นักต่อสู้เพื่อสิทธิในซีรีส์ภาพแด่นักสู้ผู้จากไป - Urban Creature

ผ่านมาหลายเดือน…

ที่สังคมยังทวงถามข้อเท็จจริงผ่าน #Saveวันเฉลิม จากวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ‘นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่อยู่ในกัมพูชาถูกอุ้มหาย นี่ไม่ใช่เคสแรกและอาจไม่ใช่เคสสุดท้าย ที่นักกิจกรรมผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย ถูกบังคับให้สูญหาย หรือพบกับจุดจบอันไม่เป็นธรรม โดยที่กฎหมายไทยไม่สามารถเอาผิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือผู้กระทำผิดได้เลย

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว…

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ‘บิลลี’ หรือ ‘นายพอละจี รักจงเจริญ’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงหายตัวไป ดีเอสไอพบพยานหลักฐานอันเป็นข้อพิสูจน์ว่าบิลลีเสียชีวิตแล้ว จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อัยการฝ่ายคดีพิเศษมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องต่อผู้ต้องหาคดีฆ่าบิลลี ด้วยเหตุว่าสำนวนคดียังไม่มีประจักษ์พยานที่เชื่อมโยงผู้ต้องหา

หรือย้อนกลับไปอีก เมื่อ 16 ปีที่แล้ว…

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ‘นายสมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความชาวมุสลิมและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ถูกลักพาตัวจากการว่าความให้จำเลยชาวไทยมุสลิม ในคดีก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจำเลยอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน จนถึงตอนนี้ยังดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ 

แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ต้องเกิดขึ้นซ้ำอีกกี่ครั้ง?

นายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงและเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เขาถูกลักพาตัว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ในเขตรามคำแหง กรุงเทพฯ เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการที่เขารับว่าความให้กับจำเลยชาวไทยมุสลิมในคดีก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจำเลยเหล่านี้อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน

คนต้องไม่ตายเพราะพูด ‘ความจริง’

ภาพถ่ายหน้าตรงของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อส่วนรวม บ้านเกิด และสิ่งแวดล้อม กว่า 50 ชีวิต จัดวางในฉากหลังที่เป็นจุดเกิดเหตุ หรือสถานที่สุดท้ายก่อนพวกเขาจะหายตัวไป ซีรีส์ภาพถ่าย ‘แด่นักสู้ผู้จากไป’ For Those Who Died Trying เป็นเสียงสะท้อนที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง และสร้างความตระหนักแก่คนทั่วไปมากขึ้น 

ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ ‘Luke Duggleby’ เจ้าของผลงาน อาศัยอยู่ที่ไทยมานานถึง 15 ปี คลุกคลีกับการรีเสิร์ชเรื่องราวความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับบริบท และสัมผัสครอบครัวของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านจิตใจตลอดจนการใช้ชีวิต โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีในการรวบรวมโปรเจกต์นี้

เราอยากรู้ถึงแนวคิดเบื้องหลังโปรเจกต์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และมุมมองความคิดเห็นต่อสังคมไทย ในประเด็นความอยุติธรรมที่ยังไม่หายไปจากประเทศไทย จึงได้สัมภาษณ์คุณ Luke ในขณะที่เขาเพิ่งเดินทางกลับมาจาก จ.ศรีสะเกษ เพื่อทำงานในโปรเจกต์เกี่ยวกับเขื่อนราษีไศล ถึงผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาวและการต่อสู้ของคนในชุมชนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ว่าชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้น

นายเจริญ วัดอักษร 37 ปี ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างลงจากรถทัวร์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขาเป็นประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกและรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

‘คนตัวเล็ก’ มีชีวิตเป็นเดิมพัน

ซีรีส์ภาพถ่ายนี้มีจุดเริ่มต้นจากบุคคลหนึ่ง ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณ Luke บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตและการทำงานของเขา จากวันแรกที่ไม่คิดว่าโปรเจกต์นี้จะเกิดขึ้นได้ จนวันนี้ผ่านมา 5 ปีแล้ว สื่อและผู้คนก็ยังให้ความสนใจ อย่างที่เขาตั้งใจจะเป็นกระบอกเสียงในเรื่องที่คนมักมองข้าม และพยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้ามาข้องเกี่ยว

