การพัฒนาเมืองให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่พัฒนาเมืองใหม่เท่านั้น เพราะเมืองเก่าที่มีเรื่องราวสืบทอดต่อกันมาก็ยังเป็นโจทย์หนึ่งที่นักออกแบบเมืองกำลังพัฒนาให้ก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเช่นกัน
หนึ่งในนั้นคือ ‘สถาปนิกทักษิณ’ งานเฟสติวัลประจำเมืองสงขลาที่จัดขึ้นทุกปี โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมูลนิธิสงขลา เฮอริเทจ ทรัส กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน นักวิชาการ นักวิจัย นักธุรกิจ นักพัฒนาเมือง พ่อค้า และชาวบ้าน
สำหรับสถาปนิกทักษิณ’66 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 – 26 ก.พ. 2566 มาในธีม ‘Secrets of Songkhla’ หรือลับแลเมืองสงขลา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองเก่าของภาคใต้แห่งนี้ เช่น ประวัติเมือง ประตู กำแพง บ้านโบราณ พาไปดูการปรับปรุงอาคารเก่า ที่สำคัญยังมีการนำเสนอพื้นที่หรือจุดต่างๆ ที่ช่วงเวลาปกตินักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้อีกด้วย
‘Cloud Scape Pavilion’ เป็นหนึ่งในโปรเจกต์น่าสนใจที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ ออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน เพื่อนำเสนอบรรยากาศของเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมความงามของทะเลสาบ ยอดเขา วิถีชีวิตริมน้ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยวยังไม่มีโอกาสได้เห็น
‘ซัลมาน มูเก็ม’ จากสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชนเล่าว่า ทางทีมออกแบบได้ออกเดินสำรวจเมืองในถนน 3 เส้นสำคัญของสงขลา คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม โดยถนนแต่ละสายจะมีกิมมิกเฉพาะในแต่ละโซน มีพื้นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ เช่น ศาลเจ้าจีน มัสยิด บ้านเรือน โรงสีข้าวเก่า ฯลฯ
“สงขลามีกฎหมายผังเมืองที่ห้ามสร้างอาคารสูง ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปไม่เคยเห็นก็คือ ความงามของ Landscape จากมุมสูง เนื่องจากย่านเมืองเก่าสงขลานั้นอยู่ติดกับพื้นที่ริมทะเลสาบ ฝั่งตรงข้ามจะเป็นภูเขา ซึ่งตรงนั้นเป็นตำแหน่งที่มีกำแพงเมืองเก่า มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และไม่เคยถูกนำเสนอให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนได้เห็นเลย”
ซัลมานเล่าต่อไปว่า การจะสร้าง Pavilion ที่ตอบโจทย์ให้สามารถขึ้นไปสู่ที่สูงได้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับนักออกแบบอย่างมาก ทางทีมจึงเลือกใช้โครงสร้างชั่วคราว (Cloud Folding) ที่ประกอบแบบโมดูลาร์ สามารถติดตั้งและก่อสร้างง่าย
นอกจากนี้ยังได้หยิบวัสดุที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ราวกันตกเพื่อความปลอดภัย ที่เลือกใช้วัสดุง่ายๆ เป็นพลาสติกที่ใช้หุ้มลังขนส่งสินค้าที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น สามารถรับน้ำหนักได้หลายตัน นำมาประกอบกับโครงสร้างไม้ยางพาราที่ใช้ในการก่อสร้างทั่วไปเพื่อช่วยประหยัดงบ
Secrets of Songkhla ในปีล่าสุดใช้สีเหลืองเป็นโทนหลักของงาน เราจึงได้เห็น Cloud Scape Pavilion สถาปัตยกรรมแนวดิ่งสูง 20 เมตร มีสีสันที่โดดเด่นและเป็นสิ่งแปลกใหม่ในพื้นที่แห่งนี้
“เรานำเสนอเป็นอาคารชั่วคราว ใช้โครงสร้างที่ไม่ได้ทำลายบริบทเดิมของเมือง เมื่อสร้างแล้วมันไม่ได้กระทบกับสิ่งใดๆ และเมื่อ Cloud Scape Pavilion เกิดขึ้นก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้คนหลั่งไหลกันขึ้นไปดู เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีใครเคยขึ้นไป
“ไม่ใช่ว่าต่อโครงสร้างขึ้นไปให้สูงเพียงอย่างเดียว เพราะในแต่ละระดับชั้นบน Cloud Scape Pavilion เราได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่าถ้ายืนตรงไหนจะมองเห็นประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าแห่งนี้ได้ คล้ายๆ ว่าเราทำให้สงขลากลายเป็นมิวเซียมที่มีชีวิต
“เราคิดว่า Cloud Scape เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับย่านเมืองเก่า สามารถนำไปพลิกแพลงหรือนำไปต่อยอดให้กับเมืองเก่าอื่นๆ ได้” ซัลมานสรุปความตั้งใจของการสร้างสถาปัตยกรรมชิ้นนี้
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ สถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน