วันหนึ่งเราไถเว็บไซต์ Bangkok Design Week ไปเรื่อยๆ ดันเตะตากับตึกแถวเก่าที่ถูกถอดแบบมาให้กลายเป็นของที่ระลึก ไม่รอช้า เราโทรหา ตู้–ฐปนัท แก้วปาน อาจารย์ประจำสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หนึ่งในทีม Blue Bangkok ที่ถ่ายทอดรูปแบบสถาปัตย์ ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวชุมชน จากสถานที่จริงสู่งานออกแบบทั้งสองมิติและสามมิติ เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งความทรงจำ
ตึก ตึก ตึก
เรามีนัดกับตู้แถวท่าเตียน เมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้น ตู้เริ่มเล่าว่าตัวเขาเองผูกพัน คลุกคลี และรู้ที่รู้ทางในย่านเก่าเหล่านี้มานาน ก่อนจะบอกถึงจุดเริ่มต้นของของที่ระลึกที่เรากำลังจับเล่นขณะพูดคุย
“เราเรียนแถวนี้ พ่อก็ทำงานแถวนี้ ขึ้นรถเมล์กลับบ้านก็ต้องแถวนี้ ตั้งแต่ปากคลองยันท่าเตียน จนมาเรียนที่ศิลปากรมันก็ซึมซับบรรยากาศของย่านเก่า นอกจากเรื่องดีไซน์ ก็สนใจเรื่องสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และชุมชน พอเรียนจบเราเลยทำงานเกี่ยวกับชุมชน ซึ่งงานเกี่ยวกับของที่ระลึก เราทำงานพวกนี้มาตั้งแต่เรียนจบ รวมกลุ่มกันไปพัฒนางานฝีมือ จนเมื่อประมาณ 5 ปีนี้ที่รู้สึกว่าต้องทำบางอย่างที่ไม่ได้อิงกับชุมชนด้วยเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นของพวกนี้”
ในทีม Blue Bangkok มี ตู้–ฐปนัท แก้วปาน เป็นนักสำรวจ นักออกแบบ และสเกตช์ตึกทั้งหลายให้กลายเป็นต้นแบบที่ดูเข้าใจง่าย ทั้งยังมีเชษฐชาติ ทาชาติ เป็นคนทำ 3D Printing เพื่อเป็นต้นแบบในการต่อยอดชิ้นงาน และสุริยา วังบอน เป็นผู้ผลิตงานดินเผาและเคลือบสี
ของที่ระลึกที่เริ่มต้นจากการเดิน
“เราไม่รู้จะเริ่มต้นจากอะไร ไม่รู้จะไปไหน ก็เริ่มจากการเดินนี่แหละ”
ตู้ไม่กั๊กที่แบไต๋ว่า เขาใช้ความผูกพันกับสถานที่ในการออกเดินสำรวจย่านเก่า เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ ตั้งแต่เดินเข้าห้องสมุดศิลปากร จนเจอหนังสือสถาปัตย์ที่โชว์แปลนอาคารย่านเก่า เดินดูอาคารโบราณไปเรื่อยๆ รวมถึงค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาสมทบ
และเมื่อรู้จริงว่าอาคารแต่ละหลังมีที่มาที่ไปอย่างไร นั่นจึงไม่ใช่แค่การเลือกตึกมาทำเป็นของที่ระลึกจากความชอบเท่านั้น แต่ยังรู้จักตึกอย่างถ่องแท้ และถอดแบบออกมาอย่างเข้าใจ
จากของจริงสู่กระดาษ จากกระดาษสู่ของจริง
ตู้พาความรู้และความชอบเรื่องของที่ระลึกเข้ามาในโปรเจกต์ของ Bangkok Design Week 2021 โดยในวันที่เรามาพูดคุยกับเขา ยังอยู่ในช่วงของการขึ้นโมเดลเพื่อต่อยอดเป็นชิ้นงานต่างๆ ตั้งแต่แม่เหล็กที่ระลึก พวงกุญแจ แก้วกาแฟ จานรองขนาดเล็ก ไปจนถึงกระดิ่งลม ซึ่งสถาปัตยกรรมที่พี่ตู้เลือกนำมาแปลงร่างเป็นของที่ระลึก ก็จะมีพวกตึกแถววัสดุปูน อาคารปิดมุม รวมถึงบ้านไม้ และตัวอย่างที่เราได้เห็นวันนี้คือ ‘ตึกแถววัสดุปูน’ นั่นเอง
