ถอดรหัสแนวคิดความยั่งยืนที่ GEN ไหนก็เป็น GEN S ได้ - Urban Creature

‘ความยั่งยืน’ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างโลกให้ดีขึ้น ไปสู่เป้าหมาย Net Zero และร่วมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นทะลุระดับ 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2027 ตามการคาดการณ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO)

เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ไปด้วยกัน การจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และคนรุ่นใหม่ เพื่อหาแนวทางการแก้ไข ‘ภาวะโลกเดือด’ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก แต่กลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบ

‘GC’ ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมายาวนาน รวมพล GEN S คน GEN ใหม่หัวใจยั่งยืน ร่วมลงมือแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลก และส่งต่อแนวคิด แรงบันดาลใจ ให้เกิดแรงกระเพื่อมในการใช้ชีวิตในแบบ Sustainable Living เพื่อเปลี่ยนโลกที่ดีขึ้น ในงาน ‘GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S’

งานนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ที่มาพร้อมกับการแชร์แนวคิดและประสบการณ์จาก GEN S ตัวจริงทั้งในและต่างประเทศ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแนะนำแนวทางให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับองค์กร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และคนทั่วไป ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

Urban Creature ขอพาไปถอดรหัสแนวคิดความยั่งยืน ฟังเรื่องราวการส่งต่อโลกที่ดีขึ้นด้วยโซลูชันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับ GEN S ตัวจริง จากองค์กรชั้นนำที่จะมาแชร์เรื่องราวการก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายใต้ธีม ‘Climate Actions: Creating a Sustainable World Today for Tomorrow’ ที่ GEN ไหน ก็เป็น GEN S ได้พร้อมๆ กัน

Act Now 
การลงมือทำขององค์กร/หน่วยงาน

เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ Net Zero

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

หลังจากการประชุม COP26 ได้เกิด ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ของนานาประเทศที่ประกาศเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 หนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ในอนาคตคือการร่วมมือกันของทุกคน

งานเสวนาในครั้งนี้ได้มีการร่วมพูดคุยถึงเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกในองค์กร เพื่อมุ่งเข้าสู่การเป็น Net Zero ในหัวข้อ ‘Act Now’ ระหว่างบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), BASF South East Asia Pte. Ltd. และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

‘อชิต โจชิ’ CEO บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) เล่าว่า ในส่วนของบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) ที่คนไทยรู้จักว่าเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ของประเทศนั้น ได้มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงส่วนการผลิตให้รักษ์โลกมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตลงจากเดิมที่มีอัตราส่วนการใช้น้ำ 2 ลิตรในการผลิตเครื่องดื่ม 1 ลิตร ให้เหลือการใช้น้ำเพียง 1.4 ลิตร ซึ่งล่าสุดเป๊ปซี่ใกล้เป้าหมายเข้าไปอีกขั้นเพราะสามารถลดการใช้น้ำลงให้เหลือเพียง 1.42 ลิตรได้แล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ก็มีการนำพลาสติกรีไซเคิล rPET มาใช้มากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้ขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล rPET ให้ได้ 15% ภายในปี 2025 และ 60% ภายในปี 2030 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) ได้เปิดตัวเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ใช้ขวดน้ำอัดลมจากพลาสติกรีไซเคิล rPET จากความร่วมมือกับ GC

ถัดมาในส่วนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าการโทรคมนาคมจะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร ‘สายชล ทรัพย์มากอุดม’ รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ ก็กล่าวว่า ทาง AIS ได้นำแนวคิด ESG มาใช้ในการเลือกประเมินสรรหา Supplier ไปจนถึงการก่อตั้งโครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ เพื่อจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังพบว่าในปี 2019 มีการบริหารจัดการขยะเหล่านี้อย่างถูกต้องแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ ในส่วนงานบริการลูกค้า ทาง AIS มีแอปพลิเคชัน ‘myAIS’ ที่จะเปลี่ยนใบเสร็จหรือใบเรียกเก็บเงินจากตัวกระดาษให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษที่อาจดูเป็นสิ่งเล็กๆ แต่สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้มากทีเดียว

Act Now
การก้าวสู่ Net Zero ไม่ใช่แค่การลดคาร์บอน
แต่ต้องควบคู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

