พระธรรม พส.ไพรวัลย์ เข้าถึงศาสนาง่ายและโคตรสนุก - Urban Creature

จากที่แต่ก่อนนู้นนน ศาสนาเคยมีบทบาทสำคัญมากๆ ในแทบทุกมิติของชีวิตคนเรา ตั้งแต่การกินอยู่ การตั้งจารีต และตั้งกฎเกณฑ์สังคมนานา รวมถึงความเชื่อของคนที่มีต่อโลกใบกลมนี้ แต่ทุกวันนี้วิถียุคสมัยใหม่ที่หมุนเร็วไว จนอาจทำให้ศาสนาเป็นเรื่องไกลตัวคนเจเนอเรชันปัจจุบันขึ้นทุกวัน 

และอาจเพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังเจือจางหน้าที่ของศาสนา เข้ามาอธิบายสภาวะธรรมชาติ ได้อย่างชัดแจ๋ว จนอาจทำให้ศาสนาไม่ยึดโยงกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป ก็เพราะชีวิตมันมีทางเลือกตั้งเยอะ หลายคนจึงเลือกไม่นับถืออะไร และนี่คือโจทย์ที่น่าท้าทาย ‘พระสงฆ์’ ว่าจะดึงคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจหลักธรรมได้ยังไงกันบ้าง

เมื่อโลกเปลี่ยนทุกวินาที พส. (พระสงฆ์) บางรูปจึงไม่ได้อยู่แค่บนหิ้ง แต่ยอมเป็นปลาแซลมอน ยอมเป็นแคร์รอต ยอมเป็นชาวเดรสส้ม และกลายร่างจากความน่าเบื่อขรึมเคร่งเป็นความสนุกสุดๆ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ และกล้าบอกเด็กๆ หรือ นส. (น้องสาวหรือน้องๆ) อย่างจริงใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าน่ะสุดจะปัง และไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่พวกคุณโยมคิดกันหรอกนะ

ขณะที่สังคมเพดานทะลุฟ้า อะไรที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น ชั่วโมงนี้ไม่มีใครไม่รู้จักวัดสร้อยทอง กุฏิพำนักของ พส.ไพรวัลย์ และ พส.มหาสมปอง ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ธรรมะแสนสนุก ด้วยการหยิบเอาเทคโนโลยีไลฟ์สดมาใช้สื่อสารกับคนบนโลกโซเชียล

นี่คือ Yellow Robe Revolution เปลี่ยนบทบาทสังฆกรรมแบบพลิกโลก ทีนี้แหละหลักธรรมคำสอนเลยได้วาดรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนใบหน้าคน ให้เข้ามารวมตัวในไลฟ์เป็นจำนวนนับแสนคนโดยมิได้นัดหมาย 

แต่พอกรุยทางบนประเด็นใหม่ๆ ทีไร ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงของคนต่างรุ่น ถ้าอย่างนั้นทุกคนจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันยังไงดีนะ เราจะไม่ตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิด แต่มองว่านี่คือก้าวสำคัญของวงการผ้าเหลืองไทย เลยไม่รอช้าขอก้าวสับๆ ไปพร้อมกับปรากฏการณ์ธรรมะกลั้วเสียงเอิ้กอ้าก ด้วยการรวบรวมพระธรรมคำสอนของ พส.ในวันที่ศาสนาเป็นเรื่องจับต้องและตั้งคำถามได้ เพราะนั่นอาจหมายถึงการเติบโตทางความคิด และการขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านพลังของ พส. ที่ถือเป็นสมาชิกร่วมสังคมของเราคนหนึ่ง

ความสุขแบบใหม่ ไม่ต้องรอวันพิเศษ

นส. ปุจฉา : พส. คะ เราจะหาความสุขในชีวิตเจอได้ยังไง?

