ร้านขายหมากพลูเจ้าสุดท้ายในย่านตลาดพลู - Urban Creature

ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทำไมคุณยายถึงชอบกินหมาก ทุกครั้งหลังอาหารต้องร้องหาเครื่องเชี่ยนอยู่เสมอ วันไหนไม่ได้เคี้ยวเป็นอันหงุดหงิดงุ่นง่านไปทั้งวัน ด้วยความเป็นเด็กผสมกับความอยากรู้จึงร้องขอกินดู ปรากฏว่ารสชาติของมันทั้งขมทั้งฝาดหาความอร่อยไม่ได้เลย

คุณยายพูดกับฉันว่าใครเขากินเอาอร่อยกัน อ้าว…ไม่กินเพราะอร่อยแล้วคุณยายกินทำไม ท่านบอกว่า เพราะสมัยก่อนไม่มียารักษาอาการปวดฟันจึงต้องพากันเคี้ยวหมากให้ฟันแข็งแรง พอกินไปกินมาก็กลายเป็นขาดไม่ได้เสียแล้ว

แม้ชีวิตจะรายล้อมไปด้วยคนกินหมากมาตั้งแต่เด็ก แต่ฉันกลับไม่เคยอยากรู้ที่มาที่ไปของมันเลย จนวันหนึ่งได้รู้จักกับ ‘พี่จอย-พรทิพย์ จิรชาติธนวัฒน์’ เจ้าของแผงขายหมากพลูเจ้าสุดท้ายในตลาดวัดกลาง ย่านตลาดพลู

ไม่ว่าจะในละครดังอย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ หรือ ‘บุพเพสันนิวาส’ ต่างแสดงให้เห็นว่าการกินหมากมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของคนไทย รวมไปถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยนั้นชาวสยามนิยมชมชอบถึงขั้นคลั่งไคล้ฟันสีดำแบบสุดๆ เพราะคิดว่ามีแต่ผีสางนางไม้เท่านั้นที่ฟันขาว ดังคำเปรียบเปรยว่า “คนไม่กินหมากปากยังกะนางผีกระสือ ปากขาว ฟันขาว”

ไม่เพียงเท่านี้ หมากพลูยังเป็นสัญลักษณ์ของความรัก การผูกมิตร และการต้อนรับขับสู้ เห็นได้จากในบันทึกของ ‘นิโกลาส์ แชร์แวส’ นักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะเผยแผ่ศาสนาเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า

“…ธรรมเนียม ปฏิสันถาร นั้นมีอยู่ว่า พอลงมาสนทนากัน เจ้าของบ้านก็จะต้องให้เอาหมากพลูมาตั้งทีเดียว เจ้าของบ้านเป็นผู้ยื่นหมากพลูใส่ตลับทองคำหรือเงินให้แก่ผู้ที่มีฐานะสูงกว่าด้วยตนเอง และคนรับใช้ทำหน้าที่ยื่นหมากพลูให้แก่บุคคลที่มีฐานะต่ำกว่าเจ้าของบ้านมากๆ ในตลับธรรมดา”

อีกทั้งยังเชื่อว่าการมีฟันดำ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงระดับความสวยงาม ยิ่งฟันดำมากเท่าไหร่ยิ่งสวยหล่อมากเท่านั้น ทีนี้ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ วัยชรา ต่างก็พากันกินหมากกันทั่วเมือง เรียกได้ว่าเป็นแฟชั่นยอดฮิตของยุคนั้นได้เลย ถึงขนาดที่ว่าสมัยนั้นไทยส่งหมากไปขายต่างประเทศได้เงินมากถึงปีละ 75,000 เหรียญ

จนมาถึงสมัย ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ได้มีการประกาศแกมบังคับห้ามประชาชนกินหมาก ค้าขายหมาก และทำสวนหมากอีกต่อไป เพราะมองว่าการกินหมากเป็นสิ่งไม่เจริญหูเจริญตาสำหรับชาวต่างชาติที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ดังนั้น วัฒนธรรมการกินหมากจึงค่อยๆ เลือนหายไป เหลือไว้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่บางกลุ่มในต่างจังหวัดที่ยังกินอยู่

ก่อนจะมีประกาศให้สั่งยกเลิกกินหมาก พี่จอยเล่าว่า ‘ย่านบางยี่เรือ’ ถือว่าเฟื่องฟูเป็นอย่างมากเพราะเป็นตลาดค้าพลูและปลูกพลูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จนชาวบ้านพากันเรียกขานติดปากว่า ‘ตลาดพลู’ มาจนถึงปัจจุบัน

