ยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสูงวัยกลายเป็นคนทันสมัยรู้จักใช้โซเชียลมีเดีย เราเห็นเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ใช้ชีวิตกันสนุกสนาน ต่างจากสมัยก่อนที่มีทัศนคติว่าคนแก่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงหลาน จะเดินเหินไปไหนมาไหนก็ลำบาก
มายุคนี้อายุเป็นเพียงตัวเลข เราจึงชวนทุกคนมาโฟกัสเรื่อง ‘สูงวัย’ ซึ่งมีแง่มุมหลากหลายไม่ได้ชวนเหี่ยวเฉาอย่างใครๆ คิด และมีอีกหลายสิ่งที่ผู้สูงวัยสามารถทำได้ไม่แพ้คนหนุ่มสาว
01 | แก่แล้วไม่เดียวดาย เพราะไทยเป็น ‘เมืองผู้สูงอายุ’
สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบ้านเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 พูดง่ายๆ ก็คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ไทยมีผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.73% ของประชากรทั้งหมด 66.55 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2564 คาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุไม่ต่ำกว่า 13 ล้านคน หรือมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2583 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเด็กเกิดใหม่และเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ
จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรในจังหวัดมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ สิงห์บุรี (23.09%), ลำปาง (23.03%), ลำพูน (22.95%), แพร่ (22.84%) และสมุทรสงคราม (22.25%)
ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ (1.06 ล้านคน), นครราชสีมา (4.53 แสนคน), เชียงใหม่ (3.33 แสนคน), ขอนแก่น (3.12 แสนคน) และอุบลราชธานี (2.76 แสนคน)
แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะผู้สูงวัยยุคนี้กะปรี้กะเปร่ากว่าแต่ก่อน จากรายงานวิจัย ‘Getting Older – Our Aging World’ ที่ Ipsos ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้สูงวัยทั่วโลก พบว่าผู้สูงอายุยุคใหม่เปิดรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าวัย และมีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ เช่น ออกกำลังกาย (56%), เดินทางท่องเที่ยว (49%), เพาะปลูก (34%), เยี่ยมญาติ/เพื่อน (27%), เดินออกกำลังกาย (27%), ร่วมกิจกรรมชุมชน (22%), ช้อปปิ้ง (29%), หาสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (12%), ไปเป็นอาสาสมัคร (10%), เล่นโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และไอจี (7%)
02 | เกษียณแล้วต้องมีเงินเท่าไหร่
สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนไปหลังวัยเกษียณแน่นอนคือรายได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ยิ่งเร็วยิ่งดีคือ ‘เงิน’ เพื่อชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพไม่เป็นภาระลูกหลาน และสำรองไว้ใช้ยามเจ็บป่วยหรือฉุกเฉิน คำถามคือเกษียณแล้วเงินมาจากไหนบ้าง ?
1. กองทุนประกันสังคม : เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน หากจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมา 15 ปี จะมีสิทธิ์รับบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี จะได้บำนาญเพิ่มอีกปีละ 1.5%
2. กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ : ข้าราชการเกษียณหรืออายุ 50 ปีขึ้นไป หากอายุราชการไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิรับบำเหน็จ (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว) และหากอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิรับบำนาญ (จ่ายเป็นรายเดือน) โดยคำนวนได้จาก
– บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ
– บำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ) ÷ 50 ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : มาจากเงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน โดยกำหนดไว้ 2 – 15% ของเงินเดือน บวกกับเงินสบทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน ‘ไม่ต่ำกว่า’ เงินสะสมของลูกจ้าง และผลประโยชน์จากเงินสะสม
4. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF : การออมเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุที่ใครก็สามารถลงทุนได้ โดยต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ลงทุนได้ตั้งแต่ 5,000 – 500,000 บาท สามารถถอนเงินลงทุนเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป และลงทุนมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี อีกทั้งนำมาลดหย่อนภาษีได้
5. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ : เป็นเงินช่วยเหลือของภาครัฐ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น เงินบำนาญ
– อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท
– อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท
– อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท
6. กองทุนผู้สูงอายุ : ผู้สูงอายุจะได้รับการให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคล และรายกลุ่มสําหรับผู้สูงอายุ โดยต้องชําระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย
03 | โรคยอดฮิตอย่าให้ถามหา
เมื่อแก่ตัวการทำงานของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ย่อมเสื่อมลง โรคต่างๆ จึงรุมเร้าเข้ามาได้ง่าย ซึ่งโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุ ได้แก่
