“เรียนจบมาทำอะไรเหรอ กลับมาเป็นแม่ค้าข้างทางนี่นะ”
คือประโยคคำถามเชิงเสียดสีที่ วราภรณ์ มงคลแพทย์ หรือแนน ถูกถามอยู่เสมอเมื่อคนแถวบ้านรู้ว่าหลังเรียนจบเธอจะกลับมาเปิดร้านขายมะม่วง แต่ความฝันของเธอมีน้ำหนักมากกว่าคำดูถูก เธอค่อยๆ เปิดร้านมะม่วงเล็กๆ ด้วยผลผลิตจากฟาร์มของคุณพ่อที่เธอมั่นใจในรสชาติและคุณภาพ เพราะคุณพ่อตั้งใจผลิตให้คนอื่นได้กินมะม่วงรสชาติดี ด้วยการวิธีดูแลเสมือนมะม่วงทุกลูกเป็นคนในครอบครัว
จากร้านขายมะม่วงข้างทางในวันนั้น เธอได้ค่อยๆ เปลี่ยนมันเป็นสถานที่เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้มะม่วงของคุณพ่อ เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจขายส่งมะม่วงสู่ธุรกิจค้าปลีก จนกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่า Mango Lover ประจำปากช่องที่ต้องแวะมากินสักครั้งในชีวิต ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า ‘บ้านหมากม่วง’
จุดเริ่มต้นแห่งรสชาติหอมหวาน
ตั้งแต่เด็กๆ แนนเห็นคุณพ่อคุณแม่ลำบากบนเส้นทางอาชีพชาวสวนมะม่วง เธอเห็นตั้งแต่ครอบครัวไม่มีอะไร ตอนเธออายุประมาณ 5 ขวบ ที่บ้านขายมะม่วงอยู่ข้างทาง หลังจากนั้นครอบครัวเล็กก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นด้วยอาชีพนี้ คุณพ่อจึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และเธอก็เริ่มคิดว่า คำว่า ‘เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง’ นี้แหละเป็นสิ่งที่เธอหลงรัก
แม้ว่าคุณพ่อจะประสบความสำเร็จมากพอสมควร แต่เธอก็คิดคำนึงว่า ไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ต่อไปอีก 10 20 ปีข้างหน้าเราจะยังมีมะม่วงของพ่อให้กินอยู่หรือเปล่า เธอจึงตัดสินใจรักษาสวนมะม่วงของคุณพ่อด้วยวิธีของเธอเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการตัดสินใจไปเรียนสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร เพื่อที่จะกลับบ้านมาพัฒนาสวนของคุณพ่อต่อ
“ช่วยเล่าเรื่องความผูกพันระหว่างแนนกับมะม่วงให้เราฟังหน่อย” เราย่างเท้าก้าวแรกเข้าสวนมะม่วงด้วยคำถามถึงเด็กหญิงที่โตเพราะมะม่วง และโตมากับมะม่วง
“ถ้าพูดถึงความผูกพันไม่รู้จะต้องพูดยังไง แต่คงต้องเริ่มจากการบอกว่า แนนมีวันนี้ได้เพราะมีคุณพ่อ คุณแม่ และมะม่วง ครอบครัวเราเติบโตมาด้วยอาชีพนี้ แนนไม่รู้ว่าคนทำอาชีพเกษตรกรรมมองผลผลิตตัวเองอย่างไร มองเป็นแค่สินค้ารึเปล่า แต่สำหรับบ้านแนน มะม่วงมีค่ามากกว่านั้น
“ตั้งแต่จำความได้แนนก็เห็นมะม่วงอยู่ข้างเราตลอด แนนมองว่ามะม่วงเป็นเหมือนอวัยวะหนึ่งของคุณพ่อ แล้วทุกวันนี้มันก็กลายมาเป็นอวัยวะหนึ่งของแนนแล้วเหมือนกัน”
‘จึงเรียกได้ว่ามะม่วงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเลย’
เมื่อคนรักมะม่วงทำธุรกิจมะม่วง
