นโยบายรักษ์โลกแบบ ‘Patagonia’ ของ ‘อีวอง ชูนาร์ด’ มหาเศรษฐีผู้ไม่อยากเป็นนักธุรกิจ
จากเด็กที่ได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในวัย 14 ปี เติบโตมาเป็นนักปีนเขาที่ยืมเงินพ่อแม่สามหมื่นกว่าบาทมาสร้างหมุดปีนเขาใช้เองและแบ่งขายเพื่อนฝูง จนในปี 1970 เขากลายเป็นเจ้าของบริษัทขายอุปกรณ์ปีนเขาเจ้าใหญ่ในอเมริกา แต่เมื่อพบว่าหมุดเหล็กที่เขาสร้างขึ้นส่งผลกระทบต่อภูเขา เขาจึงตัดสินใจเลิกขายและใช้เวลาสองปีค้นคว้าออกแบบหมุดปีนเขาที่ใช้เกี่ยวกับร่องหินโดยไม่เจาะเข้าไปให้ภูเขาได้รับผลกระทบใดๆ มาถึงปี 1973 ชายคนนั้นมองหาเสื้อผ้าสำหรับใส่ปีนเขาซึ่งมีคุณภาพอย่างที่ต้องการไม่เจอ จนได้พบ Fitz Roy หุบเขาแห่งหนึ่งใน Patagonia ประเทศอาร์เจนตินา เขาจึงได้เห็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้าปีนเขาที่อยากใส่ ผ่านเวลามา 50 ปี ‘อีวอง ชูนาร์ด’ (Yvon Chouinard) เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘Patagonia’ (พาทาโกเนีย) แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ครองใจคนทั้งโลก มีรายได้มากมายจนกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่ง และใช้ชีวิตการทำงานเป็นนักธุรกิจที่เจ้าตัวไม่ได้อยากเป็น เดินหน้าสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีหัวใจหลักคือ ‘ความยั่งยืน (Sustainability)’ ตลอดมา นโยบายธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชูนาร์ดพูดอยู่เสมอว่า เขาไม่เคยคิดอยากเป็นนักธุรกิจ แต่ถ้าต้องเป็นนักธุรกิจ ก็จะเป็นนักธุรกิจแบบที่เขาอยากเป็น และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของนโยบายของนักปีนเขาที่ต้องมาทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิตพาทาโกเนียมีโรงงานที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงมีอาคารสำนักงานที่ประหยัดพลังงาน และอาคารสีเขียวที่ผ่านการประเมินคะแนนวัดระดับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) สินค้าของพาทาโกเนียใช้วัตถุดิบหลักเป็นผ้าฝ้าย […]