นับตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ชื่อของนักการเมืองไทยนามว่า ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ มาแรงยิ่งกว่าหัวชาร์จแบตเตอรี่แบบฟาสต์ชาร์จ และแทบจะไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักเขา
บุคลิก นโยบายสนับสนุนประชาธิปไตยและเคียงข้างประชาชน ฝ่ายค้าน ชั้นหนังสือเรียงรายเป็นฉากหลังตอนไลฟ์พูดคุย วลีฟ้ารักพ่อ รวมถึงภาพตอนจับไมค์ร้องเพลงอย่างมีความสุข ต่างรวมเป็น ‘เขา’ ที่เราต่างคุ้นชิน
เมื่อธนาธรกดเข้าลิงก์ ZOOM ที่ใช้นัดหมายคุยกัน ฉันออกตัวบอกเขาว่าวันนี้อยากให้รับบทนักรีวิวหนังสือ หนัง เพลง คน ที่เขาอ่านจริง ดูจริง ชอบจริง ให้ฟังหน่อย (เพราะอยากรู้จักเขามากขึ้นผ่านไลฟ์สไตล์)
เป็นไปตามคาด ทุกคำพูดของผู้ชายสวมเสื้อยืดสีขาวเรียบๆ ตรงหน้า โชว์ความคิดและทัศนคติออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งน่าจะทำให้เหล่านักอ่านได้รู้จักเขามากขึ้นกว่าเดิมด้วยแหละ
01 ปีศาจ
“โห ไม่เคยนับเลย (หัวเราะ) มันเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะชอบอ่านแนว Fiction การเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ธุรกิจ และท่องเที่ยว” ธนาธรตอบ หลังถามไปว่ามีหนังสือกี่เล่มบนชั้น
“แล้วถ้าเป็นคนที่อยากศึกษาประเด็นสังคม คุณธนาธรจะแนะนำเล่มไหน”
“โห มีเยอะอีกแล้วครับ (หัวเราะ) แต่ผมว่า ‘ปีศาจ’ เข้าถึงง่ายสุด”
ปีศาจ คือหนังสือจากห้องสมุดในบ้านเล่มแรกที่ธนาธรเลือกหยิบมาแนะนำ เนื้อหาด้านในเป็นเรื่องราวของ สาย สีมา ชายหนุ่มจากชนบทซึ่งมีโอกาสได้ทำอาชีพทนายความ ที่ไม่วายพบความเหลื่อมล้ำด้านฐานะ การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ในสังคม และถูกกดขี่จากคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนชนชั้นสูง
“คนที่เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือปัญหาสังคม ถ้าจะเอาเบาๆ ไม่หนักมาก ผมว่าเริ่มจากประเภทนิยายก่อนก็ดี สาย สีมา เป็นตัวเอกซึ่งมาจากครอบครัวยากจน มีความรักต่างฐานะ ไปรักกับหญิงสูงศักดิ์ จนเกิดเรื่องราวการต่อสู้ทางชนชั้น สะท้อนการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมใหม่ที่เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมเก่าซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด นำไปสู่การเรียกร้องหาความเสมอภาคของมนุษย์ แม้หนังสือจะนานมากแล้ว (ปี 2500) แต่ก็ยังเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน” ธนาธรว่า
“ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนนี้วันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิส หรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป” เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือปีศาจ
02 No One Is Too Small to Make a Difference
ไม่มีใครตัวเล็กเกินกว่าจะสร้างความแตกต่าง ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้ว และฉันก็เชื่อแบบนั้น ธนาธรก็เช่นกัน
“ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้จบไปไม่นาน ด้านในรวบรวมสปีช และสุนทรพจน์ของ Greta Thunberg เด็กรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนเรื่องภาวะโลกร้อนต่อหน้าองค์กรต่างๆ เรียกร้องรัฐบาล หรือเข้าไปประชุมสภาเพื่อแสดงจุดยืนของเธอ ซึ่งทำให้ผมกลับมาคิดหลายอย่างเยอะมากหลังอ่านจบ