พส. วิสัชนา : “ชีวิตคนเราถ้าต้องรอการใช้ชีวิตแบบรอเรื่องพิเศษมันหาความสุขไม่ได้หรอก ทำงานสามสิบวัน เพียงเพื่อรอเงินเดือนออกแค่วันเดียว นั่นเท่ากับว่าคุณทุกข์เป็นเวลายี่สิบเก้าวันเพื่อรอสุขแค่วันเดียวเหรอมันก็ไม่ใช่ เรื่องนี้ มันทำให้เห็นว่าชีวิตส่วนใหญ่ คนเรามันขึ้นอยู่กับเรื่องธรรมดา จงมีความสุขกับเรื่องธรรมดาให้ได้”

ปัญหาคลาสสิกด้านการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน คือการถวิลหาความสุข และความพิเศษของการใช้ชีวิต ซึ่ง พส.ของเราก็รับบท Life Coach แบบใหม่ แบบสับที่คอยตอบคำถามประชาชนตามข้อเท็จจริงได้อย่างแยบยล และมีความโมเดิร์น คล้ายๆ กับแนวคิด ‘อิคิไก’ จากแดนปลาดิบ ซึ่งเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่สอนให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความหมายของสิ่งที่ตนกำลังทำในแต่ละวัน ชื่นชมความงดงามของสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน จนกลับมามีความสุข ผ่านการรู้สึกตัวในทุกขณะและค้นพบตัวตนในทุกลมหายใจ

มีของดีต้องเผยแผ่ ไม่ใช่เก็บไว้ให้ปลวกกิน

นส. ปุจฉา : ทำไม พส.ถึงออกมาไลฟ์สดเจ้าคะ?

พส. วิสัชนา : “คุณจะเก็บธรรมะที่เป็นของดีไว้แต่ใช้ไม่เป็น พระไตรปิฎกต้องมีค่ามากกว่าเป็นอาหารปลวกรึเปล่า หลายวัดล็อกกุญแจลืม จนบางทีกุญแจหาย เปิดอีกที อ้าว ปลวกกินไปแล้ว เหมือนกับมีธรรมะที่ดีมาก อยากจะสื่อกับคนแต่ไม่มีคนฟังจะไปสื่อสารกับใคร ธรรมะทุกวันนี้มีไว้เทศน์ให้แค่ผีฟัง เช่นบทอภิธรรมเป็นบทเทศน์ที่มีความลึกซึ้งมาก แต่ใช้ที่ไหน ในงานศพ! แล้วจะใช้เพื่ออะไร มีประโยชน์กับคนปัจจุบันไหม เพราะฉะนั้นธรรมะจะมีประโยชน์เมื่อมีคนฟัง เอามาแทรกเป็นความรู้ ให้คนหมู่มากได้ฟัง”

คำตอบของ พส. ทำให้เห็นปัญหาการปรับตัวของศาสนาในยุคปัจจุบัน ที่ออกมาเผยแผ่ศาสนาให้คนรุ่นใหม่สนใจและเห็นคุณค่าไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำสอนที่ว่าดีและมีประโยชน์จะค่อยๆ ถูกกัดกินด้วยสิ่งที่เรียกว่ากาลเวลา และเป็นของตกยุค ถ้าตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน เพราะฉะนั้น การออกมาไลฟ์ของ พส.ไพรวัลย์ เป็นเหมือนการหยิบเอาสิ่งของที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับกาลเวลา สถานที่ และคนทุกเจเนอเรชันให้มากขึ้น

ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตไหนเราต่างเท่าเทียม

นส. ปุจฉา : หลวงพี่งับ พระกับฆราวาสเป็นเพื่อนกันได้ไหมครับ?

