“หนังไทยไปไกล ถ้าพูดได้หมด” หมู ชยนพ ไก่ ณฐพล - Urban Creature

เอหิปัสสิโก (Come And See) เป็นภาพยนตร์สารคดีตีแผ่มุมมองความศรัทธาในสถาบันบางอย่างผ่านคดีพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย ลำดับล่าสุดของผู้กำกับ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ที่เกือบถูกเซนเซอร์โดยรัฐไทย แต่ตอนนี้กำลังจะได้ลง Netflix วันที่ 1 สิงหาคม 2564 

Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน เป็นภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของสองเพื่อนสนิทที่ติดอยู่ในเฟรนด์โซน ลำดับล่าสุดของผู้กำกับ หมู-ชยนพ บุญประกอบ ที่โลดแล่นบนจอภาพยนตร์ถึง 13 ประเทศทั่วเอเชีย

‘ไก่’ คนน้อง ชอบเล่าเรื่องจริงในสังคมผ่านสารคดี เพราะอยากเพิ่มจำนวนสารคดีในประเทศไทยที่มีน้อย (มาก) ด้วยปัจจัยเสี่ยงยาวนับพันข้อ

‘หมู’ คนพี่ ชอบทำหนังคอเมดี้ เพราะอยากเห็นคนไทยหัวเราะออกมาดังๆ และการลุ้นว่าคนดูจะขำมุกที่ใส่ไว้ในเรื่องไหม นั่นแหละคือความท้าทาย

หมู ชยนพ บุญประกอบ-ไก่ ณฐพล บุญประกอบ-ผู้กำกับหนัง
หมู-ชยนพ บุญประกอบ (ซ้าย) และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ (ขวา)

ทั้งสองมีมุมมองการกำกับ ลีลา และจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่การเป็นคนทำหนังเหมือนกันนี่แหละ คือจุดร่วมที่ทำให้ฉันนัดสองพี่น้องบ้านบุญประกอบมาคุยถึงการเลือกให้คุณค่างานศิลปะของรัฐไทย การปิดปากงานสร้างสรรค์ และการไม่ยอมรับความจริง จนทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยติดปัญหา ยังไปได้ช้าพอๆ กับการมีวัคซีนโควิด-19 ดีๆ ในประเทศ

วงการหนังไทยแบบไหนที่พวกคุณอยากเห็น

หมู : อยากเล่าอะไรก็ได้ เพราะคอนเทนต์ดีๆ ‘ทุกประเภท’ จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เมื่อประเทศมีอิสระทางความคิด

ไก่ : อยากให้มันไปไกลขนาดที่พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ถ่ายหนัง Memoria เล่าสถานการณ์ในไทยได้ เหมือนกับที่ไปถ่ายที่โคลอมเบีย แล้วก็…ทุกคนได้ฉีดวัคซีน mRNA แล้วครับ

ฉัน : สาธุค่ะ

01 ‘อุตสาหะ’ และ ‘กรรม’ ของหนังไทย

ไก่ ณฐพล บุญประกอบ-หมู ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับหนัง-SuckSeed ห่วยขั้นเทพ
ไก่-ณฐพล บุญประกอบ และ หมู-ชยนพ บุญประกอบ โปรโมตหนัง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ

10 ปีแล้ว ที่หมูและไก่สวมบทบาทผู้กำกับหนังยาว ที่ฝากลายเซ็นการกำกับซึ่งทำให้ใครหลายคนอยากซื้อตั๋วเข้าไปดู แม้ทั้งคู่จะเริ่มจากผลิตหนังสั้น โดยหมูทำ SuckSeed สมัยเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมีรุ่นน้องสนใจอยากทำภาคสอง และผลัดใบมาถึงภาคสามในรุ่นของไก่ จนเข้าตาผู้กำกับและนักเขียนบทมากฝีมืออย่าง เก้ง-จิระ มะลิกุล อยากดัน SuckSeed เป็นหนังยาว จึงเรียกรวมพลคนทำหนังทั้งสามภาคมาระดมไอเดีย เกิดเป็น SuckSeed ห่วยขั้นเทพ

