เรารู้กันอยู่เต็มอกว่าตอนนี้ประเทศไทยยังมี ‘ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ’ และหลักฐานที่โคตรชัดแจ้งว่า ‘คนยังไม่เท่ากัน’ คือภาพเหตุการณ์ความรุนแรงจากการเรียกร้องความเท่าเทียมในทุกการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน และแทบทุกสัปดาห์ แต่รัฐบาลก็ดูจะโนแคร์โนสนไม่ลงมารับฟัง มิหนำซ้ำยังมีการดำเนินคดีประชาชนแบบไม่รู้เหนื่อย
ในขณะที่ประชาชนพกพาความมุ่งมั่นพร้อมข้อเรียกร้องหลักจากกลุ่ม REDEM 1. ประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2. ปรับลดงบสถาบัน และ 3. รัฐต้องจัดหาวัคซีน mRNA ให้ประชาชนทุกคนฟรี
ไม่ต่างจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มีข้อเรียกร้องหลักคือ 1. ประยุทธ์ต้องออกไป 2. เปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แต่ใช่ว่ากลุ่มคนที่รักประชาธิปไตยจะมีเพียงกลุ่มแกนนำและผู้ชุมนุม เพราะ ‘ทีมหน้าจอ’ ที่คอยกระจายข่าวการชุมนุม และคอยเป็นหูเป็นตา ก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญมาก และรักประชาธิปไตยไม่ต่างไปจากคนที่เสียสละไปลงถนน เพียงแต่เงื่อนไขในชีวิตอาจแตกต่างกันออกไป
1. กลัวถูกเจ้าหน้าที่คุกคามและใช้ความรุนแรง – ผู้ชุมนุมโดนเจ้าหน้าที่ผู้ขยันสร้างมาตรฐาน New Low ทั้งฉีดน้ำแรงดันสูง ทั้งยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแทบทุกการชุมนุม แถมยังเพิ่มดีกรีความรุนแรงที่ประชาชนถูกคุกคามจนเป็นข่าวดังในโลกออนไลน์บ่อยๆ เช่น กรณีของ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หนึ่งในผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ซึ่งถูกกระสุนแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณดวงตา จนสูญเสียการมองเห็น ทั้งๆ ที่หลักการสากลเขาไม่หาทำกัน
2. กังวลว่ารัฐจะดำเนินคดีและคุมขัง – 9 ส.ค. 2564 มีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และนักศึกษาหนุ่มถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำ พร้อม พรหมศร วีระธรรมจารี, แซม สาแมท, ณัฐชนน ไพโรจน์, สิริชัย นาถึง, ชาติชาย แกดำ, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัดดา ศิริมาศกุล และ ธนพัฒน์ กาเพ็ง โดยมี 7 ข้อหา ที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเหล่าแกนนำไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งในเวลาประมาณ 22.30 น. ในวันเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊ก Phimchanok Jaihong ถ่ายทอดสดภาพ คฝ. (กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน) ที่ศาลธัญบุรีเพื่อนำตัวเพนกวิน และนักกิจกรรมอีก 8 คนขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยังเรือนจำธัญบุรี โดยมีเสียงแม่เพนกวิน ร้องไห้ตะโกน “อย่าทำร้ายเด็ก ช่วยทุกคนด้วย” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่ (ชมคลิป : https://bit.ly/3DzuVLB ) ซ้ำร้ายแกนนำ 5 จาก 7 ยังติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำด้วย
ป.ล. ตอนนี้ นิว สิริชัย และ แซม สาแมท ถูกปล่อยตัวแล้วนะ (แต่ไม่มีใครควรโดนจับตั้งแต่แรกเพราะเห็นต่างหรือเปล่า?)
3. ครอบครัวสั่งห้ามและจับตา – 1 ก.ย. 2564 นักศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากเขาถูกพ่อไล่ออกจากบ้านว่า “ผมไปม็อบ ผมไม่ได้ไปฆ่าคนตายครับ หยุดคุกคามผม ผมมีสิทธิและเสรีภาพครับ” เนื่องจากไปร่วมม็อบมาหลายครั้ง เช่นเดียวกับปลายปี 2563 ที่มีภาพเยาวชนหญิงถือกล่องขอรับความช่วยเหลือเขียนด้วยปากกาว่า “หนูโดนไล่ออกจากบ้าน เพราะมาม็อบ ตอนนี้หนูไม่มีเงินแล้ว ช่วยหนูด้วย” เป็นหลักฐานยืนยันว่าสถาบันครอบครัวบางส่วนไม่เปิดรับความเห็นต่างทางการเมืองกันในบ้าน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บทบาทความเป็นพ่อและแม่ ถูกแยกออกจากอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
4. กังวลเรื่องวัคซีนและโรคระบาดโควิด-19 – ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตหลักหมื่นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยสองหมื่นคนต่อวัน (นี่ยังไม่นับรวมผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้าระบบ และยังเข้าไม่ถึงการตรวจรักษาอีกนะ) และยิ่งไปกว่านั้นคือมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเฉลี่ยเพียง 7 ล้าน คนจากประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก นั่นจึงเป็นสาเหตุของข้อเรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีน mRNA ให้ประชาชนทุกคนฟรี แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนหลายคนยังกังวลในการออกไปร่วมชุมนุมท่ามกลางโรคระบาด ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อีก ล็อกดาวน์ร้อยชาติโควิดก็อาจยังวิ่งเล่นว่อนเมือง
5. กังวลสุขภาพร่างกายที่เปราะบาง – นอกจากเรื่องการไม่ได้รับวัคซีนแล้ว สิ่งที่ทำให้ประชาชนบางคนไม่ได้ออกมาร่วมชุมนุม ก็เพราะปัญหาทางสุขภาพ ทั้งโรคประจำตัว หรือความบกพร่องบางอย่าง บางคนถ้าติดโควิดก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคที่ป่วยอยู่แล้ว การอยู่ทีมหน้าจอคอยเป็นนกพิราบส่งสารจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยที่สะดวกที่สุด
6. อื่นๆ ที่ไม่มีระบุในลิสต์ – จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราเชื่อว่าทุกคนมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนของตัวเอง อาจเพราะไม่สะดวกต่อการเดินทางเนื่องจากบ้านอยู่ต่างจังหวัด เหน็ดเหนื่อยจากการเรียกร้องแต่ไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ มีปัญหาข้อจำกัดด้านการเงิน มีภาระในชีวิตจำนวนมากจนทำให้ต้องอยู่ติดที่ตลอด หรือแนวทางการเรียกร้องที่บางคนมองว่ายังไม่ตรงใจ และบางทีเป็นเพราะความกังวลอะไรสักอย่างซึ่งมีมิติมากกว่าที่สายตามองเห็น แต่เราเชื่อเสมอว่า ตอนนี้ประชาธิปไตยได้ผลิบานในใจคนไทยมากกว่าในอดีต และทุกการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะวิธีไหนก็แล้วแต่ ‘ล้วนสำคัญ’ และไม่มีใครควรถูกผลักจากขบวนเพราะถูกมองว่าออกแรงไม่เท่ากัน
โปรดเชื่อ และอย่าให้ใครมาปิดปากเสียงของพวกเรา
Sources :
Khaosod | https://bit.ly/3BoZKR6
Matichon | https://bit.ly/3BxzmEG, https://bit.ly/3DzuVLB, https://bit.ly/2WBjJgu
Prachachat | https://bit.ly/3gPIXik
Sanook | https://bit.ly/38wk9r2
Workpoint | https://bit.ly/3gQwsmK