พส. วิสัชนา : “อย่าว่าแต่พระกับฆราวาสเลยนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ฉะนั้นโดยพื้นฐานธรรมะทุกคนล้วนเป็นเพื่อนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพ สถานะแบบไหน”

นี่คือความว้าว เมื่อ พส. ขับเคลื่อนความเท่าเทียมด้วยพระธรรม ถึงกับเอ่ยปากว่าไม่ว่าคนทั่วไป พระสงฆ์ หรือสิ่งมีชีวิตทุกสปีชีส์ ล้วนเกิดมาเป็นกัลยาณมิตรที่ต้องเผชิญการเกิด แก่ เจ็บ และตายร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพแบบไหน สถานะในสังคมแบบใด แต่เราต่างเท่าเทียม และไม่ควรแบ่งแยกสิ่งมีชีวิตด้วยอคติใดๆ

คติธรรมสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ

นส. ปุจฉา : หลวงพี่หัวหน้างานอคติกับหนูมากเลย ทำยังไงดีคะ? 

พส. วิสัชนา : “อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ให้ลาออกก่อนลาออกเถียงเขาเลย และยื่นใบลาออก อย่ายอมให้คนอื่นมาบุลลี่เรา ทนไม่ได้อย่าทน เพราะว่าถึงไม่ยื่น เขาก็ไล่เราออกอยู่ดี”

ฉีกทุกกฎคำตอบของศาสนาเมื่อ พส.สอนว่า เราไม่จำเป็นต้องอดทนกับสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจ แตกต่างจากหลักคำสอนในยุค Baby Boomer ที่การตอบคำถามแบบเดียวกัน อาจได้คำตอบเป็นการสั่งให้เราอดทน พยายามปรับตัว ขยันขันแข็งก้มหน้าก้มตาทำงาน หรืออาจจะได้คำตอบเรื่องเวรกรรมมาเป็นรางวัลปลอบใจ เฮ้ย นี่ไม่ใช่เวรกรรม แต่คือการดีไซน์ชีวิตให้ปังหรือพังได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า

กูไม่ได้เกิดมาทนทุกข์และโง่โว้ย

นส. ปุจฉา : พส. ช่วยด้วย ไม่อยากทนทุกข์อีกต่อไปแล้วค่าาา

พส. วิสัชนา : “เอาความทุกข์เป็นบันได ความทุกข์มีไว้เหยียบไม่ได้มีไว้แบก เหยียบมันขึ้นไป กระทืบมันเข้าไปให้จมดินไปเลย มีหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอันหนึ่ง บอกเราว่า ทุกคนเกิดมาเพื่อเอาชนะทุกข์ และท่านพระพุทธทาสภิกขุ พูดเสริมว่า กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ให้โง่โว้ย เพราะฉะนั้นใครที่เป็นทุกข์อยู่ เปลี่ยนความทุกข์เป็นบันไดและใช้มันพัฒนาชีวิตเราให้ดีขึ้น”

ปกติเรามักจะถูกสอนให้เอาชนะความทุกข์ด้วยการปล่อยวาง ยอมรับ และขจัดความทุกข์ให้ได้ แต่ในวันนี้ พส. สอนให้เราเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นบันได ในการเผชิญปัญหาที่เข้ามา และใช้มันพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น นี่ไม่ใช่แค่ประโยคที่โคตรเท่ แต่เป็นการพลิกจากการปล่อยวาง มาอยู่ร่วมกับความทุกข์ได้อย่างเข้าใจ และใช้ความทุกข์ผลักดันให้ชีวิตสง่างาม

ถ้าสื่อดี สังคมก็จะดี 

นส. ปุจฉา : หลวงพี่ครับ หน้าที่ของสื่อควรยืนอยู่ข้างประชาชนใช่หรือไม่?