“ในยุคที่ผมโตมา หนังไทยค่อยๆ ไต่ระดับความน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ หนังบทดีและหนังทำเงินไปด้วยกันได้อย่างแนบเนียน เข้าถึงคน และถูกยอมรับทั่วโลก ทั้ง นางนาก ของพี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร เราก็แบบโห หนังไทยมันดีขนาดนี้เลยเหรอ เบ่งบานต่อในยุค พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะเป็นยุค แฟนฉัน และ มหาลัย’เหมืองแร่ ที่กระแสแรงต่อเนื่อง GTH ยอดร้อยล้านปีเว้นปี อีกทั้งตอนนั้น พี่มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เพิ่งเรียนจบ แต่ทำหนังฉายโรงได้แล้ว เฮ้ย ทำให้เราเห็น Potential ของหนังไทยในตอนนั้นมาก” ภาพแรกๆ ที่หมูมองวงการหนังไทย

“พอมาเป็นผู้กำกับจริงจัง มองย้อนไปตอนทำหนังสั้นในคณะฯ เพื่อนๆ เอาใจช่วย บอกเราว่า เออ กูดูแล้วเข้าใจนะ แต่ในโลกความเป็นจริง คนนอกเขาไม่ได้มานั่งเชียร์เรา เป็นธรรมดามากที่คนทำหนังต้องเจอวันที่แป้ก อาจจะเป็นแคสนักแสดงที่ทำให้คนเชื่อไม่ได้ ฉาก หรือโปรดักชัน ที่ทำให้ไม่มีอารมณ์ร่วม การโปรโมต และเรื่องเทรนด์ก็สำคัญ ต่อให้หนังดีแค่ไหน ถ้ามันไม่เข้าเทรนด์ ไม่เข้าถึงง่าย คนก็อาจจะดูน้อยลง หรือไม่ดูเลย เรื่องจำนวนโรงก็เป็นสิ่งสำคัญ สมมติหนังกระแสแรง คนอยากดูโคตรๆ แต่พอไม่มีโรงใกล้บ้าน คนก็ไม่ดูแล้ว สิ่งเหล่านี้มันไว และต้องอาศัยความแม่นยำ ถึงจะทำให้หนังได้กำไร ผมว่ามันเป็นศาสตร์ที่ยากจังเลย (หัวเราะ)” นี่คือความเห็นไก่ผู้มีโอกาสเรียนรู้ทุกกระบวนในการนำสารคดีของตัวเองเข้าโรงหนังเอง

หมู ชยนพ บุญประกอบ-ไก่ ณฐพล บุญประกอบ-ผู้กำกับหนัง-เมย์ไหน-ไฟแรงเฟร่อ (May Who?)
หมู-ชยนพ บุญประกอบ และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ทำท่าทางตัวละครในหนัง เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (May Who?)

“หนังทุกเรื่องเป็นการทดลอง สุดท้ายเราควรจะเริ่มทำมันจากรสนิยม และความสนใจของตัวเองก่อน ไม่ว่าจะสเกลสั้น ยาว หรือหนังประกวด ถ้าเราชอบที่สุด สนุกที่สุด มันจะเป็นสิ่งที่เราทำได้มากที่สุด เพราะเราไม่มีวันรู้หรอกว่าคนดูเขาจะนู่น นี่ นั่น กับหนังของเรายังไง ไม่งั้นมันจะว่อกแว่กมาก ถ้าคิดตลอดว่าทำหนังแบบนี้มันจะถึงคนดูไหม ฉะนั้นเราตั้งใจอยากสื่อสารอะไร ก็กำกับไปให้สุดความสามารถก่อนดีที่สุด” หมูและไก่ช่วยกันเสริม

อุตสาหกรรมหนังไทยตอนนี้ล่ะ?

