Craft it on แบรนด์คราฟต์จากใจคนวัยเกษียณ - Urban Creature

  • Craft it on คือแบรนด์งานคราฟต์ที่ แม่อร-อรสา ดุลยยางกูล วัย 62 ปี สานต่อความหลงใหลในการหยิบจับสิ่งของเหลือใช้รอบตัวมาเย็บปักถักร้อยจนกลายเป็นสินค้าแสนอบอุ่น
  • แรกเริ่มก่อตั้งแบรนด์เมื่อ 4 ปีก่อน แม่อรได้ลูกสาวมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างแบรนด์ เมื่อทุกอย่างดูเข้าที่เข้าทาง แม่อรเริ่มออกบูทเองและสามารถขายของบนโลกออนไลน์ได้คล่องแคล่วไม่แพ้วัยรุ่น
  • สำหรับแม่อร Craft it on เป็นงานที่ช่วยพัฒนาสมอง และเติมเต็มชีวิตของคนวัยเกษียณได้เป็นอย่างดี ซึ่งแม่อรก็อยากให้คนวัยเดียวกันได้เห็นคุณค่าของตัวเอง และลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักดูสักครั้ง

“สวัสดีค่ะลูก” เสียงของหญิงวัย 62 ปี ดังทักทายผ่านไลน์ขึ้นมาในช่วงที่เราต้อง Work from Home

ไม่ค่อยแปลกใจที่เราจะเห็นคนวัยเกษียณจับสมาร์ตโฟนมาใช้งานอย่างคล่องแคล่ว เผลอๆ คล่องกว่าคนวัยเราอีกด้วยซ้ำ และนี่คือ แม่อร-อรสา ดุลยยางกูล ที่ใช้โอกาสและช่องทางของโลกออนไลน์มาสานต่อความรักในการเย็บปักถักร้อย จนกลายเป็นแบรนด์งานคราฟต์จากฝีมือคุณแม่แสนอบอุ่น

Craft it on ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องเป็นสินค้าประเภทไหน เพียงแต่ทุกชิ้นเริ่มจากการที่แม่อรเห็นสิ่งของเหลือใช้รอบตัวว่ามันจะนำมาต่อยอดหรือดัดแปลงเป็นอะไรสักอย่างได้ สินค้าจาก Craft it on จึงมีตั้งแต่ถุงการบูรจากเศษผ้า ป้ายบันติ้งหรือธงที่เอาไว้ประดับตกแต่งสุดน่ารัก กระเป๋าจากผ้ากระสอบสำหรับใส่ของใช้ ที่พันรัดสายชาร์จจากเศษผ้า ฯลฯ

นอกจากงานที่มีเอกลักษณ์ของแม่อรแล้ว Craft it on ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงการงานคราฟต์ของคนวัยเกษียณ ซึ่งการโทรศัพท์ที่แม้จะไม่เห็นหน้าเห็นตากัน แต่น้ำเสียงที่เป็นมิตรเสมือนเป็นคนในครอบครัวก็ทำให้เราอิ่มเอมตลอดการพูดคุย

เย็บปักถักร้อยมาตั้งแต่สาวๆ

เห็นช่ำชองในเรื่องการพลิกแพลงสิ่งของแบบนี้ แน่นอนว่านี่คือส่วนหนึ่งในอาชีพของแม่อรสมัยสาวๆ จนเรียกได้ว่าเธอเติบโตมากับจักรเย็บผ้าอย่างแท้จริง

“สมัยคอซอง แม่เรียนจบอายุประมาณสิบแปดสิบเก้าปี ตัดสินใจไปเรียนสายอาชีพต่อที่สารพัดช่างเพราะชอบตัดเสื้อ คือตั้งแต่ ป.5 – ป.7 แม่ตัดเสื้อนักเรียนเอง เย็บย่ามเอง วนเวียนอยู่กับงานพวกนี้มาตลอด พอเรียนตัดเสื้อก็มีลูกค้ากับเพื่อนๆ มาให้แม่ตัด แม่เรียนไปเป็นปีๆ เหมือนกัน จนอาจารย์บอกว่าไม่ต้องมาแล้วก็ได้นะ ถ้าเกิดมีอะไรที่มันยากๆ ก็ค่อยมา เขาจะสอนให้