ก่อนการเข้ามาของแนน ธุรกิจดั้งเดิมของคุณพ่อเป็นสวนมะม่วงที่มีรูปแบบขายส่ง (Wholesale) เน้นการขายครั้งละมากๆ เป็นหลัก ผ่านการขายเข้าสู่ตลาดผลไม้ขนาดใหญ่อย่างสี่มุมเมือง 70 เปอร์เซ็นต์ และส่งออก 30 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจดำเนินได้เรื่อยมาแต่ก็พบว่ามีบางปีได้กำไรมาก บางปีก็ขาดทุน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องตลาดและข้อจำกัดทางธรรมชาติ แต่การเข้ามาของแนนหลังเรียนจบก็ทำให้สวนมะม่วงของคุณพ่อเปลี่ยนไปตลอดกาล ผ่านโมเดลธุรกิจ ‘บ้านหมากม่วง’
“บ้านหมากม่วงเป็นส่วนธุรกิจที่แยกกับฟาร์มสวนมะม่วงของคุณพ่ออย่างชัดเจน ทำหน้าที่รับซื้อผลผลิตจากฟาร์มเข้ามาบริหารจัดการต่อในบริษัท บ้านหมากม่วงจึงมีหน้าที่เหมือนสถานที่เพิ่มมูลค่าให้มะม่วงในแปลงปลูกของพ่อ สำหรับแนน บ้านหมากม่วงมันเป็นแบบนั้น”
เธอเล่าให้เราฟังว่า ในแต่ละปีสวนของคุณพ่อมีมะม่วงประมาณ 200,000 – 300,000 ผล บ้านหมากม่วงมีหน้าที่ซื้อมะม่วงจากฟาร์มคุณพ่อให้ได้มากที่สุด ยิ่งซื้อได้มากเท่าไหร่ ยิ่งหมายถึงการลดอัตราส่วนที่ต้องส่งเข้าตลาดขายส่ง ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรโดยรวมของธุรกิจ
“ตลาดขายส่งเขาไม่ได้ให้คุณค่าเรื่องรสชาติผลไม้ เราตั้งใจทำให้รสชาติอร่อยขนาดนี้ แต่พอมะม่วงของเราถูกส่งเข้าไปยังตลาดขายส่ง เขาไม่ได้วัดกันว่าของใครอร่อยกว่ากัน สุดท้ายมันวัดแค่ว่าผลผลิตของใครสวยและลูกใหญ่”
‘ตลาดขายส่งจึงไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจของบ้านหมากม่วง ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจในการทำรสชาติมะม่วงให้อร่อย’
ตลาดขายส่งจึงไม่ใช่แนวทางการทำธุรกิจของบ้านหมากม่วง ด้วยรูปแบบกลไกของตลาดที่จำกัด ความต้องการในการทำให้มะม่วงมีคุณภาพดีในแบบฉบับของบ้านหมากม่วง
‘คนไทยไม่ค่อยได้กินผลไม้ดีๆ เพราะผลไม้ดีๆ ถูกส่งออกไปขายเมืองนอกหมด’ คือประโยคที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แต่เธอบอกเราว่า สำหรับวงการสวนมะม่วง สิ่งที่เขาบอกว่าดี มันดีแค่เปลือก ดีแค่ผิว เพราะการทำมะม่วงเพื่อการส่งออก รูปแบบการเก็บเกี่ยวบังคับให้เราต้องเก็บมะม่วงในช่วงเวลาที่ยังไม่สุกดีนัก ได้แค่ช่วงระดับความแก่ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อรสชาติเมื่อมะม่วงสุดรสชาติจะไม่ค่อยหวาน
ผลไม้ส่งออกเต็มไปด้วยข้อจำกัด เนื่องจากต้องผ่านกรรมวิธีหลากหลายก่อนส่งออก ซึ่งไม่เอื้อให้เกษตรกรเก็บผลผลิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้มะม่วงส่งออกได้แค่ความสวย แต่รสชาติกลายเป็นเรื่องรอง
“กลายเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันยากที่เราจะเจอมะม่วงไทยอร่อย แม้ว่าอันนั้นมันจะอร่อยแล้วนะสำหรับต่างชาติ แต่จริงๆ แล้วมันอร่อยได้มากกว่านั้น”
ไม่ใช่แค่ร้านขายมะม่วง แต่เป็นสถานีสร้างมูลค่าเพิ่ม
หนึ่งสิ่งที่บ้านหมากม่วงพยายามบอกคือ ที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงร้านขายมะม่วง แต่เป็นสถานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้มะม่วง เราจึงอยากจะรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน
“เพราะว่าราคาผลผลิตไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้เอง แนนคิดว่าถ้าเกษตรกรทุกคนตั้งราคาได้เองก็คงไม่มีใครขาดทุน เราจึงต้องเพิ่มมูลค่าให้มัน” คุณแนนหัวเราะต่อท้าย
