“Alohaaaa” คำกล่าวทักทายอันทรงเสน่ห์ของชาวหมู่เกาะฮาวายแปลว่า สวัสดี หรือ ลาก่อนที่หลายคนรู้จัก เกาะฮาวายเป็นเกาะแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันไกลแสนไกล บนพื้นที่แห่งหนึ่งของโลกอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่สุด เพราะห่างจากอเมริกาแผ่นดินใหญ่ถึง 4,000 กิโลเมตร และเกาะแห่งนี้ถือเป็นต้นกำเนิด “เสื้อเชิ้ตฮาวาย” ที่เป็นกระแสนิยมทั้งแต่ครั้งอดีตเรื่อยมาสู่แฟชั่นยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนใครต่อใครก็ใส่กันทั้งนั้น เรามาทำความรู้จักกับ “เสื้อเชิ้ตฮาวาย” ว่ามีที่มาอย่างไรกัน
l ทำความรู้จักกับเสื้อเชิ้ตฮาวายที่แสนจะเบาสบาย
1930 ณ เกาะฮาวาย จุดเริ่มต้นของเสื้อฮาวายโดยการตัดเย็บเสื้อฮาวายยุคก่อนด้วยการใช้ผ้ากิโมโนตามแบบฉบับของญี่ปุ่น มีสีสันสดใสและ พิมพ์ลายต่างๆ การตัดเย็บออกแบบให้สวมใส่เบาสบายในสไตล์ชาวตะวันตก มีต้นกำเนิดการผลิตจำหน่ายอย่างเป็นทางการจาก Mr. Kiochiro Miyamoto เจ้าของห้องเสื้อ Musa-Shiya the Shirtmaker ตัดเย็บเสื้อฮาวายในแบบ tailor made ในปี 1935 ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกเจ้าแรก และเจ้าเดียวบนเกาะฮาวาย
ภายหลังมีร้านค้ารายอื่นๆ มากมายทยอยผลิตเสื้อฮาวายออกมาอย่างแพร่หลาย จนเมื่อปี 1936 นักธุรกิจ Ellery Chun ร่วมกับบริษัท King-Smith Clothiers จดทะเบียนการค้าเสื้อฮาวาย ภายใต้ชื่อ Aloha Shirt ซึ่งถือได้ว่า เป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่และขายดีที่สุดๆในยุคนั้น ต่อมาในปี 1947 ทุกวันศุกร์ของผู้คนบนเกาะฮาวายจะร่วมกันใส่เสื้อฮาวาย เพื่อแสดงถึงวัน “Aloha Friday” เป็นวันรณรงค์ให้สวมเสื้อฮาวายนั่นเอง และดูเหมือนว่าเสื้อฮาวายจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ขยายเข้าสู่อเมริกาในปี 1953 และปรากฎตัวอยู่ตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง From Here To Eternity , Blue Hawaii , ซีรีส์ Hawaii Five-O หรือวงดนตรีในตำนานอย่าง The Beach Boys รวมทั้งกลุ่มชาวฮิปปี้บางส่วนอีกด้วย
l ฮาวายกระจายทั่วมุมโลก
เสื้อเชิ้ตฮาวายสัญลักษณ์ความพื้นเมืองของชาวเกาะฮาวายได้แผ่กระจายทั่วมุมโลกทั้งทวีปเขตร้อนอย่างประเทศไทยบ้านเรา การเข้ามาของของเสื้อฮาวายในช่วงที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคหนึ่งที่มีทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากประกอบสภาพภูมิอากาศของบ้านเรานั้น “ร้อนชื้น” ไม่แพ้ประเทศใดในโลก จึงสันนิษฐานว่าเสื้อเชิ้ต “Aloha” น่าจะกระจายเข้าสู่เมืองไทยผ่านทางชาวอเมริกัน และทหารอเมริกันที่มาทำงานอาศัยอยู่ในเมืองไทย
โทนสีที่นิยมใส่กันในปัจจุบันจะใช้สีแบบกลางๆ อย่างเหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน กรมซีดๆ เพื่อให้สามารถมิกซ์กับการใส่กางเกงได้หลายแบบหลายสี เรียกว่าเป็นโทนสีพระเอกของเสื้อฮาวาย อีกหนึ่งอย่างที่สังเกตเห็นของการใส่เสื้อฮาวายสไตล์สีนีออนหรือ สีสดใสจะอยู่ในคนทวีปเขตเมืองร้อน เนื่องจากสภาพบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าวการใส่เสื้อที่สะท้อนแสงอาจเป็นตัวช่วยหนึ่งของการคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี และในทางกลับกันของทวีปเขตเมืองหนาวการเลือกใช้สีเสื้อจะเป็นไปในทิศทางของโทนสีหม่น สีเข้ม เพื่อสอดรับกับสภาพบรรยากาศเขตพื้นที่นั้นๆ