ทั้งคู่ตอบกลับเป็นเสียงเดียวว่า “เปลี่ยนไปเยอะมาก” ก่อนหมูจะเป็นตัวแทนอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากช่องทางในการนำเสนอมันเปลี่ยน วิธีการสร้างงานจึงต้องปรับตาม 

เช่นหากจะถ่ายหนังสักเฟรม การวางกล้องสำหรับถ่ายเพื่อฉายในโรงหนัง ฉายในจอมือถือ และฉายในสตรีมมิง ต่างคิดไม่เหมือนกัน ฉายในโรงหนัง หน้าคนจะใหญ่กว่าที่เห็นในจอมอนิเตอร์อีกพันเท่า หรือเวลาโฟกัสการถ่ายให้เป็นหน้าชัดหลังเบลอ มันอาจสวยในจอมอนิเตอร์ แต่พอไปอยู่ในโรงหนัง จะเป็นวุ้นจนดูไม่รู้เรื่อง 

รวมถึงหากตั้งใจว่าหนังเรื่องนั้นผู้ชมดูได้บนมือถือระหว่างเดินทาง ก็ควรใส่ซับไตเติลประกอบ เพราะคนดูเดี๋ยวนี้ไม่นิยมเปิดเสียง ดังนั้นจึงต้องคิดเผื่อปัจจัยเหล่านี้ตั้งแต่ต้นทาง

หมู-ชยนพ บุญประกอบ-ผู้กำกับหนัง
หมู-ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับหนัง

“ทุกวันนี้หนังถูกแปลงเป็นออนไลน์มากขึ้นด้วยสถานการณ์ต่างๆ พออยู่บนสตรีมมิง มันไม่ใช่การที่เดินไปหน้าโรง แล้วมีชอยส์ให้จิ้มเลือกอย่างจำกัด แต่กลายเป็นว่ามีให้เลือกมากกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง ฉะนั้นมันไม่ได้แข่งว่ามีหนังอะไรเข้าโรงบ้าง เรากำลังแข่งกับซีรีส์เกาหลี หนังมาร์เวล หนัง Original Content ของสตรีมมิงแต่ละเจ้าที่ฉายทั่วโลก ใช้ทุนระดับโลก ซึ่งมันโคตรยาก

“ผมดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Vincenzo ยี่สิบตอนรวด ไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมดัง เพราะเขาคิดได้ยังไง เอามาเฟียอิตาลีมารวมกับความเกาหลี ทั้งสนุก ตลก และจริงจัง การกล้าจะเล่าเรื่องมาเฟียอิตาลีในเกาหลี โดยไม่ยัดเยียดวัฒนธรรมเกาหลีเข้าไปเลย 

“มีอิสระในการพูดปัญหาสังคม ยกเรื่องใกล้ตัวแต่มีอิทธิพลต่อเขาได้ ทั้งคอร์รัปชันในเกาหลี บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กุมอำนาจในสังคม โดยมีพระเอกมาต่อกรกับความปีศาจด้วยวิธีการปีศาจเหมือนกัน และมันเกี่ยวโยงไปถึงผู้มีอิทธิพลในการเลือกตั้งผู้นำประเทศ ทั้งหมดนี้เล่าได้เลยผ่านจอ

“ถ้าประเทศไทยอยากตีตื้นขึ้นมา ผมว่าก็ต้องเสพงานให้หลากหลาย ตามทันโลก ไม่ใช่แค่เทรนด์ความเป็นไทยอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคสมัยนี้คือคนทั่วโลก เราต้องดูครับว่าตอนนี้ประเทศอื่นเขาเล่าอะไรกัน ความดาร์กมากขึ้น โลกสวยน้อยลง สะท้อนปัญหาสังคมดีขึ้น 

“ซึ่งข้อได้เปรียบของเราคือความที่ผู้กำกับไทยรู้อินไซต์คนไทย เราจับดีเทลต่างๆ มาให้คนไทยด้วยกันอินได้ก่อนเลย ทำหนังจีบกัน ทำหนังสถานการณ์บ้านเมือง คนไทยก็จะทัชได้ง่าย แต่นั่นแหละครับ คอนเทนต์ดีๆ เหล่านี้จะเกิดได้ เมื่อประเทศมีอิสระทางความคิดก่อน” หมูกล่าว

02 ขาวจั๊วะ ดำปี๋ แล้วเทาอยู่ตรงไหน

ไก่-ณฐพล บุญประกอบ และ หมู-ชยนพ บุญประกอบ สองพี่น้องผู้กำกับหนัง

ในฐานะที่สารคดี เอหิปัสสิโก (Come And See) ของไก่ เคยเกือบถูกห้ามฉาย ฉันเลยยิงคำถามถึงเขาโดยตรงไปว่า ทำไมประเทศไทยมีหนังไทยหรือสารคดีไทยที่เล่าปัญหาสังคมน้อยเหลือเกิน