“เผอิญว่าในตลาดขายส่งไม่มีใครสามารถกำหนดราคาเอง ราคา ณ ขณะนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณมะม่วงในประเทศ ถ้าช่วงไหนมีมะม่วงเยอะ ราคาก็จะถูกลงเป็นเรื่องปกติ แต่หากช่วงไหนในตลาดมีมะม่วงน้อย ราคาก็จะสวิงขึ้นเป็นสองเท่าได้เลยทันที มันทำให้ไม่ว่าเราจะตั้งใจทำมะม่วงมาดีแทบตายแค่ไหน เราก็ไม่สามารถกำหนดราคาเองถ้าหากถูกนำไปรวมกับบ้านที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า สุดท้ายต่อให้คุณภาพดีแค่ไหน ก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่คนจะซื้อของเราอยู่ดี ถ้ากองข้างๆ ขายสามโลร้อย”
กลายเป็นโจทย์ทำให้แนนอยากกำหนดราคาขายผ่านแบรนด์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้โมเดลธุรกิจโดยรวมมีกำไร สิ่งที่เธอทำคือการเปลี่ยนรูปแบบการขายมะม่วงจากฟาร์มคุณพ่อใหม่ จากเดิมที่เคยขายส่งเป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นขายปลีก (Retail) ให้ผู้บริโภคโดยตรงผ่านร้านฟาร์มช็อป
รูปแบบการทำงานของบ้านหมากม่วงมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เธอเล่าว่า “แนนไม่มีหน้าที่ทำอะไรเลย นอกจากเข้าใจว่าพ่อทำผลผลิตออกมาดีที่สุดแล้ว การบ้านของแนนมีแค่ทำยังไงก็ได้ให้ผลผลิตของคุณพ่อมีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่มันจะทำได้”
ความน่าแปลกใจคือ รายได้ของบ้านหมากม่วงมาจากการขายมะม่วงสดหน้าฟาร์มเป็นหลักถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่สินค้าแปรรูป เพราะเธอและคุณพ่อตั้งใจทำมะม่วงให้มีคุณภาพเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคได้ทานมะม่วงที่ดีที่สุด เธอยังบอกต่อกับเราว่า
“บางทีเราแปรรูปมะม่วงไปเป็นสินค้าอื่นๆ จะเรียกว่าเสียของก็คงไม่ใช่ แต่ก็คงเป็นการเสียโอกาสในการจะได้มะม่วงสดที่มีรสชาติจากธรรมชาติอย่างแท้จริง”
การเพิ่มมูลค่าของบ้านหมากม่วงจึงไม่ใช่แค่เรื่องการแปรรูป แต่หมายรวมถึงการทำมูลค่าเพิ่มให้ฟาร์มทั้งตัวมูลค่าและคุณค่าลงไปผ่านมะม่วงทุกลูก เพราะว่าอาชีพของเธอคือการทำงานร่วมกับธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถผลิตมะม่วงตามที่เธอต้องการทุกลูก อาจจะมีมะม่วงบางลูกแตก บางลูกผิวไม่สวยบ้างเพราะแมลงศัตรูพืช แต่ข้างในดีเสมือนเงาะถอดรูป สิ่งเหล่านี้หากเข้าตลาดไปก็กลายเป็นผลไม้ราคาถูกเมื่อเทียบกับมะม่วงผิวสวย เธอจึงรู้สึกไม่แฟร์
มะม่วงที่อาจจะไม่สมบูรณ์จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปในที่สุด ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบ้านหมากม่วงจะมีไอศกรีมมะม่วง Mango Stick เป็นมะม่วงแช่แข็งเสียบไม้ มะม่วงกวน มะม่วงอบแห้ง มีแยม มีมะม่วงลอยแก้ว พุดดิ้งมะม่วง ข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งหลักๆ เธอจะเน้นผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้มะม่วงได้อย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความอร่อยของบ้านหมากม่วงที่เธอตั้งใจ
