เดี๋ยวนี้จะมีสักกี่คลิป กี่โฆษณา ที่ตรึงให้เราจดจ่อไม่กด Skip เหตุผลไม่ใช่แค่ว่าสินค้านั้นถูกจริตเรา แต่เลยเถิดไปถึงวิธีการเล่าเรื่องแบบไม่ยัดเยียดขาย และเทคนิคการตัดต่อมีชั้นเชิง ถึงขั้นอยากตามไปดูต่อว่าโปรดักชันเฮาส์แก๊งไหนเป็นคนสร้างงานชิ้นนั้นๆ ขึ้นมากัน
และในช่วงที่ผ่านมา เฮาส์หลายเจ้าก็ต่างผลิตไวรัลคลิปเพื่อแย่งชิงสปอตไลต์ให้ชาวเน็ตจดจำ บรรดาหนังโฆษณาที่เตะตาเราและเชื่อว่าโดนใจใครหลายคน (ถ้ายังจำกันได้) คือคลิปออกกองฟรอมโฮม ที่มีผู้กำกับคนหนึ่งแชร์ความยากในการออกกองช่วงโควิด เป็นคลิปที่ชวนขำตอนต้นและต้องปาดน้ำตาตอนจบ
หรืออย่างโฆษณาข้าวตราฉัตร ที่ขอขอบคุณพนักงานทุกชีวิตในสถานการณ์อันแสนสาหัส ซึ่งเมื่อดูคลิปแต่ละตัวจบ เราสืบสาวราวเรื่องจนรู้ว่านี่คืองานของ CYPH.film (ไซฟ์ฟิล์ม) โปรดักชันเฮาส์อายุไม่ถึงขวบปี ที่ทำให้รู้สึกดีใจเล็กๆ ว่าวงการโฆษณาบ้านเรายังมีคนรุ่นใหม่ๆ คอยผลิดอกออกผลและสร้างผลงานคุณภาพให้ทุกคนได้เสพ
หนึ่งในแก๊งไซฟ์ฟิล์มอย่าง ‘แก๊ป–สิระ สิมมี’ ไดเรกเตอร์ของชิ้นงานข้างต้น ผู้เคยฝากผลงานคลิปอำลาไอโฟน 7 ไว้ในเพจส่วนตัวที่คนดูแล้วต้องหลุดหัวเราะ คือคนที่ฉายแววความซุกซนในการสร้างสรรค์งานมาตั้งแต่วัยละอ่อน นอกจากแก๊ปจะเป็นรุ่นพี่เราที่โรงเรียน ซึ่งทำให้เราไม่เคอะเขินที่จะชวนเขามาพูดคุยถึงตัวตนและเฮาส์ของเขา บทสนทนานี้ยังบียอนด์ไปถึงวิธีการทำงาน และมุมมองต่อแวดวงโปรดักชันของบ้านเราในฐานะผู้กำกับน้องใหม่
ดราฟต์ 1
แก๊ปผู้โตมากับตลกคาเฟ่
ย้อนไปสมัยมัธยมฯ ใครๆ ในโรงเรียนก็มองว่าแก๊ปเป็นคนเก่ง เขาเป็นประธานนักเรียนช่างพูด รับหน้าที่เป็น MC แทบทุกงาน แถมมีอีเวนต์โรงเรียนแต่ละครั้ง ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนทำคลิปโปรโมตสุดเจ๋ง เรียกได้ว่าน่าตื่นใจอยู่สำหรับเด็กในตอนนั้น
“กูไม่ได้พูดเก่ง กูแค่พูดมาก (หัวเราะ)” แก๊ปเบรกความคิดเราก่อนจะเล่าถึงเส้นทางสายผู้กำกับ
“ตอนจะขึ้น ม.6 ไม่รู้จะเรียนอะไร ถ้าอย่างนั้นนิเทศหรืออะไรทรงๆ นี้ก็คงได้ เพราะเราก็เคยตัดต่อคลิป ได้ทำสื่อมาบ้าง ตอนปีสองเขาให้เลือกเอก รุ่นพี่ก็บอกว่าตอนปีสี่จะมีทำนิทรรศการ ได้ทำหนังขึ้นจอด้วย เฮ้ย มันน่าสนุกดีก็เลยเลือกเอกฟิล์ม ส่วนวิชาโทก็เลือกโฆษณาเพราะมันดูเท่ดี
“เราชอบดูรายการตลกและตลกคาเฟ่มาก อีกทางหนึ่งคือพ่อเราก็ชอบดูข่าวเหลือเกิน อินการเมืองมาก มันก็เลยกลายเป็นว่าเราได้รับอยู่สองสามอย่างนี้ พอฟังข่าวเยอะๆ ก็มีความคิดเห็นและสิ่งที่อยากพูดในแบบของเรา ตอนเด็กไม่ได้คิดหรอกว่าอันนี้คือผู้กำกับ อันนี้คือตากล้อง ถ่ายแล้วมันต้องทำอย่างไรต่อ หรือหนังมันจะมีประโยชน์ยังไง แต่พอมารู้จักการทำคลิปที่มันได้สื่อสารอะไรออกไป มันก็ตอบโจทย์สิ่งที่เลือก”