“สิ่งที่เธอย้ำตลอดในหนังสือคือ หนึ่ง Global Warming เป็นเรื่องจริงซึ่งตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เราปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สอง ทุกวันนี้เรายังแอ็กชันกันไม่พอที่จะกอบกู้โลก ถ้ายังเป็นแบบนี้โลกจะไปอยู่ในจุดที่หวนกลับไม่ได้ และสาม ทำไมเด็กอายุน้อยอย่างเธอต้องออกมาเรียกร้อง โดนด่าว่าทำไมไม่ไปเรียน มีคนชักจูงอยู่หรือเปล่า คำตอบคือ แล้วพวกมึงที่มีเงิน มีอำนาจทำอะไรกันอยู่ ถ้ารอให้รุ่นมึงที่มีอำนาจทำแบบนี้ต่อไป โลกคงพังพินาศก่อนคนรุ่นหลังมีบทบาทในสังคม” ธนาธรพูดจบก็แทรกขึ้นทันทีว่าขอโทษที่ใช้คำหยาบนะครับ กลัวไม่เห็นภาพ
ธนาธรกด Share Screen เพื่อเสิร์ชกูเกิลหารูปหนังสือให้เห็นทันทีว่าเป็นปกสีเหลืองสด ก่อนอธิบายความพยายามที่ Greta บอกว่าไม่พอ ช้า และน้อยเกินไปที่จะลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ตามสนธิสัญญาปารีส เนื่องจากเป็นแค่หลักคำสัญญา รวมถึงพิธีสารเกียวโต ซึ่งธนาธรคิดว่าเป็นการใช้กลไกทางการตลาดมาจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่เกินเส้นจำกัด ประเทศไหนเกินเส้นข้อตกลงต้องเสียเงินจ่าย Carbon Credit ซึ่งทำให้มลพิษมันมีราคา
“สำหรับบริบทไทย หากคุณจะลดโลกร้อน คุณต้องเปลี่ยนถ่านหินเป็นพลังงานธรรมชาติ ซึ่งไทยมีทั้งโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมที่ใหญ่มาก แต่ความพยายามที่ทำให้โลกเขียวขึ้นกลับถูกแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจที่เอื้อให้เกิดคนรวยมหาศาล ทำให้จุดประสงค์ในการลดโลกร้อนมันไม่เกิดขึ้นสักที”
03 The Pianist
‘The Pianist: The Extraordinary True Story of One Man’s Survival in Warsaw, 1939-1945’ คือชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับนักเปียโนชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องระหกระเหินแอบไปอยู่บ้านคนนู้นที คนนี้ที เพราะสมัยนั้นการเป็นคนยิวเป็นความผิดมหันต์ จะถูกเกลียดชัง โดนลากไปค่ายกักกัน หรือพูดง่ายๆ ว่าจับเขาไปตาย วันหนึ่งนักเปียโนคนนี้ไปซ่อนในบ้านที่มีเปียโนตั้งอยู่หลังหนึ่ง แต่เขาไม่สามารถเล่นเปียโนได้ แม้จะอยากแค่ไหน เพราะถ้าเล่น ก็เหมือนส่งสัญญาณว่าความตายจะมาเยือน และแน่นอนหนังสือเล่มนี้ดีจนทำออกมาเป็นภาพยนตร์ในปี 2002 ด้วยนะ
“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อผมในวัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัวทางความคิด ทำให้เห็นว่าคนเราควรจะสัมพันธ์กันด้วยความรักมากกว่าความเกลียดชัง เราควรโหยหาสันติภาพ ไม่ใช่สงคราม เพราะสงครามทุกครั้ง มันไม่เคยเกิดในนามประชาชน แต่เป็นนามของผู้มีอำนาจ ซึ่งเต็มไปด้วยผลประโยชน์ และอีโก้ ทว่าประชาชนกลับได้รับผลกระทบนั้นมากที่สุด
“ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีความคิดสร้างประเทศที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ซึ่งประเทศที่มั่นคงจะสร้างด้วยความรัก และความเชื่อใจ ไม่ใช่การเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แบบนี้ประเทศจะไม่มีทางแข็งแรง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ และนำไปสู่เหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาฯ หรือ พฤษภาฯ 53” ธนาธรกล่าว
