SMS ข้อความฉุกเฉินจาก 4 ทวีปทั่วโลก - Urban Creature

ข้อความฉุกเฉินเตือนภัยในแต่ละประเทศจะถูกแจ้งผ่านทางทีมรัฐบาล หรือส่งตรงจากนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น ซึ่งแท้จริงแล้วข้อความเหล่านี้ ถูกส่งผ่านระบบ ‘Cell Broadcast (CB)’ ที่เป็นวิธีการส่งข้อความผ่านทางระบบเครือข่ายมือถือไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายคนในพื้นที่ในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ทั้งยังส่งได้ผ่านระบบไร้สายและตามสาย ด้วยความยาวสูงสุดได้ถึง 1,395 ตัวอักษร

โดยการส่งต่อข้อความฉุกเฉินถึงผู้คนหลายล้านคน หลากหลายภาษา ตามมาตรฐานจะใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ซึ่งกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สามารถรองรับ Cell Broadcast ได้แล้ว แอบกระซิบว่าสามารถตั้งค่าในโทรศัพท์มือถือได้ทั้งระบบ iPhone และ Android ซึ่งในแต่ละทวีปจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นตามไปดูกัน

01 | ทวีปยุโรป : EU-Alert / Everbridge Public Warning

เราเริ่มต้นพาไปส่องการแจ้งเตือนภัยทางฝั่งยุโรป ที่มีเครือข่ายและพื้นที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร ซึ่งมีชื่อว่า ‘EU-Alert’ โดยแต่ละประเทศให้ความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้นๆ ด้วยการแทนอักษรย่อประเทศ เช่น

NL-Alert : ประเทศเนเธอร์แลนด์
GR-Alert : ประเทศกรีซ 
LT-Alert : ประเทศลิทัวเนีย
RO-Alert : ประเทศโรมาเนีย
IT-Alert : ประเทศอิตาลี

การแจ้งเตือนข้อความฉุกเฉิน ทางคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้มีการตกลงกัน ให้มีคำสั่งใหม่กับประเทศสมาชิกทุกประเทศว่า ต้องจัดทำระบบเตือนภัยสาธารณะเพื่อปกป้องประชาชนของตนเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งเตือนภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน การโจมตีของผู้ก่อการร้าย สภาพอากาศที่รุนแรง ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องอพยพผู้คนด่วน 

‘Everbridge Public Warning’ คืออีกหนึ่งระบบใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในสี่ประเทศแถบทวีปยุโรป โดยระบบนี้เป็นเพียงระบบเดียวที่ให้ประเทศต่างๆ เลือกวิธีสื่อสารแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินได้ตามความต้องการ และความเหมาะสมของแต่ละประเทศนั้นๆ ด้วย

02 | ทวีปอเมริกา : Amber Alert / WEA

ทวีปอเมริกาประกอบไปด้วยอเมริกาเหนือและใต้ หากลองย้อนเวลากลับไปจากข่าวสารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะสังเกตได้ว่ามีเหตุการณ์รุนแรง และภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็มีระบบแจ้งเตือนที่น่าเชื่อถือ 

เช่น ‘ประเทศสหรัฐอเมริกา’ ที่การแจ้งเตือนจะเน้นไปที่การเตือนภัยพิบัติ ซึ่งเทียบเท่ากับกรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะแจ้งเตือนสภาพอากาศเลวร้าย และเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น พายุลมแรง พายุหิมะ รวมถึงภัยพิบัติอื่นๆ อย่างทอร์นาโด น้ำท่วมฉับพลัน สึนามิ และสารเคมีรั่ว นอกจากแจ้งเหตุฉุกเฉินแล้ว ยังส่งคำสั่งอพยพประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติที่ประกาศโดยตรงจากประธานาธิบดีให้ด้วย

ระบบในสหรัฐฯ ที่น่าสนใจคือ ‘Amber Alert’ ระบบช่วยเหลือและติดตามเด็กหายแบบรวดเร็วในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะรอดชีวิตมากที่สุด โดยเป็นการแจ้งแบบเรียลไทม์ พร้อมระบุสถานที่เกิดเหตุ รูปร่างหน้าตาเด็ก หมายเลขทะเบียนรถ และลักษณะของรถยนต์ที่คาดว่าลักพาตัวเด็กไป ซึ่งพอทุกคนในพื้นที่ได้รับการแจ้งเตือนนี้ ก็จะคอยสอดส่องรถที่ว่าและช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดเรื่องร้ายกับเด็กด้วย