นอกจากหน้าฟาร์มช็อปจะมีบทบาทเป็น Station ไว้ให้คนมา Check-in กินเที่ยว บ้านหมากม่วงก็มักจะมีกิจกรรมแบบเดือนต่อเดือนเพื่อรองรับจำนวนมะม่วงจากสวนของคุณพ่อ ทั้งจัดกิจกรรมแบบ Tourism ให้นักท่องเที่ยวได้มาเห็นมะม่วงจากต้นก่อนจะเสิร์ฟขึ้นโต๊ะในลักษณะ Mango Table เพื่อให้คนได้ดื่มด่ำกับเรื่องราวของมะม่วงมากยิ่งขึ้น และได้กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าคนรักมะม่วงในที่สุด
ความพิเศษจากความใส่ใจ
หลังจากพูดคุยสักพัก เราเกิดข้อสงสัยว่าท่ามกลางมะม่วงมากมายในท้องตลาด มะม่วงของบ้านหมากม่วงพิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่นอย่างไร เธอตอบข้อสงสัยจนเรากระจ่างว่า
“ถ้าถามว่าเราพิเศษยังไงกว่าใครไหม จริงๆ เราไม่เคยพูดว่าเราเป็นเกษตรกรที่ทำมะม่วงดีกว่าที่ไหน ไม่เคยพูดว่ามะม่วงปากช่องดีกว่าที่อื่น เพราะแนนเชื่อว่าเกษตรกรทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำให้ผลผลิตตัวเองออกมาดีที่สุดอยู่แล้ว ความแตกต่างคงอยู่ที่มะม่วงจากบ้านหมากม่วงมีกระบวนการที่เอื้อให้เกิดคุณภาพของมะม่วงลูกหนึ่งจริงๆ จนถึงมือผู้บริโภค
“เพราะเราทำมะม่วงในแปลงเอง เรารู้ว่าเราสามารถปรุงดินให้มะม่วงแบบไหนถึงจะดี จากประสบการณ์กว่าสามสิบปีของคุณพ่อ บวกกับเราขายมะม่วงต่อเดียวไม่มีพ่อค้าคนกลาง ที่สำคัญ เราให้เวลากับมะม่วงจนแก่จัดเองตามธรรมชาติ มันจึงเอื้อให้มะม่วงของเรามีโอกาสอร่อยมากขึ้น ทำให้มะม่วงของเรามีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่ถ้าให้แนนพูดว่าเราดีกว่าชาวบ้านมั้ย แนนไม่อยากพูดแบบนั้น”
หากให้ทุกคนลองจินตนาการมะม่วงที่สมบูรณ์แบบ ก็คงหนีไม่พ้นมะม่วงที่ลูกใหญ่ สวย ไม่มีตำหนิบนผิว ลูกกลม รสหวาน เนื้อแน่น คำตอบทำนองนี้คงเป็นมะม่วงในฝันของใครหลายๆ คน แล้วสำหรับคนทำสวนมะม่วง มะม่วงที่สมบูรณ์แบบหน้าตาเป็นอย่างไร
“สำหรับคนทำสวนมะม่วงมันมีรายละเอียดมากกว่าแค่มะม่วงลูกใหญ่ผิวสวย รสชาติหวาน แนนไม่รู้ว่าในประเทศไทยจะมีเจ้าของสวนมะม่วงที่ได้ปอกมะม่วงของตัวเองปีละไม่รู้กี่แสนลูกแบบเรารึเปล่า เพราะรูปแบบธุรกิจมันเอื้ออำนวยเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้าที่หน้าฟาร์ม และเมื่อเราปอกมะม่วงเองเราจะรู้ได้เลยว่าสภาพเป็นอย่างไร มีคาแรกเตอร์ของรสชาติตามที่เราต้องการไหม มาจากแปลงไหน เพราะเราเก็บมันมาเอง”
โมเดลหน้าร้านของบ้านหมากม่วงกลายเป็นส่วนสำคัญของคุณภาพมะม่วงในฟาร์มของเธอ การได้ปอกมะม่วงด้วยตัวเองเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้าได้ทาน เป็นเหมือนการตรวจสอบคุณภาพของผลผลิต หากมะม่วงลูกนี้มีรสชาติหวานจืดๆ เนื้อเละๆ ก็สามารถตามไปดูว่ามาจากแปลงไหน จัดการธาตุอาหารเพียงพอหรือไม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และเธอยังบอกกล่าวกับเราถึงเรื่องมะม่วงที่สมบูรณ์แบบของบ้านหมากม่วงว่า
“ดังนั้น ในมุมมองของคนที่ทำฟาร์มมะม่วงอย่างเราและคนที่ทั้งได้ชิมมะม่วงตัวเองเยอะขนาดนี้อย่างเรา มันเริ่มไม่ใช่แค่ผิวสวยรสชาติดีอย่างเดียวแล้ว มันต้องไม่มีโรคและแมลง ต้องมีความปลอดภัยมากที่สุด ก่อนถึงผู้บริโภค”
