เพราะหนังสือคือการเมือง การแปลจึงเป็นการเคลื่อนไหว : คุยกับแรงงานอักษรจาก Soi Squad
เราอยู่ในยุคสมัยแห่งความย้อนแย้ง ในขณะที่การตื่นตัวทางการเมืองเบ่งบาน วงการหนังสือคึกคักไปด้วยผู้คนที่สงสัยใคร่อ่านงานเขียน #เบิกเนตร ส่งให้บรรดาหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง และหนังสือแปลแนววิชาการที่เคยเงียบเหงา กลายเป็นหนังสือขายดีที่พบได้ในมือวัยรุ่นหรือคนทำงานทั่วไป ไม่น่าเชื่อว่าในระนาบเวลาเดียวกัน กลับมีข่าวตำรวจบุกเข้าไปยังสำนักพิมพ์ เพื่อยึดหนังสือที่อ้างว่า ‘มีเนื้อหาผิดกฎหมาย’ (เล่มเดียวกับที่ขายดีนั่นแหละ) และมีหนังสือหลายเล่มถูกห้ามเผยแพร่แจกจ่ายในราชอาณาจักร ย้อนแย้งจริงไหมเล่า หากประชาชนขวนขวายที่จะอ่าน รัฐบาลจะสั่งห้ามไปทำไม หน่วยงานที่มีอำนาจมากมายจะกลัวอะไรกับแค่หนังสือ ‘หนังสือ การแปล และถ้อยคำสัมพันธ์ สำคัญอย่างไรกันแน่กับการเมือง?’ เราทดคำถามนี้ไว้ในใจ “ทีมซอยมองเห็นร่วมกันว่าการแปลและการตีพิมพ์เป็นการขับเคลื่อนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง การนำความคิดหรือตัวบทในภาษาหนึ่งมาพูดในอีกภาษามันได้พาเราข้ามผ่านพื้นที่ทางการเมืองในหลายมิติ” เป็นประโยคนี้ของเจน-จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหารของซอย ที่ทำให้เรามั่นใจว่านี่แหละกลุ่มคนที่จะตอบคำถามให้เราได้! เราจึงรีบจดประโยคจากงานเสวนา บทจTalk ของสำนักพิมพ์บทจร แล้วอีเมลไปขอคุยกับทีมซอยทันที โชคดีของเราที่คำตอบของพวกเขาคือตกลง เรารู้จัก ‘ซอย | soi’ หรือ soi squad ครั้งแรกผ่านหนังสือ แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) ผลงานเล่มบางๆ ที่พาคนอ่านไปครุ่นคิดเรื่องบรรทัดฐานทางเพศให้ลึกซึ้งผ่านเรื่องเล่าของผู้คนหลากหลาย ผลงานของ สำนักพิมพ์ซอย สำนักพิมพ์ซึ่งตีพิมพ์หนังสือแปลในประเด็นแสบๆ คันๆ ที่เป็นวาระสำคัญของยุคสมัย อย่างความหลากหลายทางเพศ […]