‘อีวอง ชูนาร์ด’ มหาเศรษฐีผู้ไม่อยากเป็นนักธุรกิจ - Urban Creature

จากเด็กที่ได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในวัย 14 ปี เติบโตมาเป็นนักปีนเขาที่ยืมเงินพ่อแม่สามหมื่นกว่าบาทมาสร้างหมุดปีนเขาใช้เองและแบ่งขายเพื่อนฝูง

จนในปี 1970 เขากลายเป็นเจ้าของบริษัทขายอุปกรณ์ปีนเขาเจ้าใหญ่ในอเมริกา แต่เมื่อพบว่าหมุดเหล็กที่เขาสร้างขึ้นส่งผลกระทบต่อภูเขา เขาจึงตัดสินใจเลิกขายและใช้เวลาสองปีค้นคว้าออกแบบหมุดปีนเขาที่ใช้เกี่ยวกับร่องหินโดยไม่เจาะเข้าไปให้ภูเขาได้รับผลกระทบใดๆ 

มาถึงปี 1973 ชายคนนั้นมองหาเสื้อผ้าสำหรับใส่ปีนเขาซึ่งมีคุณภาพอย่างที่ต้องการไม่เจอ จนได้พบ Fitz Roy หุบเขาแห่งหนึ่งใน Patagonia ประเทศอาร์เจนตินา เขาจึงได้เห็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้าปีนเขาที่อยากใส่ 

ผ่านเวลามา 50 ปี ‘อีวอง ชูนาร์ด’ (Yvon Chouinard) เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘Patagonia’ (พาทาโกเนีย) แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ครองใจคนทั้งโลก มีรายได้มากมายจนกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่ง และใช้ชีวิตการทำงานเป็นนักธุรกิจที่เจ้าตัวไม่ได้อยากเป็น เดินหน้าสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีหัวใจหลักคือ ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ ตลอดมา

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

นโยบายธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ชูนาร์ดพูดอยู่เสมอว่า เขาไม่เคยคิดอยากเป็นนักธุรกิจ แต่ถ้าต้องเป็นนักธุรกิจ ก็จะเป็นนักธุรกิจแบบที่เขาอยากเป็น และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของนโยบายของนักปีนเขาที่ต้องมาทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เริ่มตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิตพาทาโกเนียมีโรงงานที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงมีอาคารสำนักงานที่ประหยัดพลังงาน และอาคารสีเขียวที่ผ่านการประเมินคะแนนวัดระดับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) 

สินค้าของพาทาโกเนียใช้วัตถุดิบหลักเป็นผ้าฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นไนลอน ขนสัตว์ หรืออย่าง Patagonia Puffy Jacket เสื้อสเวตเตอร์ที่อุ่น นุ่ม และทนทาน ก็ผลิตมาจากอวนจับปลา มีครั้งหนึ่งพาทาโกเนียเคยเอาขวดน้ำพลาสติก 10 ล้านใบมาทำกระเป๋าสุดฮิตรุ่น Black Hole นำขยะมาใช้ซ้ำและเพิ่มมูลค่าได้ ดังที่เป้าหมายสำคัญของพาทาโกเนียตั้งไว้คือ การใช้วัสดุรีไซเคิลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

ผลิตภัณฑ์ของพาทาโกเนียขึ้นชื่อว่าคุณภาพดีและใช้งานได้ยาวนาน หากเกิดการชำรุดทรุดโทรม พาทาโกเนียมีแพลตฟอร์มชื่อว่า Worn Wear บริการที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถนำสินค้ามาส่งซ่อม หรือนำสินค้าที่ไม่สปาร์กจอยแล้วมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อซื้อสินค้าชิ้นใหม่ในร้านได้อีก และถ้าหากเสื้อผ้าชิ้นไหนเกินเยียวยาจะซ่อมได้ ทางทีมงานจะคัดแยกของพัง เพื่อแปลงโฉมเป็นสินค้าใหม่ให้แฟนๆ เลือกช้อปกันอีกครั้ง 

พาทาโกเนียมีเครือข่ายศูนย์ซ่อมเสื้อผ้ามากกว่า 70 แห่งทั่วโลก ซ่อมได้เป็นแสนชิ้นต่อปี และยังมีรถซ่อมเสื้อผ้าที่ขับไปซ่อมให้ถึงที่ด้วยราคามิตรภาพ เพื่อยืนยันว่าสินค้าของเขานั้นสามารถใช้ได้อีกนานหลายฤดูกาล 

ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าใช้น้ำเยอะและปล่อยคาร์บอนฯ หนักมาก สินค้าของพาทาโกเนียจึงมีราคาสูง เพราะต้องทุ่มทุนเพื่อให้กระบวนการผลิตในแต่ละครั้ง ใช้น้ำน้อยที่สุด เคมีและสีย้อมก็ต้องอันตรายน้อยที่สุด และยังต้องเกิดคาร์บอนฯ น้อยที่สุดในการผลิตด้วย เพราะเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งเรื่องของพาทาโกเนียคือการทำให้เกิด Carbon Neutrality ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2025 

ดูเป็นเรื่องที่บรรลุเป้าหมายยากมากๆ แต่พาทาโกเนียก็ยังหวังว่าในปี 2050 ทุกคนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

โฆษณาเพื่อการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในโฆษณาสุดไวรัลของพาทาโกเนียคือ ‘Don’t Buy This Jacket’ ที่พยายามบอกว่า “อย่าซื้อหากคุณไม่ต้องการมันจริงๆ” มีเป้าหมายเพื่อลดพลังงานในการผลิตเสื้อผ้าและลดการเพิ่มจำนวนขยะ เป็นแคมเปญที่สร้างเสียงฮือฮาจนผู้คนรอเอฟสินค้ากันรัวๆ 

ในด้านการร่วมงานกับธุรกิจแบรนด์อื่นๆ พาทาโกเนียเคยจับมือกับ Dogfish Head โรงเบียร์ชื่อดังจากรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตเบียร์ชื่อ Kernza Pils ที่ใช้มอลต์และฮอปส์แบบออร์แกนิก รวมถึงใช้วัตถุดิบเป็นพันธุ์ข้าวที่ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศลงดิน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทั้งผู้ผลิตและเกษตรกร แถมยังส่งผลดีกับโลกด้วย

ทางด้านสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก พาทาโกเนียก็เคยทำโฆษณาสิ่งพิมพ์รูปโลมาว่ายน้ำในทะเล เพื่อสื่อสารว่าเจ้าโลมาก็เป็นหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัทเช่นกัน 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

ยังไม่นับรวมกับการเป็นบริษัทที่นำฝ้ายออร์แกนิกและวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเจ้าแรกๆ ความนิยมจากการใช้วัตถุดิบเช่นนี้ ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมมีรายได้และสามารถใช้วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อการเพาะปลูกที่ยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ พาทาโกเนียยังเคยทำสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องภูมิทัศน์และชุมชนป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของอเมริกา เพื่อป้องกันภัยจากการคุกคามต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ และจัดการที่อยู่ของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ให้ยังคงความหลากหลายทางระบบนิเวศและคงความสวยงามของพื้นที่ไว้ 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

แม้จะตั้งต้นผลิตเครื่องแต่งกายสำหรับนักปีนเขา ทว่าในปัจจุบันเสื้อผ้าของพาทาโกเนียสามารถผสมผสานแฟชั่นได้อย่างอเนกประสงค์ ทั้งทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ ใส่ไปทำงานได้ เป็นชุดลำลองที่สวมใส่สบาย และการได้เห็นเสื้อผ้าของแบรนด์นี้ในทุกๆ ไลฟ์สไตล์ก็เป็นเหมือนการโฆษณาไปในตัวอยู่แล้วว่าพาทาโกเนียคือแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม เป็นพลังที่ส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้ารู้สึกมีคุณค่าจากการได้มีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

การบริหารที่แวดล้อมด้วยผู้คนที่มีพลังงาน

พาทาโกเนียเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ชิลี และอาร์เจนตินา มีร้านค้ามากกว่า 70 แห่ง ใน 20 กว่าประเทศ กระจายอยู่ 5 ทวีป และมีพนักงานกว่า 3,000 คนทั่วโลก 

ที่น่าสนใจคือ แบรนด์นี้เป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในแง่ที่คนลาออกน้อยและยังมีคนอยากสมัครงานอยู่เสมอ ซึ่งเงื่อนไขการทำงานฉบับอีวอง ชูนาร์ด คือต้องมีความเป็นตัวเองและมีความเชื่ออันแรงกล้า เนื่องจากผู้ก่อตั้งอย่างเขาเชื่อว่าคือหัวใจสำคัญของการทำงานนั่นเอง

พาทาโกเนียยังเลื่องชื่อด้วยวัฒนธรรมองค์กรแบบ Un-company เป็นมิตรทั้งสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมงาน เมื่อรับผิดชอบงานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