ปากช่องเมืองเกษตร
“ถ้าพูดถึงเขาใหญ่ ปากช่อง แนนคิดว่าภาพลักษณ์ของผู้บริโภคคงเป็นเมืองตากอากาศ เมืองคาเฟ่ มาท่องเที่ยวกินกาแฟ แต่สำหรับเราคนที่ทำมาหากินจากผืนดินตรงนี้ ที่นี่มันเป็นผืนดินเกษตร น้อยคนจะรู้ว่าสำหรับวงการมะม่วงเอง ชุดดินปากช่องคือหนึ่งในห้าของประเทศถ้าเทียบกับแหล่งปลูกอื่นๆ คุณภาพตรงนี้มันไม่ใช่แค่กับมะม่วงแต่หมายรวมถึงผลผลิตอื่นๆ ด้วยอย่างองุ่น ข้าวโพด และพืชอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรเพราะว่าภูมิศาสตร์ที่ดีมากๆ”
กลายเป็นความฝันของเกษตรกรสาวที่อยากให้คนรู้จักเขาใหญ่ปากช่องในฐานะเมืองเกษตรกรรม เธอเลยพยายามร่วมงานกับชุมชนจากเกษตรกรฟาร์มอื่นๆ ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า Farm of the week ice cream โดยหยิบเอาวัตถุดิบจากฟาร์มของเพื่อนๆ มาช่วยโปรโมตผ่านหน้าร้าน ผ่านโซเชียลมีเดีย จัดทัวร์ท่องเที่ยวฟาร์ม หรือแปรเปลี่ยนเป็นไอศกรีมสูตรใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าของกันและกัน
นอกจากบทบาทการเป็นฟาร์มมะม่วง บ้านหมากม่วงยังมีเรื่องราวของการส่งต่อความรู้ผ่านวิชาทรัพยากรท้องถิ่น ที่ทางแนนกับเพื่อนฟาร์มอื่นๆ มาร่วมกันทำหลักสูตรสอนให้กับเด็กๆ ในชุมชน เพื่อทำให้เขารู้ว่าที่เขาใหญ่ปากช่องมีทรัพยากรอะไรบ้าง มีดิน น้ำ มีผลไม้แบบไหน มีสัตว์ป่าแบบไหน มีห้องเรียนที่ชื่อว่าFarm field to classroom สอนบทเรียนเรื่องการเจริญเติบโตของมะม่วงตั้งแต่เมล็ดจนถึงออกผล เพื่อสอนเด็กในชุมชน โดยมีความคาดหวังเล็กๆ ว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับมาทำสวนแบบเธอ เพื่อรักษาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรมต่อไปเรื่อยๆ
ก่อนวางสายเราถามเธอว่า ทำไมยังคงรักอาชีพเกษตรกรมะม่วงอยู่
“คงเป็นความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดไปในเวลาเดียวกัน”
หลังจากจบประโยคเราทั้งคู่ต่างหัวเราะอย่างออกรส ต่อจากนั้นเธอขยายความประโยคดังกล่าว ซึ่งทำให้เราคิดเลยว่าชีวิตของเธอช่างไม่ธรรมดาเหมือนมะม่วงของเธอ
“สิ่งที่ทำให้เรายังทำฟาร์มมะม่วงอยู่ คงเพราะความรักความผูกพัน การที่มะม่วงมีความหมายต่อชีวิตเรามากๆ เพราะเราเห็นสิ่งที่เลี้ยงดูเราจนโตถึงทุกวันนี้ มะม่วงเป็นทั้งอาขีพที่เราและพ่อแม่เราภูมิใจ ยิ่งมาทุกวันนี้แนนทำบ้านหมากม่วง คนเริ่มรู้จักแนนมากขึ้น มีเด็กมากมายที่มาเรียนรู้ มาฝึกงาน เราได้ให้ความรู้ ให้แรงบันดาลใจกับผู้คน ไอ้งานที่เราทำอยู่ทุกๆ วันมันทั้งรักทั้งเกลียด เพราะมันเหนื่อยมากแต่มันกลายเป็นอะไรที่มีคุณค่ามากกว่าแค่ตัวเราเองไปแล้ว”
นอกจากจะสัมผัสได้ถึงความรัก ความทะเยอทะยานในการทำมะม่วงดีๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลองมะม่วงจากบ้านหมากม่วง เรายังแอบเคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราวรสหอมหวานของเธอ จนอยากจะขับรถมุ่งหน้าไปที่เขาใหญ่ เพื่อลิ้มลองรสชาติและเรื่องราวของมะม่วงจากบ้านหมากม่วงที่เต็มไปด้วยความตั้งใจของเกษตรกรอย่างแท้จริง
ภาพ : บ้านหมากม่วง