#saveบ่อแก้ว สัมปทานป่าเพื่อปลูกยูคาลิปตัส - Urban Creature

บรรยากาศเงียบสงัด อากาศเย็นเยือกหลังฝนตก เราลืมตาขึ้นมาแต่เช้ามืดในที่พักใกล้ตัวเมืองขอนแก่น วันนี้เรามีภารกิจเดินทางไปที่ ‘ชุมชนบ้านบ่อแก้ว’ ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องข้อพิพาทระหว่างชุมชนบ้านบ่อแก้วกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เมื่อสิ้นเสียงเครื่องยนต์เป็นสัญญาณบอกว่าถึงที่หมายแล้ว นั่นเป็นเวลาก่อนเที่ยงหน่อยๆ ท้องฟ้าเริ่มมีแดดส่องผ่านรำไรราวกับเปิดประตูต้อนรับ

นับตั้งแต่ขาสองข้างเหยียบลงบนพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อแก้ว เจ้าบ้านก็ออกมาต้อนรับด้วยน้ำเย็นๆ และผลไม้ให้เติมความสดชื่นหลังจากนั่งเปื่อยบนรถตู้มาราวสองชั่วโมง เรามีเวลาอยู่ที่นี่เพียงครึ่งค่อนวันเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิด และเก็บเรื่องราวมาฝากให้คุณได้อ่าน

มหากาพย์การต่อสู้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2516 รัฐบาลประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในบ้านบ่อแก้ว ต่อมาปี 2521 กรมป่าไม้ให้สัมปทานเนื้อที่ 4,401 ไร่กับ อ.อ.ป. เข้าทำสวนป่าคอนสาร สำหรับปลูกไม้เศรษฐกิจ นำมาสู่การพยายามผลักชาวบ้านออกจากพื้นที่ด้วยข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งถูกตอกย้ำด้วย ‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ในแผนแม่บทป่าไม้ ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ซึ่งพยายามรื้อที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

ทว่าการผลักคนในออกจากพื้นที่ทำให้ที่นั่นสมบูรณ์ขึ้นจริงหรือ ยิ่งเป็นคนที่เรียกว่ารู้จักพื้นที่ดีกว่าใครยิ่งต้องละเอียดอ่อนต่อการทำความเข้าใจมิใช่หรือ การโดนผลักออก ขับไล่ ต่อสู้ สูญเสีย โดนพิพากษาว่าบุกรุกพื้นที่ทำกินของตนเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านบ่อแก้วอย่างขาดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ มองเห็นคุณค่าวิถีชีวิตน้อยกว่าเอกสารทางราชการ การแก้ปัญหาอย่างไม่ยุติธรรมและใช้กฎเกณฑ์ที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม

ชาวบ้านจึงตั้งชุมชนบ้านบ่อแก้วขึ้นมาในปี 2552 เพื่อกดดันและพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาสามารถอยู่กับพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการสัมปทานป่าเพื่อปลูกยูคาลิปตัส

ยาวนานกว่า 12 ปี ที่ชาวบ้านตั้งชุมชนบ้านบ่อแก้วเพื่อต่อสู้เรียกร้อง และเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ติดตามขั้นตอนในการส่งคืนพื้นที่จำนวน 366 ไร่ 78 ตารางวา จากที่ชาวบ้านเสนอไป 812 ไร่ ในปี 2563 โดยกระบวนการคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ 

“พื้นที่เป็นของเรามาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ เรามาอยู่ก่อนเขาประกาศพื้นที่ป่าสงวนทีหลัง”

“เราได้รับผลกระทบทั้งหมด 4,401 ไร่ ช่วงปี 2553 ก็รวมตัวกันเดินเท้าจากบ้านบ่อแก้วไปกรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเสนอกับทางภาครัฐ”

“มีการพยายามไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แต่ชาวบ้านไม่ยอมออก จนกระทั่งมีการดำเนินคดี”

“พื้นที่สัมปทานปลูกยูคาลิปตัส จริงๆ คืออีกที่หนึ่งที่เรียกว่า ป่าเหล่าไฮ่ อยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ตรงนี้ แต่การดำเนินการกลับเข้าปลูกในที่ดินทำกินของชาวบ้าน”

“พอมียูคาลิปตัสน้ำแห้งไปหมดเลย ตรงไหนมียูคาฯ ต้นไม้อื่นไม่มี ร่องน้ำหายไปหมด หน้าแล้งก็ไม่เคยแห้งเหือดขนาดนี้”

“ผักตามฤดูกาล สมุนไพร อาหารพื้นบ้านก็หายากขึ้น”

“จากที่เคยเป็นไร่นากลายเป็นป่ายูคาฯ ทั้งแถบเลย สามถึงสี่ร้อยไร่”

“ครอบครัวหนึ่งต้องการพื้นที่เพื่อปลูกไม้ยืนต้น ไร่ นา ผสมผสานกันไป”

“หลายคนหลังจากสูญเสียที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้าง หลายคนสูญเสียทั้งที่ดิน ทั้งความอบอุ่นทุกอย่าง คนที่ต้องออกจากพื้นที่เขามีครอบครัว แทนที่เขาจะได้อยู่ด้วยกันกลับต้องสูญเสียตรงนี้ไป”

“มันไม่ง่ายเลยเวลาเข้าไปขอมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการพื้นที่ เพราะเขาไม่ได้มองเรื่องวิถีชีวิตของชุมชน”

“พื้นที่คนละ 2 ไร่ ไม่เพียงพอหรอกต่อการทำเกษตรกรรม”

“อ.อ.ป. เขาจะมาไล่ที่ แต่เราต่อสู้และทำอนุสรณ์ไว้”

การได้พื้นที่ทำกินคืนของชาวบ้านบ่อแก้วครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะที่ทำให้มีความหวังและมีแรงสู้กันต่อไป และชาวบ้านยังบอกว่า การที่มีคนมาหา หยิบเรื่องที่เกิดขึ้นไปเล่า ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของพวกเขาที่จะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และเราหวังว่าชุดภาพถ่าย บ้านบ่อแก้ว ชิ้นนี้จะทำให้คุณได้เห็นบางอย่าง และช่วยกันส่งเสียง ส่งความหวัง และเฝ้าจับตาดูความไม่ปกตินี้ เพราะการต่อสู้ของเพื่อนเรายังอีกยาวไกล

#saveบ่อแก้ว

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.