ภาพของประชาชนชาวเมียนมาถือยอดอ่อน ‘ต้นหว้า’ โบกสะบัดไปมาในการประท้วงเผด็จการทหารที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงจากสังคมภายนอกอย่างเป็นวงกว้าง ดังนั้น คอลัมน์ Urban Tales ครั้งนี้จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบว่า ‘ต้นหว้า’ กับ ‘การเรียกร้องของชาวเมียนมา’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
‘หว้า’ เป็นไม้ประเภทไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย มีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ‘ชมฺพุ หรือ ชมพู’ โดยในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เขียนโดยพระพุทธโฆสะ ได้บอกไว้ว่า ‘หว้า’ คือต้นไม้ประจำดินแดนชมพูทวีป หรือดินแดนจุดกำเนิดของศาสนาพุทธนั่นเอง
หากมองกลับมา เราจะเห็นว่าคนเมียนมาถือเป็นชนชาติหนึ่งที่นับถือ ผูกพัน และให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ รวมไปถึงสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในใจของชาวเมียนมา ‘ต้นหว้า’ จึงมีความสำคัญ ไม่เพียงแค่นั้นยังมีความหมายและเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเรื่องมงคลคล้ายกับคนไทยที่ใช้ดอกบัวไหว้พระ กิ่งอ่อนของต้นหว้าก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องกราบไหว้บูชาเช่นกัน รวมไปถึงประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ชาวเมียนมาตั้งฉายาให้ต้นหว้าว่า ‘อ่องตะปเย’ หรือ ‘ต้นไม้แห่งความสำเร็จและชัยชนะ’ ด้วยเหตุนี้ยอดต้นหว้าจึงถูกใช้ในการแสดงออกเชิงสัญญะ และการต่อสู้ระหว่างชาวเมียนมากับอังกฤษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ล่าสุดต้นหว้าก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยชาวเมียนมาที่นำเอายอดต้นหว้ามาใช้เป็นตัวแทนในการเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกว่า Eygenia Revolution หรือ ขบวนการปฏิวัติต้นหว้า นั่นเอง
Sources :
Facebook | http://bit.ly/38ozKcz
Myanmar | https://bit.ly/2Oi0btN