“เดินป่า” ใครล่ะจะไม่ตื่นเต้น ยิ่งรอบนี้ต้องบุกป่าด้ามขวานไทยแห่งนราธิวาสอย่าง “ฮาลาบาลา” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “แอมะซอนแห่งเอเชีย” จากแพลนที่ตั้งใจจะมาอย่างชิลๆ สโลวไลฟ์ กลายเป็นว่าต้องเจอฝนลูกใหญ่ เปลสนามที่กางไว้ รวมถึงฟลายชีตที่มุงเป็นหลังคาสู้ฝนก็ต้องยอมยกธงขาว แต่เรื่องราวที่จะเล่าต่อจากนี้ แม้เราอยากจะฝอยเรื่องบุกป่าฝ่าดงที่ได้ประสบการณ์แบบท่วมท้น แต่ก็ต้องพักไว้ก่อนเพราะนอกจากความตื่นเต้น อย่างเหตุการณ์ก้นจ้ำเบ้าจากดินที่ลื่นในระหว่างทางแล้ว เรื่องราวอาหารของชาวบ้านที่เราได้ลิ้มลอง บอกได้คำเดียวว่าข้าวจานเดียวไม่พอ และการมาในครั้งนี้ทำให้เรามองเมืองด้ามขวานต่างออกไป
เรารู้จักป่าผืนนี้ผ่านอาจารย์ที่เคยเรียนด้วยสมัยมหาลัย ซึ่งเป็นคนสายลุยชอบเดินป่าเหมือนกัน ทริปนี้จึงมีทั้งลูกศิษย์และอาจารย์พากันออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปลุยป่าศึกษาธรรมชาติ เราจองทริปผ่านไกด์ท้องถิ่นที่ทุกคนเรียกเขาว่า “ป๋าดุก” ผู้ชำนาญในพื้นที่ โดยเราเตรียมตัวกันหลายเดือนจึงจองได้ในราคาเป็นกันเอง ด้วยความทิ้งช่วงนานบวกกับงานที่ชุกชุม แทบไม่มีเวลาพอให้ตื่นเต้น แต่เมื่อเท้าเหยียบสนามบินเท่านั้นแหละใจก็เต้นแรง
ป่าใต้ครั้งแรก ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ขอเกริ่นนิดหนึ่งละกัน ป่านี้อยู่บนเทือกเขาที่ทอดยาว สามารถขึ้นได้ทั้งฝั่งนราธิวาส และยะลา แต่ครั้งนี้เราขึ้นทางผาพบสน อ.สุคิริน นราธิวาส
“เรื่องการเดินป่าแห่งนี้ง่ายมาก!”
นั่นเป็นความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว แต่ภาพที่เจอตรงหน้าในระหว่างทาง แทบต้องหันมาถามกับเพื่อนว่า นี่เรามาทำอะไรกันวะ เมื่อขาเริ่มล้ากับการต้องเดินแข่งกับเวลา เนื่องจากพี่ผู้พิทักษ์ป่าที่เดินนำไม่อยากให้ถึงที่หมายดึกเกินไป เพราะไหนต้องผูกเปล กางฟลายชีต แถมท้องก็เริ่มกิ่ว
สวรรค์ในใจของการขึ้นไปถึงจุดหมาย คงเป็นการได้เห็นทะเลหมอกสองแผ่นดิน คือฝั่งไทยและมาเลเซีย มันคือเป้าหมายสูงสุดที่เราอยากขึ้นไปเห็นพระอาทิตย์ทอแสงอ่อนกับหมอกที่เคลื่อนตัวผ่านหน้า เสียงของนกที่ตอบโต้กันตลอดทางที่เราเดิน
เมื่ออิ่มเอมกับธรรมชาติเต็มที่แล้ว เราลงมาจากป่าพร้อมหอบท้องที่หิวอย่างสุดขีด เนื่องจากขาลงใช้พลังมากกว่าตอนขึ้น เพราะเมื่อคืนฝนตก ดินลื่น บวกกับทางที่ชันมาก เราจึงไม่สามารถเดินได้เร็วนัก ลองคิดดูสิว่าถ้าเราลื่นคนข้างหน้าก็อาจจะเสียหลักตามได้ และต้องเว้นระยะการเดินไม่ให้ชิดคนข้างหน้าเกินไป
หอบความหิวมาคดข้าว 2 จาน กับสำรับมื้อแรกหลังลงจากป่า
ร้านไอกาเปาะ ฮาลาลฟู้ด ร้านอาหารของชาวบ้านไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมายแต่ดูสะอาดตา ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง หลังร้านเป็นบ้านเจ้าของร้าน รายล้อมไปด้วยพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ อยากกินอะไรก็เดินไปเด็ดเอา ซึ่งที่ตั้งร้านอยู่ตรงเส้นทางก่อนเข้าป่า สำหรับส้มตำแซ่บๆ ที่คิดว่าอยากกินเมื่อลงมานั้นตัดไปได้เลย เพราะจานที่อยู่ตรงหน้านั้นชวนน้ำลายสอยิ่งกว่า ทีแรกคิดว่าคงเป็นรสชาติอาหารใต้ทั่วไป แต่ที่ไหนได้…อาหารบ้านเขาช่างทลายความหิวของเราและเติมเต็มด้วยความอร่อย จังหวะนั้นบอกเลยว่าข้าวจานเดียวเอาไม่อยู่
มื้อแรกยังไม่รู้ว่าคนไหนเป็นแม่ครัว แต่มื้อค่ำเรามีโอกาสได้คุยกับ ‘พี่ก้อย-หัธยา สอนสุข’ แม่ครัวประจำร้าน พี่ก้อยเป็นคน จ.กระบี่ เคยค้าขายมาก่อนพอเป็นสะใภ้เลยย้ายมาอยู่ที่นราธิวาส แต่ก็หยิบเอาเสน่ห์ปลายจวักติดตัวมาด้วย พี่ก้อยเล่าให้ฟังว่าทุกเมนูที่จะได้กินต่อไปนี้ พริกแกงโขลกเอง ส่วนผักเคียงซื้อจากชาวบ้านด้วยเงินหลักสิบหรือเด็ดฟรีมาจากสวนหลังบ้าน ผลไม้ที่กินก็มาจากสวนที่ชาวบ้านปลูกๆ กันไว้ ได้ยินแล้วก็รู้สึกว่าพี่ก้อยไม่ต้องเสียเงินไปตลาดเลย แค่ใช้ของในชุมชนที่หมุนเวียนรายได้กันไป
ต้องบอกก่อนว่าอำเภอสุคิรินไม่ได้คึกคักมาก แม้แต่ตลาดสดใหญ่ๆ ก็ไม่มี มีเพียงร้านค้าของสด ของชำเล็กๆ ตามหัวมุม หากต้องการของสดหรือของใช้มาขาย ต้องขับรถออกไปแถว อ.สุไหงโก-ลก เหตุนี้เองที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่ดีเสียอีก กับการใช้ชีวิตในวิถีพื้นบ้าน โดยแต่ละเมนูที่เราได้กิน จะทยอยเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันทีละมื้อ
อย่างมื้อนี้สำรับที่อยู่ตรงหน้าทำเอาตาเราเป็นประกายไม่ใช่น้อย มีทั้งยำน้ำพริกบูดู กินคู่กับผักเคียง เช่น ใบเหลียง ผักมันปู ชีลาว ผักหวาน เป็นต้น, แกงกะทิไก่บ้านใส่หยวกกล้วย, ปลากรอบ (ส่งตรงจากสงขลา), ผัดเปรี้ยวหวาน และที่ขาดไม่ได้คือไข่เจียวร้อนๆ ถ้าอยู่เมืองกรุงและไม่ใช่คนใต้แท้ๆ การได้ลิ้มรสยำน้ำพริกบูดูคงไม่ได้หากินกันได้ง่ายๆ ว่าแล้วก็ลองตักมาคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ กินพร้อมใบเหลียงโปะด้วยไข่เจียวเล็กน้อย คลุกเคล้ากันในปากอย่างลงตัว อีกหนึ่งชามที่ประทับใจ คือแกงไก่บ้านกะทิใส่หยวกกล้วย นานๆ ทีจะได้กินเมนูที่ทำจากหยวกกล้วย แต่หยวกกล้วยรอบนี้รูปทรงต่างจากที่เคยกินมา เพราะเคยกินแต่ขนมจีนหยวกกล้วยซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกไม่ชอบเท่าไหร่ ครั้งนี้ลองเปิดใจใหม่ พอได้สัมผัสถึงรสชาติในคำแรก ทำเอาต้องตักซ้ำๆ อย่างไม่ยั้งมือ
คิดว่าหิวจึงอร่อย จดจ่อรอมื้อเย็น ที่ไหนได้อร่อยจริง