ในขณะที่ ‘Dr. Carola Richter’ Regional President, BASF Asia Pacific (excl. China) BASF South East Asia Pte. Ltd. ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ระดับโลก ได้กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน การจะลดปริมาณคาร์บอนเราต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำอย่าง Supplier เพื่อให้สามารถไปถึงจุดหมายการเป็น Net Zero ได้ในปี 2050

สำหรับ ‘ดร.ชญาน์ จันทวสุ’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้กล่าวถึงการดำเนินงานว่า GC เองก็มีการตั้งเป้าหมายการเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050 เช่นกัน 

สิ่งที่ GC คำนึงไม่ใช่เพียงการลดการปล่อยคาร์บอนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องควบคู่มากับการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

นอกจากนี้ GC ยังมุ่งสู่การลงทุนในธุรกิจ High Value & Low Carbon ซึ่ง High Value คือผลิตภัณฑ์ของเราต้องมีคุณค่าต่อผู้ใช้งาน เช่น การใช้งานคงทนและปลอดภัย ส่วน Low Carbon คือการพัฒนาทุกผลิตภัณฑ์ของเราต้องคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด

Accelerate Now
เครื่องมือหรือกลไกมีความสำคัญ
ในการเร่งขับเคลื่อน Net Zero ให้เกิดขึ้นได้จริง

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

ถัดจากภาคเอกชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่งที่จะเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้จริงคือการกำหนดนโยบายจากภาครัฐ สถาบันการเงิน และการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้งาน

การเสวนาในหัวข้อ ‘Accelerate Now’ ในช่วงที่สองจึงเป็นการพูดคุยถึงเครื่องมือหรือกลไกในการเร่งขับเคลื่อน Net Zero ให้เกิดขึ้นได้ ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BCG)

‘ดนุชา พิชยนันท์’ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าว่า ความจริงแล้วในประเทศไทยได้มีการพูดถึงเรื่องการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาประมาณ 4 – 5 ปีแล้วใน ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13’ ซึ่งเป้าหมายหลักคือต้องการให้เกิดการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

ทำให้เกิดการจับมือกับ ‘BOI’ หรือ ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน’ ในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการลงทุนให้กับกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย 

อีกทั้งยังหยิบเอาโมเดล ESG มาใช้ทั้งในส่วนขององค์กรใหญ่และชุมชน โดยเน้นไปในฝั่งเกษตรกรรม ผ่านการพัฒนาป่าชุมชนที่จะสามารถเป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชน โดยการขายคาร์บอนเครดิตให้กับภาคเอกชนในอนาคต

แต่การจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินร่วมด้วย ‘กฤษณ์ จันทโนทก’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงกล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันที่สถานการณ์อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อ GDP อย่างมีนัยสำคัญ และการที่จะแก้ไขปัญหานั้น ภาคธนาคารเป็นบทบาทที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก 

ทำให้ในปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาภายในองค์กร รวมไปถึงการช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นสีเขียวมากขึ้น ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียว รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อที่สอดคล้องกับความยั่งยืน ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ได้ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้ เพื่อสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้วางไว้

Accelerate Now
เทคโนโลยีที่ทันสมัยคือตัวแปรสำคัญ
ในการขับเคลื่อน Net Zero

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

ถัดมาในส่วนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ไว้ว่า ไทยนั้นเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกติกาของโลกเรื่องของความยั่งยืนเปลี่ยนไป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวตาม

ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดให้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือผู้นำเข้าสินค้าจำนวน 6 กลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ (ไฮโดรเจน) ต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เกรียงไกรยังกล่าวถึงนโยบาย ‘ONE FTI’ ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ ONE FTI เรื่องของ First Industries อุตสาหกรรมเดิม และ Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย BCG และการผลักดัน Climate Change

เพราะหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ช่วยให้เรามุ่งสู่ Net Zero ได้จริง ซึ่งในส่วนเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ‘อิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล’ กรรมการและผู้จัดการอาวุโส บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI และ Digital มาช่วยคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลิต Low-carbon Hydrogen ใช้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไปจนถึงการนำ Negative Emission Technologies (NETs) เข้ามาใช้ โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสู่ Net Zero ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

Change Now
แค่เริ่มเปลี่ยน ก็สามารถร่วมขับเคลื่อน
การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