04 Coco Chanel
เบื้องหลังแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Chanel (กระเป๋าที่ใครหลายคนฝันอยากมีไว้สักใบ) เป็นไอคอนที่ธนาธรยกย่องและชื่นชม เธอผู้นี้คือสาวชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Coco Chanel ที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดชายเป็นใหญ่
“คุณมีไอดอลไหม”
“จริงๆ ผมไม่มีไอดอล แต่มีบุคคลที่ชื่นชมเฉพาะทาง อย่าง Coco Chanel ผมยกย่องเธอในฐานะผู้ผลักดันทางวัฒนธรรม”
ความหมายของผู้ผลักดันทางวัฒนธรรมของธนาธร หมายถึงการที่ Coco สร้างแบรนด์ระดับโลกขึ้นมา เพื่อนำเทรนด์แฟชั่นเข้าสู่ยุคโมเดิร์น โดยไม่สนความคาดหวังของสังคมสมัยก่อน
“เธอเป็นผู้หญิงที่มาก่อนกาลในยุคสมัยของเธอ เมื่อก่อนผู้หญิงถูกคาดหวังให้เรียบร้อย อยู่ภายใต้การปกครองของสามี ห้ามพูดเรื่องเซ็กซ์ แต่งตัวต้องมิดชิด แต่เธอส่ายหัว เธอไม่ทำแบบนั้น เพราะผู้หญิงก็พูดเรื่องเซ็กซ์ได้ ผู้ชายตอนนั้นมีเมียหลายคนได้ ทำไมผู้หญิงจะมีผัวหลายคนไม่ได้ ทำไมถึงโดนตำหนิมากกว่า งานของเธอจึงเป็นงานที่ผลักดันพรมแดนทางวัฒนธรรมได้เยอะเลยทีเดียว” ธนาธรอธิบาย
05 Angela Merkel
Angela Merkel นักการเมืองหญิงชาวเยอรมนี ซึ่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีมากว่า 16 ปี เพิ่งลงตำแหน่งในปี 2564 นี้ หลายสิ่งที่เธอทำเพื่อประชาชนทำให้เธอถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time ในปี 2558 โดยสิ่งที่ธนาธรบอกฉันว่าชื่นชมเธอมากที่สุดคือการแก้ไขปัญหาวิกฤตผู้อพยพซีเรีย
“วันที่ผู้อพยพซีเรียหนีตาย และเดือดร้อนทางสงคราม ฝั่งประเทศยุโรปและประเทศอื่นๆ ปิดประตูไม่ต้อนรับ แต่ Angela ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่เปิดรับคนเหล่านั้นเข้ามา ท่ามกลางการเกิดกระแสฝ่ายขวา หรือ Alternative für Deutschland ที่เป็นนโยบายกีดกันผู้อพยพ เพราะคนขาวรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง เกลียดผู้อพยพ ชังว่าพวกเขาจะมาแย่งงาน แปะป้ายว่าหัวรุนแรง และจะมาทำลายค่านิยมของประเทศที่ยึดถือกันมา
“เธอรู้ดีว่ากระแสต่อต้านสีผิวและเชื้อชาติจะทำให้เธอสูญเสียคะแนนนิยมหากช่วยเหลือผู้อพยพ แต่เธอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่รวยลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อเพื่อนมนุษย์เดือดร้อน ก็ต้องช่วยเหลือ ผมว่าเป็นสิ่งที่กล้าหาญ เธอทำเพราะเธอเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่ผู้นำควรจะมี”
ฟังดูแล้วทำให้นึกถึงตอนประเทศไทยไม่เปิดรับชาวโรฮีนจาเข้ามาในประเทศ ฉันถามธนาธรต่อทันทีว่า แล้วรัฐบาลไทยล่ะ เป็นอย่างไรในสายตาเขา
“ผมโกรธมาก เพราะประเทศที่ควรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮีนจามากที่สุดคือไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่วันนั้นคุณไม่ทำอะไรเลย ชาวโรฮีนจาที่อยู่ในรัฐยะไข่ตาย ถูกข่มขืน เผาทั้งเป็น เร่ร่อน หนีตายเป็นล้านคน มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ร้ายแรงกว่านั้น คือกองทัพยังจับคนโรฮีนจาไปค้ามนุษย์อีก ไม่ได้พูดลอยๆ นะ คุณลองเปิดกูเกิล และพิมพ์ว่า ค้ามนุษย์ โรฮีนจา ลิงก์ก็ขึ้นมาเพียบครับ”
