เปิด ‘บ้านหมอหวาน’ ตำนานตั้งแต่รุ่นทวด - Urban Creature

“หวานเป็นลมขมเป็นยา” โบราณว่าถ้ากินหวานมากจะเป็นโทษต่อร่างกาย กินขมบ้างจะดีเพราะมีสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะ “ยาแผนโบราณ” ที่คนยุคใหม่ต่างเบือนหน้าหนี เพราะเข็ดหลาบจากตอนเด็กๆ ที่เคยโดนให้กินยาขมหรือยากวาดคอ และมองข้ามสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพนับไม่ถ้วน

ไขความลับต้นตำรับยาไทย ลัดเลาะตามกลิ่นสมุนไพร มาพบร้านขายยาโบราณ ที่หากถามคนแถวนี้จะรู้จักในชื่อ “บ้านหมอหวาน” หรือชื่อเต็มคือ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” อาคารโคโลเนียลอายุกว่า 94 ปี ที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ บนถนนบำรุงเมืองย่านเสาชิงช้า

หวนอดีตฟังเรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “คุณเอ๊ะ-ภาสินี ญาโณทัย” ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้สืบทอดตำรับยาไทย และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ที่จะพาเราย้อนเวลากลับไปยังต้นกำเนิดสมัยรัชกาลที่ 5 และนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องสมุนไพรไทยมาเล่าสู่กันฟัง

| จุดกำเนิดบ้านหมอหวาน

ทันทีที่ก้าวเข้ามาในร้าน บรรยากาศลึกลับก็ทำให้เราหลงใหล เราได้รับคำชักชวนให้นั่งคุยบนเก้าอี้ไม้กลมในมุมเล็กๆ ที่มีแสงส่องผ่านตู้กระจก ซึ่งวางขวดแก้วใส่ยาเรียงเอาไว้ พี่เอ๊ะเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติความเป็นมาของ “หมอหวาน” แพทย์แผนไทยที่เกิดในช่วงต้นรัชกาลที่ 5

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2466 วงการแพทย์ไทยมีการพัฒนาให้ทัดเทียมตะวันตกโดยการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ หมอไทยในยุคนั้นจึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น หลังจากกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้หนึ่งปี หมอหวานก็ได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นตั้งชื่อว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” เพื่อรักษาวิชาชีพแพทย์แผนโบราณ และยืนหยัดมั่นคงเป็นขุมความรู้เรื่องการปรุงยาไทยมาจนถึงปัจจุบัน

| ร้านขายยาฝรั่งยุค ร. 5

เมื่อก่อนคนผ่านไปผ่านมาเห็นป้ายบ้านหมอหวานกับสัญลักษณ์รูปดาว หรือ “ตราเฉลว” ก็จะรู้ได้ว่าที่นี่คือร้านขายยา เพราะหมอในสมัยนั้นจะใช้ไม้ขัดกันเป็นรูปดาวเหมือนเครื่องรางปักไว้ที่หม้อยา แล้วสวดมนต์ประกอบการปรุงยาเพื่อปลุกให้สมุนไพรตื่น

หมอหวานใช้บ้านหลังนี้เป็นทั้งร้านขายยา สถานที่ปรุงยา คลีนิก เหมือนกับโฮมออฟฟิศ พอเดินผ่านประตูบานเล็กๆ แคบๆ เข้ามาก็จะเห็นรูปแบบของร้านขายยาฝรั่ง ประกอบด้วยตู้กระจกเป็นวินโดว์ดิสเพลส์ มีเคาน์เตอร์อยู่กลางห้อง ด้านหลังมีตู้บรรจุขวดยา

รูปแบบร้านขายยาฝรั่งในยุคก่อน จะเน้นฟังก์ชั่นและดิสเพลย์ คือ มีไว้บรรจุยา จัดเก็บยา จ่ายยาให้กับคนไข้ และไม่ได้มีไว้เฉพาะจ่ายยาเท่านั้น แต่ยังเป็นร้านขายแอลกอฮอล์ เป็นที่ที่คนมานั่งแลกเปลี่ยนสังสรรค์ ดังนั้นห้องขายยาจึงต้องเป็นห้องรับแขกได้ด้วย ตู้ต้องสวย ขวดต้องมีจริต ทุกอย่างไม่ใช่แค่วางแล้วใช้งานอย่างเดียว ต้องเป็นของตกแต่งได้ด้วย

“อาคารแห่งนี้เป็นทั้งบ้านของหมอหวาน สถานที่ที่ใช้ปรุงยา ร้านขายยา คลีนิก และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นความพยายามปรับตัวของหมอไทยในยุคนั้น”

| เครื่องมือปรุงยาชิ้นหายาก

เดินชมทุกซอกทุกมุม ก็จะเห็นขวดยาหรืออุปกรณ์ปรุงยาต่างๆ ที่เป็นของเก่าตั้งแต่รุ่นหมอหวาน อย่างอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการทำยา ก็คือรางบดยาโบราณ ที่ใช้บดสมุนไพรตากแห้งให้เป็นผงละเอียด แล้วจึงนำไปปรุงยา แม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ ทั้งวงกลม วงรี รูปหัวใจ เพื่อช่วยจำแนกชนิดยาได้ง่ายที่สุด เพราะยาส่วนใหญ่จะมีสีน้ำตาลคล้ายๆกัน