มาถึงหัวข้องานเสวนาสุดท้ายกับ ‘Change Now แค่เริ่มเปลี่ยนก็สามารถร่วมขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้’ ที่พูดคุยถึงเรื่องที่ใกล้ตัวขึ้นมาอีกหน่อยจาก Expert ทั้ง 5 คน

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปสู่การเดินทางแบบคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนวิถีเกษตรไปสู่ข้าวคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือการเปลี่ยนแนวคิดความเข้าใจในการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ

‘ดิษทัต ปันยารชุน’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ OR จะเป็นบริษัทผลิตน้ำมัน แต่ในยุคที่โลกของเราตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวบริษัทเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย

เกิดเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของ OR อย่าง ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ ที่มองการเติบโตของธุรกิจให้ยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่กว่า 15,000 ชุมชน มีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงสร้างอาชีพและกระจายความมั่งคั่งผ่านการเติบโตโดยสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ

นอกเหนือจากด้านพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว อีกหนึ่งทางในการคืนความยั่งยืนให้กับสังคมคือการคืนพื้นที่สีเขียวให้ป่า ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ‘​​หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิทำมาตลอด 35 ปี ผ่านการอนุรักษ์และปลูกป่าในพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 4 แสนไร่ และต่อเนื่องไปในอนาคต

โดยเป้าหมายหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปรับกลยุทธ์ในการทำเกษตร พลิกจากการทำไร่เลื่อนลอยหรือไร่ระยะสั้น ให้มาลงทุนในการทำไร่พืชระยะยาวอย่างแมคาเดเมียหรือกาแฟมากขึ้น เพราะพืชเหล่านี้สามารถเติบโตได้ดีในป่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ เปลี่ยนจาก ‘คนหิว ป่าหาย’ ให้กลายเป็น ‘คนอยู่ได้ ป่ายั่งยืน’

Change Now
แค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
ก็ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ Net Zero ได้

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

ถัดจากเรื่องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสะอาดและปลูกป่าอย่างยั่งยืน ข้ามมาฟากภาคการเกษตรของประเทศไทย ‘เจมส์ แอนดริว มอร์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ก็ให้ความสนใจการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพราะแนวคิดนี้สามารถเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น

เนื่องจากการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำเกิดจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขังสลับกับช่วงน้ำแห้งไปมา เพื่อกระตุ้นให้ต้นข้าวดูดซึมอาหารได้ดี ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวแบบทั่วไปและหากในอนาคตเหล่าเกษตรกรมีความเข้าใจในการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำมากขึ้น การเกษตรในลักษณะนี้อาจเป็นอีกหนทางในการต่อสู้กับปัญหาโลกรวนไปพร้อมๆ กับการลดใช้น้ำ ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ‘เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ’ นักแสดงและผู้ก่อตั้งโครงการ Little Big Green ก็พูดถึงวิธีง่ายๆ ในการช่วยโลกผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ด้วยการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ผ่าน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ การลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในแต่ละวัน การวางแผนการเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะให้มากเท่าที่ทำได้ การทำการเกษตรแบบฟื้นฟู การใช้สิ่งของให้ครบอายุงาน และการลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่เราสามารถลงมือทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

ด้าน ‘รองเพชร บุญช่วยดี’ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายการเสวนาในครั้งนี้ว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยปล่อยคาร์บอนประมาณ 5 ตันต่อปี และหนึ่งสิ่งที่จะทำให้ตัวเลขเหล่านี้ลดต่ำลงคือการออกเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์หรือฉลากลดโลกร้อนจากทางองค์การฯ เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

เพื่อให้ผู้ผลิตลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์รู้สึกภูมิใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโลกของเรา

และนอกจากงานเสวนาทั้ง 3 หัวข้อที่สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางให้กับทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริงแล้ว ภายในงาน ‘GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S’ ยังมีโซนพื้นที่นิทรรศการที่น่าสนใจและให้ความรู้ทั้งเรื่องการจัดการพลาสติกใช้แล้ว และการใช้ชีวิตแบบ Sustainable Living ที่ให้ทั้งความสนุกและความรู้กับผู้ร่วมงาน

ส่วนชาว GEN S คนไหนที่สนใจในเรื่องความยั่งยืนเพิ่มเติม ติดตามข้อมูลน่ารู้และกิจกรรมจากทาง GC ได้ที่ www.pttgcgroup.com/th/home

GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.