แก๊ปบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่าชีวิตนักศึกษาในรั้วคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ของเขานั้นค่อนข้างไปเรื่อย ใครหยิบยื่นโอกาสอะไรให้ก็พร้อมทำเสมอ จนเมื่อขึ้นปีสามเขาเรียนวิชาทำภาพยนตร์ ซึ่งจะมีแค่ไม่กี่คนที่จะได้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ แก๊ปรู้สึกว่าตัวเองอยากทำ ทำได้ไหมไม่รู้ แต่รู้ว่าอยากทำ เหตุผลครั้งนั้นทำให้เขาก้าวสู่การเป็นผู้กำกับวัยตั้งไข่อย่างเต็มตัวที่มาพร้อมมุกคมคาย และประเด็นมากมายที่อยากบอกเล่า
ดราฟต์ 2
เปิดเฮาส์มาสู้กับโควิด-19
แก๊ปทำงานประจำในเส้นทางเดิมเป็นเวลา 1 ปีหลังเรียนจบ จากนั้นก็รับบทผู้กำกับภาพเคลื่อนไหวทุกชนิดเรื่อยมา ซึ่งส่วนใหญ่งานที่เขาได้รับมักจะเป็นงานโฆษณา มีบ้างที่แอบไปเล่นละครเวทีตามประสาคนรักสนุก แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีฝันที่ไม่กล้าฝัน อยากเก่งขึ้น อยากเติบโต ยิ่งมีคนรอบข้างที่พร้อมลุยไปด้วยกันแล้วจะไปรีรอทำไม
เขาและแก๊งเพื่อนจากคณะเดียวกันอีก 6 คน คุยเล่นๆ อยู่หลายครั้งว่าอยากมีเฮาส์เป็นของตัวเอง พลังของคนรุ่นใหม่ที่กระหายอยากเล่าเรื่อง ‘CYPH.film’ โปรดักชันเฮาส์น้องใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งชื่อก็มาจากกลุ่มไลน์ตั้งแต่สมัยเรียน ด้วยความที่ช่วงหนึ่งพวกเขาคลั่งฮิปฮอป และชอบฟังแรปเดือดๆ เลยหยิบยืมคำว่า CYPH มาจากการแรปแบบ CYPHER
แต่ช้าก่อน! ขอเบรกภาพโลกสวยชั่วครู่ เพราะ CYPH.film เลือกจดบริษัทในเดือนพฤษภาคม ปี 2020 เพื่อการรับและจัดการงานที่ง่ายขึ้น แต่นั่นคือการน้อมรับความเสี่ยงจากการล็อกดาวน์ทั่วเมือง การเปิดเฮาส์ครั้งนี้จึงแหกขนบธุรกิจทุกอย่าง สิ่งที่ตามมาคือลูกค้าหลายเจ้าบ้างขอยกเลิกงาน บ้างขอเลื่อนงาน แต่ก็มีไม่น้อยที่มองเห็นไฟลุกโชนในตัวพวกเขา ทำให้มีโอกาสได้ทำงานกับลูกค้าและเอเจนซีอยู่หลายเจ้า ที่สำคัญคือได้ผลิตงานเรียกรอยยิ้มทุกคนในช่วงเวลาแสนยากลำบาก
ดราฟต์ 3
CYPH.film พื้นที่ปล่อยของหลากอารมณ์
ขบวนการ CYPH.film ไม่ได้มีแค่นายสิระ แต่ยังประกอบไปด้วยตุลย์ กิ๊ม แม็กกี้ เอก ฟลุ๊ค และบีม ที่มีความชอบ วิธีเล่าเรื่อง และความถนัดแตกต่างกันไป หากให้นิยามว่า CYPH.film เป็นเฮาส์แบบไหน แก๊ปใช้เวลาคิดอยู่หลายทีก่อนจะบอกว่า
“จริงๆ ตอนเริ่มต้นทำด้วยกันมีความตั้งใจหนึ่งว่า แต่ละคนมันทำไม่เหมือนกัน คนละแนวเลย อย่างตุลย์ทำ MV ฉันมันเป็นใคร ของ Tilly Birds นั่นก็มันฉิบหาย หรือกิ๊มทำ MV เจอแต่คนใจร้าย ให้ Lipta Feat. Ink Waruntorn ก็เศร้าๆ อุ่นๆ มู้ดๆ หน่อย ของเราที่ได้ยินมาคนจะชอบบอกว่าตลก แต่ถามว่าเรารู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกว่ามันเป็นปกติแบบที่เราคิด พอให้ดูตัวเองก็ดูไม่ออกเหมือนกัน (หัวเราะ)