นอกจากอุปกรณ์ในการปรุงยา เช่น รางบดยาที่ใช้สำหรับยาไทย หมอหวานยังนำเครื่องมือแบบฝรั่ง เช่น หูฟัง ปรอทวัดไข้ มาใช้ประกอบการตรวจรักษา ส่วนรูปแบบของยา นอกจากจะเป็นยาต้ม ยาหม้อ ยาผง หมอหวานก็มีรูปแบบของยาเม็ดที่กินง่าย พกพาสะดวก

“แม้ว่าจะเป็นร้านยาไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับเอาความเจริญ หรือวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่เจตนารมณ์ที่จะบำรุงชาติสาสนายาไทยก็ยังคงอยู่”

| สมุนไพรชื่อแปลก

ยาหลายขนานเรียงรายอยู่บนเคาท์เตอร์ รวมถึงตัวอย่างสมุนไพรที่มีชื่อและรูปร่างแปลกตาชวนสงสัยใคร่รู้ จากคำบอกเล่าของพี่เอ๊ะ สมุนไพรบางตัวเริ่มจะสูญพันธุ์ไป เมื่อก่อนยาหอมใช้สมุนไพรเกือบร้อยตัว ยาของหมอหวานมีสมุนไพร 40-50 ชนิดต่อหนึ่งตำหรับ มีทั้งสมุนไพรที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ

ส่วนที่เริ่มหายากก็คือสมุนไพรที่มาจากสัตว์ เช่น “ชะมดเช็ด” เป็นไขที่เกิดขึ้นจากต่อมอวัยวะเพศของชะมด สรรพคุณเป็นตัวคงกลิ่นให้อยู่ยาวนาน ใช้ในน้ำหอม และเป็นตัวนำพาให้ฤทธิ์ยาเข้าสู่ทั่วร่างกาย

“เห็ดนมเสือ” เป็นนำ้นมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อน ต้องรอให้น้ำนมหยดลงในดินเกิดความชื้นแล้วงอกออกมาเป็นเห็ด สรรพคุณมีรสเย็น แก้โรคหอบหืด บำรุงกำลัง แก้โรคตา แก้อาการปวดหู แก้ปวดแสบปวดร้อน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรหายากอย่าง “อำพันทอง” ที่ได้จากอสุจิปลาวาฬ และ “คุลิก่า” ที่ได้จากนิ่วในถุงน้ำดีของค่าง

“คนอาจจะมองว่า ยาไทยไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่การที่มันอยู่มาได้ไม่รู้กี่ร้อยปี ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูก มีการทดลองปรุง และทดลองใช้ในชีวิตจริง พี่ก็เลยอยากสื่อสารออกไป ให้คนไทยเคารพในภูมิปัญญาไทย”

| ยาหอมโบราณ สู่ยาอมชื่นจิตต์

ตำรับยาที่ขึ้นชื่อของหมอหวานเลยก็คือ “ยาหอม” ที่เชื่อว่าเป็นลมหายใจแห่งชีวิต กินได้ตั้งแต่เกิดยันแก่ ยาหอมเกิดขึ้นมาในรั้วในวังตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในยุคอยุธยา แต่เป็นที่นิยมมากในสมัย ร.5 เพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่สามัญชน มีสรรพคุณดูแลร่างกาย ทำให้เลือดลมไหลเวียน ร่างกายสดชื่น เป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ใครไปมาหาสู่ก็ต้องหาซื้อมาฝากกัน เป็นที่มาของสำนวนพูดให้กำลังใจว่า “โปรยยาหอม”

ปัจจุบัน มีการพัฒนายาหอมมาเป็นรูปแบบ “ยาอมชื่นจิตต์” ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำให้รสขมน้อยลง แต่ยังคงรักษาสรรพคุณของยาหอมไว้ พร้อมกับบรรจุมาในกล่องสแตนเลสสีพาสเทลน่ารัก พกพาง่าย

| มรดกจากรุ่นสู่รุ่น

พอมาเป็นแบรนด์ “บ้านหมอหวาน” ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้คนรู้จัก และเข้าใจเรื่องยาไทย โดยการหยิบจากสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นฟ้อนท์ หรือแม้แต่สีก็เป็นสีของทองคำเปลวที่หุ้มยาแต่ละเม็ด หรือตัวอาคารสีชมพู สีเขียว ก็นำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด

โลโก้ก็มีที่มาจากป้ายหน้าบ้าน และตราปั๊มที่หมอหวานใช้การันตีของแท้ในสมัยก่อน หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายรูปแบบ ทั้งถุงผ้าที่ใช้จ่ายยาก็ดีไซน์มาจากผ้ากรองสมุนไพร กล่องยาสี่ตำหรับแทนความปรารถนาดี ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกล่องไม้ที่หมอหวานได้รับพระราชทานจากในวัง ไปจนถึงขวดบรรจุยา ก็มาจากขวดยาโบราณที่มีชื่อว่า label under glass พร้อมกับฉลากยาที่ใช้ฟ้อนท์เดียวกับฉลากยาของหมอหวาน

จากเจตนารมณ์ที่ว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ถือเป็นมรดกทางความคิดที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ยาไทยไม่ให้เลือนหายไปจากสังคมไทย บ้านหมอหวานยังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นใหม่ได้มาศึกษาท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และซึมซับมรดกทางภูมิปัญญาที่คนรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดไว้ให้ลูกหลาน

บ้านหมอหวาน จำหน่ายยาหอม 4 ตำรับของหมอหวาน และยาไทยตำรับอื่นๆ
เลขที่ 9 ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เปิดทำการทุกวัน เวลา 9.00 – 17.00 น.
โทร. 02-221-8070

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.