ถ้าให้นึกถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยนั้นคงมีเยอะอย่างนับไม่ถ้วน และเมื่อทุกอย่างยังคงเกิดขึ้นและต้องถูกจัดการแก้ไขต่อไป การร่วมกันลงมือทำตั้งแต่วันนี้ จะทำให้ทุกสิ่งอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีมากกว่าเดิมได้
เช่นเดียวกับโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ โครงการเพื่อความยั่งยืนของ ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ที่มีหัวใจสำคัญคือ ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ ภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ยกระดับแบ่งปันทักษะต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนและผู้พิการ พร้อมส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
คอลัมน์ FYI ชวนไปสำรวจการเปลี่ยนแปลงจากการร่วมลงมือทำที่เซ็นทรัล ทำ ได้ดำเนินการไปแล้ว และยังคงเดินหน้าต่อ รวมถึงแผนการต่างๆ ที่ยังคงมุ่งไป เพื่อให้เกิดภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
ชุมชนสร้างรายได้ การท่องเที่ยวยั่งยืน
เพราะชุมชนที่สมัครสมานเป็นหนึ่งเดียวกันสามารถนำไปสู่การพึ่งพากันเองได้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ที่มองเห็นความสำคัญนี้ จึงได้เริ่มต้นส่งเสริมให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านการลงพื้นที่ไปแบ่งปันทักษะความรู้ ทั้งการเพาะปลูก การผลิตสินค้าในชุมชน ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความรู้เรื่องการค้าปลีก สนับสนุนด้านการตลาด และบอกเล่าความรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนนำองค์ความรู้ไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น จนทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจที่ช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกร ต่อยอดนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้
และนี่คือส่วนหนึ่งของโครงการที่เซ็นทรัล ทำ ได้เข้าไปร่วมลงมือทำ
1) จริงใจมาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ (การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์)
นี่คือตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัลที่สร้างขึ้นด้วยแนวคิด Eco-friendly และดำเนินธุรกิจแบบ CSV ช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและเกษตรกรนำผักผลไม้มาตั้งแผงวางขาย โดยเริ่มต้นจากเพียง 10 แผง ทว่าปัจจุบันตลาดแห่งนี้มีสินค้าจาก 15 ชุมชน หรือ 70 กว่าครัวเรือน และผู้ประกอบการกว่า 250 ราย ที่นำสินค้า อาหาร งานศิลปะ และงานทำมือมาวางจำหน่าย
2) ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง (การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม)
เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมที่ ‘นาหมื่นศรี’ จังหวัดตรัง ที่นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลวดลายอันมีอัตลักษณ์กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชนได้อย่างมหาศาล
3) ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย (การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์)
ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ไร่เชิญตะวัน คือการร่วมมือกันระหว่างเซ็นทรัล ทำ และพระ ว.วชิรเมธี เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์ พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ชาวนา หรือผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ศึกษาสิ่งต่างๆ ในโครงการนี้
4) ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
เซ็นทรัล ทำ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังร่วมทำงานกับชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมตั้งแต่การปลูก การสร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายช่วยสร้างรายได้ รวมถึงที่นี่ยังมีวิสาหกิจชุมชน ‘แม่ทาออร์แกนิค’ เพื่อรองรับรูปแบบใหม่ของการทำการเกษตร ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วยการเปิดโฮมสเตย์ ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
5) กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย (การท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ)
จากเดิมที่ภูชี้เดือนเคยเป็นเขาหัวโล้นที่เกิดจากการถางพื้นที่ตัดไม้เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ราบสูงเป็นอย่างมาก และได้มีการปรับพื้นที่โดยปลูกพืชให้ร่มเงา จากนั้นเซ็นทรัล ทำ ก็เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจนเกิดเป็นกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน สนับสนุนปัจจัยการผลิตทุกขั้นตอน มีโรงเรือนแปรรูปกาแฟ โกดัง เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ จนภูชี้เดือนกลายเป็นกาแฟอะราบิกาสุดออร์แกนิกในปัจจุบัน
6) ชุมชนย้อมผ้าครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร (การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม)
ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการทอผ้าของผู้คนในชุมชน บวกกับความสมบูรณ์ของพื้นที่ผสมกับความสามารถที่แตกต่างกัน เช่น การปลูกต้นคราม การย้อมผ้า และการทอผ้า เมื่อสมาชิกได้รวมตัวและร่วมใจกัน เกิดเป็น ‘กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก’ เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเส้น สี ลายผ้า ที่แสดงผ่านภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ด้วยความเฉพาะตัวเช่นนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ทำ จึงเข้าไปร่วมช่วยสนับสนุนด้านการขายและการตลาด เพื่อช่วยยกระดับธุรกิจ สร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
7) ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา จ.ชัยภูมิ (การท่องเที่ยวชุมชนวิถีเกษตรอินทรีย์)
ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็น 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก ใช้ระบบการทำเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบครบวงจร เช่น ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับจัดการน้ำ การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในการปลูกอะโวคาโด
นอกจากผลผลิตที่ช่วยให้ชุมชนมีรายได้และอาชีพแล้ว ทางเซ็นทรัล ทำ ยังจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาของจังหวัดชัยภูมิ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี
จากที่เซ็นทรัล ทำ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนต่างๆ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 400 ราย มีรายได้กว่า 3 ล้านบาท และยังคงมุ่งหน้าตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกให้ได้ปีละ 100 ราย
สร้างคุณค่าร่วมแบบ ‘เซ็นทรัล ทำ’
เซ็นทรัล ทำ ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเจริญก้าวหน้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน เพื่อให้สังคมเติบโตและเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมเพรียงกัน โดยในปี 2565 เซ็นทรัล ทำ ได้ดำเนินงานและทำให้สิ่งต่างๆ สำเร็จไปแล้ว ดังนี้
- ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 101 แห่ง
- ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 71,500 เมกะวัตต์ชั่วโมง
- ติดตั้งสถานอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 80 สถานี
- ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร 4,000 ตัน
- ลดขยะจากการรีไซเคิลและการนำมาใช้ประโยชน์กว่า 10,000 ตัน
- บรรจุภัณฑ์ร้อยละ 85 ของแบรนด์สินค้าในกลุ่มเซ็นทรัล (กลุ่มอาหาร) เป็นวัสดุรีไซเคิล
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่
- สร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้คนพิการ 751 คน
- สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 1,500 ล้านบาท
- สนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน
ที่ผ่านมา เซ็นทรัล ทำ ได้ลงมือทำและช่วยพัฒนาจนเกิดความยั่งยืนมากกว่า 100 โครงการ โดยใช้ 6 แนวทางที่ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน ดังนี้
1) ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย (Community & Social Contribution)
2) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม (Inclusion)
3) พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development)
4) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Circular Economy & Waste Management)
5) ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Reduction)
6) ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน (Climate Action)
โดยในปี 2566 ทางเซ็นทรัล ทำ ได้วางเป้าหมายเพื่อเดินไปข้างหน้า ด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ 1,800 ล้านบาทต่อปี และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่า 6,500 ไร่ รวมถึงสร้าง Net Zero ให้ได้ภายในปี 2593
กว่า 75 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลยังคงมุ่งมั่นสร้างความเจริญก้าวหน้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ผ่านการร่วมมือกับชุมชน องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการใช้วิธีดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ในการสร้างคุณค่าร่วม เพื่อนำความเจริญให้เติบโตไปพร้อมกัน เกิดเป็นความยั่งยืนที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้น