“เราอยากให้เป็นพื้นที่สบายใจที่แก๊งเราจะทำอะไรก็ได้ สำหรับคนดูอยากให้เขารู้สึกว่า CYPH.film ก็เหมือนคนที่ไม่ได้มีแค่อารมณ์เดียว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องดาร์กหรือจะต้องตลก แต่มีหลายอารมณ์เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง”
แม้แก๊ปจะไม่ได้นิยามเฮาส์ของเขาให้เราฟังแบบตรงๆ แต่เราก็พอสัมผัสได้ว่า นี่คงเป็นพื้นที่ปล่อยของแห่งความสบายใจ ทีมงานที่ไม่ต้องพูดเยอะแต่รู้ใจ ใครอยากได้งานแบบไหน CYPH.film ก็พร้อมจัดให้แบบไม่มีกั๊ก แม้มีคนทำงานหลากคาแรกเตอร์แต่ก็มีเคมีความสนุกเดียวกัน
ดราฟต์ 4
ดูไปยิ้มไป
อาจเป็นเพราะคารมคมคายของแก๊ป บวกกับพรสวรรค์ในการเป็นนักพลิกแพลงปัญหาให้กลายเป็นคอนเทนต์ กล้องโทรศัพท์ไอโฟน 7 ของเขาพังจนถึงเวลาต้องเปลี่ยนเครื่อง เขาเลยทำคลิปเซย์กู๊ดบายมือถือที่รักเล่นๆ ทำเอาชาวเน็ตแห่กันเข้ามากดหัวเราะแทบไม่ทัน เพราะใครจะคิดว่า จะมีคนทำคลิปบอกลามือถือตัวเองถึงขั้นทำคลิปตัดต่อออกมาอย่างดี
คลิปอำลาไอโฟน 7 ธรรมดาๆ ไปเตะตาข้าวตราฉัตร ถึงขั้นชวนมาทำหนังโฆษณาให้ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทางแบรนด์อยากให้คลิปตัวนี้ไม่ต้องเน้นโปรดักชันเนี้ยบกริบ ซึ่งมันก็ลงล็อกกับสิ่งที่แก๊ปทำพอดี คลิปนี้จึงเป็นอีกหนึ่งงานที่ไวรัล เพราะในสถานการณ์ที่ทุกคนตึงเครียด อย่างน้อยก็มีคลิปดีๆ ปล่อยออกมาเรียกรอยยิ้มคนดูได้บ้าง แถมวิธีการเล่าก็ไม่ต้องตีความให้ซับซ้อน ขณะเดียวกันก็ได้ประชาสัมพันธ์องค์กรไปในตัว
“ในฐานะคนทำงานสื่อสารอย่างเป็นผู้กำกับ เชื่อว่าผู้กำกับทุกคนพยายามใส่ Elements บางอย่างของตัวเองเพื่อทำให้งานมันดีขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราสู้กับเฮาส์เจ้าใหญ่ได้ ถ้าเอาแบบตรงๆ เลยก็คือไม่มี (หัวเราะ) คือเวลาแบรนด์ต้องการหาเฮาส์ที่เพิ่งเกิดใหม่ แน่นอนว่าความเสี่ยงมันอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะผลงานอาจไม่เยอะเท่าเจ้าใหญ่ แต่บางแบรนด์พอเห็นงานแล้วชอบ เขาก็ลองดู แบบว่าอยากไปลองเชิงดูหน่อยสิว่าของใหม่ๆ มันเป็นอย่างไร”
ดราฟต์ 5
งานสอนคนสร้างงาน
งานของแก๊ปที่เราอยากพูดถึงเป็นพิเศษ เป็นหนังสั้นชื่อว่า ‘เสียงจากมะเร็ง’ ทำขึ้นเพื่อช่วยหาทุนสร้าง ‘บ้านแสงจันท์’ ซึ่งจะเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ว่าด้วยเรื่องของป้าบุญมี ผู้ป่วยมะเร็งจากสระแก้ว ที่ต้องฝ่าฟันการเดินทางอันยากลำบากเพื่อมาหาคุณหมอไกลถึงจันทบุรี