l ฮาวายกลายพันธุ์
เสื้อเชิ้ตฮาวายเสมือนสัญลักษณ์ความเป็นพื้นเมืองของชาวเกาะฮาวาย เมื่อใครก็ตามที่ได้ไปเยือนเกาะ ต่างพากันซื้อกลับมาเป็นของที่ระลึกและของฝาก ลักษณะเสื้อเชิ้ตแขนสั้นพิมพ์ลายอย่าง ดอกไม้นานาพรรณของเกาะฮาวาย ,สาวน้อยกับอูกุเลเล่ ,กระดาน Surf , ต้นมะพร้าวบนเกาะ , สะพานโกลเด้นเกต ,รถรางขึ้นเขา และอีกหลายลายที่ดูจะ “อโลฮ่า ฮูลาฮูล่า ” ส่วนเนื้อผ้าผลิตจากผ้ากิโมโนของประเทศญี่ปุ่น , ผ้าไหม และผ้าเรยอน ที่ให้ความรู้สึกเบาสบาย มีกระเป๋าด้านหน้าอกซ้าย กระดุมทำจากกะลามะพร้าวขัดเงา ,แร่เงิน หรือกระดุมหอยมุก ประกอบกับโทนสีที่สดใสดูจะเป็นที่นิยมในยุคนั้นเอามากๆ
ปัจจุบันลักษณะของเสื้อเชิ้ตฮาวายได้เป็นกระแสนิยมหลักไปแล้วก็ว่าได้ ทั้ง รูปแบบ สีสัน และลวดลาย ที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยสังคมนิยม จากผ้ากิโมโนเปลี่ยนเป็นเนื้อผ้าอื่นๆ ทดแทน กระเป๋าเสื้อที่หน้าอกด้านซ้ายอาจหายไปในบางคอลเลคชั่น แทนที่ด้วยลายต้นไม้ ดอกไม้ด้วยลายกราฟฟิก รูปสัตว์ สถานที่ต่างๆ ทั้งงานเก่าของชาววินเทจ งานผลิตใหม่อีกมากมายให้เลือก ในยุคนี้สังเกตได้ว่าไม่ต้องรอให้ถึงช่วงฤดูร้อน หรือไปเที่ยวทะเล สามารถหยิบมาใส่เดินเที่ยว เดินสวนจัตตุจักร ห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งใส่ช่วงเทศกาลรื่นเริงต่างๆ กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นในชีวิตประจำวัน
“กว่าจะกลายเป็นลายดอก” สังเกตกันไหมว่าเสื้อเชิ้ตฮาวายกับเสื้อลายดอกของไทยในปัจจุบันนี้คล้ายคลึงกันจนแทบแยกไม่ออก อาจเป็นเพราะว่า การลดทอนเนื้อผ้าที่นำมาผลิตเสื้อฮาวายที่ไม่ได้ใช้ผ้ากิโมโนแล้ว การใช้ผ้าเปลี่ยนไปตามยุคสมัยทำให้ผ้าที่ใช้ในการผลิตเหมือนกัน ลายผลิตที่ออกมาก็ใกล้เคียงกัน จนทำให้เราสับสนในจุดนี้ แต่คงเป็นเหมือนวิวัฒนาการของเสื้อฮาวาย ส่วนหนึ่งความเข้าใจเรื่อง ‘เสื้อลายดอก’ ในประเทศไทยเดิมแล้วนั้นเป็นเสื้อคอกลมสไตล์คนจีนในรูปแบบของอากง มีลายดอกไม้ธรรมดาๆ พิมพ์อยู่บนเสื้อ ซึ่งพบบ่อยในช่วงศิลปินนักร้องลูกทุ่ง ลูกกรุง อย่างคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ในการใส่เสื้อลายดอกของไทย
l สงกรานต์ ฮาวาย ลายดอก
สำหรับเทศกาลสงกรานต์งานประเพณีสุดแสนจะรื่นเริงบันเทิงใจ เย็นฉ่ำไปด้วยสายน้ำที่พร้อมจะสาดส่งความชุ่มชื้นไปทั่วทุกพื้นที่กับช่วงฤดูร้อนของเดือนเมษายนที่ใกล้มาถึงนี้ ถือเป็นเทศกาลต้อนรับปีใหม่ไทย มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำบุญ ,ไหว้พระขอพรจากผู้ใหญ่ (รดน้ำดำหัว) , การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สังเกตได้ว่าการใช้สัญญลักษณ์ดอกไม้ในช่วงเทศกาลนี้ เน้นใช้ดอกไม้ที่กำลังผลิดอกแรกแย้ม หรือบานสะพรั่งมาอยู่ในเทศกาล ให้เปรียบเสมือนกับความหมายที่ดีในแง่ของการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังมาถึง และไม่แปลกใจเลยว่า จะเสื้อลายดอกหรือเสื้อฮาวายหลากหลายสีสันถูกหยิบมาใช้ในช่วงเทศกาลนี้เพื่อสร้างความรู้สึกสนุกสนานตามแบบฉบับประเพณีสงกรานต์ไทย