“ในโลกที่เขาเห็น ทุกคนมักสวมหน้ากากเข้าหากัน ผู้คนพยายามสร้างตัวตนใหม่ๆ ให้คนอื่นเห็น ผ่านการแต่งหน้า การแสดงออกทางสีหน้า นานวันเข้าใบหน้าที่สร้างขึ้นมาปิดบังเหล่านั้นก็กลายเป็นตัวตนของพวกเขาไปในที่สุด” Saul Steinberg
พาย้อนวันวานไปหาจุดเริ่มต้นของ ‘หน้ากากถุงกระดาษ’ เทรนด์แฟชั่นรุ่นพ่อ ซึ่งไม่ได้เอาไว้ใส่ป้องกันเชื้อโรค แต่นี่คือสัญลักษณ์ในการใช้ซ่อนตัวตนของคนยุค 60 พร้อมทำความรู้จักกับ ‘Saul Steinberg’ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย ผู้ประดิษฐ์และคิดค้นหน้ากากกระดาษที่ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ต้องเคยใส่ !
‘Saul Steinberg’ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย
‘Saul Steinberg’ คือนักเขียน และนักวาดภาพประกอบชาวโรมาเนีย ที่โด่งดังเป็นพลุแตกจากฝีมือการวาดภาพปกให้กับนิตยสารชั้นนำรายสัปดาห์ของอเมริกาที่เรารู้จักกันดี อย่าง ‘The New Yorker’ ฉบับวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1976
Steinberg เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1914 ในครอบครัวชาวยิว ที่ประเทศโรมาเนีย เขาเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย (Politehnica University of Buchares) และในปีต่อมาไปสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน ประเทศอิตาลี (Polytechnic University of Milan) เพื่อศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรม
Steinberg เริ่มเข้าวงการนักเขียนและนักวาดภาพประกอบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1936 ด้วยการทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับ ‘Bertoldo’ นิตยสารอารมณ์ขันรายปักษ์ของมิลาน หลังจากนั้นสองปีต่อมารัฐบาลที่ควบคุมโดยกลุ่มลัทธิฟาสซิสต์ในประเทศอิตาลีออกกฎหมายต่อต้านชาวยิว จึงทำให้ Steinberg ต้องลี้ภัยไปประเทศอื่น
ในปี ค.ศ.1941 เขาย้ายไปยังสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ก่อน Steinberg จะขอเข้าลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1942 โดยการสนับสนุนของนิตยสาร The New Yorker ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง
ชีวิตหลังจากนั้น เขาได้เริ่มงานเขียนและวาดภาพประกอบให้กับนิตยสารหลายฉบับ เช่น Fortune, Vogue, Mademoiselle และ Bazaar ของ Harpe รวมถึง The New Yorker นิตยสารชั้นนำรายสัปดาห์ของอเมริกา
‘The Start of Paper-Bag Masks’ จุดเริ่มต้นหน้ากากถุงกระดาษ
Saul Steinberg แต่งงานกับจิตรกรสาว Hedda Sterne ในปี ค.ศ.1944 ในระหว่างนั้น Steinberg ก็โลดแล่นแสดงฝีไม้ลายมือในฐานะนักเขียนและนักวาดภาพประกอบอย่างจริงจัง เขาได้สร้างผลงานมากกว่า 90 หน้าปกหนังสือ และภาพประกอบมากกว่า 1,200 ภาพใน 60 ปีต่อมา หลังจากนั้นเขาเริ่มสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังจากการตัดปะที่มีชื่อว่า ‘The Americans’ เพื่อจัดแสดงในงานมหกรรมโลก ‘Brussels World’s’ ปี ค.ศ. 1958 กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และผลงานชิ้นนี้เองที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
“The mask,” Steinberg wrote, “is a protection against revelation.”
โดยยุคทองของ Steinberg คือช่วง ค.ศ.1959 – 1963 ที่เขาหันมาสนใจสร้างหน้ากากจากถุงกระดาษสีน้ำตาล เพราะเขานึกถึงการปิดบังหรือการปลอมตัวของคนในสังคม ที่ทุกคนมักสวมหน้ากากเข้าหากัน พยายามสร้างตัวตนใหม่ๆ ให้คนอื่นเห็นผ่านการแต่งหน้า การแสดงออกทางสีหน้า นานวันเข้าใบหน้าที่สร้างขึ้นมาปิดบังเหล่านั้นก็กลายเป็นตัวตนของพวกเขาไปในที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หน้ากากถุงกระดาษเวอร์ชั่น Steinberg จะมีสัญลักษณ์เป็นลวดลายแปลกๆ ออกมามากมาย จนกลายเป็นเทรนด์ที่คนในยุคนั้นฮิตใส่กัน
‘The Mask Series’ เซ็ตภาพถ่ายคนและถุงกระดาษ
จากไอเดียหน้ากากถุงกระดาษของเขา สู่เซ็ทภาพถ่ายที่ผู้คนทั่วโลกพูดถึง ซึ่งเกิดจากวันหนึ่ง Steinberg ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ค็อกเทลที่อพาร์ทเมนต์ของเพื่อนในนิวยอร์ก แล้วบังเอิญได้พบกับ ‘Inge Morath’ ช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน หลังจากได้พูดคุย ทั้งสองจึงปิ้งไอเดียจับมือกันสร้างภาพถ่าย ‘The Mask Series’ ในชื่อโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Masquerade’ โดยเชิญเพื่อนๆ มาใส่หน้ากากถุงกระดาษและโพสต์ท่าให้ Morath ถ่าย
หลังจากภาพซีรีส์นี้ถูกปล่อยออกไป ก็กลายเป็นตำนาน และสัญลักษณ์เชิงวรรณกรรมสำหรับผู้คนที่ขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม รวมถึงการซ่อนตัวตนของผู้คน ก่อนที่ Morath จะรวบรวมเซ็ตภาพนี้จัดพิมพ์เป็นโฟโต้บุ้กชื่อ ‘Saul Steinberg Masquerade’ ซึ่งรวมไฮไลต์คอลเลกชันภาพ ‘หน้ากากถุงกระดาษ’ ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ.2000 หลัง Steinberg เสียชีวิตได้ 1 ปี
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ถุงกระดาษที่เราใช้ใส่ของ หรือบางถุงกระดาษก็กลายเป็นสัญญะอวดรสนิยมการใช้ของแบรนด์ของคนยุคนี้ จะเคยเป็นตัวแทนของคนขี้อาย และไม่กล้าเข้าสังคมมาก่อน
Sources :
Wikipedia | https://bit.ly/358bXeb
Saul Steinberg | http://saulsteinbergfoundation.org
Magnum Photos | https://bit.ly/3eJccAL
Hint Fashion Magazine | https://bit.ly/3at28ss