รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปี 2020 - Urban Creature

นับตั้งแต่เริ่มต้น ค.ศ. 2020 มามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไฟป่าออสเตรเลียที่คร่าชีวิตสัตว์ป่าเกือบพันล้านตัว เหตุการณ์ระเบิดที่เมืองเบรุต ประเทศเลบานอน 1MDB คดีอาชญากรรมการเงินระดับโลก ไปจนถึงกระแสเหยียดสีผิวในอเมริกา หรือแม้กระทั่งโปรเจกต์ SpaceX และ NASA ส่งนักบินสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

Social : สังคม

| การประท้วง Black Lives Matter 

‘การเหยียดสีผิว’ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มาช้านาน เราต่างเคยเห็นเหตุการณ์ที่คนผิวดำถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุเรื่อยมา ซึ่งล่าสุด ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรงของตำรวจจนเสียชีวิต

การจับกุมเกิดขึ้นหลังจากเขาถูกกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมในร้านอาหาร ตำรวจอ้างว่าฟลอยด์ขัดขืนและไม่ให้ความร่วมมือ แต่จากการเผยแพร่ภาพกล้องวงจรปิดของร้านอาหารใกล้เคียงกลับพบว่าเขาไม่ได้มีพฤติการณ์เช่นนั้น

การกระทำรุนแรงของตำรวจจนส่งผลให้ฟลอยด์เสียชีวิต ถือเป็นชนวนจุดกระแสการเดินขบวนและการประท้วงครั้งใหญ่ในเขตมหานครมินนีแอโพลิส-เซนต์พอล หรือที่เรียกว่าขบวนการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Black Lives Matter) ที่รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและคตินิยมเชื้อชาติอย่างเป็นระบบต่อคนดำ

‘การเหยียดสีผิว’ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มาช้านาน เราต่างเคยเห็นเหตุการณ์ที่คนผิวดำถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุเรื่อยมา ซึ่งล่าสุด ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรงของตำรวจจนเสียชีวิต

การจับกุมเกิดขึ้นหลังจากเขาถูกกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมในร้านอาหาร ตำรวจอ้างว่าฟลอยด์ขัดขืนและไม่ให้ความร่วมมือ แต่จากการเผยแผ่ภาพกล้องวงจรปิดของร้านอาหารใกล้เคียงกลับพบว่าเขาไม่ได้มีพฤติการณ์เช่นนั้น

การกระทำรุนแรงของตำรวจจนส่งผลให้ฟลอยด์เสียชีวิต ถือเป็นชนวนจุดกระแสการเดินขบวนและการประท้วงครั้งใหญ่ในเขตมหานครมินนีแอโพลิส-เซนต์พอล หรือที่เรียกว่าขบวนการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Black Lives Matter) ที่รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและคตินิยมเชื้อชาติอย่างเป็นระบบต่อคนดำ

| สารเคมีระเบิดที่ประเทศเลบานอน

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2020 บริเวณท่าเรือเบรุต ประเทศเลบานอน ได้เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 204 ราย บาดเจ็บมากกว่า 7,500 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีประชาชนกว่า 300,000 คนต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากแรงระเบิดที่พังบ้านเรือน

ซึ่งสาเหตุการระเบิด มาจากแอมโมเนียมไนเตรตประมาณ 2,750 ตัน ซึ่งถูกรัฐบาลเลบานอนยึดจากเรือ MV Rhosus ที่ถูกทิ้งแล้วเก็บไว้ในท่าเรือที่ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี

หลังจากนั้นรัฐบาลเลบานอนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าว ทำให้การประท้วงเดิมที่มีอยู่แล้วรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการยิงปะทะกันจนนำไปสู่การใช้แก๊สน้ำตา วันถัดมา ‘ฮัสซัน ดิอับ’ นายกรัฐมนตรีของเลบานอนพร้อมคณะจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

Environment : สิ่งแวดล้อม

| ไฟป่าออสเตรเลียคร่าชีวิตสัตว์เกือบพันล้านตัว

หากพูดถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงสุดในรอบปีคงหนีไม่พ้น ‘วิกฤตไฟป่าออสเตรเลีย’ ที่คร่าชีวิตสัตว์ป่าเกือบพันล้านตัว

ไฟป่าออสเตรเลียเริ่มขึ้นประมาณเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 ยาวมาถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งสภาพความแห้งแล้งที่กระจายไปทั่วพื้นที่ ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้จึงรุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่ 60,000 ตารางกิโลเมตร หรือกินพื้นที่มากกว่า 6 รัฐ ได้แก่ นิวเซาท์เวลส์ วิกตอเรีย ควีนส์แลนด์ เซาท์ออสเตรเลีย เวสเทิร์นออสเตรเลีย และทัสมาเนีย

วิกฤตครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน สัตว์ป่าตายกว่า 500 ล้านตัว เป็นโคอาลา 8,000 ตัว หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรในพื้นที่อยู่อาศัย และบ้านเรือนถูกเผาไปกว่า 2,000 หลังคาเรือน

ไฟป่าในออสเตรเลียกลายเป็นภัยธรรมชาติที่ทำลายทุกสรรพสิ่ง จนทำให้นักวิชาการออกมาคาดการณ์ว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการก้าวเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ครั้งใหม่ก็เป็นได้

| น้ำมันรั่วที่รัสเซีย 20,000 ตัน

ประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์น้ำมันดีเซลปริมาณ 20,000 ตัน รั่วลงแม่น้ำที่เมืองนอริลสก์ ในเขตวงกลมอาร์กติก บริเวณเขตขั้วโลกเหนือส่วนของประเทศรัสเซีย สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนักจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม

สาเหตุการรั่วมาจากถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล หนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของโลกเกิดถล่มลง ในขณะที่บริษัทอ้างว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุการถล่มครั้งนี้นั่นเอง 

เหตุการณ์นี้ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของรัสเซีย ว่าจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร เพราะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซในรัสเซียระบุว่า เหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการทำความสะอาด

| วาฬ 470 ตัวเกยตื้นตายที่ออสเตรเลีย

‘วาฬ’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่แต่เฉพาะในทะเลหรือมหาสมุทร เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างเรียวยาว มีครีบและหางเหมือนปลา

จะเรียกว่าซวยซ้ำซวยซ้อนก็ไม่ผิด เพราะหลังจากเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ ถัดมาอีกไม่กี่เดือนออสเตรเลียก็พบวาฬกว่า 470 ตัว ‘เกยตื้นตาย’ กระจายอยู่ตามแนวชายฝั่งของรัฐแทสเมเนีย ว่ากันว่านับเป็นการเกยตื้นครั้งใหญ่ที่สุด ทำลายสถิติการเกยตื้น 320 ตัวในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเมื่อ ค.ศ. 1996 

แม้ทุกวันนี้จะยังไม่รู้สาเหตุการเกยตื้นของวาฬที่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากวาฬตัวใดตัวหนึ่งในฝูงว่ายผิดทิศจนมาเกยตื้น สมาชิกที่เหลือจึงว่ายตามกันมาจนถูกคลื่นซัด หรืออาจจะมาจากกิจกรรมของมนุษย์ก็เป็นได้เช่นกัน

Politics : การเมือง

| สหรัฐฯ สังหารผู้นำอิหร่าน

หากจำกันได้ เราเปิดศักราชใหม่มาพร้อมข่าวการขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน สองประเทศไม้เบื่อไม้เมาที่ไม่ลงรอยกันมายาวนาน ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง อิหร่านได้ยึดสัมปทานน้ำมันและกิจการต่างๆ ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ควบคุมอยู่มาเป็นของตัวเอง ส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่พอใจและมีปัญหากับอิหร่านมาจนถึงทุกวันนี้

จนเมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็มีท่าทีไม่พอใจอิหร่านมากขึ้น จนนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่าน ถือเป็นการเติมเชื้อเพลิงความขัดแย้งของทั้งสองประเทศให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

หลังจากทำสงครามน้ำลายกันไปมา จนมีรายงานว่า ‘พลตรีคาเซ็ม สุเลมานี’ วัย 62 ปี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในตะวันออกกลาง ถูกสังหารตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

สหรัฐฯ ชี้แจงว่า เพราะนายพลสุเลมานีเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการวางแผนที่จะโจมตีนักการทูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในอิรักและทั่วภูมิภาค ทำให้เราต้องสังหารนายพลผู้นี้เพื่อหยุดการโจมตีจากอิหร่าน

| อิหร่านยิงเครื่องบินพาณิชย์ยูเครนตก

ไม่กี่วันถัดมาสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า ฐานทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธ 2 ลูก โจมตีเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชันแนล ที่เพิ่งบินขึ้นจากสนามบินนานาชาติอิหม่าม โคไมนี ในกรุงเตหะราน มุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตหมดทั้งลำ ในจำนวนผู้โดยสาร 176 คน เป็นชาวอิหร่าน 82 คน แคนาดา 63 คน ยูเครน 11 คน สวีเดน 10 คน อัฟกานิสถาน 4 คน เยอรมนี 3 คน และอังกฤษ 3 คน