“วันหนึ่งผมได้พบกับ ‘จินตนา แก้วขาว’ ผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เธอต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนที่ผมได้ยินเรื่องราวของเธอ มันทั้งน่าเศร้าแต่ก็สร้างแรงบันดาลใจ ชุมชนของเธอคือหนึ่งในพื้นที่ที่ต่อสู้จนสำเร็จ ขณะเดียวกันเธอก็ทำให้ผมตระหนักว่า…

“มีคนอีกมากที่ลุกขึ้นสู้ แต่ต้องแลกด้วยชีวิต”

“ผมจึงเริ่มรีเสิร์ชเกี่ยวกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกฆาตกรรมหรือลักพาตัวในประเทศไทย ลิสต์รายชื่อยาวขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้ผมตั้งใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ หลังจากนั้นผมก็ร่วมงานกับ Protection International องค์กร NGO ด้านการปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และความร่วมมือจากกลุ่มคนที่สนับสนุนเรา ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร ครอบครัวของเหยื่อ และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)”

นายสิทธิโชค ธรรมเดชะ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2540 เขาเป็นผู้ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง การทำสัมปทานในพื้นที่ป่าไม้ของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้ทำการต่อต้านการทุจริตขุดคลองและการสร้างถนนจนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิต

เข้าถึงชุมชนเพื่อ ‘เข้าใจบริบท’

“โปรเจกต์ของผมส่วนใหญ่จะโฟกัสเรื่องการต่อสู้ของชุมชนในชนบท และผมก็อ่านสื่อไทยตลอด รวมถึงทำรีเสิร์ชเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ถ้าผมอ่านเจอหรือได้ยินเกี่ยวกับชุมชน ผมจะมองประเด็นและทำความเข้าใจมันให้มากที่สุด ก่อนจะลงพื้นที่ไปใช้เวลาร่วมกับชุมชน และพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับปัญหาในท้องถิ่น ผมพูดภาษาไทยจึงง่ายต่อการเข้าถึงและพูดคุยกับพวกเขา นั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ 

“แม้จะเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่คนส่วนใหญ่อยากพูดถึงมัน
พวกเขาต้องการให้คนนอกได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

นายชัยภูมิ ป่าแส หรือ “จะอุ” อายุ 17 ปี นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่วัย เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมจนเสียชีวิตที่ด่านบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 กรณีของชัยภูมิ มีข้อกังขาในพฤติการณ์การตาย ปากคำพยานและแวดล้อมที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะหลักฐานสำคัญคือภาพกล้องวงจรปิดตรงด่านที่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

‘คนตัวใหญ่’ กอบโกยแต่ผลประโยชน์

“เคสจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการต่อต้านสร้างเหมือง บนพื้นที่ที่ชาวบ้านเดือดร้อนเนื่องด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง เคสจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ผิดกฎหมาย ที่คนในชุมชนพยายามจะเข้าไปหยุดการตัดไม้ผิดกฎหมายในป่าใกล้ชุมชน เคสจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงที่ดินเพื่อทำการเกษตร ซึ่งมักจะขัดผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดินที่มีอิทธิพล รวมถึงการต่อต้านบ่อขยะ โรงงานอุตสาหกรรม และการต่อต้านคอร์รัปชัน

“มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งหากทำอย่างยั่งยืน ก็จะสามารถเลี้ยงชีพให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้มากมาย แต่ปัญหาคือทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติกลับร่อยหรอลงไป และบ่อยครั้งที่บริษัทใหญ่จากภายนอกที่ดูแต่ผลกำไรไม่ว่ามันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่อยู่อาศัยหรือไม่ก็ตาม คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการเอื้อกฎหมายให้การกระทำของพวกเขา ซึ่งเป็นอันตรายและก่อให้เกิดมลพิษ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบใด ๆ

“ผู้มีอำนาจและคนทุจริตปฏิเสธความรับผิดชอบ
และให้ค่ากับเงินและผลประโยชน์อยู่เหนือชีวิตของผู้อื่น”

นายสิงห์ทอง พุทธจันทร์ ถูกยิงเสียชีวิตที่ร้านค้าของตนเอง เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554 อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เขาเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่

การตายต้องไม่ ‘สูญเปล่า’