“ที่บ้านขายหมากพลูมาตั้งแต่รุ่นยาย ต่อด้วยรุ่นแม่ มาจนถึงรุ่นพี่ นับดูแล้วก็ประมาณเจ็ดสิบแปดสิบปีได้ สมัยก่อนตอนเด็กๆ ในตลาดวัดกลางมีร้านขายหมากพลูเยอะมาก เรียงกันเป็นสิบร้านครึกครื้นตลอดทั้งวัน ยิ่งช่วงบ่ายๆ จะมีเรือมาเทียบท่าตรงคลองบางหลวง เพื่อส่งพลูให้พ่อค้าแม่ค้ารับไปขายต่อที่ตลาดปากคลอง ตลาดพระประแดง ตลาดท่าเตียน หรือตลาดคลองเตย”

ปัจจุบันไม่มีสวนพลูที่ย่านตลาดพลูแล้ว พี่จอยจึงเปลี่ยนไปซื้อใบพลูจากตลาดปากคลองที่รับมาจากนครชัยศรีอีกต่อหนึ่งแทน 

จะกินหมากให้ฟันดำได้ นอกจากพระเอกนางเอกอย่างใบพลูและหมากสดแล้ว ในแต่ละคำจะต้องประกอบไปด้วย ‘ปูนแดง’ ที่ทำจากหินปูนหรือเปลือกหอยเผา แกล้มด้วย ‘เปลือกไม้’ จำพวกเปลือกสีเสียด เปลือกตะเคียน แก่นคูณ เพื่อเพิ่มความฝาด หรือบางคนนิยมใส่กานพลู การบูร พิมเสน เพิ่มกลิ่นหอมก็มี 

ในตำรับตำราว่ากันว่าประโยชน์ของการเคี้ยวหมากนั้นมากหลาย ทั้งแก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด ดับกลิ่นปาก และไล่ลมในลำไส้ แถมยังช่วยแก้โรคบิดและอาการท้องเสียได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า การเคี้ยวหมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้ จากผลการศึกษาขององค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้ทดลองแล้วพบว่าผลของหมากมีสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ รวมไปถึงปูนที่ใช้กินกับหมากสามารถกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นแผลเรื้อรัง และทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งได้

แม้คนจะกินหมากลดลง แต่ในพิธีกรรมต่างๆ หมากพลูก็ยังคงจำเป็นอยู่ เช่น ในพิธีบรรพชาอุปสมบท การไหว้ครู ทำบุญบ้าน งานบวงสรวง หรือในพิธีหมั้นที่จะต้องมีพานขันหมากขันพลูเพื่อใช้ในการสู่ขอ

“ต่อให้คนไทยไม่กินหมากแล้ว แต่ที่ร้านก็ยังมีคนพม่าแวะเวียนมาซื้อไม่ขาดสาย และพี่คิดว่าตราบใดที่บ้านเรายังมีการจัดพิธีต่างๆ อยู่ อย่างไรเสียมันก็ไม่หายไป”

การบังเอิญเจอกันในครั้งนี้ นอกจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ กับพี่จอยแล้ว มันยังเหมือนเป็นการรื้อแฟ้มภาพความทรงจำในวัยเด็กของฉันออกมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาพคุณยายกำลังนั่งตำหมาก เสียงกำชับให้ฉันอย่าลืมรดน้ำค้างพลูทุกเช้าเย็น ไปจนถึงต้องหัดสับแก่นคูณไว้กินกับหมากเพื่อแลกกับค่าขนมในวัยเด็ก 

หากอยากย้อนเรื่องราวเกี่ยวกับตลาดพลูหรืออยากสัมผัสบรรยากาศของความเป็นชุมชนที่หาได้ยาก แวะเวียนไปเดินเล่นและทักทายพี่จอยที่ตลาดวัดกลาง (วัดจันทารามฯ) ได้เลย

คอลัมน์ล่าถึงถิ่นในครั้งนี้จึงพาทุกคนมานั่งฟังเรื่องราว ‘การกินหมาก’ จาก ‘พี่จอย-พรทิพย์ จิรชาติธนวัฒน์’ เจ้าของร้านขายหมากพลูเจ้าสุดท้ายในตลาดวัดกลาง

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.