“แม่รับงานตัดเสื้อผ้ามาตลอดจนผ้าเนี่ยเต็มตู้ เลยกลายเป็นอาชีพช่างตัดเสื้อผ้าโดยปริยาย แล้วมันเป็นสิ่งเดียวที่เราชอบที่สุด แม่ไม่เคยลองทำงานอื่นเลย เพราะแม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราถนัด อย่างชุดแต่งงานเนี่ย เรายังเรียนไม่ถึงแต่เราก็สามารถตัดให้ได้ เหมือนมันเป็นอะไรที่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว” แม่อรเล่าถึงอาชีพช่างตัดเสื้อผ้าที่ใช้เลี้ยงปากท้องมาร่วม 10 ปี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กกะโปโล (แม่อรบอกเราเอง) จนเมื่ออายุประมาณ 28 ปี ชีวิตครอบครัวของแม่อรก็ได้เริ่มต้นขึ้น

เบรกงานตัดเสื้อผ้า มาเป็นแม่บ้านฟูลไทม์

แม่อรเป็นแม่ที่น่ารักของลูกสาว 2 คน คือพี่โบว์และพี่ริบบิ้น โดยทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาให้กับการเลี้ยงดูลูกสาวจนต้องพักงานตัดเสื้อไว้ก่อน

“ตอนแม่ท้องได้หกเดือน มันเริ่มรู้สึกนั่งจักรเย็บผ้าลำบาก ครอบครัวก็กลัวมันจะกระทบกระเทือน เดี๋ยวลูกเป็นอะไร คือการทำงานเสื้อผ้าของแม่เนี่ย แม่จะตั้งใจมาก มีสมาธิ และค่อนข้างพิถีพิถัน เราก็เลยไม่อยากทำงานไปด้วย เดี๋ยวลุกๆ นั่งๆ เลี้ยงลูกไปด้วย ก็เลยยอมตัดรายได้ของเราออกไปเพื่อมาเลี้ยงดูลูกเต็มเวลา

“แม่ได้ดูแลลูกเต็มตัว ไม่ต้องเสียเงินจ้างคนเลี้ยงลูก พอเราไม่ต้องทำงานอะไร ยามว่างแม่ก็เลยทำงานฝีมือไปด้วย แต่แม่ก็มีทำงานตัดเสื้อผ้าอยู่บ้างเป็นโอกาสไป อย่างสมัยก่อน ชุดเชียร์ลีดเดอร์เด็กจะหายากและไม่ค่อยมีคนทำ แม่ก็จะรับงานพวกนี้ เพราะว่าแม่ตัดเสื้อผ้าให้ลูกใส่อยู่แล้ว หรือแบบเดินในห้างฯ ก็มีคนมาสะกิดถามว่าชุดนี้ซื้อจากไหน ยี่ห้ออะไร เราก็บอกว่าตัดเอง เขาก็บอกประมาณว่าไม่น่าล่ะถึงหาแล้วไม่เจอ”

เมื่อเริ่มห่างเหินจากการตัดเสื้อผ้าและเริ่มมีเวลาให้กับตัวเอง แม่บ้านฟูลไทม์คนนี้ก็ค้นพบงานอดิเรกที่ตกหลุมรัก นั่นคือการหยิบสิ่งของเหลือใช้รอบตัวมาสร้างสรรค์ให้เกิดของชิ้นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระติกน้ำ กระเป๋า หรือเสื้อผ้าให้ลูกสาว

กำลังใจจากลูก เกิดเป็นแบรนด์จากความรัก

เมื่อแม่อรมีเวลาว่างจากการเลี้ยงดูลูกสาว ก็จะทำงานฝีมือเอาไว้แจกพี่น้องเพื่อนฝูงตามเทศกาลต่างๆ จนมีคนต้องการถึงขั้นขอให้แม่อรทำเพื่อเอาไว้แจก เมื่อลูกสาวทั้ง 2 คนเรียนจบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Craft it on

“ลูกสาวเห็นแม่มาตั้งแต่แรก เขารู้สึกว่าสิ่งที่แม่ทำไม่ใช่งานคนแก่ เขาเลยเสนอว่าควรมีแบรนด์ให้คุณแม่ได้แล้วนะ แต่แรกๆ ตัวแม่เองจะรู้สึกว่ากลัวการที่จะออกไปขายของ เพราะเราคิดว่าคนอาจจะไม่ชอบฝีมือ กลัวไม่ถูกใจใคร เลยกลายเป็นไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง แต่ว่าลูกๆ ลงความเห็นกันแล้วเราก็เลยคิดแบรนด์กันออกมา