หลังจากกินมื้อแรกที่ลงจากป่า เราหันไปถามเพื่อนว่า ต้องหิวกันมากแน่ๆ เลยบอกว่าอร่อยทุกอย่างขนาดนั้น ทำให้พวกเราใจจดใจจ่อรอมื้อเย็นที่จะถึง ซึ่งระหว่างรอมื้อเย็นป๋าดุกก็พาพวกเราไปร่อนทองกับชาวบ้าน ความน่าตื่นเต้นอยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนร่อนเจอทองก่อนกัน เคยเห็นแต่ในโทรทัศน์หรือสารคดีช่างดูง่ายมาก พอเอาเข้าจริงต้องชำนาญพอสมควรถึงจะได้ทองมา แต่คงไม่ยากต่อความพยายามนักหรอก เกือบทุกคนได้ทองกันมาคนละนิดละหน่อย กิจกรรมยังอีกเยอะขอตัดภาพมาที่มื้อเย็นเลยละกัน เพราะถ้ากินข้าวเสร็จไว เราก็จะได้ไปเดินเที่ยวที่ตลาดชุมชน เอาล่ะ! มาดูกันว่ามื้อนี้จะได้กินอะไรบ้าง
เมื่อเห็นอาหารละลานตา ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด จากเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ไม่ขาดปาก มื้อนี้เป็นแกงเลียงน้ำต้มเคย, แกงคั่วสับปะรดปลาย่าง, น้ำพริกมะอึกพร้อมผักเคียงอย่างก้านคูนหรือออดิบ, ไข่เจียวใส่ชะอม ปิดท้ายด้วยสับปะรดและลูกคางคก เมนูที่ถูกปากหากเป็นแกง ขอยกให้ “แกงคั่วสับปะรดปลาย่าง” ซึ่งพี่ก้อยเตรียมพริกแกงที่โขลกเองกับมือ ทำให้เราสัมผัสถึงความเข้มข้นของน้ำแกง ถ้าเทียบกับที่เคยกินในเมืองความเข้มข้นแบบนี้ สำหรับเราคิดว่าหาได้ยากมาก พริกแกงลงตัวกับปลาย่างที่พี่ก้อยเลือกปลาซาบะนำมาย่างและแกะเป็นชิ้นๆ ใส่ลงหม้อคนให้เข้ากัน เรื่องสีสันไม่ต้องพูดเลย สีเหลืองสดใส สับปะรดที่คิดว่าจะเปรี้ยวโดด กลับกลมกล่อมลงตัว พี่ก้อยบอกว่าแม้แต่สับปะรดก็ต้องเลือก ซึ่งโชคดีที่รู้จักกับชาวบ้านที่มีสวนผลไม้เลยไม่ต้องลำบากถ่อไปหาที่ไหนไกล
ถัดมาไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “น้ำพริกมะอึก” มะอึกคงจะแปลกหูไปหน่อยสำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่างเรา แต่กับบางคนคงคุ้นๆ หูกันบ้าง เรียกอีกชื่อคือมะเขือหน้าขน ผลกลมๆ มีขนอ่อนๆ ปกคลุม ถ้าสุกแล้วจะสีเหลืองอมส้ม มีรสชาติเปรี้ยวและหอม นิยมใส่ในแกงหรือน้ำพริกโดยหั่นเป็นแว่น
ต้องกินกับผักเคียงอย่างผักก้านคูน หรือออดิบ หน้าตาก็แปลกออกไปเหมือนเอาก้านกล้วยมาหั่นเป็นชิ้นแต่ไม่ใช่ ด้วยความไม่เคยกิน และเป็นไปตามท้องเรื่องเช่นเดิม คือกินแล้วหยุดไม่ได้ รอบนี้จัดไปข้าว 1 จาน กับอีก 1 ทัพพี เพราะไปตลาดเย็นก็มีแพลนว่าจะกินอย่างอื่นอีก ถึงจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกินเยอะ แต่มีโอกาสได้มาทั้งทีต้องเก็บเกี่ยวให้คุ้ม
ก่อนจะไปตลาดพี่ก้อยให้เรากินผลไม้ท้องถิ่นที่หายากอย่าง “ลูกคางคก” ถ้าได้ยินแค่ชื่อคงตกใจ แต่ถึงรู้ว่าเป็นผลไม้ก็แปลกมากอยู่ดี จนทีแรกแทบไม่กล้าหยิบเข้าปาก แต่สุดท้ายก็ต้องลองเพราะถ้าไม่ชิมตอนนี้ แล้วตอนไหนจะเจอเจ้าลูกคางคกอีกก็ไม่รู้ ก่อนกินต้องปอกเปลือกก่อน เนื้อในรสชาติคล้ายฝรั่ง เปรี้ยวอมหวาน เราอธิบายรสชาติได้ไม่ค่อยถูกนัก แต่เอาเป็นว่ากินได้เหมือนผลไม้ทั่วๆ ไปเลย ละมือจากการกินจริงๆ ไปเดินกันต่อที่ตลาดชุมชน บรรยากาศน่ารัก มีการร้องรำทำเพลง และขายอาหารในแบบฉบับของตัวเองเอามาวางขายกัน
อรุณเบิกฟ้า…ข้าวยำน้ำบูดู ท่าวคั่ว รออยู่บนโต๊ะแล้ว
