถ่ายทอดแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถเล่าแบบตากล้องหนัง ที่ภาพมันขยับไปเรื่อยๆ ได้ เราต้องนิ่งและรวบทุกอย่างมาไว้ในเฟรมเดียว บางครั้งถ้าเราตีโจทย์แตก เราจะสเก็ตช์ให้ผู้กำกับดูว่า เราอยากได้แบบนี้ ถ่ายเสร็จแล้วเนี่ย อย่าเพิ่งขยับไฟนะ”

ช็อตประทับใจที่ไม่ได้อยู่ในซีนหนัง
“ช่วงที่เราถ่ายอยู่แล้วกดชัตเตอร์ไม่ได้เพราะเสียงเข้า เราจะสนุกและตื่นเต้นกับการที่นักแสดงเล่นกันจริงจัง โดยเฉพาะบทดราม่าอย่างเรื่อง ‘The Letter’ ที่หนุ่ม ‘หนุ่ม-อรรถพร’ กับ ‘แอน-ทองประสม’ เล่น เราขนลุกมาก จำได้ว่าเราบอกแอน ถ้าช็อตนี้ผ่านแล้วผู้กำกับสั่งคัท แอนค้างให้เราแป๊บนึงได้ไหม เขาก็ทำให้แล้วน้ำตาหยดติ๊ง แบบเชี่ยยย… (ลากเสียงยาว) คือหยดให้เราถ่าย ประทับใจมาก ประทับใจจริงๆ”

Scene 3 :
ชีวิตในเนื้อเพลง


เมื่อรู้สึกอิ่มตัวกับอาชีพช่างภาพ พี่เล็กเบนเข็มตัวเองมาทำงานเพลงเต็มตัว เนื้อเพลงของพี่เล็กนอกจากจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างเห็นภาพ ยังเต็มไปด้วยความรู้สึก

“เรารู้สึกว่าเพลงเรามันโครตจมเลย เราไม่เคยคิดว่ามันจะไปช่วยเรื่องจิตใจคนอื่นได้ ซึ่งเราดีใจมากที่มันเป็นแบบนั้น เราไม่ได้คิดว่าเขียนแบบนี้คนถึงจะชอบ เขียนแบบนี้คนไม่ชอบ เราแค่เอาเรื่องในใจของเราออกมา เอาเรื่องที่เรารู้สึกในช่วงเวลานั้นออกมาให้ได้”

“จริงใจกับมันที่สุด อันนั้นสำคัญมากสำหรับเรา
เราแต่งเพลงเราต้องรู้สึกเอง ไม่งั้นคนอื่นไม่รู้สึกหรอก โกหก”

เราเองก็สัมผัสได้ว่า บ่อยครั้งพี่เล็กหยิบเอาความทรงจำ มาเป็นวัตถุดิบในการแต่งเพลง 

“เราว่าเพลงมันเกิดจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเรา เป็นความทรงจำที่มันทรงพลังอยู่ในตัวเรา แล้วเราค่อยๆ หยิบมันมาเขียน เพลงมันทำหน้าที่บันทึกช่วงเวลาเช่นเดียวกับการถ่ายรูป อัลบั้ม 1 2 3 4 มันคือการอัพเดตชีวิต ว่าช่วงนี้เราเจออะไรมา”

ระยะเวลากว่า 10 ปี ทำเพลงมา 4 อัลบั้ม และกำลังทำอัลบั้มที่ 5 ความคิดของพี่เล็กเปลี่ยนไปบ้างไหม
“เราอาจจะไม่ได้สุดโต่งเหมือนช่วงทำอัลบั้มแรก เราไตร่ตรองมากขึ้น เผื่อตรงนั้นตรงนี้ไว้มากขึ้น มากกว่าที่จะฟันธงเลยว่าใช่หรือไม่ใช่ เราเชื่อว่าทุกคนก็เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นทุกวัน ซึ่งหนึ่งในสิ่งใหม่เหล่านั้นคือความเข้าใจ” 

“บางทีเราไม่อยากให้โควิดเกิดขึ้นแต่ทำไงได้
เราต้องเข้าใจบริบทหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
มันอาจจะทำให้เราใจเย็นลง ปล่อยวางลง”

การทุ่มสุดตัวในสิ่งที่ทำคือใจความสำคัญของพี่เล็ก แต่สิ่งที่ทำให้พี่เล็กทุ่มเทมาถึงทุกวันนี้ คือ ‘ความหลงใหล’

“มันคงเป็นแพซชันที่เรายังลุ่มหลงมันมากๆ อาจจะเปื่อยหน่อยช่วงหลัง ไม่ได้ลุยทำอัลบั้มเท่าไหร่ แต่ช่วงไหนที่ทำก็บ้าคลั่งเหมือนกัน มันตลกนะ คนที่ไม่ได้ทำงานเพลง เวลาเขาทำงาน สมมตินั่งทำงาน เขาเปิดเพลงฟังไปด้วยได้ แต่เราเปิดเพลงตอนเราทำเพลงไม่ได้”

“เราจำได้อย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกทุกครั้งที่ใส่หูฟัง
แล้วกดสเปซบาร์เพื่อเล่นเพลงมันรู้สึกดี” 

“มันเริ่มจากศูนย์ แล้วค่อยๆ สร้างขึ้นทีละเสียง ทีละเสียง ในการเล่าเรื่องนั้นให้ดีที่สุด เราต้องเข้าใจเนื้อเรื่องมากๆ แล้วสร้างดนตรีที่ส่งอารมณ์ถึงความรู้สึกนั้นๆ ซึ่งโดยปกติโครงสร้างแบบนึงก็จะเหมาะกับเพลงแบบนึง คืออยู่ดีๆ จะมาเปลี่ยนเนื้อหาใจความจากเดิม แล้วยัดเนื้อหาใหม่ที่อาจจะเป็นคนละเรื่องกันเลยลงไปในเพลงๆ นั้นไม่ได้ และเราก็จะไม่ค่อยทำอะไรแบบนั้น”