แก๊ปลงไปเห็นตึกผู้ป่วยมาจริงๆ แล้วเห็นถึงปัญหาที่ว่าญาติผู้ป่วยไม่มีที่พัก บางรายต้องนอนตามพื้นโรงพยาบาล เขาบอกกับเราว่า “เรื่องที่ต้องเล่าแม่งเศร้าสัส ถ้าจะมาทรงเดิมเลยคือชีวิตของคนเป็นมะเร็งนั้นมันเศร้าแบบนั้นแบบนี้” เขาเลยรื้อชุดความคิดนั้นเสีย
“โจทย์ข้อแรกเลยคือกูไม่ทำเศร้าแน่นอน แต่ตอนไปถ่ายกลับมาตัดต่อเริ่มรู้สึกแล้วว่าที่คิดเอาไว้ไม่เวิร์กแล้วว่ะ ดราฟต์แรกที่เอาไปเสนอตอนดับเบิลเฮด (การให้ลูกค้าหรือเอเจนซีดูไลน์เรื่อง) เรานั่งเพลย์ให้เขาดู ปรากฏว่านิ่งกันทั้งห้อง ลูกค้าก็นิ่ง หมอก็นิ่ง กูก็นิ่ง
“เราก็ทำลายความเงียบนั้นว่า เดี๋ยวลองปรับไหมครับ เป็นเวย์แบบ Traditional เลย ตัดให้ซึ้งๆ นิดหนึ่ง เราก็ตัดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง รู้เลยว่าเหี้ยกว่าเดิมอีก ลูกค้าก็ชวนคุยว่าจะทำอย่างไรดี จนมีคำหนึ่งที่โยนมาว่า ‘ให้มะเร็งพูดไหมล่ะ’ เป็นเสียงมะเร็ง เล่าจากมะเร็ง ไอ้คำนี้มันจุดประกายเรามาก วันนั้นก็กลับไปตัดต่อใหม่ และเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันน่าจะดี สุดท้ายหนังเรื่องนี้พูดจากมะเร็งก้อนหนึ่งที่อยู่ในตัวป้า”
สำหรับเราเสียงจากมะเร็งคือหนังสั้นที่ฉีกกฎคลิปบริจาคว่าต้องเศร้า หรือดูแล้วต้องร้องไห้ ให้เป็นคลิปตลกร้ายที่ดูแล้วยิ้มตาม เพราะมันสะท้อนปัญหาบ้านเมืองได้หลายอย่าง บวกกับเสียงของมะเร็งกวนๆ จากแก๊ปเอง ชวนให้จดจ่อดูแบบไม่อยากกดข้ามแม้แต่วินาทีเดียว
“ตอนปล่อยออกไป หนังสั้นตัวนี้มันก็ทำงานจริงๆ แล้วก็ที่รู้สึกดีกับโปรเจกต์นี้คือยอดรับบริจาคมันครบแล้ว ตึกก็จะเกิดขึ้นจริงแล้ว”
ขณะเดียวกันเขามองเห็นถึงปัญหาเรื่องสาธารณสุข และตั้งคำถามว่าสิ่งนี้ควรเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องจัดการหรือไม่ เขาไม่เชื่อและไม่สนับสนุนว่าโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ตามต่างจังหวัดต้องทำโครงการลักษณะนี้เองทุกโรงพยาบาล
รวมถึงไม่รู้เช่นกันว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งควรแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่เชื่อว่าโครงการลักษณะนี้ควรไปอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐตั้งแต่แรก และก็ไม่ค่อยเชื่อว่าภาครัฐจะเร่งลงมาดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ คำถามในใจเขายังไม่มีคำตอบ และนี่เองก็เป็นสิ่งหนึ่งในฐานะคนทำงานสื่อสารที่อยากทำให้ทุกคนเห็นปัญหาเหมือนที่เขาเห็น