1. โรคเบาหวาน : ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่พอ ส่งผลให้การดูดซึมน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานแก่เซลล์ในร่างกายผิดปกติ ในระยะยาวอาจทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อม นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย อาการแรกเริ่มที่บ่งบอก ได้แก่ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า
2. โรคหัวใจและหลอดเลือด : เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการตั้งแต่เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือหอบเหนื่อยรุนแรง ไปจนถึงหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบ/แตก เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิต
3. โรคข้อเสื่อม (เกาต์) : เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ทำให้ไปเกาะตามข้อ เกิดการอักเสบ แดงร้อน ปวดบวมอย่างรุนแรง บางรายอาจมีอาการไตวายร่วมด้วย
4. โรคกระดูกพรุน : เกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก หนาแน่นน้อยลง กระดูกบาง เปราะหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลัง ไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทนรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้น้อยลง อีกทั้งส่งผลให้หลังค่อม ส่วนสูงลดลง และอาจมีอาการปวดเรื้อรังด้วย
5. โรคสมองเสื่อม : เกิดจากระบบการทำงานของสมองที่ค่อยๆ เสื่อมลงหรือบกพร่อง ทั้งด้านความทรงจำ การใช้ความคิด การตัดสินใจ ความเข้าใจสิ่งต่างๆ การเรียนรู้ การใช้ภาษา หรือการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ มักลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่นาน มักถามซ้ำๆ ในเรื่องที่เพิ่งบอกไป สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ ทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ พฤติกรรม อารมณ์ และบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
หากรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำทุกปี และทำจิตใจให้แจ่มใส่ เท่านี้โรคร้ายต่างๆ ก็จะไม่ถามหา
04 | อยู่สบายหลังวัยเกษียณ
นอกจากเรื่องเงินและสุขภาพ ‘ที่อยู่อาศัย’ ก็สำคัญ เพราะผู้สูงอายุต้องอาศัยในบ้านและสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน ยิ่งต้องคำนึงถึงการดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงสังคมรอบข้างที่จะคอยเป็นเพื่อนคลายเหงา หรือทำกิจกรรมเสริมสร้างคุณค่าในตัวเอง
ซึ่งตอนนี้มีตัวเลือกมากมาย ทั้งรูปแบบบ้านพักและคอนโดผู้สูงอายุ มีสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการดูแล และค่าใช้จ่ายถูกแพงต่างกันไป เช่น
1. บ้านบางแค : บ้านพักผู้สูงอายุสวัสดิการรัฐ เหมาะกับผู้สูงอายุที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้ดูแล และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งต้องสมัครใจและช่วยเหลือตนเองได้ระดับหนึ่ง ถือว่ามีค่าใช้จ่ายถูกที่สุด รวมอาหาร 3 มื้อและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ปัจจุบันบ้านบางแคมีลำดับการจองคิวอยู่ที่ 1,615 ราคาเริ่มต้น 1,500 – 2,000 บาท/เดือน
2. คุณตาคุณยาย เนอร์สซิ่งโฮม : ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้น ให้บริการดูแลโดยผู้ชำนาญ ทั้งด้านกิจวัตรประจำวัน ด้านพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ด้านการฟื้นฟูด้วยกายภาพบำบัด และด้านอารมณ์คลายความรู้สึกด้านลบ รวมทั้งบริการจัดอาหารตามโภชนาการ ไปจนถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ราคาเริ่มต้น 16,000–24,000 บาท/เดือน
3. บ้านเถาจือ โฮม : บ้านพักผู้สูงอายุบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ ดูแลผู้สูงอายุโดยทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ พร้อมผู้ดูเเลช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน มีบริการมากมาย เช่น จัดอาหารตามโภชนาการ กิจกรรมสันทนาการ กายภาพบำบัด ไปจนถึงรถรับ-ส่งไปตรวจสุขภาพตามนัดหรือในกรณีฉุกเฉิน ราคาเริ่มต้น 20,000 – 35,000 บาท/เดือน
4. อาคารสวางคนิเวศ : บ้านพักผู้สูงอายุภายใต้สภากาชาดไทย เป็นต้นแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ให้บริการรักษาโรคและปฐมพยาบาลเบื้องต้น บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไปจนถึงบริการนักกายภาพบำบัด ห้องขนาด 33 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 650,000 บาท และมีค่าส่วนกลางเดือนละ 2,500 บาท
5. คอนโด จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ : คอนโดเพื่อผู้สูงอายุบรรยากาศรีสอร์ท ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยสูงสุด มีโรงพยาบาล ทีมแพทย์และพยาบาล พร้อมบริการตรวจเยี่ยมไข้ที่บ้าน รวมถึงส่วนกลางอย่าง Wellness และ Club House ที่มีกิจกรรมหลากหลาย ราคาเริ่มต้น 3.69 ล้านบาท
Sources : กรมกิจการผู้สูงอายุ
สำนักข่าวอิสรา | https://bit.ly/2UGuydU
สสส. | https://bit.ly/2UYI4bI
nexttopbrand.com | https://bit.ly/39Bf5jj
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : https://bit.ly/3dQApVr
สำนักงานประกันสังคม | https://bit.ly/2UCrgYQ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ | http://www.nso.go.th/
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย | https://www.set.or.th/
ธนาคารไทยพาณิชย์ | https://bit.ly/2JBTIDW
โรงพยาบาลเปาโล | https://bit.ly/347i55T
พบแพทย์ | https://www.pobpad.com/
บ้านบางแค | http://banbangkhae.go.th/
คุณตาคุณยาย เนอร์สซิ่งโฮม | https://www.kuntakunyay.com/
อาวุโส | https://bit.ly/3dNU3S5
สภากาชาดไทย | https://bit.ly/3dTbtwD
คอนโด จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ | https://www.jinwellbeing.com/