นอกจากทำอัลบั้มใหม่ เรารู้มาว่าพี่เล็กกลับมาจับกล้องอีกครั้ง
“เราทิ้งการถ่ายรูปไปเกือบ 20 ปี เพื่อมาทำดนตรี เพิ่งกลับมาถ่ายรูปได้ 2-3 ปี ง้อกันนานมาก การที่เราจะหยิบกล้องแล้วถ่ายให้ได้แบบเดิม มันใช้เวลาหลายปี เปลืองฟิล์มมาก เหมือนเราทิ้งคนๆ หนึ่งไปแล้วกลับมาขอคืนดี ตอนทำอัลบั้มสามที่เราไปอังกฤษ นั่นคือตอนที่เราเริ่มหยิบมือถือกลับมาถ่ายรูป รู้สึกว่าสนุกดีเว้ย เราลืมความรู้สึกนี้ไปแล้ว แต่พอเปลี่ยนมาจับกล้องดิจิตอล แล้วกลับมาจับกล้องฟิล์มอีกที มันคนละแบบกันเลย แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้ามือบ้างแล้ว”

กำลังจะมีนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกชื่อ ‘Panoramic’

“มันเริ่มจากตอนไปดูโลเคชันกับทีมหนัง ‘ชัมบาลา’ ที่ทิเบต ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำ exhibition แต่พอพูดว่าทิเบตเราก็ตื่นเต้นมากอยากถ่ายรูป เราก็เอาฟิล์มติดไป นอกจากกล้องแล้วก็เอาเครื่องอัดเสียงไปด้วย ไม่รู้ทำไมในตอนแรก พอไปถึงก็ได้อัดเสียงพระสวด เสียงลำธาร อะไรแบบนี้ แล้วก็บันทึกภาพกลับมา เราก็รู้สึกว่าถ้าเอาสองอย่างนี้มารวมกันน่าจะสนุกดี แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร เราก็เล่นดนตรีต่อ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีโอกาสไปเลห์ ลาดักห์ ที่อินเดียกับรุ่นน้อง ก็เตรียมฟิล์มเตรียมกล้องไปถ่าย โดยไม่ได้คิดอะไร”

“จนมาโอมานเป็นช่วงที่เราอยากถ่ายรูปมาก เป็นช่วงพีคที่เราอยากคว้ากล้องตลอด ประกอบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาเราหนักจริงๆ ขึ้นเครื่องก็ป่วยเพราะร่างกายเราล้า หลังจากลุยมาหนึ่งเดือนเต็มๆ เลยเป็นทริปที่ได้จับกล้องทั้งวัน ถ่ายรูปทั้งวัน พอเอากลับมาส่งร้านล้างฟิล์ม เราอยากเอามันมาทำอะไรจริงๆ แล้ว เลยเริ่มมองสองที่แรกที่เคยถ่ายแล้วรวบมันดู ระหว่างที่เราเดินทาง บางส่วนของตรงนี้มันคล้ายกับที่เราเคยเห็นที่ประเทศนั้นเลย หรือบางส่วนของประเทศนั้นคล้ายกับที่เราเห็นอยู่ตอนนี้”

“เราเลยรู้สึกว่า ใครมันเป็นคนทะลึ่งตั้งพรมแดนวะ
เราแบ่งกันทำไม พอไปอยู่ตรงนั้นมนุษย์ตัวเล็กจริงๆ
เมื่อเทียบกับธรรมชาติ ทำไมบางคนต้องพยายามเป็น
เจ้าเข้าเจ้าของ เราอยู่กันไม่นานหรอก”

“ถ้าเอามาประกอบกัน 3 ประเทศ น่าจะเป็นภาพ panoramic กว้างๆ รูปหนึ่ง ส่วนเสียงก็ทำไว้แทบจะเสร็จเมื่อหลายปีมาแล้ว แค่เอากลับมาดูไลน์นู้นไลน์นี้ เรารู้สึกว่าเวลาเราดูภาพบางภาพ หรือรูปสมัยเราเด็กๆ ถ่ายกับเพื่อนหรือพ่อแม่ เราจะได้ยินเสียงในความทรงจำ เราอาจจะได้ยินเสียงแม่พูดอะไรบางอย่าง เสียงเราร้องไห้ ภาพบางภาพมันทำให้เกิดเสียง เสียงบางเสียงก็ทำให้นึกถึงภาพบางภาพ หรือทำให้เกิดภาพบางภาพได้ นั่นคือที่มาของ exhibition นี้ด้วย”

ก่อนแยกย้ายเราปิดท้ายด้วยคำถามว่า
ถ้าต้องเลือกระหว่าง ‘กล้อง’ กับ ‘กีต้าร์’ จะเลือกอะไร ?

“มันคือแพซชั่นทั้งคู่นะครับ แต่กีต้าร์สะพายแล้วมีเงินกินข้าว กล้องสะพายแล้วมีความสุขแต่อาจจะหิว ถ้าให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงต้องเลือกกีต้าร์แหละ แต่มีกล้องวางข้างๆ ด้วยนะ (หัวเราะ)”

นอกจากผลงานเพลงที่จะได้ฟังกัน เราน่าจะได้เห็นนิทรรศการภาพถ่ายของพี่เล็กเร็วๆ นี้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องเลื่อนออกไป เราเองก็หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววัน ช่วงนี้แฟนๆ ก็ติดตามผลงานพี่เล็กอยู่บ้านกันไปก่อน นิทรรศการเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราไม่พลาดแน่นอน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.