ในฐานะคนในวงการโปรดักชัน แก๊ปในวัยกำลังจะ 26 บอกกับเราว่า นี่คือช่วงที่เพิ่งจะเริ่มเส้นทางสายผู้กำกับ วงการนี้มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ ตอนนี้เห็นอะไรมันก็ตื่นเต้นไปหมดเหมือนเด็ก งานไหนไป Pitching ไม่ได้ก็เสียดายเป็นธรรมดา เป็นไปได้เขาก็อยากทำทุกงานที่ชอบ แต่ทั้งนี้แก๊ปก็มีอะไรอยากบอกในมุมน้องใหม่
“คิดว่าทุกวันนี้วงการโปรดักชันเปิดรับคนรุ่นใหม่ๆ มากนะ ยิ่งเวลามันผ่านไป การเรียนรู้ทุกอย่างมันเร็วขึ้น อีกห้าเดือนอาจจะมีเฮาส์ใหม่ๆ เกิดขึ้นให้เราอยากไปทำงานร่วมกันด้วยก็ได้ ขณะเดียวกันก็เข้าใจเรื่องโอกาสที่ได้รับว่าขึ้นอยู่กับผลงานที่สร้างไว้ อย่างการที่เอเจนซีเรียกใครสักคนไปใช้งาน มันเกิดจากการที่เขาดูแล้วชอบ ไม่ได้สนใจอายุแล้วว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่
“เคยโดนถามตอนอายุยี่สิบสอง งานนั้นงานแม่และเด็ก เราคิดบอร์ดไปเสนอลูกค้าเป็นพ่ออุ้มลูกไปเล่นกันตรงร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกค้าตั้งคำถามว่ามีพ่อแม่อุ้มเด็กไม่กี่เดือนไปร้านก๋วยเตี๋ยวกันเหรอ ยังไม่ทันประมวลผลเลย โดนถามต่อว่าน้องอายุเท่าไหร่ มีลูกหรือยัง
“งานนั้นกลายเป็นว่าเราไม่เข้าใจ ทั้งที่เราก็เคยเห็นพ่อแม่พาลูกไปร้านก๋วยเตี๋ยว (หัวเราะ) งานนี้จบด้วยการเปลี่ยนบอร์ด พี่นักแสดงช่วยแบกไว้เยอะมาก เป็นงานแรกๆ ที่สอนเลยว่า พอ Process มันมีจุดที่เราไม่เชื่อใจกัน ไม่ไว้ใจ แม่งไม่ดีเลย” แก๊ปแชร์ถึงมุมมองความเป็นเด็ก ที่มีทั้งข้อดีและข้อฉุกคิดให้ต้องกลับไปทำการบ้านเพื่อสร้างสรรค์อีกเยอะ
ดราฟต์ 6
พักชมโฆษณาสักครู่
หลายครั้งเราเซ็งกับโฆษณาที่เด้งขึ้นมาขณะท่องโลกอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็รู้สึกว่าบางรายการทีวีหรือละคร บางครั้งก็ยัดเยียดการขายเสียจนไม่น่าดู เราเลยถามแก๊ปอย่างง่ายๆ เลยว่า โฆษณาเดี๋ยวนี้ทำให้คนซื้อตามหรือเชื่อจริงไหม
“ขอตอบแบบคนเพิ่งศึกษาโฆษณาเลยนะ รู้สึกว่าโฆษณาสำหรับเรามันกว้างมาก มันไม่ได้คุยกันแค่เรื่องโปรดักต์แล้วว่าโปรดักต์นี้มันดีอย่างไร เช่นเราบอกว่ากาแฟของเราเมล็ดมันสุดยอดแค่ไหน แต่บางแบรนด์อาจจะบอกว่าเมล็ดนี้มันมีคุณค่าต่อสังคมอย่างไร
“บางตัวก็พูดในเชิงแบรนด์ดิ้ง ไม่ได้พูดแค่เชิงประโยชน์ของโปรดักต์แล้ว บางตัวพูดในเชิงสังคมไปเลย อันที่เรากดข้ามเพราะเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ยิ่งพอพูดถึงตัวโปรดักต์ตรงๆ เราก็ยิ่งไม่อินกับมัน เดี๋ยวนี้มีทางเลือกให้กดข้ามเราก็กด
“แต่บางตัวโฆษณาโปรดักต์ตรงๆ เลยนะ แต่มันดันตรงกับความต้องการของเรา เป็นเราเราก็ดู บางตัวโฆษณาไม่ได้ตรงความชอบอะไรเลย แต่ถ้าคอนเทนต์ในนั้นมันดีเราก็ดู โลกของโฆษณามันกว้างมาก มันไม่ได้มีแค่ TVC ขายของอย่างเดียวแล้ว