ที่นี่ส่งเสริมให้พนักงานได้ออกไปทำกิจกรรมท้าแดดลมฝน ใครอยากออกไปพักผ่อน ใช้ชีวิตทำสิ่งที่ชอบก็เชิญได้เลย 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

นโยบายการทำงานอีกข้อที่เราสนใจคือ ที่พาทาโกเนีย พนักงานผู้ชายมีวันพักร้อนสำหรับช่วยภรรยาเลี้ยงลูกอยู่บ้าน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน สำหรับพนักงานที่เพิ่งคลอดลูก เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ห่างเหินเมื่อแม่ต้องออกจากบ้านมาทำงาน

นอกจากบริษัทจะให้อิสระในการทำงานแล้ว ที่นี่ยังเปิดกว้างเรื่องสิทธิด้วย ทุกคนสามารถส่งเสียงเรียกร้องเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างสันติวิธี หากมีพนักงานที่เป็นนักเคลื่อนไหวถูกจับ ก็ยินดีจ่ายเงินค่าประกันตัวและชำระค่าดำเนินการทางกฎหมายให้ด้วย

เพราะแบบนี้ แนวทางของพาทาโกเนียถึงได้รับการยอมรับในระดับสากล อย่างเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปี 2019 บริษัทก็ได้รับการเสนอชื่อเป็น UN Champion of the Earth ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อมจากการผสมผสานนโยบายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นไปตามความยั่งยืนซึ่งคือหัวใจสำคัญที่ทำให้รูปแบบธุรกิจของพาทาโกเนียประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

โลกเท่านั้นคือหุ้นส่วนของเรา 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 พาทาโกเนียได้ร่วมก่อตั้งโครงการ ‘1% for the Planet’ ทำสัญญากับหลากหลายบริษัทว่าจะมอบเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมดให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินการแชร์รายได้นี้มาจนถึงปัจจุบัน

ในเดือนกันยายน ปี 2022 พาทาโกเนียเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยครั้งนี้ อีวอง ชูนาร์ดแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ patagonia.com

‘เวลานี้ โลกคือหุ้นส่วนหนึ่งเดียวของเรา’ เจ้าของพาทาโกเนียใช้ข้อความนี้เป็นประโยคแรกเริ่มของจดหมายที่ยังคงแสดงเจตจำนงเดิมมาตลอด 50 ปีของการทำงานบริหารธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก 

ชูนาร์ดไม่คิดจะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อขยายกิจการทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าการนำองค์กรเข้าสู่ตลาดหุ้นจะทำให้คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมของพาทาโกเนียถูกลดทอนเจตนา ชูนาร์ดระบุในจดหมายตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเขาพยายามที่จะผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่พบว่าสิ่งที่ตั้งใจทำยังไม่เพียงพอ 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

ในวัย 83 ปี อีวอง ชูนาร์ด และครอบครัว ได้ประกาศว่าจะบริจาคหุ้นและผลประกอบการของบริษัททั้งหมดให้กับโลก โดย 2 เปอร์เซ็นต์จะโอนเข้าสู่องค์กรที่มีชื่อว่า Patagonia Purpose Trust เพื่อการดำรงธุรกิจและสืบทอดเจตนาแฟชั่นรักษ์โลกแบรนด์นี้ไว้ อีก 98 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะส่งมอบให้องค์กรการกุศลที่มีชื่อว่า Hold Fast Collective และคาดการณ์ว่าน่าจะมีเงินปันผลมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ที่จะนำมาสมทบใช้เป็นทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆ ทั่วทุกหัวระแหงที่กำลังออกแรงช่วยกันแก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ

นักปีนเขาผู้เป็นเจ้าของธุรกิจดังระดับโลกที่มีรายได้มากจนเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีของอเมริกา ปิดท้ายจดหมายฉบับสำคัญครั้งล่าสุดของบริษัทไว้ว่า 

“แม้จะกว้างใหญ่เพียงใด แต่ทรัพยากรของโลกย่อมมีสิ้นสุด และชัดเจนว่าเราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นไปแล้ว แต่โลกก็ยังฟื้นกลับมาได้ เราสามารถช่วยโลกได้ถ้าเรามุ่งมั่นจะทำจริงๆ” 

 

Patagonia อีวอง ชูนาร์ด

Sources :
Linkedin | linkedin.com
Patagonia | patagonia.com
The Guardian | theguardian.com
The New York Times | nytimes.com

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.