เขาตอบกลับมาว่า บ้านเรามีปัญหาในการมองคนเป็นขาว-ดำ ดีสุด-เลวสุด

“คนทั่วไปมีภาพจำกับสารคดีค่อนข้างแคบว่าเป็นเรื่องราวที่วิชาการจ๋า หรือเกี่ยวกับสัตว์ ธรรมชาติ แต่จริงๆ สารคดีบนโลกมันมีเยอะมาก มันแค่ไม่ถูกแปล และนำเข้ามาฉายในบ้านเรา 

“หรือผู้กำกับสารคดีในไทยเองจะต้องแบกความเสี่ยงว่าจะเกิดอันตราย กฎหมายที่อาจโจมตีบางคอนเทนต์ ไปท้าทายคนมีอำนาจ ถ้าเทียบกับหนังไทยที่แต่งขึ้นมาเอง สารคดีจึงกลายเป็นอะไรที่ดูยาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยากเพลิดเพลินกับเรื่องแต่ง มากกว่ากระหายเรื่องจริง นำไปสู่การที่มีแหล่งทุนน้อย 

“ปัญหาหนักสุดของไทยคือการมองคนเป็นขาวดำ คนชั่วดำปี๋ คนดีขาวมาก ไม่มีรอยด่างพร้อย คนตายไปแล้วจะกลายเป็นสีขาว ห้ามขุดคุ้ยตั้งคำถามว่าเขาตายเพราะอะไร เป็นรากฐานของระบบการเรียนการสอนตั้งแต่ในห้องเรียนเลย 

“ซึ่งสารคดีโดยธรรมชาติของมันคือเรื่องของคน คนทุกคนเป็นสีเทา มีดีบ้าง ชั่วบ้าง ทั้งคนตัวเล็กๆ คนธรรมดา บุคคลสาธารณะ คนขับเคลื่อนทางสังคม และผู้มีอำนาจ แล้วมึงมาบอกให้คนมีแค่ขาวกับดำ เราจะทำหนังไทยสีเทาออกมาในสังคมได้ยังไง 

“Free Speech ในบ้านเรามันไม่มีขนาดนั้น ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายต่อการตั้งคำถาม หรือใครก็ตามที่ชาเลนจ์กับรัฐในทุกแพลตฟอร์มการแสดงออก การพูดตามท้องถนน โซเชียล ทุกอย่าง มันถูกจัดการโดยรัฐ เพราะฉะนั้นความหวังว่าคนจะยอมเสี่ยง ทั้งเรื่อง ทุน คนดู กฎหมาย รัฐ การหา Subject หรือค่านิยมการไม่เปิดโอกาสให้สีเทาเข้ามาในชีวิตคนที่เขารัก มันทำให้พวกกู (คนทำสารคดีสีเทา) รู้สึกว่าแล้วจะทำยังไงดีวะ”

ไก่ ณฐพล บุญประกอบ-ผู้กำกับหนัง-สารคดี-เอหิปัสสิโก (Come And See)
ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนังสารคดี เอหิปัสสิโก (Come And See)

แม้ไก่จะรู้สึกว่าการทำสารคดีสีเทาเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่เมื่อมานั่งชั่งน้ำหนักดูแล้ว เขากลับมองว่ามันมีประโยชน์มาก หากคนในวงกว้างได้รับรู้ถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เขายืนหยัดตอนทำ เอหิปัสสิโก (Come And See) ว่าถ้ามีความเสี่ยงก็จะยอมรับมัน เพราะอยากเป็นปุ๋ยให้สารคดีไทยเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ

“หลายประเทศเขามีกฎหมายแข็งแรงคุ้มครองคนทำหนัง มีเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าเรา แต่ในสายตาเขาก็อาจจะมีปัญหาอะไรสักอย่างในการควบคุม แต่โจทย์ของบ้านเรา คือมึงปิดกูเหลือเกิน” ฉันฟังแล้วก็เริ่มเดือดตามไก่