พส. วิสัชนา : “ถ้าสื่อทุกสื่อในประเทศไทยดี ประเทศชาติจะสามัคคีขึ้นมาเลยนะ ทุกวันนี้ที่มันไม่สามัคคีก็เพราะสื่อนี่แหละ สภาพพพ… สัมภาษณ์ยังไงสามสิบนาที แต่ไปออกสามสิบวิ สัมภาษณ์เพื่ออะไร 

“สัมภาษณ์เรา แต่ไอ้ที่เราอยากพูด ไม่เอาไปออกเลย เวลาสัมภาษณ์ให้ออกมาให้ตรงจุดหน่อย อ่านข่าวยังไงให้เป็นคนละเรื่องกับที่สัมภาษณ์ ถ้ามีธงในใจอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องสัมภาษณ์ให้รู้สึกเจ็บใจ”

ขับเคลื่อนวงการสื่อไปอีกขั้นในวันที่ พส. ออกมาผลักดันสื่อให้เห็นถึงคุณค่า และบทบาทต่อสังคม เพื่อบอกให้นักข่าวนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ตามบทบาทและหน้าที่โดยปราศจากอคติ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราไม่ค่อยเห็นพระออกมาพูดถึงมากนัก เพราะมักจะถูกมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ และถูกตีกรอบไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมือง ก็น่าคิดนะว่าถ้าสื่อทำหน้าที่เพื่อประชาชนแท้จริง สังคมจะดีขึ้นมากแค่ไหน

ความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงาม

นส. ปุจฉา : พระสงฆ์ต้องพูดคุยกับสำนักงานพระพุทธศาสนา และหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา?

พส. วิสัชนา : “อย่าเอาวิธีคิดที่มองว่าพุทธศาสนาของตัวเอง ไปตอบหรือไปบังคับให้คนอื่นมองให้เหมือนกัน อย่ามองว่าความหลากหลายคือความขัดแย้ง ความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงาม” 

และ พส.ฝากถึงสำนักงานพระพุทธฯ ต่อว่า เวลาคุณจะโปรโมตโครงการต่างๆ มันมีคนดูรึเปล่า แต่ตอนนี้อาตมามีคนดูแสนสอง เดี๋ยวอาตมาโปรโมตให้ อาตมาไม่อยากมีภาพขัดแย้งกับสำนักงานพระพุทธฯ อาตมาเป็นคุณให้กับศาสนาตรงไหนได้ก็อยากช่วย มีคนดูอาตมาหลักแสนคน และไม่ต้องส่งจดหมายมาเตือนมันดูห่างเหินเกินไป อาตมาจะไม่ดื้อ แต่ขอให้มีเหตุผลหน่อยอาตมาพร้อมชี้แจง 

เลิกเถอะ กับการเอามาตรฐานขององค์กรตนเองไปตัดสินคนอื่น อาตมาไม่มีปัญหาเลยกับการที่คนอื่นออกมาวิจารณ์ และรู้สึกขอบคุณมาก เพราะจะได้รู้ว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยมันมีความหลากหลาย ความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงาม อย่ามองว่าความหลากหลายคือความขัดแย้ง สังคมไทยชอบมองว่าความหลากหลายคือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความทุกข์มันมีองค์ความรู้ ให้พื้นที่กับสังคมในการเลือกเสพ อย่าเอาวิธีคิดที่มองว่าพุทธศาสนาของตัวเองถูกและบริสุทธิ์ไปตอบ หรือไปบังคับให้คนอื่นมองให้เหมือนกันทั้งหมด มันไม่ได้ สภาพพพ!!

นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สังคมได้เห็นพระรูปหนึ่งออกมาตอบโต้ กฎระเบียบขององค์กรทางศาสนา พร้อมทั้งวิพากษ์การทำงานที่ไม่ตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบัน ออกมาพูดถึงเรื่องการเหมารวม และการควบคุมความคิดเกี่ยวกับศาสนา และทำหน้าที่เป็นตำรวจศีลธรรมของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่เข้ามามีบทบาทควบคุมและกำหนดประเด็นการสอนศาสนาในสังคมไทย เราจะกล้าพูดได้ยังไงว่าหลักธรรมเป็นของทุกคน ถ้าการตีความคุณค่ามีเพียงคนกลุ่มเดียวเป็นเจ้าของ

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.