“เชื่อเสมอนะว่าโฆษณามันมีพลังมาก พลังมันก็มาจากเงินนี่แหละ (หัวเราะ) โฆษณาตัวไหนเงินเยอะก็เล่นใหญ่ได้ ให้มันมีพลังส่งไปหาคนดู”
ดราฟต์ 7
โฆษณาเปลี่ยนเมือง
แก๊ปมองโฆษณาเป็นเหมือนหนัง ซึ่งหนังก็คือศิลปะแขนงหนึ่ง ศิลปะชนิดนี้มันช่วยขับเคลื่อนความคิดคน เขาบอกกับเราแบบไม่ต้องยั้งคิด
“เคยได้ยินคำประมาณว่า ‘ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา’ เรารู้สึกเลยว่าใช่ เพราะพอได้ดูโฆษณาหรือหนังสักเรื่อง มันมีมุมมองของคนทำอยู่ในนั้น ซึ่งมันก็อาจจะเป็นมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยเห็น หรือเพิ่มเติมมุมมองที่เรามีอยู่แล้ว พอเรามองได้กว้างขึ้น สุดท้ายเราจะมีความเห็นในการพัฒนา หรือขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ มากขึ้น แล้วนั่นจะทำให้เมืองขยับไปข้างหน้าได้
“ตอนเด็กเรายังตลกกับโฆษณาบางตัวอยู่เลย โตมาก็เพิ่งรู้ว่า อ้าว เราตลกเหยียดคนดำ ถ้าไม่ได้ไปเจอสื่อหนึ่งที่เปิดมุมมองว่าเราเหยียดสีผิวอยู่ ก็คงยังตลกกับสิ่งนั้นต่อไปก็ได้ ทุกสื่อมันมีผลมาก ถ้าได้ไปเจอเมสเซจที่มันเปลี่ยนความคิดได้ อย่างน้อยเมืองก็มีเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าเราเมื่อห้าปีที่แล้วเพิ่มขึ้นสักคน”
เราถามต่อไปว่าแล้วแบบนี้จะสร้างเงื่อนไขให้งานไหม แก๊ปบอกกับเราว่า “มันคือเงื่อนไขที่จำเป็นในการสร้างงานเลย เพราะคุณกำลังสื่อสารกับคนอีกมากมายอยู่ เช่นพูดว่าคนพื้นที่นี้แม่งโง่ กับพูดว่าสาเหตุที่คนพื้นที่นี้เขาขาดโอกาสหรือขาดรายได้มันเป็นเพราะอะไร พอพูดแล้วคนเห็นเลยว่ามันต่างกัน”
หนังหรือโฆษณาที่ดีเป็นแบบไหน มีตำราสอนเป็นวรรคเป็นเวร มีผู้ช่ำชองเคยกล่าวไว้มากมาย และมีเวทีตัดสินชี้ขาดว่าผลงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร จนบางทีเราก็คล้อยตามความคิดคนจนลืมถามตัวเองว่า เออ แล้วเราชอบดูงานแบบไหนกันนะ
สำหรับแก๊ปเขามองว่า เรื่องพวกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขนาดฟร็องก์ รีเบรี นักเตะคนสำคัญผู้พาคว้าแชมป์หลายสนาม แต่ก็ไม่ได้บัลลงดอร์ (Ballon d’Or) หรือรางวัลที่มอบให้แก่นักฟุตบอลที่มีผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี เห็นเลยว่าเกณฑ์การตัดสินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“โฆษณาที่ดีที่สุดมันคืออะไร หนังที่ดีที่สุดสำหรับใคร ถ้าถามว่าโฆษณาที่ดีที่สุดสำหรับเราเอง เราก็ชอบไม่เหมือนคนอื่น เพราะเรามีเกณฑ์ไม่เหมือนคนอื่น เราอาจไม่ได้ชอบโฆษณาที่ทุกคนชอบก็ได้ แล้วอย่างนี้โฆษณาที่ทุกคนชอบจะได้รางวัลจากเราไหมถ้าเราไปเป็นกรรมการ เกิดเอาเราไปเป็นกรรมการรางวัลไม่เพี้ยนกันหมดเลยเหรอ (หัวเราะ)”