“ไม่ใช่แค่สารคดี แต่ภาพยนตร์ก็ไม่มี Free Speech เท่าไหร่ เหมือนตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยชินกับการทำไม่ได้ไปแล้ว ไม่เคยตงิดใจว่าทำไมเราทำแบบนี้ แบบนั้น แบบโน้นไม่ได้ สมมติเราเล่าเรื่องนี้ได้ พูดเรื่องนั้นได้ มันคงเหมือนเปิดประตูกว้างๆ สามารถสร้าง Soft Power ของประเทศ ส่งออกได้พอๆ กับเกาหลีใต้ 

“แม้ประเทศอื่นเขาจะมีปัญหาของเขา แต่ข้อพื้นฐานคือเขามีอิสระในการเล่า ก็อดอิจฉาไม่ได้นะ และน่าเศร้าใจที่คนทำหนังไทยเหมือนเผลอเซนเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ห้ามแตะสถาบัน ศาสนา ความเชื่อ เพราะคนบางกลุ่มรับไม่ได้ ทำให้ผู้กำกับหลายคนต้องเล่าแบบหลอกๆ หรือซ่อนไว้ในเนื้อเรื่อง เพื่อแสดงความคิดที่แท้จริงของตัวเอง เพราะเราตรงๆ ไม่ได้ จนบางทีผมก็คิดว่าหรือประเทศไทยอาหารอร่อยอย่างเดียว (หัวเราะ)” ความคิดเห็นของหมูไม่ต่างจากไก่เท่าไหร่นัก

“ผมชอบหนังอิหร่านมาก ผู้กำกับอิหร่านหลายคนเลือกที่จะทำหนังสะท้อนสังคม แม้อิหร่านจะเป็นประเทศที่ถูกเซนเซอร์อย่างเข้มข้น เพราะรัฐเอาศาสนามานำ ผู้กำกับคนหนึ่งชื่อว่า อัสการ์ ฟาร์ฮาดี เคยโพสต์ว่า การเซนเซอร์ก็เหมือนหินที่กั้นทาง แต่ศิลปะมันคือน้ำ ยังไงน้ำจะหาทางฝ่าหินเข้าไปได้ ไม่ว่ามึงจะกั้นหินก้อนเท่าไหนก็ตาม” ไก่ย้ำชัดว่าประโยคนี้น่าใส่ในบทความ

03 การกำกับหนังไทย และปัญหาบ้านเมือง

ไก่ ณฐพล บุญประกอบ-หมู ชยนพ บุญประกอบ-สองพี่น้องผู้กำกับหนัง
ไก่-ณฐพล บุญประกอบ และ หมู-ชยนพ บุญประกอบ สองพี่น้องผู้กำกับหนัง

ประเด็นที่น่าสนใจจากปากของทั้งคู่ คือการมองหนังไทยผ่านบริบทสังคม ในมุมของหมู เขาคิดว่า เมื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา มันจะบอกเล่าเรื่องราวในสังคมตามยุคนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ 

สมมติย้อนกลับไปดูเหตุการณ์รัฐประหารยุคแรกๆ ละครไทยเต็มไปด้วยเรื่องราวรักชาติ เพราะนโยบายส่งเสริมสังคมช่วงนั้นเป็นแบบนั้น หรือในยุคที่การเมืองดุเดือด ทำไมถึงมีแต่ละครรักประโลมโลก แม้กระทั่งการทำหนัง Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน ก็สะท้อนว่าทำไมหนังถึงไม่พูดอะไรเกี่ยวกับสังคมเลย แม้เขาจะไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นจดหมายเหตุบอกสภาพสังคมก็ตาม

แบบนี้มุมมองการกำกับต่างจากเมื่อก่อนไหม พอบ้านเรามีปัญหาบ้านเมืองเยอะ?

“จริงๆ เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เราชอบก่อนครับ หน้าที่ของเราคือซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่เราอิน ไม่ควรตั้งโจทย์ว่าเราต้องแทรกการเมืองเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นคนแบบนั้นจริงๆ มันไม่ใช่ข้อบังคับ แต่คนอยากเล่าก็ควรจะได้เล่าครับ” หมูว่า