มาต่อกันที่ประเทศอังกฤษกับ ‘WEA’ ระบบที่ใช้ในการประกาศจับผู้ต้องสงสัย หรือบุคคลอันตรายที่หากเจอต้องระวังและหลบหนีให้เร็วที่สุด ซึ่งตามปกติแล้วในหลายประเทศของทวีปอเมริกา ระบบพื้นฐานจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติที่วิกฤตเท่านั้น ผ่านข้อความสั้นไม่เกิน 90 ตัวอักษรแบบเร่งด่วน โดยสรุปสถานการณ์เพียงสั้นๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครได้รับผลกระทบ หรือทางการต้องการอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุด

03 | ทวีปเอเชีย : J-Alert / Emergency Cell Broadcast System (ECBS) / Korean Emergency Alert

กลับมาที่ทวีปบ้านเกิดของเรา ซึ่งประเทศที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘ญี่ปุ่น’ หนึ่งในประเทศที่ต้องยอมรับว่ามีการเตรียมตัว และตั้งรับกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม โดยแจ้งด้วยระบบ ‘J-Alert’ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว ผ่านดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ติดตั้งทั่วประเทศในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการถูกโจมตี โดยออกแบบระบบเป็นห้าระดับ เพื่อลดความซับซ้อนของระบบ และลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยการเร่งการอพยพอย่างทันท่วงที

หรือในประเทศที่เจอภัยพิบัติอย่างหนักหน่วงไม้แพ้กันอย่าง ‘ฟิลิปปินส์’ ก็มีระบบ ‘Emergency Cell Broadcast System (ECBS)’ แจ้งเตือนตามข้อกฎหมายที่กำหนดให้ส่งการแจ้งเตือนทางมือถือก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งนอกจากการแจ้งเตือนแล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพ เว็บไซต์บรรเทาทุกข์ และจุดรับ-ส่งประชาชนด้วย

รวมถึงในประเทศยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวอย่าง ‘เกาหลีใต้’ เพราะเมื่อคุณก้าวเท้าถึงแดนกิมจิ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น อาจได้รับข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน ‘Korean Emergency Alert’ จากรัฐบาลเกาหลี ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเรื่องความผิดปกติทางสภาวะภูมิอากาศ เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม ความร้อน ความเย็น หรือมลภาวะฝุ่น ชาวต่างชาติที่ไปเกาหลีใต้สามารถรับการแจ้งเตือนข้อความฉุกเฉิน ซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน

04 | ทวีปออสเตรเลีย : Emergency Alert Australia

หากพูดถึงทวีปออสเตรเลีย ที่เป็นหนึ่งทวีปที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์รวมของหลายประเทศที่น่าสนใจ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติไฟป่าที่เกิดขึ้นล่าสุด ระบบเตือนภัยฉุกเฉินทางโทรศัพท์ที่ชื่อว่า ‘Emergency Alert Australia’ เป็นหนึ่งในหลายวิธีจากรัฐบาลที่ใช้เตือนภัยกับประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น

โดยการแจ้งเตือนจะถูกส่งผ่านระบบโทรศัพท์แห่งชาติ เป็นข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และข้อความตัวอักษรไปยังโทรศัพท์มือถือภายในพื้นที่ที่ถูกประเมินแล้วว่ากำลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทางการออสเตรเลียใช้ข้อมูลจากสัญญาณดาวเทียม ‘Himawari-8’ จากประเทศญี่ปุ่น ที่รายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และส่งภาพถ่ายความละเอียดสูงมายังเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนทิศทางลมที่อาจส่งผลต่อความรุนแรงของไฟป่าได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญต่อการประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างดีเลยทีเดียว


Sources :
Blognone | https://bit.ly/37rUYTM
eSolia | https://bit.ly/37s19XT
iMoD | https://bit.ly/3bEunWC
liekr | https://bit.ly/2ULiecG
NHK WORLD-JAPAN | https://bit.ly/39CoGXp
NSW Government | https://bit.ly/2wgGI3k
Studio Magenta | https://bit.ly/37rwMRt
Wikimedia | https://bit.ly/2u1AnIk, https://bit.ly/2Hovn3y

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.