โดยการถอดแบบของตู้นั้นไม่ใช่ว่าจะคัดลอกมาทั้งดุ้น แต่ตัวอย่างผลงานที่เราได้เห็นครั้งนี้ที่จะถูกพัฒนาไปเป็นของที่ระลึกในอนาคต เขาได้ตัดทอนรายละเอียดบางส่วนให้ผลงานดูเข้าถึงง่าย ดูเป็นลายเส้นการ์ตูน และหยิบจับถนัดมือมากขึ้น
ขีด เขียน ร่าง สร้างตึก
หากยังไม่เห็นภาพว่าของที่ระลึก 1 ชิ้นมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นักออกแบบเริ่มอธิบายว่า เมื่อได้ภาพถ่ายอาคารหลังนั้นๆ มาแล้ว จะเริ่มจากการสเกตช์ให้ลายเส้นดูชัดเจน มั่นคง และคมชัด เพื่อต่อยอดไปสู่ขั้นตอนต่อไปนั่นคือการขึ้น 3D ในคอมพิวเตอร์ ตามด้วยการขึ้นโมเดลและทดสอบการลงสีด้วยเรซิ่น สุดท้ายนำไปพัฒนาเป็นของที่ระลึกที่อาจใช้วัสดุไม้ เซรามิก หรือวัสดุใดๆ ได้ตามต้องการ
ตู้พาเราย่ำย่านเก่าที่เราและเขาต่างคุ้นเคยกับตึกที่อยู่เบื้องหน้าของเราเป็นอย่างดี นั่นคือ ‘ออน ล็อก หยุ่น’ ร้านอาหารเช้าในดวงใจที่ใครต่างก็เคยแวะมา เราไม่พลาดที่จะบันทึกความน่ารักของของที่ระลึกไว้สักแชะสองแชะ เพื่อเก็บเป็นความทรงจำเผื่อวันหนึ่งต้องห่างกันไกลจากย่านเก่าที่เราผูกพัน ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างจากบรรดาตึกทั้งหมดที่เขาออกแบบไว้
นักออกแบบคนนี้ยังชวนตั้งคำถามอีกว่า เวลาไปต่างประเทศทำไมเราถึงเห็นของที่ระลึกแบบนี้กระจายอยู่ทั่วไปเลยล่ะ แต่ทำไมในประเทศไทยของที่ระลึกถึงหาแบบนี้ได้ยาก หรือถ้ามี ดีไซน์ของมันก็ไม่น่าจับจองสักเท่าไร นั่นทำให้เราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของนักออกแบบที่อยากให้ในย่านเก่าบ้านเรามีของที่ระลึกที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้และไม่ดูล้าสมัย
ก่อนจากกันเขาพาเรามาหยุดที่ ‘วังสราญรมย์’ อาคารสีละมุนสไตล์อิตาลี ตู้ยกของที่ระลึกตัวอย่างขึ้นมาเทียบกับตึกจริง ชวนอดคิดไม่ได้เลยว่า ถ้าไม่มีของที่ระลึกชิ้นนี้เราคงไม่ได้รู้สึกใกล้ชิดกับมันสักเท่าไหร่ เพราะตึกรามที่โอ่อ่าในย่านพระนครส่วนใหญ่นั้นตั้งสง่าอย่างเหงาๆ ไม่ได้เปิดให้ใครเข้าไปชมได้ง่าย เราจึงได้เชยชมความงามของตึกผ่านรั้วเหล็กเท่านั้น
ซึ่งการได้มาพูดคุยกับตู้ในวันนี้ นอกจากได้เห็นตัวอย่างของที่ระลึกที่เราเองก็รอลุ้นว่าของจริงมันจะหน้าตาออกมาเป็นอย่างไรในงาน Bangkok Design Week 2021 ปีหน้า เรายังได้ซึมซับความรู้ และคุยเฟื่องเรื่องตึกๆ กับตู้จนเกือบจะเนิร์ดเรื่องสถาปัตย์และการออกแบบ และเขายังทิ้งท้ายกับเราอีกว่า
“หากวันหนึ่งอาคารที่เราเคยเห็นทุกวันมันเลือนหายไปตามกาลเวลา อย่างน้อยเลยคือสิ่งของชิ้นน้อยใหญ่เหล่านี้มันจะเป็นเหมือนตัวแทนแห่งความทรงจำประจำย่าน”