“Craft it on พลิกแพลงมาจากคำว่า Pass it on หมายถึงการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้ทุกคน

แม่อร อรสา และลูกสาว

“แม่ก็ไม่ได้มีความรู้ตรงนี้ เขาทำยังไงหรือต้องขายยังไงกันนะ จนเมื่อต้องมีชื่อแบรนด์ ลูกสาวเขาก็คิดชื่อออกมาแล้วในชื่อแบรนด์ก็มีชื่อของ ‘แม่อร’ อยู่ในนั้นด้วย แม่ชอบมากก็เลยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จากนั้นก็เริ่มสร้างแฟนเพจภายในวันเดียวกัน เราก็นั่งมองตาลูกว่าแบบทำอะไรกัน เขารู้อยู่แล้วว่าเรามีงานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเยอะจนสามารถพร้อมขายได้เลยภายในวันนั้น” แม่อรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์

แม้จะคลุกคลีกับเครื่องจักรและงานเย็บปักถักร้อยมานาน แต่พอต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเองความไม่มั่นใจก็เข้ามาเยือน แต่แม่อรก็ได้รับกำลังใจดีๆ จากลูกสาวทั้ง 2 คนทั้งพี่โบว์และพี่ริบบิ้น ซึ่งเป็นเจ๊ดันให้แม่อรลุยตลาดงานคราฟต์ในช่วงเริ่มต้นได้อย่างไม่เคอะเขิน จนทลายกำแพงความกลัวตรงนั้นไปได้

ของทุกชิ้นจากสองมือ สู่การส่งต่อเรื่องราวดีๆ

ความจริงอายุ 60 กว่าปีดูเป็นอายุที่น่าจะพักผ่อนอยู่บ้าน แต่เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้ในตลาดนี้บวกกับกำลังใจดีๆ จากครอบครัว แม่อรจึงกระโดดลงไปทำโดยที่ไม่ลังเลและไม่ละทิ้งตัวตนของเธอ

“แม่เริ่มจากทำเป็นบันติ้งกับงานปักถุงการบูรก่อน เป็นงานแรกๆ ที่ทำสะสมไว้เพื่อแจกตามเทศกาล จนตอนนี้ที่ภูมิใจเลยก็จะเป็นพวกกระเป๋าผ้ากระสอบ ซึ่งปกติแม่เน้นเรื่องรักษ์โลกอยู่แล้ว คือสิ่งของรอบตัวที่มีอยู่ แม่จะเห็นว่ามันจะต้องทำอะไรได้สักอย่างหนึ่ง ของทุกชิ้นมันสามารถเอาไปใช้งานต่อได้ อย่างถุงการบูรถ้าไม่ซื้อมาเติม เราก็เอาไว้ใช้ใส่เศษสตางค์หรือใส่เครื่องประดับได้”

แม่อรยังเสริมอีกว่า ในการขายของออนไลน์ทุกวันนี้จะตอบลูกค้าเองและถ่ายรูปเองทั้งหมด ซึ่งก็ต้องระมัดระวังตัวเอง อย่างเรื่องการแชร์ข้อมูล ถ้าไม่มั่นใจแม่อรก็จะไม่ทำ อีกทั้งการทำงานในวัยเกษียณ แม่อรบอกว่าไม่ต้องไปทุ่มเทเรื่องรายได้มากมายขนาดนั้น แค่ทำให้เหมาะสมกับวัยก็เพียงพอ

แรกเริ่มเดิมที Craft it on บุกตลาดงานคราฟต์ด้วยการออกบูทเพื่อเช็กเรตติ้ง เมื่อรู้แล้วว่ามีคนสนใจและให้การตอบรับเป็นอย่างดี แม่อรก็ลุยขายออนไลน์สลับกับการออกบูทเมื่อมีโอกาส

“ที่แรกในการออกบูทเลยคือ The Bright พระราม 2 แม่ก็เอาพวกงานตะกร้าหวายและตะกร้าไม้ไผ่ที่เย็บบุติดลูกไม้ไปขาย แล้วก็มีบันติ้งที่ให้ลูกค้าได้เลือกสีที่ชอบได้ ปรากฏว่าขายดีเพราะไม่ค่อยมีคนทำ ช่วงแรกลูกสาวก็เข้ามาช่วย แต่พอแม่เริ่มอยู่ได้ เริ่มโต้ตอบกับลูกค้าเป็น แม่ก็เริ่มทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

“เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแม่ไปออกบูทที่ลิโด้ ซึ่งแม่ได้เจอกับลูกค้าสมัยตอนออกบูทครั้งแรกที่ The Bright เข้ามาทักทายและชื่นชมสินค้าของเรา อย่างที่พันรัดสายชาร์จจากเศษผ้า เขาก็ชมว่าไม่ผิดหวังในงานปักสไตล์แม่อรเลย แม่ดีใจมาก นี่เหมือนเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญของคนแก่เลยก็ว่าได้

“พอตอนหลังแม่มีโอกาสได้ไปเวิร์กช็อปให้คนอื่นด้วย เวลาที่เราสอนเนี่ย เราก็ภูมิใจนะที่ได้เป็นผู้ถ่ายทอด แม่ก็ไม่ได้สอนให้หมดหน้าที่ไป แต่จะลงรายละเอียดแบบไม่มีกั๊ก เช่น งานผ้าเราก็จะบอกว่าการวางผ้าเราต้องดูเกรนผ้าให้เป็น หรือแม้กระทั่งการม้วนปมด้ายด้วยวิธีง่ายๆ แม่ก็จะบอกหมด คือคนแก่พออายุมากขึ้น ถ้าได้มีสิ่งที่ชอบ มันก็สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้อีกด้วย” แม่อรเล่า

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

“มาถึงวันนี้คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น แม่ก็อยากให้เหมือนเป็นการส่งต่อสิ่งดีๆ ที่เหมือนแม่ทำให้ลูก ถึงแม้ว่าเราจะเป็นร้านเล็กๆ แต่เราใส่ใจในคุณภาพชิ้นงาน อยากให้เป็นแบบนี้ตลอด ถ้ามันมีการกระจายรายได้หรือสอนคนอื่นได้ เราก็อยากจะส่งต่อเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะเราผ่านจุดต่างๆ มานี่เราก็พอมองเห็นว่าการกระจายรายได้มันก็น่าจะสร้างความสุขได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่คนสูงอายุ” แม่อรแชร์มุมมองของการใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ

“แม่ไม่อยากเป็นคนแก่ที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แม่ยังอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพียงอย่าฝืนทำอะไรเกินตัวเรา

“งานคราฟต์มันก็ยังมีอะไรให้ค้นหาอยู่ตลอด แม่มองว่าเป็นการแสดงผลงานของตัวเองบนโลกออนไลน์ และยังได้พัฒนาสมอง อย่างตัวแม่อร การที่มาสัมผัสโลกออนไลน์ มันทำให้แม่รู้สึกมีเพื่อนเพิ่มขึ้น คนรู้จักแม่มากขึ้น งานของแม่สามารถกระจายไปถึงคนที่อยู่จังหวัดไกลๆ เราก็ได้เรียนรู้ว่าระบบออนไลน์มันให้อะไรกับเรา

“คุณค่าของวัยเกษียณ คือการเปิดใจที่จะรับรู้ ที่จะยอมรับกับปัจจุบัน ปรับตัวให้เข้ากับโลกให้ได้ไม่มากก็น้อย แล้วก็อย่าเปลี่ยนซะจนไม่ใช่เป็นตัวเราล่ะ เพราะมันจะไม่เกิดความสุข ทุกวันนี้ยิ่งแก่ขึ้น คนจะบอกว่าแก่ต้องเข้าวัดต้องทำบุญ แม่เถียงเลย คือไม่แก่ก็ทำได้ สำหรับแม่แล้ว การที่เราไม่ได้ไปวัดแต่เรามีงานแบบนี้ เราก็ไม่ต้องไปนั่งคิดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แล้ว”

แม่อรยังทิ้งท้ายคติที่ใช้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอด เป็นการจุดประกายให้เด็กอย่างเราได้คิดว่าโลกนี้ยังคงกว้างใหญ่ และมีอะไรใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้ ท้าทาย และพบเจอกับมันอยู่เสมอ นั่นคือ

“กว่าโลกจะกว้าง ก็ย่างเข้าหกสิบสอง”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.