ยามเช้ากับอากาศที่เกือบหนาว เรายอมใจกับอากาศแบบนี้จริงๆ คิดว่าตัวเองยืนรับโอโซนอยู่แถวภาคเหนือ แต่นี่เรายืนอยู่ด้ามขวานไทย ที่ไม่น่าเชื่อว่าอากาศบ้านเขาดีไม่แพ้สถานที่เที่ยวยอดฮิตในหน้าหนาวเลย สมกับคำที่ใครต่อใครก็ยกให้ภาคใต้เป็น “ฝนแปดแดดสี่”
หากเป็นมื้อเช้า คนกรุงเทพฯ คงคิดกันว่าเป็นข้าวต้มหรือก๋วยเตี๋ยว จิบชากาแฟร้อนๆ พร้อมปาท่องโก๋ แต่บนโต๊ะที่เห็นนั้น ป๋าดุกได้วางห่อกระดาษคล้ายข้าวมันไก่ แต่เมื่อเปิดออกมาก็แปลกตาสำหรับเราไปอีกหนึ่งเมนูอย่าง “ข้าวยำน้ำบูดู” ป๋าดุกบอกว่าให้ชิมก่อนและค่อยราดน้ำบูดูระวังเค็มเกินไป
เปิดห่อออกมาเห็นเครื่องเทศอัดแน่นมาก ทั้งตะไคร้หั่น ใบมะกรูด ข่าแก่ หอมแดง เป็นต้น เวลากินคลุกให้เข้ากัน มื้อเช้าอีกอย่างยังมีห่อผัดหมี่ด้วย ป๋าดุกแนะนำว่าคนที่นี่มักจะคลุกให้เข้ากับข้าวยำจะได้รสชาติที่แปลกไปอีกแบบ ในฉบับที่เราไม่เคยลิ้มลองมาก่อน
ถัดมากับถุงแกงใสมัดหนังยาง มีไข่ต้มดึงดูดสายตามากที่สุด เลยถามป๋าดุกว่ามันคืออะไร ก๋วยเตี๋ยวเหรอคะ ป๋าบอกว่าไม่ใช่มันคือ “ท่าวคั่ว” หน้าตาคล้ายสลัดโดยใส่เส้นหมี่ลวกลงไป ส่วนเครื่องคลุกจะมีหมูสามชั้นต้ม เต้าหู้ กากหมูทอดกรอบ ไข่ต้ม ผักบุ้งลวก และแตงกวา ก่อนเข้าปากต้องราดด้วยซอสหวานอย่างซีอิ๊วหวาน เพิ่มความเปรี้ยวด้วยพริกน้ำส้มสายชู คลุกเคล้าให้เข้ากัน จานนี้จึงได้รสหวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ดเล็กน้อย แล้วได้จิบชาร้อนหรือกาแฟ ท่ามกลางบรรยากาศที่โปร่งบวกกับแสงแดดที่เริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าลงใต้ทำไมได้กินหมู ในอำเภอสุคิรินที่เรามาอยู่ ส่วนใหญ่จะมีชาวพุทธสายเลือดอีสานมาอยู่ด้วย เว่าอีสานกันอย่างคล่องปาก แถมยังมีการจัดประเพณีแห่บุญบั้งไฟอีกด้วย เหตุนี้เองที่เราได้กินหมูในบางเมนู
มองจังหวัดด้ามขวานไทยที่ต่างออกไป
หากใครได้ไปเยือนถิ่นเมืองนราฯ และขึ้นป่าฮาลาบาลา รับรองว่าแค่บรรยากาศก็กินขาด แล้วอาหารก็ไม่เป็นรองใคร ทำให้เรา “ลบภาพความกลัวของเมืองด้ามขวานออกไปเลย” ทั้งที่รถรับส่งไปสนามบินก็ต้องขับผ่านพื้นที่สีแดงตลอด ก่อนมาถึงอำเภอนี้ และก่อนเดินทางกลับเราได้เข้าเมืองไปนั่งกินข้าว จิบชาแตออกับขนมปังปิ้ง เสียดายที่ช่วงนั้นรอมฎอนหรือถือศีลอดพอดี ร้านค้ามักจะปิด การตามล่ากินโรตีเลยไม่สมหวัง ต้องรอพระอาทิตย์ตกดินถึงจะได้กิน แต่ในใจก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เราคงได้มาที่นี่ใหม่อีกครั้ง แต่สิ่งที่เราหอบกลับไปนั้น คือมุมมองต่อจังหวัดด้ามขวานไทยที่ต่างออกไป จากรอยยิ้มที่เราเจอระหว่างทางมันตอบเราได้ว่า บ้านเขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด และพวกเขาไม่ได้ทุกข์มากอย่างที่ใครหลายคนคิดเช่นกัน ทริปหน้าแว่วๆ ว่าสนามบินที่เบตงใกล้จะเปิดทำการแล้ว เราคงได้ลงใต้อีกครั้งแต่เป็นเมืองที่ต่างไปจากครั้งนี้