2 เพื่อนซี้ชิมเบียร์จนเจนจัด ก่อนคิดสูตรเบียร์เองให้ได้รสที่ถูกใจ
‘ณ’ และ ‘ตั๋ง’ ถือว่าเป็นเพื่อนซี้คู่หูนักจิบกันมาก่อน เรียกได้ว่ามีเบียร์ที่ไหนมีพวกเขาที่นั้น ซึ่งการได้ชิมเบียร์หลายๆ แบบ หรือหลายรสชาติทำให้เขาทั้งสองมีลิ้นสัมผัสที่กว้างมากขึ้น จากจุดเล็กๆ ที่เป็นคนชอบดื่ม ชอบทดลองเบียร์ สู่จุดหนึ่งที่คิดขึ้นมาว่า
“เราอยากมีเบียร์ในรสชาติที่เราอยากกิน หารสชาตินี้ไม่ได้ก็ทำเองซะเลย”
นี่คงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทั้งสองคนเริ่มหันมาจริงจังกับการคิดสูตรเบียร์ในฉบับตัวเอง โดยผสานทั้งศาสตร์ของศิลปะ และวิทยาศาสตร์ให้ลงตัวที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์หรือรสชาติของเบียร์เป็นไปตามที่ต้องการ
ก้าวเข้าสู่โครงการ The Brewing Project ด้วยทีมที่ไม่มีชื่อ
เมื่อเริ่มทำเบียร์ด้วยสูตรเฉพาะ สองหนุ่มก็ได้ก้าวเข้าสู่โครงการประกวดการคิดสูตรเบียร์ของ ‘The Brewing Project Thailand’ พื้นที่สำคัญที่เปิดโอโกาสให้กลุ่มนักพัฒนาสูตรเบียร์ หรือเหล่านักต้มเบียร์ทั้งหลายได้ออกมาปล่อยของได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ในระยะแรกทั้งสองคนเข้ามาประกวด ภายในชื่อทีมว่า ‘No-name’ เรียกง่ายๆ ว่าแม้แต่ชื่อก็ยังคิดไม่ออกกันเลย
“ความฝันอันยิ่งใหญ่ของนักคิดสูตรเบียร์ คือการทำรสชาติเบียร์ที่ตนเองชื่นชอบ และได้ไปต้มเบียร์ที่ต่างประเทศ”
ซื่งการประกวดครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันให้ความสนใจอย่างล้นหลาม สู้กันยิบตาแบบที่ไม่มีใครยอมใคร จนทำให้หลายทีมมีคะแนนสูสีกันหรือเท่ากัน ทางโครงการจึงต้องจัดรอบตัดสินพิเศษขึ้น และได้นำกรรมการที่มีใบรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านเบียร์จาก ‘Beer Judge Certification Program’ หรือ BJCP ซึ่งกรรมการที่มีใบรับรองในเอเชียมีเพียงไม่กี่คนมาเป็นคนตัดสินเบียร์ครั้งนี้ จนผลประกาศออกมาว่าทีมของ ณ และตั๋งเป็นผู้ชนะ
เดินทางไปร่วมต้มเบียร์ ที่สหรัฐอเมริกา
ชัยชนะครั้งนี้ไม่ได้หยุดแค่เพียงคำชมเท่านั้น แต่ทั้งสองคนได้รับรางวัลที่เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของนักคิดสูตรเบียร์หลายๆ คน คือบินลัดฟ้าไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อต้มเบียร์จากสูตรที่คิดไว้ ที่โรงเบียร์ Anderson Valley Brewing จะเห็นได้ว่าทางโครงการสร้างความน่าเชื่อถือและมาตรฐานให้กับผู้เข้าประกวดเป็นอย่างมาก
เมื่อไปต้มเบียร์ที่ต่างประเทศแล้ว ทั้งสองคนจะได้ลงมือตั้งแต่กระบวนการแรก จากนั้นก็ต้องรอเบียร์ต้มให้ได้ที่เสียก่อน
“รออย่างใจจดใจจ่อกับการชิมรสชาติเบียร์ที่ตนเองอยากได้มาเสมอ”
ทั้งคู่ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้รสชาติเบียร์สามารถดื่มง่าย ดื่มได้ทุกวันทุกเวลา และมีกลิ่มหอมที่สมูท เมื่อดื่มลงคอ เบียร์จะค่อยๆ แผ่ซ่านออกไปให้รับรู้รสทีละน้อย จนผู้ดื่มเองอยากจะกระดกแก้วต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ
เกิดเป็น ‘ราเวน’
ถึงเวลานั่งจับเข่าคุย เพราะจะมีเบียร์ออกมาแล้วชื่อแบรนด์ก็จำเป็นที่จะต้องมีเช่นกัน จึงได้ชื่อที่เกิดจากความชอบล้วนๆ และเห็นตรงกันว่าชอบคำว่า ‘อีกา’ ประจวบเหมาะกับการได้สังเกตบริเวณรอบๆ โรงเบียร์ที่ไปต้มในสหรัฐอเมริกา ก็มี ‘Raven’ อยู่หลากหลายสายพันธุ์ จึงหยิบคำนี้มาใช้เป็นชื่อแบรนด์เบียร์ซะเลย
ซึ่ง Raven มีแอลกอฮอล์ 5% แม้จะให้รสชาติขม แต่ก็มาพร้อมกับความนุ่มละมุนคอ ยกดื่มได้เรื่อยๆ ถือว่าเป็นเบียร์คราฟต์อีกตัวหนึ่งที่ไม่หนักมาก ส่วนกลิ่นของฮอปส์ หากลองสูดดมก่อนจิบจะให้ความสดชื่น เมื่อเบียร์สัมผัสที่ลิ้นความหอมของฮอปส์จะค่อยๆ ฟุ้งกระจาย สิ่งนี้ที่ชวนติดใจให้เราอยากจะดื่มราเวนอีกแก้ว
จะเป็นอย่างไรหากประเทศไทยเปิดเสรีเรื่องคราฟต์เบียร์ได้
ณ และตั๋งมองว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นแอลกอฮอล์อย่างไรก็ถึงว่าเป็นของมึนเมา หากเปิดคราฟต์เบียร์เป็นเสรี ก็ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง และคนที่จะเข้ามาอยู่ในวงการนี้ ก็ควรจะอยู่ในกฎหมายอย่างที่ตั้งไว้ด้วย
“ถ้าเราอยู่ในกรอบได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เราก็จะมีสังคมของคนที่รักในเบียร์มากขึ้นเช่นกัน”
ช่องทางการจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ราเวน
พบกับ Raven IPA ได้ที่ Tops Supermarket, Gourmet Market, บาร์ หรือโรงแรมต่างๆ สามารถติดตามแหล่งจำหน่ายได้ที่ https://www.facebook.com/thebrewingproject/ ได้เลย เบียร์คราฟต์ฝีมือคนไทย ถ้าได้ยกต้องหมดแก้ว !