06 Invictus
นักการเมืองอย่างเขาดูซีรีส์อะไรบ้าง คือคำถามที่ฉันทดไว้ในใจตั้งแต่แรก และถามออกไปทันทีเมื่อคุยกันมาจวนหนึ่งชั่วโมง ทว่าคำตอบทำให้หลุดขำออกมา เพราะธนาธรบอกว่า เขาไม่อยากดูซีรีส์เลยเพราะกลัวติดงอมแงม ดูแล้วยาวจะเป็นเรื่อง เลยดูแค่ไม่กี่เรื่อง เช่น Game of Thrones และ The Walking Dead แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์เขาบอกมีเรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำให้ดู เพราะวิเคราะห์สังคมไทยในปัจจุบันได้
Invictus จากผู้กำกับ Clint Eastwood คือภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬารักบี้และการสร้างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวของประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ Nelson Mandela ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนแรก จึงเกิดเสียงเรียกร้องกดดันว่าคนดำต้องเอาคืนคนขาว เพราะคนดำถูกกระทำมานานกว่าจะได้อิสรภาพ แต่ผู้นำคนนี้กลับบอกว่าไม่ และเน้นแนวปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะไม่อย่างนั้นสงครามความเกลียดชังจะไม่จบสิ้น
“สิ่งที่ Nelson Mandela ทำ เป็นการเริ่มต้นสร้างชาติที่ทำให้สังคมซึ่งแตกแยกกันกลับมาจับมือกันให้ได้ ในหนังจะเล่าถึงสังคมที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงผ่านกีฬารักบี้ แต่จะหาทางออกอย่างไรดี ฆ่าอีกฝ่ายเหรอ แยกประเทศไปเลย หรือจะประนีประนอมจริงๆ
“หลายประเทศฝั่งตะวันตกที่เจริญ และมีความศิวิไลซ์ เขายึดกันด้วยหลัก ‘คนเท่ากัน’ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ นั่นคือคุณค่าสมัยใหม่ของการสร้างรัฐ ที่เป็นค่านิยมใช้ยึดเหนี่ยวสังคม แต่ประเทศไทยตอนนี้กลับยึดด้วยสถาบันบางอย่าง ตราบใดที่คุณยอมรับสถาบันแบบนี้ คุณจะกลายเป็นไทยแท้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าคุณจะเชื้อชาติใดก็ตาม”
07 หยดน้ำบนผืนทราย
“ผมตามเพลงป็อปสมัยใหม่ไม่ทันแล้วครับ ผมเลยชอบฟังเพลงรุ่นๆ ผม แนว Country บ้าง ยุค 80 บ้าง” คอ (ชอบร้อง) เพลงอย่างธนาธรบอก
ส่วนเพลงที่เขาชอบ และเป็นกำลังในการใช้ชีวิต ซึ่งเขาคิดว่าเข้ากับยุคสมัยตอนนี้ คือเพลง หยดน้ำบนผืนทราย จาก จิตร ภูมิศักดิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อสู้กับรัฐเผด็จการ จนถูกยิงเสียชีวิตในป่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 แม้เขาจะเสียชีวิตไปราว 55 ปี แต่ยังถูกกล่าวขานเป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน
“ข้าขอเปล่งคำสาบานไปกับสายลม จักพิทักษ์ชีวิตผู้ทุกข์ตรม
จักลบล้างการกดขี่ระทม และต่อสู้ล้มอำนาจอธรรม
ชีพนี้จักอุทิศพลีเพื่อกอบกู้ธรรม จักจองล้างทรราชระยำ
ให้โลกเลื่องลือในวีรกรรม ตราบชั่วฟ้าดินจักสิ้นมลาย”
ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงข้างต้นที่ธนาธรอยากให้ลองไปฟังกันดู เพื่อระลึกถึงนักต่อสู้ประชาธิปไตย และนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ภายในของทุกคน