“ผมว่าต้องแบ่งเป็นงานจ้าง และงานส่วนตัว งานจ้างเราก็ทำตามโจทย์ของผู้จ้าง อาจไม่สามารถใส่การเมืองเข้าไปได้ แต่งานจ้างล่าสุดที่ผมทำ คือพูดเรื่องการเมืองเลย ซึ่งลูกค้าชัดเจนมาก แบบนี้เราก็ได้ทำตามความต้องการของเราไปด้วย ส่วนงานส่วนตัวผมว่ามันก็ต้องเป็นเมสเซจที่เราอยากพูด ความอึดอัดใจในช่วงวัยนั้นๆ วันๆ เราพูดเรื่องไรกันวะ เราก็ทำออกมาเป็นหนัง คำตอบก็คือ ใช่ ครับ ปัญหาบ้านเมืองมันมีอิทธิพล” ไก่เสริม

04 ร้องหายาชูกำลังให้หนังไทย

หมู-ชยนพ บุญประกอบ และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ สองพี่น้องผู้กำกับหนัง

หลายความคิดในโลกโซเชียล และคนในวงการหนังไทยเอง ต่างพูดกันเสมอ และพูดมานานแล้วว่า “หนังไทย ผู้กำกับเก่ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน” ผู้กำกับสองคนตรงหน้าที่พูดออกมาผ่านหน้าจอโน้ตบุ๊กของฉัน ก็ยืนยันว่าเป็นความจริง

“ปัญหาเบสิกของอุตสาหกรรมหนังไทยคือ การคิดต้นทาง บท ไอเดีย เวลาจะทำสิ่งนี้มันมีน้อยมากครับ เวลาในการเขียนบทหนังยาว บางทีมีให้สองถึงสามเดือน เวลาผมได้ยินจากเพื่อนๆ น้องๆ ก็คิดว่า เฮ้ย ทำไมให้เวลาน้อยจังวะ เพราะว่าผมทำต่ำสุดคือแปดเดือน เขียนบทอย่างเดียว แก้เป็นสิบๆ รอบ เพราะว่าจะทำให้มันดี มันก็ยากด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว โยงไปที่คำถามว่าทำไมเวลาน้อย คำตอบคืองบจำกัด การสนับสนุนต้นทางไม่พอ การให้ความสำคัญกับหนังไทยมีน้อย ไม่เชื่อที่จะลงทุนในจุดนี้” หมูพูดจบก็รอฟังคำตอบจากน้องชายต่อ

“อืม (นิ่งคิด) บ้านเรามีการสนับสนุนระดับหนึ่งแหละ แต่ว่าเลนส์ที่เขาใช้มองวัฒนธรรมหนังไทยบ้านเรามันมีปัญหา ประเทศไทยมันเป็นประเทศที่ไม่ยอมรับตัวเอง อยู่ในจุดของ Identity Crisis พยายามบอกว่ากูคือใคร กูเป็นอะไร มีชุดความเป็นไทยผ่านรัฐโดยไม่สนใจสภาพสังคม 

“รัฐที่คอยชี้ว่าอาหารชาววังอร่อยที่สุด นำไปสู่การเผยแพร่สิ่งเหล่านั้นออกไป ผมไม่ปฏิเสธนะว่ารำไทย อาหารไทย ลายกระหนก ต่างชาติจะมองว่ามันว้าว แต่ต้องหันมามองบริบทในประเทศด้วยว่าการมีแนวคิดแบบนี้มันทำให้ความหลากหลายในการผลิตผลงาน มันไปไม่ถึงไหน นั่นทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวบนท้องถนน คำถามที่คนรุ่นใหม่ตั้ง ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาบ้านเมืองที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนอะไรเลย” น้องชายของเขาตอบได้ดีทีเดียว

อย่างที่เขาทั้งคู่ว่านั่นแหละ ประเทศไทยมีคนเก่งระดับโลกอยู่ในมือ แต่หลายคนกลับถูกผลักไปอยู่ประเทศอื่น เพราะถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากคนบางกลุ่มอยากรักษาอำนาจของตัวเอง แล้วแบบนี้หนังไทยจะไปได้ไกลแค่ไหนในอีก 10 ปี บางทีผู้กำกับทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่อาจช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ได้ ด้วยพลังการเปลี่ยนแปลงของทุกคน

โครงการ NIA Creative Contest 2021: VIRTUAL BOOTCAMP เวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปส่งไอเดียผลิตหนังสั้นที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับอนาคต ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ – 30 กรกฎาคม 2564 https://bit.ly/2SGOtLz)

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.