จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแฟชั่นคอลเลกชันล่าสุด ไม่ได้ทำจากเส้นด้ายหรือใช้เทคโนโลยีสิ่งทอ แต่ตัดเย็บขึ้นมาด้วยโปรแกรมและมีวัสดุเป็นพิกเซล
เสื้อผ้าดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกมเมอร์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ช้อปปิงเสื้อผ้าในโลกออนไลน์มาหลายปีดีดักแล้ว ในประเทศไทยเราแต่งตัวในโลกเสมือนกันมาตั้งแต่สมัย Ragnarok (หรือเก่ากว่านั้น) นอกจากเกมเต้น Audition ยังเป็นสมรภูมิแฟชั่น ขณะที่ปัจจุบันในอีกซีกโลกการจับจ่ายสกินสำหรับ Fortnite ก็ได้รับความนิยมมาก และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และจากการประกาศล่าสุดของ Facebook เกี่ยวกับ Metaverse ก็ยิ่งทำให้เสื้อผ้าดิจิทัลน่าจับตามองมากขึ้น
Dhanush Shetty ผู้จัดการผลิตภัณฑ์วัย 22 ปี จากซานฟรานซิสโกบอกว่าการซื้อเสื้อผ้าดิจิทัลให้ความรู้สึกแปลกประหลาดในตอนแรก แต่ในที่สุดเขาค้นพบว่ามันง่ายกว่า ราคาถูกกว่า และรู้สึกมีจริยธรรมมากกว่า (จากการไม่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์จำนวนมากเหมือนการผลิตเสื้อผ้าในชีวิตจริง)
บริษัทเสื้อผ้าดิจิทัลที่กำลังได้รับความนิยมคือ DressX ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนสิงหาคมเมื่อปีที่ผ่านมา และกำลังวางจำหน่ายทั้งงานออริจินัล รวมถึงการคอลแลบกับศิลปินดิจิทัลอีกมากหน้าหลายตา
ลูกค้าของ DressX สามารถเข้าห้องลองเสื้อได้ผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ซึ่งพอตัดสินใจได้ว่าจะซื้อชิ้นไหน ก็จะทำการอัปโหลดรูปภาพของตัวเองไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของ DressX แล้วหลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 วัน ก็จะได้รับภาพตนเองกำลังสวมใส่เสื้อผ้าดังกล่าวที่ทำการตกแต่งโดยมืออาชีพกลับมา และพร้อมสำหรับการโพสต์ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม
“เป้าหมายของเราคือการมอบตู้เสื้อผ้าดิจิทัลให้กับทุกคน” Natalia Modenova ผู้ร่วมก่อตั้ง DressX ที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาก่อนบอกว่าพวกเขาเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมายที่ต้องการแก้ไข
หากอิงตามรายงานของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเศรษฐกิจยุโรป จะเห็นว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำเสียทั่วโลกสร้างโดยอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่นเดียวกับคาร์บอนไดออกไซด์ 10 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกในทะเลด้วย
บริษัทแฟชั่นที่ขายสินค้าในโลกเสมือนยังมองว่าการช่วยให้ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ได้บ่อยตามต้องการ โดยไม่ต้องผลิตเสื้อผ้าออกมาอีกอาจเป็นการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรม Fast Fashion และยังเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่ได้เติบโต โดยไม่ต้องอาศัยทุนมากมายเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมแฟชั่นแบบเสมือนยังต้องอาศัยการศึกษาต่อในเรื่องการใช้พลังงานในโลกดิจิทัล เช่นการสร้าง NFT ที่ถูกพูดถึงกันมาก่อนหน้านี้
จากการศึกษาของ Barclaycard ธนาคารออนไลน์จากอังกฤษ พบว่าชาวผู้ดี 1 ใน 10 คน บอกว่าซื้อเสื้อผ้ามาเพื่อถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็จะส่งคืนในภายหลัง ทำให้ Doddz ชาวแมนเชสเตอร์ที่ซื้อเสื้อผ้าดิจิทัลตั้งคำถามว่า ถ้าเสื้อผ้าใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงตัวตนในโลกดิจิทัลอยู่แล้ว ทำไมไม่ซื้อเสื้อผ้าที่อยู่ในนั้นไปเลยล่ะ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการประกาศของ Mark Zuckerberg ทำให้ Doddz มองว่าเราทุกคนต่างมุ่งสู่การทำงานและใช้ชีวิตใน Metaverse หรือไม่ก็โลกดิจิทัลแบบอื่น เมื่อผู้คนสนใจเกี่ยวกับสถานะในโลกออนไลน์มากขึ้น เมื่อนั้นแฟชั่นดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาขึ้นมาเอง