“เรื่องหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผมเสมอ คือ ‘นายสิงห์ทอง พุทธจันทร์’ ถูกยิงเสียชีวิต ที่ร้านค้าของตัวเองใน จ.เชียงราย เขาเพียงตั้งข้อถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของการสร้างโรงไฟฟ้าถัดจากหมู่บ้าน เขาถูกระบุว่าเป็นแกนนำต่อต้านซึ่งเป็นผลให้เขาเสียชีวิต หลังจากเหตุฆาตกรรมแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าก็หายไป จนทุกวันนี้ลูกสาวของเขาก็ไม่รู้แม้แต่ชื่อบริษัทที่จะมาสร้าง การไม่เคารพชีวิตของมนุษย์เช่นนี้น่าตกใจมาก

“ทุกครอบครัวที่ผมเจอได้สูญเสีย สามี หรือภรรยา พ่อ แม่ หรือลูกไป มันส่งผลอย่างมากกับครอบครัว ทั้งในด้านความรู้สึกและด้านการเงิน หลายคนต้องดิ้นรนต่อสู้และความเจ็บปวดก็ยิ่งแย่ลง เพราะพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรม จากเคสทั้งหมดที่กล่าวถึงในโปรเจกต์นี้ น้อยมากที่จะสามารถระบุตัวมือปืนหรือคนสั่งการได้แน่ชัด

“ซีรีส์ภาพถ่ายนี้เน้นไปที่ความเศร้า และอาจให้ความรู้สึกสงสาร แต่ในความสูญเสียนี้เราควรจดจำว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรมจนทุกวันนี้ 

“พวกเขาไม่ต้องการให้ใครมาโศกเศร้าเสียใจ
แต่อยากให้ผู้คนได้ยินเสียงและสนับสนุนพวกเขา”

ภาพถ่ายในซีรีส์ A Village Under Siege โดย Luke Duggleby

การต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิในที่ดินทำกิน’

“อีกหนึ่งชุมชนที่ผมเจอจากการทำโปรเจกต์ For Those Who Died Trying คือเรื่องราวของ ‘คลองไทรพัฒนา’ ใน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเกษตรกรเล็กๆ สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนเป็นเจ้าของที่ดินมานานกว่า 10 ปี กับบริษัทน้ำมันปาล์มที่ใช้วิธีการที่รุนแรงและอันตรายในการไล่คนในชุมชนออกจากที่ดินที่ควรจะเป็นผืนดินที่ทำกินของพวกเขา ส่งผลให้คนในชุมชนเสียชีวิต 4 คน

“เรื่องราวนี้น่าสะเทือนใจและมักไม่ได้รับการพูดถึงจากสื่อ ผมจึงเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา การเข้าถึงที่ดินสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็นปัญหาใหญ่ที่นี่

“ทันทีที่มีการสูญเสียที่ดิน ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสมบูรณ์”

นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 54 ปี และปราณี บุญรักษ์  อายุ 50 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปตลาดใกล้บ้าน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ทั้งสองเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) นางปราณีเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายชาวนาไร้ที่ดิน เมื่อ พ.ศ. 2551 และรณรงค์เพื่อให้มีสิทธิในที่ดินปฏิรูปเกษตรกรรม ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่อื่นๆในภูมิภาค มีการทำลายศพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเพื่อขู่สมาชิกคนอื่นๆ ในสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

‘เสียงประชาชน’ มีค่า

“ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ขยายใหญ่ขึ้น ช่วยสร้างความตระหนักในสังคม และบางครั้งมันก็ช่วยกดดันเจ้าหน้าที่ให้เร่งดำเนินการ แต่สำหรับประเทศไทยแค่นี้อาจไม่พอ อย่างกรณีของบิลลี พอละจี และสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นข่าวที่สาธารณชนให้ความสนใจมาก แต่ก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริงให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ หลายๆ อย่างในประเทศไทยควรต้องเปลี่ยน เสียงของประชาชนจึงจะสามารถสร้างอิมแพกต์ได้

“วัฒนธรรมการคอร์รัปชันและการไม่ต้องรับโทษลอยนวลพ้นผิด ทำให้ความยุติธรรมที่นี่เกิดขึ้นได้ยาก”

“กว่าทั้งสองสิ่งนี้จะได้รับการแก้ไข มันอาจจะเป็นไปได้ยากที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่มันจะเกิดขึ้นทีละสเต็ปโดยการสนับสนุนและการโปรโมตการทำงานของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราสามารถช่วยให้มันเกิดเร็วขึ้นได้”

สามารถชมนิทรรศการภาพถ่ายออนไลน์ได้ที่ : http://www.maiiam.com/forthosewhodiedtrying/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.