ต่อมา ทางการอิหร่านออกมาขอโทษและยอมรับผิดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และให้เหตุผลว่าเพราะเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดคิดว่าเครื่องบินพาณิชย์ลำนี้เป็นเครื่องบินของสหรัฐฯ

| ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ครั้งใหม่กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 59 ระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 จากพรรครีพับลิกัน ลงสังเวียนชิงชัยกับอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ‘โจ ไบเดน’ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

ผลปรากฏว่า ไบเดนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ทั้งยังนับว่าเป็นบุคคลที่ได้รับคะแนนมหาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ด้วยคะแนนมากกว่า 74 ล้านเสียง

ในวันที่เขารับตำแหน่ง ไบเดนได้กล่าวสุนทรพจน์ที่แสนกินใจไว้ว่า “แสงแห่งประชาธิปไตยถูกจุดให้สว่างขึ้นในประเทศนี้มาเนิ่นนานแล้ว และเราต่างก็รู้ดีว่าไม่มีอะไรที่จะดับมันลงได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือการบิดเบือนอำนาจ”

Economy : เศรษฐกิจ

| อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 อังกฤษได้ลงประชามติเพื่อโหวตให้ประเทศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยฝ่ายที่ออกเสียงสนับสนุนการถอนตัวชนะไปอย่างเฉียดฉิว ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ต่อ 48 แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้เวลายืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี จนวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2020 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในที่สุดอังกฤษก็ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของ EU ถือเป็นการปิดฉากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

คนอังกฤษส่วนใหญ่มองว่า การที่อังกฤษเป็นสมาชิกของ EU ทำให้เสียผลประโยชน์หลายอย่าง เช่น ต้องจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกแสนแพง ต้องรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศ ต้องแบ่งตำแหน่งงานให้คนนอกประเทศ รวมไปถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายที่สภายุโรปกำหนดขึ้น จนทำให้สูญเสียอำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศตัวเอง 

และด้วยอังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก ทั้งยังเป็นผู้นำด้านการเงิน การเมือง การสื่อสาร บันเทิง ศิลปะ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงไม่ได้กระทบแค่ประเทศในแถบยุโรปเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย 

| 1MDB คดีอาชญากรรมการเงินระดับโลก

‘1MDB’ หรือ 1Malaysia Development Berhad คือชื่อกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2009 ในสมัยรัฐบาลของ ‘นาจิบ ราซัก’ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหางบประมาณมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยมุ่งเน้นโครงการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ในภาคพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และธุรกิจเกษตร

แต่มา ค.ศ. 2015 กองทุนได้ผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ แก่เจ้าหนี้ต่างชาติ ทำให้หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ของอังกฤษเริ่มขุดคุ้ยจนพบว่า โครงการส่วนใหญ่ที่ 1MDB ไปลงทุนนั้นไม่สร้างผลกำไร อีกทั้งยังพบว่าเงินส่วนหนึ่งของกองทุนราวๆ 681 ล้านดอลลาร์ฯ ได้ถูกโอนไปยังบัญชีส่วนตัวของนายนาจิบด้วย

แต่เหมือนฟ้าเป็นใจ รัฐบาลนาจิบใช้อำนาจทางการเมืองปลดอัยการสูงสุดคนเก่า และแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนใหม่ขึ้นมา ก่อนจะมีการประกาศว่านาจิบรอดพ้นทุกข้อกล่าวหา เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นการตอบแทนที่ช่วยสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ กลุ่มไอเอส (Islamic State) ไม่เกี่ยวกับกองทุนแต่อย่างใด 

คำตัดสินที่ออกมาสร้างความไม่พอใจแก่คนมาเลเซียอย่างมาก ทำให้ใน ค.ศ. 2018 เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อมหาเธร์ โมฮัมหมัด และหลังจากนั้นก็ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของมาเลเซียจับกุมตัว เพื่อสอบสวนกรณีทุจริตกองทุน 1MDB อีกครั้ง

คดีนี้เริ่มกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจาก ‘ช่อ-พรรณิการ์ วานิช’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยของพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายนอกสภาว่ารัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเอี่ยวในคดี 1MDB

| สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีจับตาไทยเป็นประเทศแทรกแซงค่าเงิน

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศขึ้นบัญชี 10 ประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจมีการใช้มาตรการลดค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ ได้แก่ ไต้หวัน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ในขณะที่เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ โดนขึ้นบัญชีว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า

หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ มีดุลบัญชีเดินสะพัดทั่วโลกเกินกว่าร้อยละ 2 ของ GDP รวมทั้งประเทศดังกล่าวเกิดการแทรกแซงการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างๆ โดยธนาคารกลางเกินร้อยละ 2 ของ GDP

Medical Treatment : การแพทย์

| WHO ประกาศให้โควิด-19 เข้าสู่ภาวะ ‘ระบาดใหญ่’ ทั่วโลก

หลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดมาระยะหนึ่ง ในที่สุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกแถลงการณ์ให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รวมทั้งยังระบุว่าโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย

ณ วันที่ 25 ธันวาคม ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรวม 78.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดแล้วมากกว่า 1.73 ล้านคน และมีผู้หายป่วยแล้วมากกว่า 55.1 ล้านคน จาก 213 ประเทศ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 18.5 ล้านคน

| วัคซีน Pfizer ป้องกันโควิด-19 ได้ 90 เปอร์เซ็นต์

หลังจากที่ต้องอยู่กับความหวาดระแวงว่าวันนี้เราติดโควิด-19 หรือยัง ในที่สุดก็เหมือนได้พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจาก Pfizer บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน เผยว่าวัคซีนที่พัฒนาและวิจัยร่วมกับพาร์ตเนอร์จากเยอรมนี ‘BioNTech SE’ ป้องกันโควิด-19 ได้ 90 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งนอกจากอังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และกาตาร์แล้ว “สิงคโปร์” ก็เป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุมัติสั่งซื้อและได้รับวัคซีนของ Pfizer โดยสิงคโปร์กล่าวว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่สมัครใจจะรับวัคซีน รวมทั้งจะฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่สุดก่อน ซึ่งรวมถึงบุคลากรการแพทย์ คนสูงอายุ และเด็กเล็ก

Technology : เทคโนโลยี

| NASA ตรวจพบน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์

‘น้ำ’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ซึ่งล่าสุด NASA ประกาศว่ามีการตรวจพบโมเลกุลน้ำบนพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยปริมาณน้ำที่พบครั้งนี้มีอยู่ราว 12 ออนซ์ หรือเท่ากับน้ำดื่ม 1 ขวดเล็ก ในเนื้อดินทุก 1 ลูกบาศก์เมตร กระจายตัวอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวระดับตื้นของดาว 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปริมาณน้ำบนดวงจันทร์น่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ รวมไปถึงการใช้เป็นเชื้อเพลิงของจรวดสำหรับส่งยานอวกาศออกไป หากคิดจะตั้งฐานสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อหนุนแก่โครงการ Artemis ของ NASA ที่จะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายใน ค.ศ. 2024 หลังจากไม่มีการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกเลยเป็นเวลากว่า 47 ปี

| SpaceX และ NASA ส่งนักบินสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

จุดมุ่งหมายใหม่ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA คือผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในอวกาศมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้ผันตัวเองจากผู้ผลิต พัฒนา และดำเนินการต่างๆ มาเป็นเพียงการว่าจ้างบริษัทเอกชน เพื่อที่ตนเองจะเน้นไปที่ภารกิจเกี่ยวกับการไปดวงจันทร์และดาวอังคารแทน

NASA จึงร่วมมือกับ SpaceX บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปล่อยจรวด “Falcon 9” พร้อมนักบินอวกาศ 4 คน ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อทำการค้นคว้า วิจัย และทดลองในด้านต่างๆ ของอวกาศ ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ NASA ยุติโครงการกระสวยอวกาศในเดือนกรกฎาคม ปี 2011 และ NASA ยังกล่าวว่าการทดลองเทคโนโลยีในภารกิจครั้งนี้ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมภารกิจไปดวงจันทร์ใน ค.ศ. 2024 

ในขณะที่ทาง SpaceX เองก็มีโครงการที่จะผลักดันการให้บริการเดินทางสู่อวกาศในเชิงพาณิชย์ต่อไป

| Apple หวังพัฒนารถคันแรกสำเร็จภายในปี 2024

จะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง ‘Apple’ จะหันมาพัฒนารถยนต์ 

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2015 Apple ได้ทำโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกกันว่า ‘Apple Car’ ขึ้น แต่หลังจากพัฒนาไม่นานก็ชะลอโครงการลง จนเมื่อปลายปีมานี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Apple จะกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์อีกครั้ง พร้อมตั้งเป้าว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับคันแรกของ Apple จะเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 2024

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.